วันพฤหัสบดี, พฤษภาคม 05, 2565

วิธีการแก้ปัญหาสภาวะ “กษัตริย์นิยมล้นเกิน” ในญี่ปุ่น ตัวแบบที่น่าสนใจสำหรับประเทศไทย


Piyabutr Saengkanokkul - ปิยบุตร แสงกนกกุล
7h ·

[รัฐธรรมนูญ 1947 ของญี่ปุ่น : รัฐธรรมนูญที่แก้ปัญหาสภาวะ “กษัตริย์นิยมล้นเกิน” ตัวแบบที่น่าสนใจสำหรับประเทศไทย]
เมื่อวาน วันที่ 3 พฤษภาคม ตรงกับวันครบรอบ 75 ปีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 1947 ของประเทศญี่ปุ่น เพื่อแทนที่รัฐธรรมนูญเมจิ
ก่อนหน้านั้น ญี่ปุ่นประสบปัญหาสภาวะ “กษัตริย์นิยมล้นเกิน” (Hyper-royalism) บรรดาข้าราชการ ทหาร กลุ่มการเมืองบางกลุ่ม ต่าง “ห้อยโหน” และ “พึ่งพาอาศัย” สถานะของจักรพรรดิและสถาบันจักรพรรดิ เพื่อสร้างอำนาจให้กับตนเอง ในขณะที่สถาบันจักรพรรดิก็ตักตวงประโยชน์จากสถานะเช่นนี้
พวกเขานำเรื่อง Kokutai เข้ามาเชื่อมโยงกับรัฐธรรมนูญและสถาบันจักรพรรดิ
Kokutai คือความคิดหรืออุดมการณ์พื้นฐานของประเทศญี่ปุ่นที่สืบทอดมาอย่างยาวนาน คำว่า Kokutai แปลตรงตัว คือ "แก่นสาระสำคัญของประเทศ" สืบทอดมาจาก Kojiki และ Nihonshoki ในศตวรรษที่ 8
Kojiki แปลว่า พงศาวดารในอดีต เป็นเอกสารรวบรวมเรื่องปรัมปราเกี่ยวกับกำเนิดของเกาะต่างๆ ที่กลายเป็นญีปุ่นในปัจจุบันนี้ และพระเจ้า
Nihonshoki แปลว่า พงศาวดารญี่ปุ่น ซึ่งมีอิทธิพลต่อความเชื่อและการปฏิบัติตามลัทธิของนิกายชินโต
ความคิด Kokutai ปรากฏอยู่ในพงศาวดารทั้งสองนี้ และถูกนำมาใช้สร้างความชอบธรรมให้แก่จักรพรรดิ
Kokutai ประกอบไปด้วยหลัก 3 ประการ
ประการแรก ประเทศญี่ปุ่น คือ ประเทศที่รับอาณัติจากพระเจ้า พระเจ้าสร้างหมู่เกาะญี่ปุ่น และปกครองโดยส่งตัวแทนลงมาเป็นจักรพรรดิ ดังนั้น ประเทศญี่ปุ่นจึงอยู่เหนือประเทศอื่นๆ ทั้งหมด
ประการที่สอง จักรวรรดิญี่ปุ่นปกครองโดยจักรพรรดิซึ่งรับอาณัติมาจากพระเจ้า จักรพรรดิจึงเป็นพระเจ้าผู้ยังมีชีวิต
ประการที่สาม จิตวิญญาณของชาวญี่ปุ่น ไพร่ญี่ปุ่นมีหน้าที่อันศักดิ์สิทธิ์ในการอุทิศชีวิตอย่างไม่ต้องลังเลใจให้แก่จักรพรรดิ
ในสมัยเอโดะ ได้นำเอาหลัก Kokutai นี่มาเป็น วิชาพื้นฐานของชนชาติญี่ปุ่น ระบบการศึกษาทั้งหมดต้องเดินตามแนวทางนี้
หลัก Kokutai ที่ฝังลงในสมองของคนญี่ปุ่น เป็นสาเหตุสำคัญของการรุกรานประเทศอื่นในสงครามโลกครั้งที่ 2
หลัก Kokutai ต้องปะทะกับความคิดแบบตะวันตก เมื่อคราวญี่ปุ่นเปิดประเทศ และส่งคนไปเรียนยุโรป โดยเฉพาะประเทศเยอรมนี
รัฐธรรมนูญเมจิ ตั้งอยู่บนพื้นฐานว่า ต้องผสมผสานหลัก Kokutai เข้ากับวิธีคิดตะวันตก เพื่อทำประเทศให้ทันสมัย หลุดพ้นจากการล่าอาณานิคม
แต่หลัก Kokutai ก็ยังมีบทบาทชี้นำคนญี่ปุ่น โดยเฉพาะพวกนักกฎหมายรัฐธรรมนูญ ที่พยายามสร้างความศักดิ์สิทธิ์ผ่านสถานะ “เคารพสักการะและละเมิดมิได้” อธิบายให้จักรพรรดิเป็นผู้ทรงอำนาจสูงสุด
ท่ามกลางกระแส “กษัตริย์นิยมล้นเกิน” กลับมีนักกฎหมายรัฐธรรมนูญคนหนึ่ง คือ Tatsukichi Minobe ผู้หาญกล้าอธิบายในหนังสือกฎหมายรัฐธรรมนูญญี่ปุ่นว่า อำนาจสูงสุดของรัฐเป็นของประชาชน รัฐแยกออกจากจักรพรรดิ จักรพรรดิใช้อำนาจในฐานะเป็นองค์กร ตามทฤษฎี “Emperor Organ Theory” โดยรับอิทธิพลมาจาก Georg Jellinek นักกฎหมายมหาชนเยอรมัน เจ้าของทฤษฎีสิทธิทางมหาชน
เขายังยืนยันต่อไปด้วยว่าการประกาศสงครามต้องผ่านความเห็นชอบจากสภา และกองทัพต้องขึ้นกับรัฐบาลพลเรือน มิใช่จักรพรรดิ กองทัพจึงมิอาจอ้างแอบอิงกับจักรพรรดิ เพื่อปฏิบัติการได้
Minobe ถูกข่มขู่คุกคามอย่างหนัก ทั้งๆที่สิ่งที่อธิบายเป็นเรื่องปกติในราชอาณาจักรที่เป็นประชาธิปไตย หนังสือถูกยึด เอาไปเผา สมาคมมังกรดำเดินขบวนประท้วง
เขาถูกดำเนินคดีฐานหมิ่นพระบรมเดชานุภาพต่อศาลทหาร
เขาถูกทำร้าย ถูกลอบฆ่า แต่รอดมาได้
เขาถูกไล่ออกจากศาสตราจารย์ ถูกไล่ออกจากสมาชิกสภาขุนนาง
ความคิดความเชื่อแบบ “คลั่งเจ้า” และ “กษัตริย์นิยมล้นเกิน” ที่สืบทอดมาจากหลัก Kokutai นี้ ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของปัจจัยที่ทำให้กองทัพญี่ปุ่นก่อสงครามมหาเอเชียบูรพา
ภายหลังญี่ปุ่นแพ้สงครามโลกครั้งที่ 2 สหรัฐอเมริกา นำโดยนายพลดักลาส แม็คอาเธอร์ ได้เข้ามาจัดระเบียบญี่ปุ่นใหม่ ผู้นำเหล่าทัพ ทหาร รัฐบาล ถูกดำเนินคดีอาชญากรสงคราม ส่วนจักรพรรดิฮิโรฮิโตรอดมาได้
มีการดำเนินการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยประเด็นปัญหาสำคัญหนึ่งที่ต้องจัดการ คือ จะเอาอย่างไรกับสถาบันจักรพรรดิ?
แทนที่จะล้มสถาบันจักรพรรดิ และเปลี่ยนเป็นสาธารณรัฐ พวกเขาเลือกที่จะรักษาสถาบันจักรรพรรดิไว้ โดยจัดวางตำแหน่ง สถานะ และบทบาทเสียใหม่ให้สอดคล้อง
Minobe คนที่เคยถูกตามล่าจากคำอธิบายเรื่องสถานะของจักรพรรดิที่สอดคล้องกับประชาธิปไตย กลายมาเป็นเป็นที่ปรึกษาคนสำคัญในการร่างรัฐธรรมนูญ
ทุกวันนี้ ตำแหน่งจักรพรรดิยังอยู่ และญี่ปุ่นเป็นประชาธิปไตย
———
รัฐธรรมนูญ 1947 ในหมวด 1 “จักรพรรดิ” ตั้งแต่มาตรา 1-8 เป็นปฏิกิริยาจากรัฐธรรมนูญเมจิ บทบัญญัติทั้งแปดมาตรานี้ คือ การปฏิวัติสถาบันจักรพรรดิเสียใหม่ เพื่อให้สถาบันแห่งนี้ได้ไปต่อหลังจากแพ้สงคราม
เขียนด้วยภาษาที่เข้าใจง่ายๆ ตรงไปตรงมา จำกัดอำนาจจักรพรรดิไว้อย่างชัดเจน ไม่ต้องตีความ ไม่ต้องตะแบงแถไถหรือมาเถียงกันอีกว่า จักรพรรดิมีอำนาจโดยแท้หรือไม่ และที่สำคัญสถานะ “อันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้” ก็ถูกปลดออกไปด้วย
แปดมาตราว่าด้วยจักรพรรดิ มีดังนี้
CHAPTER I
THE EMPEROR
Article 1. The Emperor shall be the symbol of the State and of the unity of the People, deriving his position from the will of the people with whom resides sovereign power.
Article 2. The Imperial Throne shall be dynastic and succeeded to in accordance with the Imperial House Law passed by the Diet.
Article 3. The advice and approval of the Cabinet shall be required for all acts of the Emperor in matters of state, and the Cabinet shall be responsible therefor.
Article 4. The Emperor shall perform only such acts in matters of state as are provided for in this Constitution and he shall not have powers related to government.
The Emperor may delegate the performance of his acts in matters of state as may be provided by law.
Article 5. When, in accordance with the Imperial House Law, a Regency is established, the Regent shall perform his acts in matters of state in the Emperor's name. In this case, paragraph one of the preceding article will be applicable.
Article 6. The Emperor shall appoint the Prime Minister as designated by the Diet.
The Emperor shall appoint the Chief Judge of the Supreme Court as designated by the Cabinet.
Article 7. The Emperor, with the advice and approval of the Cabinet, shall perform the following acts in matters of state on behalf of the people:
Promulgation of amendments of the constitution, laws, cabinet orders and treaties.
Convocation of the Diet.
Dissolution of the House of Representatives.
Proclamation of general election of members of the Diet.
Attestation of the appointment and dismissal of Ministers of State and other officials as provided for by law, and of full powers and credentials of Ambassadors and Ministers.
Attestation of general and special amnesty, commutation of punishment, reprieve, and restoration of rights.
Awarding of honors.
Attestation of instruments of ratification and other diplomatic documents as provided for by law.
Receiving foreign ambassadors and ministers.
Performance of ceremonial functions.
Article 8. No property can be given to, or received by, the Imperial House, nor can any gifts be made therefrom, without the authorization of the Diet.
ผมได้นำรัฐธรรมนูญ 1947 ในแปดมาตรานี้มาเป็น “ตัวแบบ” ในการยกร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมในหมวด 2 พระมหากษัตริย์ เพื่อปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ให้สอดคล้องกับประชาธิปไตยและรักษาสถาบันกษัตริย์ให้ไปต่อกับสถานการณ์อันท้าทายและความท้าทายที่ถาโถมที่สถาบันกษัตริย์ไทยกำลังเผชิญอยู่ในศตวรรษที่ 21 นี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในร่าง มาตรา 6 และมาตรา 7 ดังนี้
“มาตรา 6 พระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขของประเทศ ทรงเป็นศูนย์รวมจิตใจของปวงชนชาวไทย และทรงเป็นกลางทางการเมือง
การสืบทอดตำแหน่งพระมหากษัตริย์เป็นไปตามหลักการสืบราชสมบัติทางสายโลหิตตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญนี้และกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์”
“มาตรา 7 การกระทำของพระมหากษัตริย์ทั้งปวงที่เกี่ยวข้องกับกิจการของรัฐ ต้องได้รับคำแนะนำและความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎร คณะรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีแล้วแต่กรณี ตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญนี้เสียก่อน
การกระทำของพระมหากษัตริย์ต้องมีผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการเสมอ การกระทำใดของพระมหากษัตริย์ที่ไม่มีผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ ให้ถือเป็นโมฆะ
พระมหากษัตริย์ทรงมีพระราชอำนาจเกี่ยวข้องกับกิจการของรัฐได้เท่าที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้ และพระมหากษัตริย์ไม่ทรงมีพระราชอำนาจเหนือสภาผู้แทนราษฎร คณะรัฐมนตรี ศาล องค์กร อิสระ และองค์กรอื่นของรัฐทั้งปวง
พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีตามคำแนะนำและความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎร และทรงแต่งตั้งรัฐมนตรีตามการเสนอชื่อของนายกรัฐมนตรี
พระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธยและกระทำการต่างๆ ตามคำแนะนำและความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎร ทั้งนี้ในนามของปวงชนชาวไทย โดยมีประธานสภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ ดังนี้
(1.) ประกาศสงคราม โดยต้องมีมติให้ความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎรด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสองในสามของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร
(2.) แต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์
(3.) แต่งตั้งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ผู้พิพากษาศาลฎีกา ตุลาการศาลปกครองสูงสุด และผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ
พระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธยและกระทำการต่างๆ ตามคำแนะนำและความเห็นชอบของนายกรัฐมนตรี ทั้งนี้ในนามของปวงชนชาวไทย โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นผู้รับสนองพระบรมราช โองการ ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ ดังนี้
(1.) ประกาศใช้รัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม
(2.) ประกาศใช้พระราชบัญญัติ พระราชกำหนด พระราชกฤษฎีกา หนังสือสัญญาสันติภาพ สัญญาสงบศึก และสัญญาอื่นกับนานาประเทศหรือกับองค์การระหว่างประเทศ
(3.) พระบรมราชโองการแต่งตั้งรัฐมนตรีหรือให้พ้นจากตำแหน่งรัฐมนตรี
(4.) พระราชทานอภัยโทษ
(5.) สถาปนาและถอดถอนฐานันดรศักดิ์ พระราชทานและเรียกคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์
(6.) รับรองประมุขของรัฐต่างประเทศ เอกอัครราชทูต หรือพระราชอาคันตุกะ
(7.) ประกอบพระราชพิธี เฉพาะการใช้พระราชอำนาจตามบทบัญญัติในมาตรานี้
องค์พระมหากษัตริย์ไม่ต้องรับผิดชอบและไม่ถูกฟ้องร้องหรือกล่าวหาในทางใด ให้ผู้รับสนองพระบรมราชโองการตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญนี้เป็นผู้รับผิดชอบ
การกระทำอื่นใดของพระมหากษัตริย์ที่ไม่ได้เป็นการปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งพระมหากษัตริย์ หรือในฐานะประมุขของรัฐย่อมไม่อยู่ภายใต้เอกสิทธิ์และความคุ้มกันตามวรรคเจ็ด”