วันจันทร์, สิงหาคม 29, 2565

เสวนาชาวบ้านอีสานกับรัฐไทย จาก อีสานท้องถิ่นสู่ภูมิภาคนิยม สู่การตามหาเสียงที่หายไป



Phongthep Bunkla
Yesterday
ครั้งหนึ่งเคยอ่านหนังสือของอาจารย์ ชาร์ลส์ เอฟ คายส์ (Charles F. Keyes) เมื่อครั้งทบทวนวรรณกรรมงานวิทยานิพนธ์ปริญญาโท (4-5 ปีที่แล้ว) ตอนนั้นก็ไม่ค่อยเข้าใจเจตนารมณ์ของอาจารย์ผ่านหนังสือเล่มนี้มากนัก กระทั่งได้มีโอกาสมานั่งฟังเสวนาซึ่งมีวาระสนทนาเกี่ยวกับแนวคิดของอาจารย์ คายส์ หัวข้อ “ชาวบ้านอีสานกับรัฐไทย จากอีสานท้องถิ่นภูมิภาคนิยมสู่การตามหาเสียงที่หายไป” จัดโดยศูนย์วิจัยสังคมอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
(สำหรับคนที่สนใจตามฟังออนไลน์ได้ในเพจครับ)
.
วิทยากรหลักๆ ได้แก่ อาจารย์ยุกติ มุกดาวิจิตร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ / อาจารย์รัตนา โตสกุล Tokyo Metropolitan University / อาจารย์สุรสม กฤษณะจูฑะ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี และดำเนินรายการโดย อาจารย์กนกวรรณ มะโนรมย์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
.
การตั้งใจฟังในครั้งนี้ได้ช่วยเติมเต็มความเข้าใจต่อหนังสือของอาจารย์ ชาร์ลส์ เอฟ คายส์ และได้ความรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับ “อีสาน” และเห็นโจทย์ใหม่ๆ น่าสนใจสำหรับคนที่จะศึกษาเกี่ยวกับอีสาน ขอกล่าวโดยสรุปเท่าที่จับประเด็นได้ (ด้วยความเคารพต่อไปขอเรียกชื่ออาจารย์อย่างย่อ) ดังนี้
.
1. ข้อเสนอหลักของ อาจารย์ ชาร์ลส์ เอฟ คายส์ (Charles F. Keyes) : สะท้อนการศึกษาสังคมอีสานผ่านวิธีวิทยาที่ใช้ระยะเวลายาวนานครอบคลุมมิติเชิงประวัติศาสตร์การเมืองในสังคมอีสานซึ่งเชื่อมโยงประเทศไทยและสากล ขณะที่ คายส์ เสนอประเด็นสำคัญหนึ่ง คือ คนอีสานลุกขึ้นเรียกร้องสิทธิ ความเป็นพลเมือง และให้ความสำคัญกับการเมืองแบบตัวแทนในระบอบประชาธิปไตยมานานแล้ว คนอีสานลุกขึ้นต่อสู้อย่างยาวนานเป็นพลวัตเรื่อยมา งานของ คายส์ สะท้อนสังคมอีสานตั้งแต่อดีต ปัจจุบัน และอนาคต รวมทั้งการทำความเข้าใจปรากฏการณ์การเคลื่อนไหวทางการเมืองของคนเสื้อแดง และอื่นๆ ได้
.
2. บ้านหนองตื่น : การศึกษาสังคมอีสาน คายส์ ผ่านกรณี “บ้านหนองตื่น” ในบริบทที่เชื่อมโยงกับ “รัฐชาติ” ทำความเข้าใจให้เห็นว่าทั้งสองส่วนที่ไม่ได้แยกออกจากกัน โดยวางบริบทของ "รัฐ" ที่เชื่อมโยงกับ "หมู่บ้าน" นั้นๆ เบื้องต้นงานของ คายส์ ได้กล่าวถึง บริบทอีสานในสมัยก่อนสยาม “อีสานเชื่อมโยงกับลาวแต่มีความเป็นอิสระจากลาวและจากสยาม” คือ ไม่ใช่ลาวซะที่เดียว/ไม่ใช่สยามซะทีเดียว (จริงๆ ส่วนนี้น่าสนใจว่าเหตุใดจึงใช้กรณีศึกษาที่บ้านหนองตื่น คำว่า "ตื่น" มีความหมายแฝงเร้นเกี่ยวกับเสียงของคนอีสานที่หายไปหรือไม่อาจเป็นปริศนา)
.
3. ความเป็นลาวที่ถูกกลบเกลื่อนผ่านความเป็นไทย : คายส์ สะท้อนให้เห็นว่า การทำงานสนามจะต้องมีความละเอียดอ่อนต่อวัฒนธรรมพื้นถิ่นด้วย และมองเห็นประวัติศาสตร์อีสานสะท้อนความเป็นอิสระที่ไม่ได้ถูกรัฐปกครองอย่างใกล้ชิดมาตั้งแต่ต้น เช่น การยกตัวอย่าง กบถผีบุญ คือ เรื่องผีบุญกับการพยายาม "สื่อเชิงสัญลักษณ์" ว่าคนอีสานต้องการผู้นำที่มีความเป็นธรรม ผู้นำต้องเข้าใจปัญหาและมีช่องทางให้ผู้น้อยได้ใช้ชีวิตอย่างสันติสุข อีกทั้ง สะท้อนเชิงสัญลักษณ์ของ "ความเป็นธรรม" ของคนอีสาน คือ การเป็นคนดีที่มีความเป็นธรรม แม้ภายหลังระบบโรงเรียนได้นำไปสู่การซึมทางวัฒนธรรม ความรู้สึกของคนอีสานจะรู้สึกอายที่ต้องพูดลาวกับคนที่ไม่ใช่คนอีสานด้วยกัน มีความพยายามกลบเกลื่อน “ความเป็นลาว” และให้ความสำคัญกับ “ความศิวิไล” และ “ความเป็นไทย” เพราะความสัมพันเชิงสังคมและชนชั้นไม่ได้อยู่ในระนาบเดียวกัน ความรู้สึกของคนอีสานถูกเก็บกด ถูกมองเป็นตัวตลก หรือถูกมองอย่างน่ารังเกียด ในแง่ของการผนึกอีสานเป็นสังคมไทยจึงต้องมีสถาบันเหนี่ยวนำ และมีการดึงสถาบันพระมาหากษัตริย์มาเป็นแกนทั้งในอีสานและทุกภูมิภาค (สมัยรัฐบาลสฤษดิ์ ธนะรัชต์) ขณะที่การเมืองค่อนข้างร้อนและมีความยำเกรงว่า “คนอีสานจะไม่จงรักภัคดี” สมัยทศวรรษที่ 60-70 คือ ความไม่วางใจ/หวาดระแวงอีสานกับการหันไปหาฝั่งลาว จึงมีแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 1 มอบให้อีสานเป็นพิเศษ การเกิดถนนมิตรภาพ หรือการพัฒนาต่างๆ ที่ต้องการเอาใจให้คนอีสานมีความสะดวกสบายขึ้น เป็นต้น
.
4. คนอีสานไม่ใช่คนโง่มีแต่คนเมืองต่างหากที่มองว่าคนอีสานโง่ : มีคำถามว่า แล้วทำไมคอมคอมมิวนิสต์ถึงล้มเหลว…? อาจเป็นเพราะคอมมิวนิสต์ไม่เข้าใจวัฒนธรรมชุมชนแบบชาวบ้านอีสาน เพราะคนอีสานมีความเข้าใจและสำนึกแบบพุทธ จึงนำไปสู่ความล้มเหลวของ พคท. และภายหลังเกิดขบวนการทำงานของ NGOs กับการทำงานพัฒนาที่ช่วยแก้ไขปัญหาชุมชน บริบทที่คนอีสานพยายามเลือกการแก้ไขปากท้องโดยตรงด้วยตนเอง เพราะการมองเชิงโครงสร้างยังไม่เป็นรูปธรรมใกล้ตัว ตลอดช่วงยาวนานคนอีสานจะประท้วงเป็นระยะเพราะความทุกทรมานกับการทำมาหากินมาตลอด คนอีสานจึงไม่ได้เงียบตลอด เพราะคนอีสานมองเห็นความสำคัญกับการได้รับประโยชน์จากผู้แทนของคนอีสาน “คนอีสานเขามองเห็นว่าใครจริงใจกับเขา” (ระบบเลือกตั้งอาจจะไม่ได้ดีที่สุด แต่สิทธิของเขาจะได้รับการประกัน) “ไม่ใช่ได้ผู้แทนที่ไม่สนใจพี่น้องเลย” คนอีสานต้องการระบบการเมืองที่เป็นหลักประกันและไม่ต้องการระบบแบบชี้นำหรือชี้แนะ คนอีสานพยายามตามหาเสียงของพวกเขาที่หายไป “คนอีสานไม่ใช่คนโง่” แต่คนในเมืองต่างหากที่มองว่าคนอีสานเป็น “คนโง่” มองคนอีสานเป็นคนโง่ ชาวป่า ชาวดอย หรือต่างๆ จะเห็นว่า เด็กรุ่นใหม่อีสานเข้าใจโลกสมัยใหม่มากขึ้น ไม่ได้เหมือนอดีตอีกแล้ว สถาบันหลักจึงต้องปรับโหมดความคิดใหม่เพื่ออยู่ร่วมกันอย่างสันติได้ และมีกติกาที่เป็นธรรมกับคนส่วนใหญ่ทั้งประเทศ (การได้เสียงจากคนอีสาน คือ โอกาสทางการเมืองระดับชาติได้)
.
5. The northeast problem “สิไปฟังเฮ็ดหยัง” : ภาพสะท้อนความกังวลใจของชนชั้นนำ มีการรวมเข้ามาแต่ไม่ได้รวมเข้า คนอีสานยังเป็นคนนอกในบ้านเกิดตัวเอง คายส์ ไม่ได้มุ่งสะท้อนบริบทสังคมอีสานที่โบราณมาก แต่มอง “ความเปลี่ยนผ่าน” และใช้วิธีวิทยาที่สามารถเข้าไปคุยกับชาวบ้านอย่างลึกๆ ณ บ้านหนองตื่น จังหวัดมหาสารคามเป็นหลัก คายส์ ใช้วิธีการตีความโดย “คนใน” (เพราะประสบการณ์และทัศนะของคนในมีความสำคัญ) เพื่อให้เห็นความต่างจากการที่คนนอกอื่นๆ มองอีสานว่า “เป็นคนไม่มีความรู้สิไปฟังเฮ็ดหยัง” แต่ คายส์ ให้ความสำคัญกับคนพื้นถิ่น การทำความเข้าใจอีสานที่ให้ความสนใจกับมิติการเมือง การเชื่อมโยงให้เห็นมหภาคเชื่อมโยงกับภาพจุลภาค มองศาสนาที่เข้าใจลึก หรือความเป็นอีสานที่ผูกพันกับท้องถิ่นและทรัพยากรธรรมชาติ (มององค์รวมและมองเชื่อมโยงกันกับระดับกว้างด้วย)
.
6. ตามหาเสียงอีสานที่หายไป : การฟังเสียงของคนอีสาน พยายามอธิบายแทนคนอีสานที่ไม่มีเสียง “คนอีสานไม่ใช่คนอื่นคนไกลคนอีสานคือคนเหมือนกัน” แต่ถึงที่สุดแล้วก็พูดแทนคนอีสานทั้งหมดไม่ได้อยู่ดี การติดกระดุมเม็ดแรกของคนอีสานผ่านความพยายามนำเสนอความสัมพันธ์ระหว่าง "รัฐไทย" กับ "คนอีสาน" มีพัฒนาการตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน การเกิดความเหลื่อมล้ำและความอยุติธรรมมันนำมาสู่สำนึกความเป็นท้องถิ่นนิยม และการเกิดขึ้นมาจากอำนาจของชนชั้นนำสยามปกครองอีสานแบบอาณานิคม เช่น รัฐพยายามสร้างมายาคติให้ชาวนาเป็นชาวบ้าน
.
7. แนวคิดอีสานนิยมเพียงพอหรือไม่…? : เราจะขยายพรมแดนของความรู้ให้ไปไกลกว่า คายส์ ได้อย่างไร…? มองมุมอื่นที่แตกต่างได้อย่างไรในช่วงสังคมอีสานที่พลิกผัน สิ่งที่ คายส์ ยังไม่ได้มองมากนักคือความเป็นอาณานิคมภายนอก เช่น อาณานิคมฝรั่งเศสและอังกฤษ เป็นต้น ขณะที่ ความเปราะบางทางการเมืองอีสานสะท้อนได้ใน “นิทานหมาป่ากับลูกแกะ/ราชสีห์กับหนู” หรือประเด็นการเกิดกบถที่ “เกิดขึ้นรวดเร็วและหายไปอย่างรวดเร็ว” (กบถผู้มีบุญ กบถเงี้ยวเมืองแพร่ กบถเจ้าแขกเจ็ดหัวเมือง) และกบถกฎุมพีหัวเมือง (ไพร่ที่มั่งมี) การเกิดกบถ มีทั้งคนรากหญ้าและคนเมือง แต่ยังไม่ถูกพูดถึงมากนัก ควรเป็นประเด็นที่ต้องกลับมาทบทวนและทำความเข้าใจมากขึ้นต่อ
.
8. “แมงกุดจี่” กับคนอีสานและการถูกริบอำนาจ : กล่าถึงอย่างน้อย 3 มิติ คือ 1) อำนาจเชิงวัฒนธรรม เช่น ยกเลิกการละเล่นแอ่วลาว ยกเลิกบุญบั้งไฟมาเป็นแห่เทียนพรรษา 2) มิติเศรษฐกิจ เช่น ยกเลิกการค้าทาส การเก็บภาษีเป็นเงิน และ 3) การริบอำนาจทางการเมือง เช่น การจัดตั้งเทศาภิบาล การตัดสายสัมพันธ์สองฝั่งโขง เป็นต้น ขณะที่ คนอีสานพยายามสร้าง “จักรวาลของคนอีสาน” ขึ้นมาแข่งกับรัฐสยามในแบบ “ชุมชนจินตกรรม” (Communities) ผ่านหมอลำ ความเป็นชาติพันธุ์ลาว พุทธทำนาย นิทานพื้นบ้าน หรือความเชื่อพระศรีอาริยเมตไตรย ฯลฯ คำถาม คือ การทำความเข้าใจคนอีสานจะต้องมองให้เห็นบทบาทของคนอีสานมากขึ้นได้หรือไม่ คนอีสานที่เป็น “แมงกุดจี่” (ตัวเล็กในสายตา) กำลังทำอะไรบ้างในการต่อสู้ทางการเมือง คนอีสานได้เรียนรู้โลกกว้างมาตั้งแต่แรกแล้วหรือไม่ เช่น แรงกัดดับจากอาณานิคมฝรั่งเศส (แต่ไม่แน่ใจว่ามากน้อยเพียงใด) และหลัง 2475 เกิดอะไรกับคนอีสาน ขณะที่ อีสานเกิดการก่อตัวของแนวคิดอย่างน้อยสองกระแสคือ “เกิดแนวคิดแบบอนุรักษ์นิยม” กับ “แนวคิดประชาชาติราษฎรนิยม”
.
9. กรณีอื่นน่าสนใจแต่ยังไม่ถูกกล่าวถึง : ในอีสานมีตัวอย่างอีกหลายมิติที่ คายส์ ไม่ได้กล่าวถึง เช่น “ครูอ่ำ บุญไทย" ปัญญาชนอีสาน ผู้ตกเป็นเหยื่อการกวาดล้างคนเห็นต่างของรัฐบาล (พ.ศ.2476 เขียนหนังสือกฤดาการบนที่ราบสูง) ครูอ่ำได้กำหนด “ลักษณะผู้แทนราษฎร” ที่ควรจะเป็นไว้ 4 ประการ คือ เป็นผู้เข้าใจแก่นแห่งความดี เป็นผู้ทราบว่าความต้องการในที่สุดคืออะไร เป็นผู้อ่านโลกออก และลักษณะอื่นๆ ของผู้แทน หรือกรณี “กบฏผู้มีบุญโสภา พลตรี” พ.ศ.2483 การต่อต้าน พรบ.ประถมศึกษา พ.ศ.2464 /ต่อต้านกฎหมายป่าไม้ /ต่อต้านภาษีบำรุงท้องที่ (ภาษีที่ดิน) หรือกรณีประชาชาติราษนิยม คณะราษฎรกับคนอีสาน 4 สส.อีสาน ได้แก่ จำลอง ดาวเรือง, ถวิล อุดล, ทองเปลว ชลภูมิ, และทองอินทร์ ภูริพัฒน์ หรือกรณี พ.ศ.2475 เกี่ยวอะไรกับคนอีสานไหม? ขณะนั้น คนอีสานรับรู้และมีส่วนร่วม ไม่ได้ชิงสุกก่อนห่าม สิ่งหนึ่งที่เราจะทำความเข้าใจเกี่ยวกับความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองอาจจะใช้ฐานหนึ่งจาก คายส์ ได้ แต่เป็นเพียงบางแง่มุมของการนำเสนอและมีความเปลี่ยนแปลงบางอย่างที่ค่อยๆ ค้นพบสำนึกทางการเมืองของคนอีสาน และคนอีสานส่งต่อสำนึกอุดมการณ์ของคนอีสานอย่างไร ยุคนี้จะต้องกลับมาทบทวนประวัติศาสตร์ของอีสานแบบใหม่ที่ควรถกเถียงในยุคนี้
.
10. อีสานศึกษา (Isan Studies) หรือคำว่า “Isan Regionalism” ในหนังสือ สะท้อนอีสานและการต่อสู้กับส่วนกลาง แต่มองการสร้างตัวตนของอีสานที่มองดูเป็นภาพรวมไป/ยังไม่เห็นส่วนต่าง หรืออาจเป็นไปได้ว่าการเมืองอีสานกับกรุงเทพอาจจะเป็นคำถามในช่วงนั้นหรือไม่ จึงมีส่วนไปสัมพันธ์กับงานของกลุ่มงานของแหล่งทุน อย่างไรก็ดี คนอีสานไม่ได้แบ่งแยกดินแดนแต่พยายามต่อสู้ในระบบ ซึ่งในยุคเดียวกันไม่มีหนังสือแบบนี้ที่ครอบคลุมประวัติศาสตร์แบบนี้ หรือการศึกษาเกี่ยวกับการเมืองไม่ค่อยมีคนมองระบอบการเมืองแบบรัฐสภา ขณะที่ คายส์ ได้รับอิทธิพลจาก จี. วิลเลียม สกินเนอร์ ผู้ศึกษาสังคมจีนในประเทศไทย: ประวัติศาสตร์เชิงวิเคราะห์ เนื่องจาก สกินเนอร์ ไม่สามารถเดินทางเข้าประเทศจีนด้านปัญหาทางเอกสาร อย่างไรก็ตาม วิธีวิทยาแบบที่ คายส์ ใช้ มีน้อยในกลุ่มนักสังคมวิทยาและมานุษยวิทยาทั่งรุ่นก่อนและรุ่นหลัง
.
11. อุษาคเนย์ (Southeast Asia): การใช้มุมมองแบบมานุษยวิทยาพ้นจาก methodological nationalism การให้ความสนใจกับพื้นที่ศึกษา ต้องตั้งคำถามต่อกรอบพื้นที่ซึ่งขยายกว้างกว่าพื้นที่ประเทศไทย แล้ววิธีศึกษาสังคมไทยและฉายภาพระดับโลก ว่ามันเป็นอย่างไร ซึ่งมีงานที่น่าสนใจศึกษาอยู่หลายชิ้นของลูกศิษย์ คายส์ ที่เป็นคนประเทศเวียดนาม
.
12. พลเมืองสากล (Cosmopolitan villagers) : ที่กล่าวไว้ได้พูดถึง “Cosmopolitan villagers” การพูดถึงความจำเพาะเจาะจงของชาวนาอีสานที่ไม่ได้เหมือนกันกับชาวนาภาคเหนือ และความเป็นพลเมืองโลกของคนอีสานและมีการมองในระดับที่กว้างออกไป คายส์ ให้ความสำคัญกับความเป็นอาณาบริเวณ มานุษยวิทยาประวัติศาสตร์ การทำงานฝั่งตัวภาคสนาม การมองสังคมชาวนามาจากมาร์กซิสที่ถูกขูดรีดเสมอ และการศึกษาเชิงวิพากษ์ความเหลื่อมล้ำ ความไม่ยุติธรรม (สังคมที่ดีคืออะไร) คายส์ ยืนอยู่ข้างผู้ด้อยโอกาสที่เสียเปรียบ
.
13. วิธีวิทยาแบบ คายส์ : เริ่มจากการให้ความสำคัญกับ Native point of view (มุมมองคนพื้นถิ่น/พื้นที่) เช่น มองน้ำเสียง/การพูด ปัญหาในพื้นที่ ความสุขของคน การกังวล ประสบการณ์ ความรู้สึก เป็นต้น วิธีวิทยาแบบ คายส์ พยายามมอง “การดิ้นขึ้นดิ้นลง” มองให้เห็นว่ามีตัวแสดง (Actor) อะไรมาเกี่ยวข้องบ้าง กระโดดไประดับชาติ แล้วการค้นต่อจากคำพูดที่เกี่ยวข้องกับประเด็นท้องถิ่น/นำมิติประวัติศาสตร์มาจับ มองรัฐเชื่อมโยงกับประวัติศาสตร์ เชื่อมส่งออกและตามไปต่อในประเด็น แล้วมีทฤษฎีอะไรที่คล้ายกัน มีการหยิบยกเชิงทฤษฎี “การเข้าใจคนต้องเข้าใจองค์รวม” (โดยเฉพาะคนที่เป็นตัวเล็กตัวน้อยทางสังคม)
.
กล่าวโดยสรุป วิธีวิทยาแบบที่อาจารย์ Charles F. Keyes สนใจคือการให้ความสำคัญกับการทำงานภาคสนาม/พื้นที่ และเริ่มต้นความสนใจจากมุมมองของคนพื้นถิ่น/พื้นที่ (Native point of view) แล้วเชื่อมโยงต่อถึงการเมืองระดับชาติและแนวคิดแบบสากล หรืออาจเรียกสั้นๆ ในที่นี้ว่า “การมองแบบการดิ้นขึ้นดิ้นลง” กล่าวคือ การเริ่มจากรากเป็นของเดิมแล้วขยายออกไปกว้างมากขึ้น ปรากฏในมิติใดบ้าง การอธิบายอะไร หรือระบบเศรษฐกิจ หรือชีวิตประจำวัน ต้องดูว่าชาวบ้านใช้ในชีวิตประจำวันอย่างไร แต่ต้องเชื่อมโยงกับมิติรัฐ และทฤษฎีร่วมสมัยต่างๆ ให้เริ่มต้นจาก Social Actor และเชื่อมโยงกับรัฐชาติและสากล
.
ขอบคุณงานเสวนาที่กระตุ้นต่อมอยากรู้และอยากกลับไปค้นงานของอาจารย์คายส์ มาอ่านใหม่ให้ลุ่มลึกขึ้น และชวนมอง/ตั้งคำถามต่อบริบทสังคมอีสานในอดีต ปัจจุบัน และอนาคตในประเด็นใหม่ๆ โดยวิธีวิทยาแบบที่อาจารย์ Charles F. Keyes ใช้ และขอบคุณอาจารย์วิทยากรทั้ง 3 ท่านที่ช่วยฉายให้เห็นความลุ่มลึกแบบอาจารย์คายส์ และปรากฎการณ์อื่นๆ ที่น่าสนใจและอาจารย์คายส์และนักวิชาการไทยยังไม่ศึกษามากนัก