iLaw
20h
เป็นเวลามากกว่า 8 ปีแล้ว ที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) นำโดยพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ทำรัฐประหารและมานั่งอยู่ในตำแหน่งผู้นำของประเทศพร้อมใช้อำนาจที่มีอยู่อย่างเต็มที่เพื่อพาประเทศไปในทิศทางที่ต้องการ
ระยะเวลาที่ยาวนาน #8ปีประยุทธ์ เทียบได้กับการครองตำแหน่งนายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญครบ 2 วาระ ซึ่งยังไม่เคยมีนายกรัฐมนตรีของไทยคนไหนทำได้ และเป็นระยะเวลาอยู่ในตำแหน่งยาวนานเป็นอันดับที่ 4 รองจากจอมพลป.พิบูลสงคราม จอมพลถนอม กิตติขจร และพล.อ.เปรม ติณสูลานนท์
นับถึงวันนี้ "มรดก" ที่ คสช. ทิ้งไว้ในระบบการปกครองและระบบกฎหมายมากมายยังคงบังคับใช้อยู่ อำนาจในการปกครองประเทศก็ยังไม่ได้อยู่ในมือประชาชน และการใช้อำนาจรัฐแบบตรวจสอบไม่ได้ก็ยังมีลักษณะเดียวกับระยะเวลา 8 ปีที่ผ่านมา
ชวนดูละเอียดๆ พร้อมลิงก์อ้างอิงทุกเรื่อง คลิกเริ่มต้นที่นี่ https://ilaw.or.th/node/6145
.
1. รัฐธรรมนูญ 2560
https://www.ilaw.or.th/node/4191
รัฐธรรมนูญที่ใช้มาตั้งแต่ปี 2560 เป็นมรดกชิ้นสำคัญที่ คสช. สร้างไว้ โดยมีที่มาจากการแต่งตั้งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) 21 คน ขึ้นมาเอง นำโดยหนึ่งในสมาชิก คสช.มีชัย ฤชุพันธุ์ เมื่อจัดทำร่างเสร็จก็จัดประชามติที่ปิดกั้นและไม่ชอบธรรมขึ้นในปี 2559 จากนั้นยังเปิดช่องให้มีการแก้ไขอีกอย่างน้อย 4 ครั้งก่อนประกาศใช้
เนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญนี้ มีปัญหาทั้งในแง่สิทธิเสรีภาพ ที่เปลี่ยนเอาสิทธิของประชาชนจำนวนหนึ่งย้ายไปเป็น "หน้าที่ของรัฐ" และยังจำกัดการเขียนคุ้มครองสิทธิให้ลดลง เช่น สิทธิด้านสาธารณสุขที่ไม่เขียนคำว่า "สิทธิเสมอกัน" สิทธิด้านการศึกษาที่ไม่รับรองการเรียนฟรีให้เป็นสิทธิของประชาชนอีกต่อไป หรือสิทธิการมีส่วนร่วมที่จะเข้าชื่อถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองก็ถูกเอาออก ขณะเดียวกันก็วางกลไกสืบทอดอำนาจให้ คสช. ทำให้การเข้าสู่อำนาจทางการเมืองของประเทศไม่ได้มาจากอำนาจของประชาชน โดยการออกแบบระบบเลือกตั้งใหม่ การเปิดช่องทางนายกรัฐมนตรีที่ไม่ต้องสมัครรับเลือกตั้ง การมีส.ว.แต่งตั้งพร้อมอำนาจพิเศษ การเข้ายึดกุมองค์กรตรวจสอบ จนส่งให้พล.อ.ประยุทธ์ อยู่ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อไปได้เรื่อยๆ
นอกจากรัฐธรรมนูญ 2560 จะสร้างกลไกรักษาอำนาจให้ระบอบ คสช. ไว้มากมายแล้ว ยังวางกลไกสำคัญที่สุดไว้ คือ ทำให้การแก้ไขเป็นไปได้ยาก และยากที่สุดตั้งแต่ประเทศไทยเคยมีรัฐธรรมนูญมา แม้พรรคการเมืองส่วนใหญ่จะประกาศชัดเจนว่าต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่จากข้อเสนอจากพรรคการเมืองทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน และข้อเสนอจากการเข้าชื่อของประชาชนทั้ง 21 ฉบับ ที่พิจารณาถึงสามยกในปี 2564 ก็มีร่างเพียงฉบับเดียวที่ผ่านการพิจารณาได้ ที่เหลือยังถูกพรรคฝ่ายรัฐบาลและ ส.ว. ของ คสช. ขวางเอาไว้
.
2. พระราชบัญญัติ ที่ผ่าน สนช.
https://ilaw.or.th/node/4411
ด้วยอำนาจของคณะรัฐประหาร คสช. ได้ตั้งฝ่ายนิติบัญญัติของตัวเองขึ้นชื่อว่า สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ประกอบด้วยสมาชิก 250 คน ที่มากกว่าครึ่งเป็นทหาร เต็มไปด้วยชายสูงอายุ และหลายคนมีผลประโยชน์ทับซ้อนในกฎหมายที่ต้องพิจารณา ผลงานการทำหน้าที่เป็น "ตรายาง" ก็ค่อนข้างสมบูรณ์แบบเมื่อรับร่างกฎหมายมาจากระบบราชการ และคณะรัฐมนตรีแล้วก็ยกมือให้ผ่านแบบ "ไม่แตกแถว" อัตราส่วน 90% ขึ้นไป ไม่เคยลงมติคว่ำร่างฉบับใดเลย จากข้อมูลของเว็บไซต์สำนักงานเลขาธิการสภานิติบัญญัติแห่งชาติ พบว่าตลอดอายุกว่า 4 ปีของ สนช. ผ่านร่างพระราชบัญญัติไป 444 ฉบับ เกือบ 100 ฉบับยกมือผ่านในช่องสองเดือนครึ่งของปี 2562 ก่อนปิดตัวเองไป
กฎหมายที่ผ่านโดยสภาแห่งนี้ชัดเจนว่า มีเนื้อหาไปในทางเพิ่มอำนาจให้หน่วยงานของรัฐ เพิ่มโทษให้ผู้ฝ่าฝืน สร้างและจัดระบบราชการใหม่ เป็นการสร้างระบบรัฐราชการให้เข้มแข็งขึ้นและลดทอดอำนาจประชาชนให้น้อยลง มีทั้งเพื่อปิดกั้นการแสดงความคิดเห็นของประชาชน เช่น พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ร.บ.ประชามติฯ การแก้ไขพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มีกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมโลกออนไลน์ เช่น พ.ร.บ.ความมั่นคงไซเบอร์ฯ พ.ร.บ.ข่าวกรอง พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ในแง่กระบวนการยุติธรรมก็เปลี่ยนไปมาก เมื่อสนช. แก้ไขกฎหมายตัดสิทธิประชาชนยื่นคดีต่อศาลฎีกา การเพิ่มระบบดำเนินคดีแบบกลุ่ม การเพิ่มระบบกำไลอิเล็กทรอนิกส์ติดตามตัว (EM)
กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสิทธิเสรีภาพ เกี่ยวข้องชีวิตของประชาชน จำนวนมากผ่านในสภาของ สนช. ท่ามกลางเสียงคัดค้านที่เมื่อกฎหมายออกมาอาจส่งผลเสียมากกว่าผลดี เช่น พ.ร.บ.อุ้มบุญฯ ที่อาจทำให้หลายคู่ไม่สามารถใช้สิทธิอุ้มบุญได้ พ.ร.บ.การเอามหาวิทยาลัยออกนอกระบบ พ.ร.บ.ประมง ที่เปลี่ยนกลับไปมาหลายรอบ กฎหมายเกี่ยวกับป่าไม้สามฉบับ ที่เพิ่มอำนาจให้เจ้าหน้าที่รัฐและเพิ่มโทษให้ประชาชน ฯลฯ รวมทั้งผลงานพิเศษของ สนช. คือ กฎหมายที่ขยายพระราชอำนาจให้สถาบันพระมหากษัตริย์
พ.ร.บ.เหล่านี้ จะมีผลใช้บังคับตลอดไปจนกว่าจะมีการเสนอร่าง และพิจารณาแก้ไขใหม่โดยรัฐสภาชุดใหม่
.
3. แผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี
https://ilaw.or.th/node/4570
แผนยุทธศาสตร์ พ.ศ.2561-2580 ความยาว 74 หน้า จัดทำขึ้นโดยคณะกรรมการชุดที่ตั้งขึ้นโดยรัฐบาล คสช. คนที่นั่งหัวโต๊ะเป็นประธานก็คือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เอง รวมทั้งตามมาด้วยคนสำคัญอย่าง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา วิษณุ เครืองาม พรเพชร วิชิตชลชัย แม้จะอ้างว่าจัดทำขึ้นตามที่รัฐธรรมนูญ 2560 สั่งไว้ แต่ที่จริงแอบจัดทำมาแล้วก่อนหน้านั้นอย่างน้อยตามมติคณะรัฐมนตรี 2558 เมื่อรัฐธรรมนูญผ่านจึงหยิบร่างเดิมมาปรับแต่งและประกาศใช้
ระหว่างการจัดทำแผนอนาคตประเทศอีก 20 ปี แม้ตามกฎหมายจะกำหนดขั้นตอนให้ต้องจัดรับฟังความคิดเห็นของประชาชน แต่ก็ยังเปิดช่องให้เอาผลการรับฟังความคิดเห็นที่ทำไว้ตั้งแต่ปี 2558 มาใช้ได้ และระหว่างการจัดทำแม้จะขอให้เปิดร่างเพื่อให้ประชาชนแสดงความคิดเห็นก็เป็นไปอย่างลำบาก และกระบวนการได้มาก็ผ่านการพิจารณาและอนุมัติโดยองค์กรที่แต่งตั้งโดย คสช. ทั้งสิ้น ทำให้แผนยุทธศาสตร์นี้เรียกว่า "ยุทธศาสตร์ชาติ" ได้ลำบาก ควรจะเรียกให้ถูกต้องว่า แผนยุทธศาสตร์ของ คสช.
แม้โดยเนื้อหาของแผนการ 74 หน้าจะไม่ใช่สิ่งที่เลวร้าย แต่ก็กลายเป็นความฝันที่ไม่รู้ว่าจะไปถึงได้อย่างไร ส่วนกลไกที่น่าเป็นกังวลนั้น คือ กลไกการบังคับใช้ ที่มีองค์กรริเริ่ม คือ ส.ว. แต่งตั้ง, ศาลรัฐธรรมนูญ รวมถึงส่งอำนาจกลับไปยังคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติที่นำโดยพล.อ.ประยุทธ์ เอง ซึ่งหากใครทำผิดก็อาจถูกถอดถอนจากตำแหน่งได้ ทำให้แผนการ 74 หน้านี้อาจถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง สำหรับใช้ถอดถอนนักการเมืองฝ่ายตรงข้ามได้
.
4. แผนการปฏิรูปประเทศซ้ำซ้อน
https://ilaw.or.th/node/3839
ตลอดระยะการบริหารประเทศของ คสช. ได้สร้างกลไกลการปฏิรูปประเทศเป็นอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่ใช้งบประมาณมหาศาล เริ่มจากการแต่งตั้งบุคคลใกล้ชิดเข้าไปรับตำแหน่งสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ในปี 2557 หลังทำรายงานผลิตข้อเสนอชนิด "ครอบจักรวาล" ออกมา 505 ข้อ ก็ยุบตัวเองไป ต่อมาก็แต่งตั้งสมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ขึ้นอีกในปี 2559 ผลิตข้อเสนอมา 1,342 ข้อ เต็มไปด้วยนามธรรมลอยๆ มีข้อเสนอที่เป็นรูปธรรมนำไปปฏิบัติได้เพียง 329 ข้อ อย่างไรก็ตามการปฏิรูปประเทศของ คสช.ยังไม่สิ้นสุดลง และยังคงตั้ง "คณะกรรมการปฏิรูปประเทศ" ขึ้นอีกเป็นชุดที่สาม
คณะกรรมการปฏิรูปประเทศยังเต็มไปด้วยบุคคลที่คุ้นหน้าคุ้นตา เป็น อดีตสปช. และสปท. อยู่ถึง 46 คน ทุกคนล้วนนั่งควบตำแหน่งในสภาปฏิรูปมาแล้วถึงสองสมัย และก็ยังได้ไปต่ออีกเป็นคำรบที่สาม กลุ่มคนที่มีสัดส่วนมากเป็นอันดับที่สอง ก็คือ กลุ่ม 'ข้าราชการและอดีตข้าราชการ' โดยคนกลุ่มนี้มีถึง 40 คน ถัดมาเป็นตัวแทนจากนักวิชาการหรือผู้ทรงคุณวุฒิ 22 คน และที่เหลือเป็นตัวแทนจากเอกชน 7 คน นักการเมือง 3 คน และสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) 2 คน
แผนการปฏิรูปประเทศ ที่จัดทำมาต่อเนื่องมาจากรายงานของสปช. และสปท. แบ่งเป็น 11 ด้าน ความยาวรวมกันกว่า 3,000 หน้า ยังมีผลใช้บังคับอยู่เรื่อยมา ขณะที่คณะกรรมการปฏิรูปประเทศก็ยังไม่หมดอำนาจหน้าที่ไป เป็นมรดกของ คสช. ชิ้นสำคัญที่ทำหน้าที่คล้ายกับแผนยุทธศาสตร์ คือ วันหนึ่งอาจถูกหยิบมาใช้ถอดถอนนักการเมืองที่ทำนโยบายแตกต่างไป
.
5. กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ
https://www.ilaw.or.th/node/4197
พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ หรือ "กฎหมายลูก" คือ กฎหมายสำคัญที่รัฐธรรมนูญ 2560 สั่งให้จัดทำขึ้นมี 10 ฉบับ ได้แก่ กฎหมายเลือกตั้ง ส.ส. กฎหมายที่มา ส.ว. กฎหมายพรรคการเมือง และกฎหมายการจัดตั้งและการได้มาซึ่งองค์กรตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ ซึ่งรัฐธรรมนูญ 2560 ที่กรธ. นำโดยมีชัย เป็นคนร่างขึ้นก็ "ตีเช็คเปล่า" ให้ตัวเองเป็นคนร่างกฎหมายลูกทั้ง 10 ฉบับต่อเนื่องได้เลย และส่งร่างให้ผ่านการประทับตรายางโดย สนช.
การเขียนกฎหมายลูกสำหรับองค์กรตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐมีลักษณะจงใจเลือกที่จะ "เซ็ตซีโร่" หรือให้คนที่นั่งอยู่พ้นตำแหน่งและสรรหาใหม่ สำหรับบางองค์กร เช่น คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ทำให้ต้องสรรหาคนใหม่โดยกระบวนการของ คสช. ขณะที่บางองค์กรก็เลือกที่จะให้คนเดิมนั่งยาวต่อไปได้ เช่น ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ผู้ตรวจการแผ่นดิน เป็นต้น ทำให้กรรมการในองค์กรเหล่านี้ล้วนเป็นคนที่มาจากระบบคัดเลือกที่ คสช. พอใจ
ด้านกฎหมายพรรคการเมืองที่ กรธ. เขียนขึ้นก็ชัดเจนว่า เป็นการวางกรอบให้พรรคการเมืองตั้งยาก แต่ถูกยุบง่าย ทำให้คนที่จะทำพรรคการเมืองต้องมีต้นทุนสูง และมีเงื่อนไขเพิ่มเติมในการส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งพร้อมวางข้อจำกัดการหาเสียงไว้มากมาย เห็นได้ว่าเป็นระบอบการปกครองที่ไม่ไว้ใจนักการเมือง แต่ไว้ใจองค์กรตรวจสอบที่ตัวเองเลือกสรรมาแล้วเท่านั้น
.
6. ประกาศ คำสั่ง คสช.
https://ilaw.or.th/node/5041
ในระยะเวลาเกือบห้าปี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ใช้อำนาจคณะรัฐประหารออกประกาศ คสช. และคำสั่ง คสช. รวมกัน 345 ฉบับ และใช้อำนาจพิเศษตาม "มาตรา44" ออกคำสั่งหัวหน้า คสช. อีก 211 ฉบับ รวมแล้วเป็นจำนวนกฎหมายภายใต้อำนาจพิเศษของคณะรัฐประหาร 556 ซึ่งต่อมาเมื่อมีรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 279 ก็ยังเขียนคุ้มครองให้ประกาศและคำสั่งเหล่านี้มีผลบังคับใช้ตลอดไป จนกว่าจะมีการออกพระราชบัญญัติมายกเลิก
ประกาศและคำสั่งเหล่านี้ จำนวนหนึ่ง คสช. ได้ยกเลิกไปด้วยตัวเองแล้ว แต่ก็เป็นการเลือกสรรที่ยังคงเอาไว้และคงเงื่อนไขอีกหลักร้อยฉบับ จำนวนหนึ่งสิ้นผลโดยอัตโนมัติหลังใช้งาน เช่น การแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการ การยุบหน่วยงาน และบางฉบับถูกแปลงเป็นพระราชบัญญัติไปโดย สนช. แต่ก็ยังเหลืออีกหลายฉบับที่มีผลใช้บังคับมา และยังไม่ถูกแก้ไขหรือยกเลิกโดยหน่วยงานใด เช่น คำสั่งหัวหน้าคสช. ฉบับที่ 3/2558, 13/2559 ที่ให้อำนาจเอาตัวคนไปเข้าค่ายทหารได้ 7 วัน โดยมีข้อยกเว้นความรับผิดให้ทหาร, ประกาศ คสช. ฉบับที่ 26/2557 ให้ตั้งคณะกรรมการชุดพิเศษเพื่อสั่งปิดกั้นเว็บไซต์ได้โดยไม่ต้องขอหมายศาล, คำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 47/2560 ที่ให้ยกเว้นการใช้ผังเมืองในโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี)
ประชาชนและพรรคฝ่ายค้านเคยเข้าชื่อกันเสนอให้ยกเลิกประกาศและคำสั่ง คสช. ที่ตกยุคมาแล้วจำนวนหนึ่ง แต่ ส.ส. พรรคร่วมรัฐบาลลงมติไม่รับไว้พิจารณา
.
7. ส.ว. ที่นั่งใหม่ของพวกพ้อง
https://ilaw.or.th/node/5366
หลังการทำรัฐประหาร การตั้งสนช. และสปช. ก็ทำให้เพื่อนทหารและอดีตทหาร มีที่นั่งทำงานต่อโดยได้รับเงินเดือนกว่าแสนบาท หลังการใช้รัฐธรรมนูญ 2560 จึงมีสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) อีก 250 คน มาจากระบบคัดเลือกพิเศษของ คสช. โดยคนเหล่านี้อาจเรียกว่า "คนกันเอง" เพราะมีอย่างน้อย 157 คนที่มีความใกล้ชิดกับ คสช. เคยได้รับแต่งตั้งเป็น สนช. สปช. สปท. ครม. รวมทั้งเป็นอดีตสมาชิกคสช. เอง มีนายพล 103 คน และอดีตข้าราชการ 143 คน รวมทั้งผู้นำเหล่าทัพที่ผลัดเปลี่ยนกันมานั่งในตำแหน่ง และคนชื่อคุ้นนามสกุลค้นอย่าง พล.อ.ปรีชา จันทร์โอชา, พล.ต.อ.พัชรวาท วงศ์สุวรรณ, พล.อ.ต.เฉลิมชัย เครืองาม
แม้ที่มาจะเป็น "คนกันเอง" แต่อำนาจของ ส.ว. ชุดนี้กลับมากเป็นพิเศษ อำนาจทั่วไป คือ การกลั่นกรองและตรวจสอบกฎหมายที่ผ่านมาจาก ส.ส. และอำนาจให้ความเห็นชอบผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ ตามมาด้วยอำนาจใหม่ที่เพิ่งมีขึ้นเป็นพิเศษ ถือเป็นมรดกที่ คสช. วางเส้นทางเอาไว้ชัดเจน เช่น อำนาจในการลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีร่วมกับสภาผู้แทนราษฎร หรือการติดตามเร่งรัดแผนการปฏิรูปประเทศและยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ที่เขียนโดย คสช. และอำนาจขวางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เป็นต้น
เมื่อครบรอบ 8 ปีคสช. ส.ว. ก็อายุได้ครบสามปีเต็ม ใช้งบประมาณเป็นค่าตอบแทนไปแล้วไม่น้อยกว่าสองพันล้านบาท พร้อมกับผลงานการลงมติเลือกพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีอย่างเป็นเอกฉันท์, ผ่านกฎหมายได้ 35 ฉบับ, คัดเลือกคนเข้าสู่ตำแหน่งสำคัญ ทั้งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ, กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ, กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)
.
8. การคุกคามประชาชน
https://freedom.ilaw.or.th/node/1063
การเข้ามาของ คสช. มาพร้อมกับการขายฝันว่าจะสร้าง "ความสงบ" คณะรัฐประหารจึงต้องการใช้อำนาจต่างๆ เพื่อไม่ให้เกิดกิจกรรมทางการเมืองขึ้นได้ แม้จะห้ามไม่สำเร็จ แต่ตลอดเวลา 8 ปีที่ผ่านมาเรื่องราวของนักกิจกรรมที่ถูกเจ้าหน้าที่รัฐคุกคามไม่ว่าจะเป็นการไปเยี่ยมที่บ้าน การชวนไปพูดคุย โทรศัพท์ข่มขู่ หรือขับรถตาม เกิดขึ้นแทบทุกวันจนเห็นรายงานข่าวอยู่บ่อยๆ จนกลายเป็นเรื่องชินตาของสังคม
ในยุคแรกของการรัฐประหาร มีปรากฎการออกคำสั่ง คสช.เรียกให้บุคคลไปรายงานตัวในค่ายทหาร อย่างน้อย 666 คน รวมทั้งการใช้ทหารอ้างอำนาจกฎอัยการศึกบุกไปจับตัวคนมาไว้ในค่ายทหารเป็นเวลาไม่เกิน 7 วัน โดยอ้างอำนาจตามกฎอัยการศึก เป็นกระบวนการที่ คสช.พยายามอธิบายว่า ต้องการ "ปรับทัศนคติ" ซึ่งบางส่วนเป็นนักการเมือง เป็นนักเคลื่อนไหว สื่อมวลชน นักวิชาการ ไปจนถึงคนที่ คสช. สงสัยว่าก่อเหตุใช่ความรุนแรง ต่อมาอำนาจนี้ขยายไปเพื่อ "ปราบผู้มีอิทธิพล" ตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 13/2559 ทำให้บุคคลที่ตกเป็นเป้าหมายขยายวงกว้างมากขึ้น ในยุคนี้ยังเกิดปรากฏการณ์การบุกทำร้าย และ "อุ้ม" นักกิจกรรม โดยบุคคลที่แต่งกายคล้ายทหารด้วย
ในยุคต่อมา แม้จัดการเลือกตั้งไปแล้วแต่ปรากฏการณ์เหล่านี้ก็ไม่ลดลง เมื่อเกิดการชุมนุมต่อต้านการสืบทอดอำนาจของคสช. โดยกระแสคนรุ่นใหม่ การส่งเจ้าหน้าที่ไปหาที่บ้าน ที่สถานศึกษา ที่ทำงาน หรือการใช้เจ้าหน้าที่ฝ่ายอื่น ทั้งฝ่ายปกครอง ครูในโรงเรียน เจ้าหน้าที่พัฒนาสังคม ฯลฯ เข้ามามีส่วนในการ "ห้าม" การทำกิจกรรมก็ยังเกิดขึ้นต่อเนื่อง รวมทั้งมีการติดตามสอดแนมนักกิจกรรม เช่น การติดจีพีเอสในรถ การส่งสปายแวร์ การยกเลิกพาสปอร์ต การทำข้อมูลบุคคลที่ต้องจับตาของสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ฯลฯ การใช้อำนาจเหล่านี้บางครั้งก็ไม่มีกฎหมายให้ทำได้ และบางครั้งก็ไม่ได้ฝ่าฝืนต่อกฎหมายที่มีอยู่ แต่เป็นปรากฏการณ์การใช้ทุกเครื่องมือที่รัฐมีเพื่อค้ำยันอำนาจทางการเมืองของตัวเองไว้ ที่เกิดขึ้นและไม่มีทีท่าว่าจะลดลง
.
9. คดีศาลทหาร ที่ยังไม่จบสิ้น
https://freedom.ilaw.or.th/blog/militarycourtfact
ศาลทหารเป็นหน่วยงานราชการภายใต้กระทรวงกลาโหม ตามพ.ร.บ.ธรรมนูญศาลทหารพ.ศ.2489 กำหนดให้ศาลทหารมีอำนาจพิจารณาและพิพากษาคดีของทหารที่กระทำความผิดในหน้าที่ราชการทหาร แต่ในวันที่ 25 พฤษภาคม 2557 คสช.ออกประกาศฉบับที่ 37/2557 กำหนดให้ศาลทหารมีอำนาจพิจารณาคดีพลเรือนที่ทำความผิดในคดีบางประเภท รวมทั้งความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาที่เป็นความผิดเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ และความผิดต่อความมั่นคง รวมถึงความผิดตามประกาศคำสั่งของคสช. เป็นจุดเริ่มต้นให้มีพลเรือนต้องไปขึ้นศาลทหารมากกว่า 2,000 คน
ในการพิจารณาคดีที่ศาลทหาร มีองค์ประกอบของเจ้าหน้าที่ที่เป็นทหาร อัยการที่เป็นทหาร และตุลาการที่เป็นทหารซึ่งบางคนไม่ต้องเรียนจบกฎหมาย ทำให้พบปรากฏการณ์น่าเป็นห่วงมากมาย เช่น การเปิดรับฝากขังตอนเที่ยงคืน การพิพากษาคดีไปโดยจำเลยไม่มีทนายความ ที่สำคัญ คือ การพิจารณาคดีที่ล่าช้า มีการสืบพยานเพียงนัดละครึ่งวันและบ่อยครั้งพยานโจทก์ที่เป็นเจ้าหน้าที่ทั้งทหารและตำรวจก็ไม่มาศาล ส่งผลให้คดีคั่างค้างอยู่เป็นจำนวนมาก ต่อมาในเดือนกันยายน 2559 มีคำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 55/2559 ยกเลิกการนำคดีพลเรือนคดีใหม่เข้าสู่ศาลทหารแต่คดีที่เหตุเกิดก่อนการออกคำสั่งฉบับนี้ยังให้ศาลทหารเป็นผู้พิจารณาต่อไป จนกระทั่งเมื่อคสช. สิ้นสภาในเดือนกรกฎาคม 2563 ก็ออกคำสั่งโอนย้ายคดีพลเรือนที่ยังคั่งค้างในศาลทหารมายังศาลปกติ
จนถึงวันครบรอบ 8 ปี คสช. คดีที่เกิดขึ้นในยุคคสช.และเคยถูกพิจารณาโดยศาลทหารส่วนหนึ่งก็ยังคงพิจารณาไม่แล้วเสร็จ เช่น คดีขอนแก่นโมลเดล ซึ่งเหตุเกิดตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2557 ฝ่ายโจทก์ขอสืบพยานรวม 90 ปาก คดีระเบิดศาลพระพรหมเอราวัณซึ่งเกิดขึ้นตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2558 ที่อัยการขอสืบพยานรวม 447 ปาก และ คดีของแปดแอดมินเพจเรารักพล.อ.ประยุทธ์ซึ่งเหตุเกิดในเดือนเมษายน 2559 เป็นต้น คดีเหล่านี้เชื่อว่าหากศาลยุติธรรมเป็นผู้ดำเนินกระบวนพิจารณาแต่แรกน่าจะแล้วเสร็จหรือพิจารณาไปได้แล้วเพราะศาลยุติธรรมมีระบบนัดวันแบบต่อเนื่องและมีความพร้อมด้านบุคลากรและที่สำคัญมีความเข้มงวดเรื่องการนำพยานมาสืบตามนัด ต่างจากศาลทหาร
.
10. กระบวนการยุติธรรมกลายเป็นเครื่องมือทางการเมือง
https://freedom.ilaw.or.th/node/1064
ในระบบการปกครองปกติสถาบันศาลควรจะทำหน้าที่ใช้บังคับกฎหมาย และถ่วงดุลอำนาจกับฝ่ายบริหาร หากฝ่ายบริหารทำผิดก็ต้องตัดสินให้มีความผิด และหากฝ่ายบริหารใช้อำนาจรังแกประชาชน ก็ต้องคุ้มครองประชาชนด้วยกฎหมาย แต่ในยุค คสช. เมื่อรัฐบาลตัดสินใจเน้นการใช้ "กฎหมาย" เป็นอำนาจหลักมากกว่าอำนาจปืน จึงเกิดปรากฏการณ์การดำเนินคดีประชาชนที่แสดงออกคัดค้านอำนาจของ คสช. อย่างต่อเนื่อง ตลอด 8 ปี สถิติคดีไม่มีแนวโน้มลดลง แม้ว่าหลายกรณี เช่น คดีความจากการรณรงค์ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญระหว่างการทำประชามติ ศาลจะยกฟ้องแทบทั้งหมด หรือคดีความจากการชุมนุมฝ่าฝืนพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ศาลก็ทยอยสั่งยกฟ้อง แต่กระบวนการที่ผู้ต้องหาหรือจำเลยต้องเผชิญ ตั้งแต่การไปรายงานตัวกับตำรวจ การไปต่อสู้คดีในชั้นศาล การยื่นหลักทรัพย์เป็นเงินเพื่อขอประกันตัว หรือการได้รับเงื่อนไขประกันตัว ได้สร้างภาระให้กับจำเลยที่แสดงออกโดยสุจริตอย่างมาก ทำให้กระบวนการยุติธรรมตกเป็นเครื่องมือช่วยเหลือรัฐบาล คสช. ให้การแสดงออกของคนที่เห็นต่างเป็นไปได้อย่างยากลำบากมากยิ่งขึ้น
เมื่อคณะรัฐประหารไม่ได้เน้นการใช้อำนาจปืน แต่เน้นการใช้ "กฎหมาย" โดยเข้ายึดครองอำนาจในการออกกฎหมายเองทั้งหมด และเป็นผู้ออกกฎหมายมาบังคับใช้เพื่ออำนาจทางการเมืองของตัวเอง ซึ่งในช่วงต้น คสช. ใช้อำนาจทหารเข้าครอบงำกระบวนการยุติธรรมทั้งในชั้นจับกุม สอบสวน สั่งฟ้อง และการใช้ศาลทหารได้ทั้งหมด ในหลายกรณีเมื่อส่งคดีความต่างๆ ขึ้นสู่ศาลแล้ว สถาบันศาลจึงไม่มีทางเลือกนอกจากถูกบังคับให้ต้องทำหน้าที่บังคับใช้กฎหมายไปตามที่ คสช. วางไว้ เช่น คดีฐานชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป ฝ่าฝืนข้อห้ามตามประกาศ คสช. หรือกรณีที่ คสช. เขียนรัฐธรรมนูญนิรโทษกรรมตัวเองไว้แล้ว เมื่อฟ้องคดีต่อศาลก็จึงไม่อาจเอาผิดใดๆ กับ คสช. ได้ และสถาบันศาลก็ทำได้เพียงบังคับใช้กฎหมายไปตามแนวทางที่ คสช. วางไว้เท่านั้น