เป็นจดหมายทางการที่ใครต่อใครชื่นชม รวมทั้งอดีต ส.ส.คนดังของพรรคก้าวฯ สื่อบางแห่งเอาไปทำข่าว เพราะแหวกมาตรฐานการศึกษา ในยุคที่เรื่องบุลลี่ เรื่องตอแหล เป็น ‘ปกติใหม่’ แม้นว่ามันหมิ่นเหม่ ‘plagiarism’ ฉกชิงภูมิปัญญา
จดหมายถึงผู้ปกครองของโรงเรียนสิริรัตนาธร เขตบางนา กทม. เกี่ยวกับการสอบภาคปลาย ประจำปีการศึกษา ๖๕ ขออย่าได้วิตกกังวลกันมาก เพราะเด็กจะตอบข้อสอบได้ไม่ได้เพียงไร “มันแค่การสอบ มันยังมีอะไรอีกมากในชีวิต”
ถ้าลูกทำข้อสอบไม่ได้ “โปรดอย่าทำลายความเชื่อมั่นและความนับถือตัวเอง” ของพวกเขาไปเสีย บอกลูก “ไม่ว่าคะแนนสอบออกมาแบบไหน คุณก็รักเขาและจะไม่ตัดสินเขา” เมื่อทำดังโรงเรียนแนะนำแล้ว ต่อไปให้ “เฝ้าดูลูกของคุณ เพื่อพิชิตความฝันเขา...
การสอบเพียงครั้งเดียว หรือคะแนนสอบที่ไม่ดี จะไม่สามารถช่วงชิงความฝันและพรสวรรค์ของเขาไป” ยกตัวอย่าง “ในกลุ่มนักเรียนที่นั่งสอบอยู่นี้” อาจมีนักธุรกิจที่ไม่สนใจเรื่องประวัติศาสตร์ นักคอมพิวเตอร์ที่ไม่สนใจวิชาเคมี มีศิลปินที่ไม่จำเป็นต้องคล่องคณิตศาสตร์
หากแต่เนื้อความของจดหมายนี้แพร่หลายไปอย่างกว้างขวางและรวดเร็ว เป็นธรรมดาย่อมมีผู้ที่สะดุดความรู้สึกกับถ้อยคำ “แวบแรกก็แอบสงสัยว่า ทำไมสำนวนดูแปร่งๆ ยังไงชอบกล” Teeranai Charuvastra เขียนข้อติดใจของเขาบนเฟชบุ๊ค
หลายคนคล้อยตามว่าเคยเห็นจดหมายแบบนี้ทางโซเชียลมีเดีย จนพ้องกันว่าเป็น ฟอร์เวิร์ดเมล เรื่องจดหมายของโรงเรียนในสิงคโปร์แห่งหนึ่ง แต่ก็ไม่เคยมีหลักฐานปรากฏว่าเป็นของโรงเรียนอะไร มีแต่ข้อความที่ส่งต่อกันทั้งในภาษาอังกฤษและที่แปลไทย
“เท่าที่ผมหาดู เคยมีโรงเรียนอินเตอร์ในอินเดียแห่งหนึ่งชื่อ Heritage School โพสต์ข้อความดังกล่าวในเฟชบุ๊คไว้ตั้งแต่ปี (ค.ศ.) 2016” Teeranai ให้ลิ้งค์ ‘ต้นขั้ว’ จดหมายที่ส่งต่อกันไว้ด้วย ที่นี่ แต่ก็ยังไม่ทันเป็นประเด็น ‘ลอกเลียนงานวิชาการ’
สายันห์ ต่ายหลี ผู้อำนวยการโรงเรียน ซึ่งเป็นต้นตอจดหมาย ยอมรับกับ ไทยพีบีเอส แล้วว่า “โดยข้อความนี้เป็นข้อความที่แปลมาจากข้อความที่โรงเรียนแห่งหนึ่งในสิงคโปร์ส่งหาผู้ปกครอง รู้สึกประทับใจจึงนำมาสื่อสารกับผู้ปกครอง”
นั่นคือความ ‘ซื่อตรง’ อันเป็นคุณธรรมอย่างหนึ่ง ทำให้เกิด ‘การอยู่ร่วมกันโดยสันติ’ อันเป็นหลักการในทางประชาธิปไตยอย่างหนึ่ง ซึ่งหลอมรวมคนในสังคม ที่มีทั้งแตกต่างและหลากหลาย นำไปสู่ความเจริญก้าวหน้าของประเทศได้ดีกว่า ‘วินัย’ คร่ำครึ
“Honesty ช่างเป็นคำที่ว้าเหว่เสียเหลือเกิน” เนื้อเพลงท่อนฮุกของ บิลลี่ โจล ว่าไว้กินใจ เนื่องเพราะ “ทุกๆ คนมีแต่ความไม่จริง ‘ความซื่อตรง’ คำนี้ยากนักที่จะได้ยินกัน” มันจำเป็นต้องมีในการปฏิสัมพันธ์ต่อกันและกันของคนในสังคม
มันไม่เคยมีอยู่อย่างมุ่งมั่นในกระบวนการเมืองไทยๆ เพราะใครก็ตามที่เข้าไปคลุกคลีในแวดวงนี้ มักจะยึดคำคมวลีหนึ่งเป็นข้อเตือนใจ มากเสียจนกลายเป็นสูตรสำเร็จ แนวนำทาง ว่า “ไม่มีมิตรแท้และศัตรูถาวร” ซึ่งอาจเป็นผลดีแก่ความสัมพันธ์ส่วนตัว
แต่มักเป็นผลร้ายเสมอแก่มวลชน ผู้อยู่ในฐานะถูกปกครอง เมื่อใดพวกหัวกระทิ ‘ลงคอ’ กันได้ ก็จะแบ่งกันกิน ครั้นเกิด ‘ขัดคอ’ กันเมื่อไร หญ้าแพรกตรงกลาง รังแต่จะราพณาสูร
(https://www.youtube.com/watch?v=ouSoL_vet3I, https://news.thaipbs.or.th/content/318939, https://www.facebook.com/teeranai.charuvastra/posts/pfbid02Yws และ https://www.facebook.com/TheHeritageSchoolKolkata/posts/pfbid031nYZ)