วันเสาร์, สิงหาคม 27, 2565

สมยศ พฤกษาเกษมสุข ขึ้นเวทีด้วยชุดนักโทษในเรือนจำ เสื้อคอกลมแขนสั้น กางเกงขาสั้น ไม่ใส่รองเท้า คุยสั้นๆปิดท้ายงาน #เรื่องเล่าหลังกรงขัง งานของกลุ่ม #24มิถุนาประชาธิปไตย - อาจจะหลายปีแล้ว แต่ยังน่าอ่าน มีเรื่องเล่าอันน่าสนใจ


August 26, 2018

เล่นกันที่ใต้ถุนบ้าน

สมยศ พฤกษาเกษมสุข
เมื่อวานเขาขึ้นเวทีด้วยชุดนักโทษในเรือนจำ เสื้อคอกลมแขนสั้น กางเกงขาสั้น ไม่ใส่รองเท้า ดูเหมือนจะภูมิใจในชุดนี้ยังไงพิกล

มันเป็นการพูดคุยสั้นๆปิดท้ายงาน #เรื่องเล่าหลังกรงขัง งานของกลุ่ม #24มิถุนาประชาธิปไตย

สมยศเล่าหลายอย่าง เช่นเรื่องไม่ยอมออกจากคุกก่อนเวลา ซึ่งเขาบอกว่าที่ทำก็เพื่อหลักการ แต่อย่าคิดว่าชิลล์ “ในใจผมนั้นเจ็บปวดรวดร้าว น้ำตาแทบจะหลั่งเป็นเลือด”

เหมือนนักโทษหลายคน เขาได้รับเสนอสุดป้อปปูล่า
“เรื่องให้รับสารภาพนั้นมีตั้งแต่วันแรก มีข้อเสนอ ผมจะให้คุณออกแต่คุณต้องรับสารภาพว่าทำผิด”

ถ้าไม่รับสารภาพ ก็ไม่ได้อิสรภาพ ความพยายามที่จะขอใช้สิทธิเพื่อประกันตัวเป็นหมันครั้งแล้วครั้งเล่าอย่างที่เรารู้กัน มันสั่นคลอนจิตใจขนาดไหน มันทำให้ “สามเดือนแรกผมคิดฆ่าตัวตาย”

“ตอนนั้นทางบ้านก็จะพยายามให้ได้ออก ก็พยายามวิ่งขอประกันตัว มันเป็นสิทธิพื้นฐาน สิทธิความเป็นคน คนที่ถูกกล่าวหาจะยังคงเป็นผู้บริสุทธิ์และควรจะได้รับการประกันตัว แต่ขอแล้วขออีกก็ไม่ให้ คดีอื่น คดีฆ่าคน ได้ประกัน ...
ทางบ้านเอาที่ดินสระแก้วมูลค่าสามล้านกว่าไปขอประกัน ไม่ให้ ขอด้วยเหตุผลประการใดก็ไม่ให้”

“ผมก็เลยคิดว่า การจะได้เสรีภาพก็คือเมื่อเสียชีวิต
คือเวลาคนตายในคุก จนท.จะประกาศปล่อยตัว เขาไม่ต้องการให้วิญญาณอยู่ในคุก ผมก็อยากได้เสรีภาพนั้น
ผมคิดถึงลุงนวมทอง เมื่อมีคนที่ว่าไม่มีใครตายเพื่ออุดมการณ์ แกเลยเลือกไปตายด้วยการแขวนคอหน้าไทยรัฐ”
สมยศบอกว่า ในขณะนั้นเขาคิดว่าน่าจะทำ เผื่อจะทำให้คดี 112 สั่นสะเทือนบ้าง มีวางแผนเสร็จสรรพ
“ผมใช้ผ้าขะม้าผูกคอ ห้องที่อยู่เป็นห้องปีนง่าย ผมเลือกเวลาตีสอง หวังว่าจะปลิดชีพ จดหมายเขียนเรียบร้อยฝากให้เพื่อน ถ้าพลาดท่าเขาไม่ให้เปิดเผยก็บอก อีกอันบอกญาติ ...
แต่ไม่สำเร็จ”

“ห้องนั้นนอนกันยี่สิบกว่าคน มีคนตื่นขึ้นมาเห็นเลยมีคนมาช่วย แล้วรายงานกรมราชทัณฑ์ ซึ่งก็ส่งจิตแพทย์มาเยียวยา ก็ตีไปว่าเครียด ให้กินยา ก็เลยสลึมสะลือสามเดือน”

ถึงที่สุดแล้ว “กำลังใจจากพี่น้องปชช.ทำให้เปลี่ยนใจ”
…..
การติดคุก ตอนแรกรู้สึกว่ามันช้ามาก ความรู้สึกนี้มาเปลี่ยนเอาในช่วงหลังของเวลาเจ็ดปี
“ที่ช้าคือปีสุดท้าย โคตรช้า แต่พอรู้ว่าโทษเหลือปีเดียวก็นั่งนับวัน”
“ที่ช้าอีก คือในคุกเขาไม่ให้ทำกิจกรรม ของผมเขาไม่ให้ทำ”
แต่ก็ยังพยายามทำ
“ตอนหลังไปรับจ้าง ซักผ้า ล้างจ้าน หมอเลี้ยบไม่จ้าง มีคนอื่นจ้าง ได้เดือนละสองพัน ล้างจาน ประสิทธิจ้างล้างส้วมเดือนละหกร้อย รับจ้างซักผ้าด้วย แต่ศักยภาพผมทำได้วันละชุด ทำทุกวัน”
เรื่องตลกแห้งคือติดซักผ้าวันละชุด
“เดี๋ยวนี้ยังติดอาการนี้อยู่ ยังปรับตัวไม่ได้”
พิธีกรแถมให้ด้วยว่า ได้ข่าวว่าหลังจากออกจากคุกแล้วพอได้กินอาหารดีต่อเนื่องกันไปได้ห้าวันเท่านั้น ก็เกิดอาการท้องเสีย

..
คนที่ไปเล่าประสบการณ์ในคุก มักจะเล่าเรื่องการได้พบนักโทษดังคนอื่นๆด้วย เมื่อวานสุธรรม แสงประทุมเล่าว่าในระหว่างติดคุก เขากับเพื่อนๆในคดีหกตุลาได้พบนักโทษน่าสนใจสองคนในเวลานั้น
หนึ่งคืออดีตกรรมการกลางพคท. ส่วนอีกคน คือพลเอกฉลาด หิรัญศิริ

ชื่อนี้ ฉลาด หิรัญศิริ เป็นผู้ก่อการกบฎมีนา 2520 (ยอมรับเถอะว่าเราแทบจะลืมเขาไปแล้ว) ฉลาดเป็นกบฎคนสุดท้ายที่ถูกประหาร เรื่องนี้เกิดในสมัยรัฐบาลนายธานินทร์ ไกรวิเชียร รัฐบาลที่ได้สมญาว่า “รัฐบาลหอย” เพราะความที่มีผู้ปกปักรักษา ส่วนผู้คนอีกหลายคนที่เข้าร่วมในกบฎหนนั้นได้รับการอภัยโทษ หลายคนยังโลดแล่นมีบทบาทต่อมาอีกเนิ่นนาน
สุธรรมเล่าว่า ช่วงนั้นพวกเขาได้อยู่ในแดนเดียวกัน ..
“วันที่ (เขา)ถูกประหารเป็นวันที่เลี้ยงข้าวพวกผม”
พลเอกฉลาดบอกกับสุธรรมและเพื่อนพ้องว่า “ชีวิตก็เป็นเช่นนี้”

สิ่งที่สุธรรมไม่ได้เล่าต่อคือสำหรับคนหนุ่มอย่างพวกเขาที่ติดคุกเพราะการเมืองในเวลานั้น การประหารพล.อ.ฉลาดมันสั่นสะเทือนความรู้สึกขนาดไหน
ที่เขาไม่ได้เล่าด้วยคืออดีตกรรมการกลางของพคท.คนนั้นไปไหนแล้ว..

..
ย้อนกลับมาที่สมยศ มีคำถามว่าเขาพบนักโทษดังบ้างหรือไม่
แน่นอนสมยศได้พบกับหมอเลี้ยบ แต่ที่น่าสนใจเขาได้ไปอยู่กับสนธิสองรอบ เจ็ดวัน
“ผมไปในสภาพไม่มีอะไรเลย” เขาว่า
“วันแรก เขาเรียก มาๆๆน้อง เขามีลูกน้องเยอะ”
(เขาสั่ง) “พรุ่งนี้เช้าเอาไข่ลวกให้พี่เขา มึง เอาผ้าพี่เขาไปซักให้เรียบร้อย เอ็ง พรุ่งนี้ทำครัวซอง แล้วเรียกพี่เขามากิน”
“บุญคุณของครัวซองในคุกทำให้ต้องพูดแต่สิ่งดีๆ” (ฮา)
แต่สมยศน้ำเสียงจริงจังเมื่อบอกว่า “คุณสนธิมีความรู้ทางการเมืองสูงมาก เขารู้เรื่องทุกอย่าง”
“สุดท้ายตอนผมลาเขา แกบอกว่า สมยศ เราเหลืองกับแดง เราสู้ให้คนอื่นมาเยอะแล้ว เตือนไว้ ถอนตัว”
“เขาเจ็บใจมาก”
เพราะเรื่องพันธมิตร “ลงทุนแทบตาย สุดท้ายสู่ตะราง”
“เอาแค่นี้พอ เกิดเข้า(คุก)อีกรอบผมจะไม่ได้กินครัวซอง”

ถามถึงการต่อสู้ต่อไปในอนาคต
“ไม่มีอะไรซับซ้อน ..สิ่งที่ผมทำเป็นเพียงหน้าที่ปกติของชีวิต ผมเชื่อ เราเกิดแก่เจ็บตาย เอาอะไรไปไม่ได้ เราจะทำให้ชีวิตนี้ทำหน้าที่สองอย่าง คือหนึ่งไม่อดอยากยากจน เพราะถ้าอย่างนั้นจะเข้าถึงธรรมะไม่ได้ พระพุทธเจ้าบอกไว้ ไม่ให้ขาดแคลน ให้มีพอเพียง เพื่อให้มีสติปัญญา (จะได้เข้าถึงธรรมะได้)

แต่ถ้าเรามี ก็ต้องคิดถึงคนอื่น มีความรัก เมตตา จึงเป็นทิศทางเป็นหน้าที่
ถ้าเราจะทำอะไรเพื่อคนอื่น ผมจึงตั้งใจไว้ แม้จะอยู่ในคุกก็ต้องสู้ หรือใช้โอกาสในการติดคุกเพื่อให้คนรู้ว่ามันแย่อย่างไร
ออกมาแล้วก็หยุดไม่ได้ต้องทำต่อไปจนแผ่นดินกลบหน้า”

“เลือกตั้ง ไม่สำคัญอะไรเลยสำหรับผม ลงก็ไม่ได้ ดำรงตำแหน่งอะไรก็ไม่ได้ แต่ไปใช้สิทธิได้" เรื่องนี้เขาชี้ว่า มันสำคัญตรงที่ว่าจะทำให้สังคมได้ขับเคลื่อน
สมยศเห็นว่า "การเมืองตอนนี้มันเหมือนการเมืองใต้ถุนบ้าน เล่นได้เฉพาะในใต้ถุนบ้าน ไม่สามารถปีนบันไดไปเล่นข้างบน เพราะเขาจะเอาหมามากัด" (ว่าแล้วก็ยกตัวอย่างหมา ช่วงนี้ผู้ทำโน๊ตขอเซ็นเซ่อนะฮัฟฟ์)

“การเลือกตั้งก็เล่นได้อยู่ เป็นอีกสนามหนึ่ง มันจะทำให้เราขยับขบวนของเรา อย่างน้อยได้เปลี่ยนหน้ารัฐบาล
แต่ต้องตระหนักว่านั่นคือเล่นแค่ใต้ถุนบ้าน”

#สมยศพฤกษาเกษมสุข

เล่าได้ประมาณนี้แหละพี่น้อง ยาวไปนิด แต่ก็คิดว่าไม่เสียหาย เพราะทุกคนมีเรื่องเล่าอันน่าสนใจทั้งสิ้น สั้นไปก็ไม่ได้อรรถรส