วันศุกร์, สิงหาคม 26, 2565

มาร์กซิสต์ ถ้ามีโอกาสไปอังกฤษห้ามพลาด Karl Marx Walking Tour



Sakdina Chatrakul Na Ayudhya
August 22

จุดมุ่งหมายใหญ่ของการเดินทางมาอังกฤษครั้งนี้ของผมนอกจากจะมาร่วมงานเทศกาลสัปดาห์ดนตรีสี่เต่าทองสากล The Beatles International Week ที่ลิเวอร์พูลที่จะเกิดขึ้นใน2-3 วันข้างหน้าแล้ว
อีกจุดมุ่งหมายหนึ่งคืออยากมาย้อนรอยประวัติศาสตร์ของKarl Marx ที่ได้ลี้ภัยการเมืองมาทำกิจกรรมทางการเมือง ศึกษาค้นคว้าและใช้ชีวิตอยู่ใน London จนวาระสุดท้ายของชีวิตที่นี่
5 ปีที่แล้วเคยมาครั้งหนึ่งแล้ว แต่ไม่ได้เตรียมตัวมา ดีพอ คราวนี้ทำการบ้าน วางแผนมาล่วงหน้าอย่างดีว่าสถานที่ใดที่ถือเป็นสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวข้องบ้าง จะไปดูให้เห็นกับตา
ผมเริ่มโปรแกรมของผมจากการเข้าร่วมกิจกรรมKarl Marx Walk tour ที่เขาจัดเป็นประจำทุกวันอาทิตย์เวลา 11.00น. เราสามารถซื้อตั๋วล่วงหน้าจากwebsiteของเขา www.marxwalks.com หรือจะมาซื้อที่จุดนัดพบเลยก็ได้ ผมมาซื้อที่จุดนัดพบ ค่าตั๋วเพียง 10 ปอนด์ หรือราว 400 กว่าบาท ใช้เวลาในการเดินราวสองชั่วโมงครึ่ง กรุ๊ปนี้คนลงทะเบียนราว 20 คน ทัวร์นี้ไม่ได้พาไปทุกที่ๆผมอยากไป แต่จะเดินเฉพาะในบริเวณที่เรียกว่าSohoซึ่งเป็นบริเวณที่Marx พักอาศัยและทำกิจกรรมอยู่ในช่วงนั้น ด้วยข้อจำกัดเรื่องเวลาและการเดินทาง
ใครมาลอนดอนและสนใจอยากย้อนรอยประวัติศาสตร์ของMarx ผมแนะนำให้มาเริ่มต้นที่กิจกรรมนี้ครับ
ผู้นำทัวร์ของผมคือ Dr.Heiko Khoo เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านMarxism ศึกษาค้นคว้าเรื่องราวเกี่ยวกับลัทธิมาร์กซ์มาอย่างยาวนาน เคยสอนประวัติศาสตร์อยู่ในเบอร์ลิน เคยจัดwalk tour เกี่ยวกับประวัติศาตร์เยอรมันตะวันออกในเบอร์ลิน ตอนนี้มาใช้ชีวิตอยู่ในลอนดอน มีรายการวิทยุของตนเอง เป็นนักเล่าเรื่องที่เก่งมากๆ นำทัวร์ได้สนุกและให้ความรู้ลึกซึ้ง ตอบได้ทุกคำถาม
ทัวร์ไกด์พาเราไปเริ่มต้นที่ บ้านเลขที่ 20 ถนนGreat windmill ปัจจุบันเป็นคอกเทลบาร์ แต่เมื่อปี 1847-48 คือผับที่มีชื่อว่า The Red Lion เคยเป็นที่ตั้งของ "สันนิบาตคอมมิวนิสต์และสมาคมการศึกษาของคนงานเยอรมัน มันถูกใช้เป็นที่ชุมนุมรวมตัวกันของชาวเยอรมันที่ลี้ภัยทั้งหลาย รวมทั้ง MarxและEngelsสหายรักของเขา
Marx ทำกิจกรรมร่วมกับกับองค์กรทั้งสองอย่างแข็งขัน
ลอนดอนขณะนั้นถือเป็นเมืองหลวงของผู้ลี้ภัย มันเปิดรับนักกิจกรรมการเมืองที่ถูกเนรเทศไม่สามารถอยู่ในประเทศของตนได้
ในปี1847 ที่นี่MarxและEngelsได้รับมอบหมายจากที่ประชุมสันนิบาตคอมมิวนิสต์ให้จัดทำเอกสารที่ต่อมาเรียกกันว่า "แถลงการณ์คอมมิวนิสต์"หรือ "The communist Manifesto" และตีพิมพ์ครั้งแรกเดือนกุมภาพันธ์ 1848 เอกสารนี้ต่อมาถูกแปลเป็นภาษาต่าง ๆ หลายภาษาทั่วโลก ในประเทศไทยมีการแปลไว้หลายสำนวน ผมเคยรวบรวมแถลงการณ์คอมมิวนิสต์ที่แปลสำนวนต่างๆ ส่งไปเก็บไว้ที่ Karl Marx house บ้านเกิดของเขาที่เมือง Tier ประเทศเยอรมัน ซึ่งเป็นทั้งพิพิธภัณฑ์ หอจดหมายเหตุและศูนย์วิจัย ซึ่งมูลนิธิฟรีดริค เอแบร์ทที่ผมเคยทำงานอยู่ด้วยเป็นเจ้าของผู้ดูแล
Workers of all land unite! คนทำงานทั่วโลกจงสามัคคีกัน เป็นข้อความสำคัญจากเอกสารชิ้นนี้ที่คอยเตือนให้คนทำงานตระหนักในเอกภาพทางชนชั้นและความเป็นสากลนิยมของคนทำงาน
Marx เป็นชาวเยอรมัน พ่อเป็นทนายความ เมื่อเข้าเรียนมหาวิทยาลัยครั้งแรกที่มหาวิทยาลัยกรุงบอนเขาเลือกเรียนปรัชญา ซึ่งขัดใจพ่อที่อยากให้เรียนกฎหมาย เริ่มเที่ยวเตร่กินเหล้าเมายา ผลการเรียนไม่ดี พ่อเลยจับย้ายไปเรียนกฎหมายที่เบอร์ลิน ที่เบอร์ลินเขาเข้าร่วมกิจกรรมกับกลุ่มที่เรียกว่าเฮลเกลหนุ่ที่เป็นกลุ่มคนหนุ่มหัวก้าวหน้า เขาจบปริญญาเอกทางกฎหมายด้วยวัยเพียง 23 ปี จริงๆ เขาอยากเป็นอาจารย์ แต่ด้วยความคิดเห็นทางการเมืองที่ก้าวหน้าและท่าทีต่อต้านรัฐของเขา เส้นทางฝันเป็นอาจารย์ของเขาจึงถูกปิดกั้น
เขาเบนเข็มไปเป็นนักหนังสือพิมพ์ย้ายไปอยู่ที่เมืองโคโลญจน์ ทำงานที่หนังสือพิมพ์ชื่อไรนนิส ไซตุง ไม่นานก็ได้ขยับไปเป็นบรรณาธิการของหนังสือ แต่ด้วยแนวทางหนังสือที่วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลอย่างหนักจนถูกปิดและต้องถูกเนรเทศไปอยู่ฝรั่งเศสปี 1845 ซึ่งทำให้เขาได้รู้จักกับนักสังคมนิยมคนสำคัญๆ สมัยนั้นหลายคน รวมถึงได้รู้จักEngels ปัญญาชนหนุ่มชาวเยอรมันลูกชายเจ้าของโรงงานทอผ้าที่มีโรงงานอยู่ในแมนเชสเตอร์ โดยมีผลงานเขียนสำคัญที่บรรยายให้เห็นสภาพชีวิตความเป็นอยู่ของคนงานในอังกฤษ ในปี1844
การพบกันของชายหนุ่มสองคนนี้ได้เกิดเป็นมิตรภาพที่ยั่งยืน และเกื้อหนุนกันและกันจนวันสุดท้ายของชีวิต
Marxถูกเนรเทศอีกหลายครั้ง เขาต้องย้ายไปอยู่บรัสเซลส์ โคโลญจน์ ปารีส และสุดท้ายเมื่อเกิดการลุกฮือของประชาชนและคนงานทั่วยุโรปในปี 1848 ที่ทำให้ฝ่ายก้าวหน้าในประเทศต่างๆต้องพากันอพยพลี้ภัยทางการเมืองครั้งใหญ่
สำหรับมาร์กซ์ได้ลี้ภัยการเมืองเข้ามาอยู่ในลอนดอนเดือนสิงหาคมปี 1849 โดยที่เขาเองก็คงไม่รู้ว่านี่คือการย้ายมาอยู่ที่นี่อย่างถาวร เขาอยู่ที่จนวาระสุดท้ายของชีวิตนานถึง 34 ปี
เริ่มไว้ตรงนี้ก่อนครับแล้วมาเล่าเพิ่มเติมอีกที่หลังนะครับ