วันเสาร์, พฤษภาคม 07, 2565

ในหลวงรับสั่งขบวนเสด็จฯ ร้านค้าเปิดได้ ไม่ต้องปิดถนน ใยนักกิจกรรมยังถูก จนท.คุกคาม จับกุม แม้ไม่มีใครประกาศเคลื่อนไหว



อุบลฯ ช่างภาพจิตอาสา เผยในหลวงรับสั่ง ขบวนเสด็จฯ ร้านค้าเปิดได้ ไม่ต้องปิดถนน ขณะที่ศูนย์ทนายฯ รายงานนักกิจกรรมถูก จนท.คุกคาม-จับกุม แม้ไม่มีใครประกาศเคลื่อนไหว

6 พ.ค.2565 เมื่อวันที่ 3 พ.ค.ที่ผ่านมา สำนักประชาสัมพันธ์เขต 2 รายงานโดยอ้างจาก ไกด์อุบล ว่า บรรยากาศก่อนจะถึงวันสำคัญของชาวอุบลฯ ที่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ทรงประกอบพิธียกฉัตรขึ้นประดิษฐานเหนือพระเจ้าใหญ่อินทร์แปลง พระประธานพระวิหาร วัดมหาวนาราม จังหวัดอุบลราชธานี เมื่อวันที่ 30 เม.ย. ที่ผ่านมานั้น เต็มไปด้วยข่าวลือว่า บริษัทร้านค้าตามเส้นทางเสด็จฯ จะต้องปิดมิดชิด และมีการปิดถนนตลอดวันด้วย ซึ่งเมื่อถึงวันงานจริง กลับไม่มีประกาศจากหน่วยงานใดๆ ว่าจะต้องปิดร้านค้า หรือจะปิดการจราจรห้วงเวลาใดเลย


ไกด์อุบลสัมภาษณ์พงศธร โชติมานนท์ นักวิชาการคอมพิวเตอร์ชำนาญการ ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ช่างภาพจิตอาสา งานพิธียกฉัตรฯ ประจำจุดรับเสด็จฯ สี่แยกกิโลศูนย์ ถนนชยางกูร ได้ความว่า ก่อนถึงวันงาน มีการประชุมช่างภาพจิตอาสาแล้ว ได้รับข้อมูลมาว่า ในหลวงทรงโปรดฯ ไม่ให้ปิดการจราจร รวมทั้งร้านค้าต่างๆ สามารถเปิดกิจการได้ตามปกติ ซึ่งตนคิดว่าจะเป็นไปได้หรือ เพราะเกี่ยวพันกับเรื่องถวายการอารักขาความปลอดภัยด้วย แต่ก็เก็บไว้ในใจ กะว่าถึงวันงานก็จะเห็นเอง

ช่างภาพจิตอาสา กล่าวต่อว่า เมื่อถึงวันงาน ตนเข้าประจำจุดที่ได้รับมอบหมาย คือ ถนนชยางกูร บริเวณสี่แยกกิโลศูนย์ บรรยากาศโดยรอบ มีประชาชนเริ่มมาเฝ้ารอรับเสด็จฯ ร้านค้าหลายร้านเปิดขายตามปกติ เช่น ร้านแว่นตรงหัวมุมสี่แยก สภาพการจราจรคล่องตัว รถน้อยแต่ไม่มีการปิดถนน เมื่อถึงเวลาที่ขบวนรถพระที่นั่ง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เคลื่อนผ่าน เจ้าหน้าที่ ตำรวจจราจรเข้าประจำจุดแล้ว แต่ยังมีรถวิ่งผ่านตลอดเวลา ตอนนั้นยังคิดว่า ถ้ารถพระที่นั่งเคลื่อนผ่าน พอดีกับมีรถสวนมา อาจจะพลาดโอกาสสำคัญในชีวิตเลยก็ได้ และก็เป็นจริงอย่างที่คิด มีรถกระบะวิ่งสวนเลนมาขณะที่รถพระที่นั่งผ่านมาถึงตรงหน้าพอดี ตอนนั้นรู้สึกหงุดหงิด เสียใจมากที่พลาดโอกาสบันทึกภาพวินาทีสำคัญอย่างน่าเสียดาย แต่เมื่อกลับมาบ้าน นั่งดูภาพแต่ละภาพแล้ว ความรู้สึกเสียดาย เสียใจก็หายไป กลับชื่นชอบภาพที่มีรถวิ่งสวนกับรถพระที่นั่งทุกภาพ เพราะเป็นอย่างที่ที่ประชุมบอกไว้เลยว่า ไม่มีการปิดถนน ขบวนเสด็จฯ ใช้เวลาเพียง 2-3 นาที ก็ผ่านหน้าเราไปแล้ว หากไม่บอก ก็เหมือนกับเราติดไฟแดงสี่แยกตามปกติแค่นั้น

"หวังว่าภาพชุดนี้ จะบอกเรื่องราว และลบข่าวลือต่างๆ ที่เข้าใจผิดกันมานานได้เป็นอย่างดี พระองค์ท่านทรงห่วงใยราษฎร รับสั่งให้ขบวนเสด็จฯ กระทบกับประชาชนให้น้อยที่สุด และวันนี้ได้เห็นกับตาแล้ว รู้สึกสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้" ช่างภาพจิตอาสากล่าว

ผบ.ตร.ทำคู่มือแนวปฏิบัติด้านการจราจรแจก ตร. - หลังในหลวงรับสั่งลดการปิดถนน
ย้อนดูความพยายามแก้ผลกระทบจาก #ขบวนเสด็จ ปี 44-65

อย่างไรก็ตาม หากไปพิจารณาแนวปฏิบัติการจัดการจราจรขบวนเสด็จส่วนพระองค์ ที่ออกมาตั้งแต่สมัย ร.9 แนวปฏิบัติกำหนดว่าแม้ไม่มีเกาะกลาง ก็ไม่ต้องปิดการจราจรถนนฝั่งตรงข้าม ให้เปิดให้รถวิ่งสวนได้ตามปกติแบบนี้อยู่แล้ว เมื่อวันที่ 4 ก.พ.53 ปลัดมหาดไทยขณะนั้นออกหนังสือแจ้งเรื่องดังกล่าวถึงผู้ว่าทุกจังหวัด และย้ำว่าให้ปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด ต่อมา ก.ค. 55 ผบ.ตร. ขณะนั้น พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ มีการสั่งการให้จัดทำ หนังสือคู่มือการปฏิบัติตามนโยบายและแนวทางการปฏิบัติด้านการจราจรในการเสด็จพระราชดำเนิน (เป็นการส่วนพระองค์) ให้ตำรวจทั่วประเทศ

'พูติกาล ศายษีมา' บล็อกเกอร์ ระบุด้วยว่าในหนังสือจากสำนักราชเลขาฯ 27 ม.ค. 53 ราชเลขา(อาสา สารสิน) ได้เล่าถึงเรื่องนี้ไว้ว่า ร.9 มีพระราชปรารภให้หาทางแก้ปัญหาปัญหาจราจรเวลามีขบวนเสด็จ ตั้งแต่ปี 2544 ซึ่งก็ได้มีการจัดทำแนวทางคู่มือไว้แล้ว แต่ไม่ประสบความสำเร็จมาตลอดเพราะผู้ปฏิบัติหน้างานกลัวถูกตำหนิลงโทษสอดคล้องกับข้อมูลจากวิกิลีกส์ #10BANGKOK192 วันที่ 25 ม.ค.2553 ที่ทูตสหรัฐฯ คุยกับ พล.อ.อ.สิทธิ เศวตศิลา(อดีตองคมนตรี) ซึ่งสิทธิเล่าว่า ร.9 เห็นด้วยและให้อาสาพูดคุยกับสมาชิกราชวงศ์ กำหนดแนวทางจัดระเบียบขบวนเสด็จ เพื่อลดปัญหาจราจร มาสัก 8 ปีแล้ว แต่ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง โดยสิทธิยังเล่าว่า ตัวเองอาทิตย์ก่อนกลับจากการพบทูตจีนก็ติดบนถนน 45 นาที เพราะขบวนเสด็จ นอกจากเรื่องปิดถนน สิทธิเห็นว่าการที่ขบวนเสด็จของบางท่าน (You Know Who) สั่งให้บ้านเรือนริมถนนต้องปิดหน้าต่าง ชั้นสองด้วยเวลามีการเสด็จนั่นยิ่งไม่ได้อะไรนอกจากความไม่พอใจของประชาชน

นักกิจกรรมถูกคุกคาม-จับกุม แม้ไม่มีใครประกาศเคลื่อนไหว

อย่างไรก็ตามในการเสด็จไปที่วัดมหาวนารามดังกล่าวนั้น ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่า ส่งผลกระทบต่อนักกิจกรรมในพื้นที่ที่มักจะถูกติดตามคุกคามถ่ายภาพที่บ้านและเช็คพิกัดที่อยู่เป็นระยะๆ จนไม่อาจใช้ชีวิตอย่างสงบสุขได้ ไม่เพียงแต่การติดตามไปถึงที่บ้านในสัปดาห์ก่อนจะมีขบวนเสด็จ ในวันเสด็จยังมีนักกิจกรรมอีก 2 รายถูกคุมตัวออกจากพื้นที่ที่มีการรับเสด็จ เพียงเพราะไปถ่ายภาพบรรยากาศการรับเสด็จให้สำนักข่าวแห่งหนึ่ง ไม่ได้มีแค่พื้นที่อุบลราชธานี ห่างกันไปราว 110 กิโลเมตร ที่ อ.ขุนหาญ จ.ศรีสะเกษ ปรากฏนักกิจกรรมและจำเลยคดี 112 ก็ถูกติดตามด้วย บางรายตามไปหาถึงที่ทำงานในจังหวัดสมุทรสาคร ที่ไม่เกี่ยวข้องอะไรกับการทำกิจกรรมการเมือง โดยทุกคนได้แต่ตั้งข้อสงสัยถึงการกระทำเกินเหตุของเจ้าหน้าที่รัฐในครั้งนี้

อ่านรายละเอียดที่ https://www.facebook.com/lawyercenter2014/posts/5018699851513162



ที่มา ประชาไท
https://prachatai.com/journal/2022/05/98476