วันพฤหัสบดี, สิงหาคม 25, 2565

การเดินทางของกฎหมายทรมานสูญหาย เกือบมาถึงสุดทางแล้วในวันนี้ แต่ร่างกฎหมายที่แก้ไขโดย สว. ยังมีหลายประเด็นที่ไม่สอดคล้องกับหลักการตามอนุสัญญาการบังคับสูญหายของสหประชาชาติ


Angkhana Neelapaijit
14h

#การเดินทางของกฎหมายทรมานสูญหาย ถือว่ามาถึงเกือบสุดทางแล้วในวันนี้ อย่างที่ได้แสดงความเห็นไว้แต่แรกว่า ร่างกฎหมายที่แก้ไขโดย สว. ยังมีหลายประเด็นที่ไม่สอดคล้องกับหลักการตามอนุสัญญาการบังคับสูญหายของสหประชาชาติ โดยเฉพาะเรื่องการ #อนุญาตให้มีการนิรโทษกรรม ซึ่งถือเป็นการปล่อยให้ผู้กระทำผิดลอยนวลพ้นผิด (impunity) รวมถึงเรื่อง #อายุความ ซึ่งอนุสัญญาของสหประชาชาติ กำหนดให้ #การบังคับสูญหายเป็นอาชญากรรมที่ไม่มีอายุความ หรือหากจะกำหนดอายุความ ควรกำหนดอายุความให้นานเท่าที่จะทำได้ (article 8, 1(a)-ICPPRD) รวมถึงเรื่อง #การห้ามการรับฟังพยานหลักฐานที่ได้จากการทรมาน (ตัดมาตรา 30 ออก) ซึ่งถือเป็นหลักสากลทั้งตามอนุสัญญาต่อต้านการทรมาน และกติกาสากลว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR)
.
เรื่องนี้ได้มีการอภิปรายในสภา ก่อนที่สามชิกสภาผู้แทนราษฎรจะมีมติรับร่างเป็นเอกฉันท์ในวันนี้ โดยการอภิปรายของ สส. เห็นว่าควรรับร่างไปก่อน โดยให้มีการปรับแก้ไขกฎหมายในหลักการสำคัญในภายหลัง ซึ่งถือเป็นคำมั่น (commitment) ที่ได้ให้ไว้กับประชาชน แม้ส่วนตัวจะเห็นว่ากฎหมายที่ผ่านสภาไปแล้ว การแก้ไขเป็นเรื่องยากมากก็ตาม
.

ต่อจากนี้ ขอให้รัฐบาลได้ทำตามมติ ครม. 24 พฤษภาคม 2559 และปฏิบัติตามคำมั่นที่ให้ให้ไว้โดยสมัครใจต่อองค์การสหประชาชาติ โดยการรีบเร่ง #ให้สัตยาบันอนุสัญญาคนหายของสหประชาชาติ (ICPPED) โดยเร็ว เพื่อให้คณะกรรมการสหประชาชาติสามารถตรวจสอบสถานการณ์การบังคับสูญหายในประเทศไทยได้
.
ท้ายนี้ ขอใช้พื้นที่นี้เพื่อ #รำลึกถึงเหยื่อการทรมานและการบังคับสูญหายทุกคน ที่เสียสละชีวิตและร่างกายของตนเองเพื่อเป็นแรงผลักดันให้เกิดอนุวัติการกฎหมายเพื่อป้องกันและปราบปรามการทรมานและการบังคับสูญหาย ในประเทศไทย การต่อสู้ของญาติ และครอบครัวที่ไม่เห็นแก่ความยากลำบากในการรณรงค์ในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา ในท่ามกลางการถูกข่มขู่คุกคาม และความไม่ปลอดภัยถือเป็นคุณูปการที่ยิ่งใหญ่ และสมควรได้รับการยกย่อง
.
#ต้องติดตามต่อว่ากฎหมายฉบับนี้จะสามารถบังคับใช้ทันที หรือรัฐบาลจะอ้างเหตุเพื่อเลื่อนการบังคับใช้ออกไป (pending) โดยข้ออ้างความไม่พร้อมของเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติ เหมือนกฎหมายคุ้มครองสิทธิมนุษยชนบางฉบับที่ผ่านมา .. อีกเรื่องที่สำคัญ คือ ศาลรัฐธรรมนูญมีมติ 5:1 ให้นายกรัฐมนตรียุติการปฏิบัติหน้าที่ในวันนี้ ดังนั้นตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 145 เมื่อร่างกฎหมายได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภาแล้ว ถ้าไม่มีกรณีตามมาตรา 148 (ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ) ให้นายกรัฐมนตรีรอไว้ 5 วัน แล้วให้นายกรัฐมนตรีนำขึ้นทูลเกล้าเพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย ภายใน 20 วัน เมื่อพระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธยแล้ว ก็ให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาให้มีผลบังคับใช้เป็นกฎหมายได้ .. เรื่องนี้คงต้องให้นักกฎหมายมาตอบว่ากรณี #นายกรัฐมนตรีรักษาการ จะสามารถดำเนินการขั้นตอนนี้ได้หรือไม่