วันพุธ, สิงหาคม 24, 2565

จากกระแส #นายกเถื่อน ชวนจับตา ศาลรัฐธรรมนูญตีความ #8ปีประยุทธ์ ครั้งนี้ประยุทธ์จะรอดอีกมั้ยน้า 🤔


iLaw
11h
จับตา "อภินิหารทางกฎหมาย" ของศาลรัฐธรรมนูญ บทพิสูจน์รัฐธรรมนูญปราบโกง
.
ในวันที่ 24 สิงหาคม 2565 จะเป็นวันที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อดีตหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ผู้ทำการรัฐประหารในปี 2557 จะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีมาครบ 8 ปี (นับตั้งแต่วันที่ 24 สิงหาคม 2557) ซึ่งตามรัฐธรรมนูญ ปี 2560 กำหนดให้ผู้ดำรงตำแหน่งนายกฯ จะดำรงตำแหน่งเกิน 8 ปี ไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นการดำรงตำแหน่งนายกฯ ติดต่อกันหรือไม่ติดต่อกันก็ตาม แต่ทว่า การเริ่มนับวาระการดำรงตำแหน่งของ พล.อ.ประยุทธ์ ยังเป็นข้อถกเถียงอยู่ว่าจะเริ่มนับเมื่อไร
.
โดยผู้ที่จะทำหน้าที่วินิจฉัยในประเด็นนี้คือ “ศาลรัฐธรรมนูญ” ซึ่งจะต้องจับตาว่า จะมี "อภินิหารทางกฎหมาย" หรือไม่ เพราะถ้าย้อนดูตั้งแต่ ปี 2562 จนถึง ปี 2565 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะนายกฯ ถูกยื่นตรวจสอบผ่านกลไกศาลรัฐธรรมนูญ ไปแล้วอย่างน้อยสามครั้ง ซึ่งทุกครั้งศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยในทางที่เป็นคุณแก่ พล.อ.ประยุทธ์ แทบทั้งสิ้น โดยมีรายละเอียดดังนี้
.
หนึ่ง คดีถวายสัตย์ปฏิญาณไม่ครบ สืบเนื่องจาก พล.อ.ประยุทธ์ ถวายสัตย์ปฏิญาณต่อพระมหากษัตริย์ไม่ครบถ้วนตามที่รัฐธรรมนูญ มาตรา 161 กำหนด โดยจงใจเลี่ยงประโยคว่า “ทั้งจะรักษาไว้และปฏิบัติตามซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกประการ” การกระทำดังกล่าวจึงเป็นการกระทำที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ
.
อีกทั้ง ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 5 กำหนดว่า "รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุด บทบัญญัติใด ของกฎหมาย กฎหรือข้อบังคับ หรือการกระทําใด ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญบทบัญญัติหรือการกระทํานั้นเป็นอันใช้บังคับมิได้" ดังนั้น ถวายสัตย์ปฏิญาณต่อพระมหากษัตริย์ไม่ครบถ้วนจึงเป็นการกระทำที่มิอาจใช้บังคับได้ และส่งผลให้การปฏิบัติหน้าที่การบริหารราชการแผ่นดินของ พล.อ.ประยุทธ์ มีปัญหาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ
.
แต่ในคดีนี้ ศาลรัฐธรรมนูญมีมิติเอกฉันท์ มีคำสั่งไม่รับคำร้องไว้พิจารณาตามรัฐธรรมนูญมาตรา 213 ประกอบ พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2561 มาตรา 46 วรรคสาม และมาตรา 47(1) เนื่องจากเป็นการถวายสัตย์ต่อหน้าพระมหากษัตริย์ไม่ได้อยู่ในอำนาจตรวจสอบขององค์กรตามรัฐธรรมนูญใด นอกจากนี้การกระทำของพลเอกประยุทธ์ ไม่ใช่การล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามมาตรา 49
.
สอง คดีขาดคุณสมบัติเนื่องจากเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ สืบเนื่องจาก สมาชิกผู้แทนราษฎรพรรคร่วมฝ่ายค้าน 7 พรรค ร่วมยื่นหนังสือพร้อมรายชื่อ สมาชิกผู้แทนราษฎรจำนวน 101 คน ให้กับนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ให้ส่งคำร้องถึงศาลรัฐธรรมนูญ ประเด็นการขาดคุณสมบัติในการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เนื่องจากพลเอกประยุทธ์ดำรงตำแหน่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นการดำรงตำแหน่งเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ ซึ่งการดำรงตำแหน่งเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ ทำให้ความเป็นนายกรัฐมนตรีสิ้นสุดลง ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 160 (6) และมาตรา 98 (15)
.
แต่ในคดีนี้ ศาลมีคำวินิจฉัยว่า ตำแหน่งหัวหน้าคสช. มาจากการเข้ายึดอำนาจการปกครองประเทศ โดยมีพระราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งเป็นการใช้อำนาจรัฎฐาธิปัตย์ ที่เป็นอำนาจสูงสุดในการปกครองประเทศ ดังนั้นการทำงานของคณะรักษาความสงบแห่งชาติเป็นเพียงการเข้าสู่ตำแหน่งเพื่อให้มีอำนาจในการรักษาความสงบเรียบร้อยเพียงเท่านั้น นอกจากนี้การดำรงตำแหน่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ เป็นการแต่งตั้งที่ไม่ได้ขึ้นกับกฎหมาย ทำให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติไม่ได้อยู่ภายใต้การบังคับบัญชา และการทำงานของรัฐ จึงไม่มีสถานะเป็นเจ้าหน้าที่ พนักงาน ลูกจ้างของหน่วยงานราชการ หน่วยงานรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ และไม่ใช่เจ้าหน้าที่อื่นของรัฐตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 98 (15) ไม่มีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 16 (6) พลเอกประยุทธ์ สามารถดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อไปได้
.
สาม คดีพักบ้านหลวง กรณีประธานสภาผู้แทนราษฎรขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคสาม ประกอบมาตรา 82 ว่า ความเป็นรัฐมนตรีของ พล.อ. ประยุทธ์ สิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (4) ประกอบมาตรา 160 (5) เรื่องฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง
.
รวมถึงความเป็นรัฐมนตรีของ พล.อ. ประยุทธ์ สิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (5) ประกอบมาตรา 186 วรรคหนึ่ง และมาตรา 184 วรรคหนึ่ง (3) เรื่องการกระทำการขัดกันแห่งผลประโยชน์ เนื่องจาก พล.อ.ประยุทธ์ พักอาศัยในบ้านพักข้าราชการทหารแม้เกษียณอายุไป 6 ปีแล้ว และถือเป็นการรับเงินหรือประโยชน์ใดๆ จากหน่วยงานราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจเป็นพิเศษ นอกเหนือไปจากที่หน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจปฏิบัติต่อบุคคลอื่นๆ ในธุรกิจการงานปกติ
.
แต่ในคดีนี้ ศาลมีคำวินิจฉัยว่า พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ไม่ขาดคุณสมบัติความเป็นนายกฯ เนื่องจากเป็นไปตามระเบียบภายในของกองทัพบก (ทบ.) ปี 2548 และยังชี้ว่ารัฐพึงจัดสรรที่พำนักให้ผู้นำประเทศ เพื่อ "สร้างความพร้อมทั้งสุขภาพกายและจิตใจในการปฏิบัติภารกิจในการบริหารประเทศล้วนเป็นประโยชน์ส่วนรวม" และกรณีนี้ไม่ถือประโยชน์ส่วนตนมากกว่าประโยชน์ของประเทศ ไม่เป็นการแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบเพื่อตัวเอง
.
อย่างไรก็ดี การที่คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญไปในทิศทางที่เป็นคุณต่อ พล.อ.ประยุทธ์ ก็สะท้อนถึงสายสัมพันธ์ระหว่างคสช. กับศาลรัฐธรรมนูญ เพราะเพราะถ้านับถึงวันที่ 11 สิงหาคม 2565 จะพบว่าที่มาของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจำนวน 7 ใน 9 คน มาจากการเลือกตั้งโดยอ้อมของคสช. กล่าวคือ มีตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 2 คน มาจากการลงมติเห็นชอบในสมัยสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ สนช.ที่มาจากการแต่งตั้งของพล.อ.ประยุทธ์ และมีตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 5 คน ที่มาจาการลงมติเห็นชอบโดย ส.ว.แต่งตั้ง ซึ่งทั้ง สนช. และ ส.ว. แต่งตั้งก็ล้วนมีที่มาจากคสช. อีกต่อหนึ่ง ดังนั้น จึงไม่ใช่เรื่องแปลกถ้าศาลรัฐธรรมนูญจะแสดง "อภินิหารทางกฎหมาย" ในทางที่เป็นคุณกับ พล.อ.ประยุทธ์ อีกครั้ง แต่สิ่งที่น่าตั้งคำถามมากกว่าคือ รัฐธรรมนูญ ปี 2560 ยังเป็นรัฐธรรมนูญฉบับปราบโกงอยู่หรือไม่
.
อ่านรายละเอียดเกี่ยวกับการพิจารณาเรื่องวาระนายกฯ 8 ปี ได้ที่ https://ilaw.or.th/node/6222
อ่านผลงานศาลรัฐธรรมนูญที่ไอลอว์รวบรวมไว้ ได้ที่ https://www.ilaw.or.th/node/5805
ย้อนดูที่มาขององค์กรอิสระและศาลรัฐธรรมนูญ ได้ที่ https://ilaw.or.th/node/6147