วันอังคาร, สิงหาคม 09, 2565

การศึกษาไทยเข้าถึงยาก​ ไม่ใช่ทุกคนที่จะเข้าถึงได้ ทำไมรัฐสวัสดิการถ้วนหน้าสำคัญต่อการศึกษา


ศูนย์วิจัยรัฐสวัสดิการ
August 5

การศึกษาไทยเข้าถึงยาก​ ไม่ใช่ทุกคนที่จะเข้าถึงได้

ค่าแรงขั้นต่ำของไทยอยู่ที่ 313-336 บาท ต่างกันไปขึ้นอยู่กับแต่ละจังหวัด ซึ่งเป็นอัตราค่าแรงที่ต่ำเตี้ย เรี่ยดิน สวนทางกับค่าครองชีพที่แพงหูฉี่และการศึกษาที่มีต้นทุนมหาศาล ยิ่งระดับการศึกษาที่สูงขึ้นค่าใช้จ่ายก็ยิ่งมากขึ้น จากข้อมูลพบว่าค่าเทอมไม่รวมค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ระหว่างการศึกษาปริญญาตรีในมหาวิทยาลัยของรัฐตลอด 4 ปี อยู่ที่ 146,000 บาท โดยเฉลี่ย นั่นหมายความว่าตลอดระยะเวลาการเรียนจะต้องจ่ายค่าเทอมอยู่ที่เดือนละ 3,041 บาท แน่นอนว่าในส่วนของมหาวิทยาลัยเอกชนจะต้องมีค่าใช้จ่ายที่สูงกว่าหลายเท่าตัว แต่เมื่อเราคำนวนค่าแรงงานขั้นต่ำแม้ในจังหวัดที่มีอัตราค่าแรงขั้นต่ำที่สูงที่สุดคือ 336 บาท และกำหนดให้ทำงานขูดรีดตัวเองทุกวันโดยไม่หยุดพักเป็นเวลา 30 วันต่อเดือน​จะทำให้มีรายได้ต่อเดือนอยู่ที่ 10,080 บาท ซึ่งหมายความว่าผู้ปกครองจะต้องเจียดเงินมากกว่า 30% เพื่อเป็นค่าเทอมในแต่ละเดือน ย้ำว่าตัวเลขนี้ยังไม่รวมค่าหอพัก ค่าเอกสารเรียน ค่าเครื่องแบบ ค่ากินรายเดือน ค่าใช้จ่ายในครัวเรือนอื่น ๆ และที่สำคัญนี่คือตัวเลขค่าเทอมต่อ 1 คนเท่านั้น สำหรับครอบครัวที่มีลูกมากกว่า 1 คน ก็จะทวีคูณเป็น 2 เท่า 3 เท่าตัว

ด้วยเหตุนี้​ทำให้การเข้าถึงการศึกษาจึงเป็นเรื่องยาก ผู้คนจำนวนไม่น้อยตัดสินใจไม่เรียนต่อ ทิ้งความฝัน เสียสละให้พี่น้องคนใดคนหนึ่งได้เรียนต่อ มุ่งหน้าเข้าสู่ตลาดแรงงานเพื่อหารายได้ประทังชีวิต ในขณะที่ผู้คนอีกจำนวนหนึ่งกัดฟันสู้ เลือกที่จะอยู่ในระบบการศึกษา เลือกที่จะขายที่ ขายนา กู้หนี้ยืมสิน ทำงานดิ้นรนส่งลูก ส่งตัวเองเรียนหนังสือ ปรากฏการณ์เหล่านี้เกิดขึ้นจริงในประเทศไทย

เราต้องช่วยกันผลักดันให้เกิดการเรียนฟรีถ้วนหน้า ทำให้การศึกษาเป็นหน้าที่ของรัฐที่จะต้องบริการประชาชน ทำให้การศึกษาเป็นสิทธิของประชาชนทุกคนที่จะเข้าถึงได้อย่างเท่าเทียมกันในทุกระดับ เพื่อที่เราจะได้ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

#เรียนฟรีถ้วนหน้า #ยกเลิกหนี้กยศ #เรียนฟรีมีเงินเดือน

ข้อมูล: https://www.facebook.com/290850534699433/posts 
.....

Thai Civic Education
June 10

“การมองสวัสดิการในฐานะสิทธิพื้นฐานของประชาชน ไม่ว่าคุณจะเป็นคนรวย คนจน ชนชั้นกลาง หรือแม้กระทั่งจะเป็นแรงงานข้ามชาติ เป็นผู้อพยพ หรือว่าคุณจะเป็นคนที่ถูกดำเนินคดี หรือว่าจะเป็นคนที่เรียนหนังสือไม่เก่ง หรือว่าอะไรก็แล้วแต่ คุณก็จะต้องได้รับสวัสดิการพื้นฐานที่เท่ากัน สิ่งนี้คือรัฐสวัสดิการถ้วนหน้า”
“บางประเทศมีการจัดเงินเลี้ยงดูเด็กหรือว่าเงินอุดหนุนการศึกษาที่ให้ทุกคน ที่จะไม่ทำให้เขาต้องเผชิญกับเงื่อนไขอุปสรรคในการที่จะเข้าถึงการศึกษา ซึ่งเริ่มตั้งแต่เรื่องเงินอุดหนุนการเลี้ยงดูบุตร”
“สิ่งที่มันจะเกิดขึ้นตามมาแน่นอนที่สุด คือการที่เราสามารถจะได้รับการคุ้มครองสิทธิพื้นฐานของเรา เราจะไม่ถูกพรากความฝัน”
__
Civic Space ตอนที่ 16 “ออกแบบสวัสดิการถ้วนหน้าให้เด็กทุกคน”
คุยกับ อาจารย์ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี
.
ทำไมรัฐสวัสดิการถ้วนหน้าสำคัญต่อการศึกษา ?
เวลาเราพูดถึงสวัสดิการในประเทศไทย เราจะคิดว่าเป็นเรื่องของคนจน คนยากไร้ คนด้อยโอกาส จริง ๆ แล้วผมมองว่าวิธีการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำของไทยมักจะวนอยู่กับเรื่องของการควานหาคนจน การพิสูจน์ความจนว่าคนนี้จนพอ น่าสงสารพอถึงควรจะได้รับสวัสดิการ แต่ว่าประเด็นสำคัญคือมันมีวิธีการคิดหรือว่าวิธีการจัดการความเหลื่อมล้ำที่มันดีกว่า แล้วก็เป็นไปได้ในสังคมไทย นั่นคือแนวคิดที่เราเรียกกันว่า “รัฐสวัสดิการถ้วนหน้า” หรือว่าการมองสวัสดิการในฐานะสิทธิพื้นฐานของประชาชน ไม่ว่าคุณจะเป็นคนรวย คนจน ชนชั้นกลาง หรือแม้กระทั่งจะเป็นแรงงานข้ามชาติ เป็นผู้อพยพ หรือว่าคุณจะเป็นคนที่ถูกดำเนินคดี หรือว่าจะเป็นคนที่เรียนหนังสือไม่เก่ง หรือว่าอะไรก็แล้วแต่ คุณก็จะต้องได้รับสวัสดิการพื้นฐานที่เท่ากัน สิ่งนี้คือรัฐสวัสดิการถ้วนหน้า
.
เพราะฉะนั้นสิ่งเหล่านี้ ถ้าเรามองในมิติของการศึกษา จึงเป็นเรื่องสำคัญมาก ซึ่งบางประเทศมีการจัดเงินเลี้ยงดูเด็กหรือว่าเงินอุดหนุนการศึกษาที่ให้ทุกคน ที่จะไม่ทำให้เขาต้องเผชิญกับเงื่อนไขอุปสรรคในการที่จะเข้าถึงการศึกษา ซึ่งเริ่มตั้งแต่เรื่องเงินอุดหนุนการเลี้ยงดูบุตร และเมื่อเข้าโรงเรียนแล้ว เรามักจะคิดว่าเรามีการศึกษาให้ฟรีทุกคน แต่ว่าจริง ๆ มีค่าใช้จ่ายแฝงที่อาจจะไม่ได้แฝงในระบบการศึกษา แต่ว่ามันแฝงกับการเป็นนักเรียน ค่าเดินทาง ค่าหนังสือ หรือแม้กระทั่งค่าครองชีพที่มันเพิ่มสูงมากขึ้น เมื่อคุณเข้าสู่ระบบการศึกษา
.
เราลองนึกง่าย ๆ ว่าถ้าเราสามารถออกแบบสวัสดิการถ้วนหน้าด้านการศึกษาให้เด็กทุกคน มีเงินเลี้ยงดูเด็ก แล้วพอเข้าสู่ระบบการศึกษาให้เงินเด็กสำหรับการไปเรียนหนังสือแทนที่จะเป็นเงินที่พ่อแม่ต้องจ่ายเป็นค่าขนมให้ลูก ถ้ารัฐบาลสามารถอุดหนุนส่วนนี้ให้กับเด็กทุกคนที่อยู่ในระบบการศึกษาได้ ไล่มาจนกระทั่งถึงมหาวิทยาลัย เรียนมหาวิทยาลัยฟรี มีเงินเดือน ไม่ต้องไปกู้กยศ. ตรงนี้สำคัญมาก หลายคนอาจจะนึกถึงเรื่องของการเพิ่มศักยภาพ หรือว่าการทำให้คนมีขีดความสามารถที่จะไปแข่งขันได้
.
แต่อยากชวนให้เห็นว่าถ้าเอาแค่ 0-3 ขวบแรกของชีวิต ทุกคนได้รับการสนับสนุนด้านสวัสดิการพื้นฐานอย่างเต็มที่ สิ่งที่มันจะเกิดขึ้นตามมาแน่นอนที่สุด คือการที่เราสามารถจะได้รับการคุ้มครองสิทธิพื้นฐานของเรา เราจะไม่ถูกพรากความฝัน เราลองนึกถึงภาพว่าเด็กที่สุขุมวิทมีโรงเรียนอินเตอร์ โรงเรียนนานาชาติตั้งแต่ยังไม่ 3 ขวบ เอาแค่ว่า ทำไมพวกเขาถึงมีสนามเด็กเล่นที่มีสีเขียว มีหญ้า แต่ว่าเด็กที่คลองเตยไม่มี เรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องพื้นฐานมากที่มันจะเป็นการสร้างตัวตนของเราตั้งแต่เด็กจนกระทั่งเติบโตเข้าสู่วัยรุ่น ได้มีอาหารกินที่อิ่ม แล้วก็แน่นอนที่สุดคือสามารถที่จะพัฒนาตัวตนได้
.
อยากทิ้งท้ายอะไรในประเด็นนี้้ ?
ผมคิดว่ามีเรื่องพื้นฐานหลายเรื่องที่ผมเคยสื่อสารในช่องทางอื่นไปเยอะแล้ว คิดว่า Thai Civic Education ก็เช่นเดียวกัน แต่ผมคิดว่าถ้าจะมีเรื่องใหม่ ๆ ที่ผมอยากย้ำ คือผมรู้สึกอึดอัดใจมากเวลาที่มันมี motto หรือคำพูดที่ออกมาว่ามีลูกเมื่อพร้อม คำว่ามีลูกเมื่อพร้อมในคือประมาณว่าถ้ามีลูกเกิดมาแล้วมันคือความรับผิดชอบของพ่อแม่ 1,000,000% ประมาณว่าคุณต้องมีทั้งเงิน เวลา อาชีพ และจิตใจที่พร้อมเป็นเวลา 20 ปี สมมติคุณมีลูกตอนอายุ 28 คุณต้องมีทุกอย่างนี้ในเวลา 20 ปี คุณต้องพร้อมทุกอย่าง ซึ่งเอาเข้าจริงแล้วมันไม่มีใครสามารถทำได้หรอก เพราะว่ามันไม่มีมนุษย์คนไหนเป็นเทวดา เทพเจ้า ต่อให้คุณเป็นมหาเศรษฐีพันล้านหมื่นล้าน คุณก็ยังทำไม่ได้ คุณยังเลี้ยงลูกคนเดียวไม่ได้ คุณยังต้องอาศัยคนอื่นมาช่วย
.
เพราะฉะนั้นสิ่งหนึ่งที่ผมอยากจะให้มีการเปลี่ยนวาทกรรม เปลี่ยนวิธีการคิดคำว่ามีลูกเมื่อพร้อม ผมอยากให้เปลี่ยนเป็นว่า ถ้าเรามีลูกหรือว่าเราใส่ใจเรื่องการศึกษา เรื่องอะไรต่าง ๆ เราต้องพร้อมที่จะต่อสู้ พร้อมที่จะต่อสู้ไม่ใช่ว่าพร้อมที่จะเปย์ พร้อมที่จะอุทิศตน อุทิศเวลา เสียสละภาพความฝันของตัวเอง การที่เราต้องสร้างสวัสดิการการศึกษาที่ดี ที่มีความเท่าเทียม มันได้มาด้วยการรวมตัวกัน แล้วก็ต่อสู้กันเพื่อให้มันเกิดสิ่งนี้ขึ้นมา
.
ดังนั้น แล้วคุณจะเป็นคนรวย คนจน ชนชั้นกลาง ทุกคนมีสิทธิที่จะมีลูกและมีสิทธิที่จะคาดหวังการศึกษาที่ดีจากรัฐ มีสิทธิที่จะคาดหวังสวัสดิการที่ดีจากรัฐ มีสิทธิที่จะต่อสู้เรียกร้อง ไม่ใช่ว่าการที่เรามีลูกหรือมีครอบครัว แล้วการที่เราไปเรียกร้องสวัสดิการจากรัฐด้านการศึกษาให้มันดีขึ้นมันเป็นความไม่พร้อมของเรา ไม่ใช่ ผมอยากให้มันมีการเปลี่ยนวิธีคิดนี้ เพราะมันเป็นสิทธิที่เราพึงได้ เรามีสิทธิที่จะได้รับโรงเรียนอนุบาลที่ดีเหมือนกับโรงเรียนอินเตอร์ แม้ว่าเราจะไม่มีตังจ่ายโรงเรียนอินเตอร์เทอมหนึ่งเป็นแสน เทอมหนึ่งเป็นล้าน แต่เราก็มีสิทธิเรียกร้องให้รัฐจัดสิ่งเหล่านี้ให้เราได้ เรามีสิทธิจะเรียกร้องเงินอุดหนุนการศึกษาเด็ก เงินค่าขนมให้เด็ก หรือการดูแลเด็กต่าง ๆ ให้ดีกว่านี้ได้โดยที่รัฐจัดให้ เพราะมันก็สิทธิพื้นฐานของเรา สิทธิวันลาคลอด วันลาเลี้ยงดูบุตร ไม่ใช่หมายความว่าเราไม่พร้อม แต่เป็นสิ่งที่เราควรที่จะได้จากรัฐ ไม่ได้เป็นความผิดบาปอะไรที่เราไม่มี เพราะว่านานาประเทศก็ล้วนได้มาด้วยการต่อสู้ของพ่อแม่ การต่อสู้ของผู้ใช้แรงงานที่เราปรารถนาให้เกิดความเสมอภาคมากขึ้น เพราะฉะนั้นผมคิดว่าตัวนี้น่าจะเป็นสิ่งที่อยากให้เน้นในบทสัมภาษณ์นี้ว่าการเรียกร้องสวัสดิการจากรัฐด้านการศึกษา ไม่ได้หมายความว่าเราเป็นพ่อแม่ที่ไม่พร้อม
_
สัมภาษณ์โดย :Sukanya
ภาพโดย : Chaipat
#thaiciviceducation