วันศุกร์, พฤษภาคม 20, 2565

การเลือกแบบยุทธศาสตร์ในการเลือกตั้งผู้ว่า กทม. ครั้งนี้ แม้จะมีการพูดถึงกันมาก ในทางปฏิบัติเกิดขึ้นได้ยาก หากปราศจาก 2 ปัจจัย...


Siripan Nogsuan Sawasdee
May 17

เลือกตั้งแบบยุทธศาสตร์ Strategic Voting (SV)
คือ การตัดสินใจเลือกผู้สมัคร/พรรคการเมืองที่มีโอกาสชนะมากที่สุด แม้จะไม่ได้ชอบที่สุด เนื่องจากเห็นว่าผู้สมัคร/พรรคที่เลือก มีโอกาสมากกว่าที่จะชนะผู้สมัคร/พรรค ที่เราเกลียดหรือไม่ต้องการให้ชนะ
การเลือกแบบยุทธศาสตร์ในการเลือกตั้งผู้ว่า กทม. ครั้งนี้ แม้จะมีการพูดถึงกันมาก โดยเฉพาะระหว่างผู้สมัครในฝั่งที่เป็นพันธมิตรกับรัฐบาล แต่ในทางปฏิบัติเกิดขึ้นได้ยาก
สิ่งจำเป็นที่สุดในการเลือกตั้งแบบยุทธศาสตร์ 2 ประการ คือ
1 ข้อมูลที่ถูกต้องแม่นยำ (ว่าคะแนนใครนำ ใครคือหนึ่งเดียวคนนั้น ที่ควรเทคะแนนให้)
2 ยุทธศาสตร์การตัดสินใจและส่งสารให้ถึงกลุ่มเป้าหมาย กล่าวคือ ต้องประสานหลายฝ่าย และเมื่อมีข้อตกลงว่าจะร่วมกันเลือกใครแล้ว ต้องนำสารนั้นส่งไปยังคนจำนวนมหาศาล มีเหตุผลให้ผู้สนับสนุนคล้อยตาม
ถึงแม้บางท่านอาจคิดว่าไลน์กลุ่มจะทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพคืนก่อนเลือกตั้ง แต่ปัญหาหลักของฝั่งที่เป็นพันธมิตรกับรัฐบาลคือ ไม่รู้ชัดว่าใครมีโอกาสมากที่สุด ที่จะเอาชนะ คุณชัชชาติ
ความกระจัดกระจายสายรุ้งของผู้สนับสนุนหลักที่แสดงตัว เป็นภาพสะท้อนของคะแนนเสียงที่แตกเป็น 4 สาย คือ
1.พันธมิตร พลตรีจำลอง คุณสนธิ สนับสนุน คุณรสนา
2. กปปส. คุณสุเทพ หมอเหรีญทอง ดี้นิติพงศ์ เชียร์คุณสกลธี
3. กองหนุนเอกประยุทธ หมอวรงค์ คุณถาวร เสนเนียม คุณปารีณา ชู คุณอัศวิน และ
4. ประชาธิปัตย์ (อาจไม่รวมคุณอภิสิทธิ์) ที่หวังใช้คะแนนเสียงของคุณสุชัชวีร์ เป็นตัวประเมินว่า 4.7 แสนเสียงเมื่อครั้งเลือกตั้งปี 62 ยังสบายดีหรือเปล่า ข่าวคราวไปถึงไหน
นอกจาก ความไม่สมบูรณ์ของข้อมูล ว่าใครกันแน่ที่มีโอกาสชนะผู้ที่มีคะแนนนำในตอนนี้ จึงไม่รู้จะเทคะแนนให้ใครคนใดคนหนึ่งแล้ว พอการเลือกตั้งเคี่ยวข้น เข้าโค้งสุดท้าย การปะทะกันเองภายในขั้วอาจมากกว่าการต่อสู้กับผู้สมัครจากขั้วตรงข้ามเสียอีก เพราะ 1.2 ล้าน คะแนนเสียงของฝั่งนี้ มีผู้สมัครต้องขับเคี่ยวกันถึง 4 คน และกลุ่มเป้าหมายหลักคือผู้มี อายุ 60 ปีขึ้นไป มีประมาณ 1 ล้านกว่าคน หรือเพียง 25% ของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง
การเลือกแบบยุทธศาสตร์ของฝั่งฝ่ายค้าน จากความกังวลเรื่องการตัดคะแนน (รวมกันน่าจะมีประมาณ 1.6 ล้าน = พท+อนค+เศรษฐกิจใหม่ +เสรีรวมไทย) ระหว่าง คุณชัชชาติ และ คุณวิโรจน์ อาจทำได้ง่ายกว่า เพราะฝั่งนี้มีตัวเต็งเพียง 2 และคะแนนคุณชัชชาตินำเด่นชัดจากชุดข้อมูลที่มีอยู่ แต่เชื่อว่า 2 ทีม จะไม่มีการรณรงค์ให้เลือกแบบยุทธศาสตร์ในวงกว้าง หากจะมีก็เป็นเพียงการตัดสินใจของผู้เลือกตั้งรายบุคคล ซึ่งต่างคนก็ต่างทำไป
ยุทธศาสตร์ที่ควรร่วมกันรณรงค์คือ ให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งออกมาลงคะแนนให้มากที่สุด (เลือกตั้งผู้ว่าปี 56 คนมาใช้สิทธิ 63%) ยิ่งคนมาลงคะแนนมาก ผลโพลจะยิ่งไม่พลิก ทุกคะแนนเสียงที่โหวตก็เป็นยุทธศาสตร์ในตัวมันเอง และอย่าลืมว่า ไม่มีการเลือกตั้งล่วงหน้าที่คนหนุ่มสาวชอบมาใช้สิทธิก่อนวันจริง
ขอย้ำว่า ความเห็นเลือกตั้งแบบยุทธศาสตร์นี้ กล่าวเฉพาะการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ส่วนการเลือกตั้งทั่วไป ของยกแคนนาดา มาเป็นตัวอย่าง

เดือนหน้า จะมีการเลือกตั้งสมาชิกสภาจังหวัด Ontario ซึ่งเชื้อเชิญให้เลือกตั้งแบบยุทธศาสตร์กันขนานใหญ่
Ontario มีพรรคการเมืองหลักแบ่งเป็น 2 ขั้ว คือ ฝ่ายก้าวหน้า 63% กับ ฝ่ายอนุรักษ์นิยม 37%
แต่ในขั้วเสรีนิยมซอยย่อยเป็น 3 พรรค คือ Liberal 35% - NDP 25% - และ Green 3%
ระบบเลือกตั้งแบบ 1 เขต มีผู้ชนะได้คนเดียว จึงเสร็จพรรคอนุรักษ์นิยม (Progressive Conservative) เรื่อยไป
คนแคนาดาจริงจังกับเรื่องนี้มาก ขนาดทำเครื่องมือทำนายผลเลือกตั้งเพื่อให้ผู้เลือกตัดสินใจได้ง่ายว่าในเขตที่ตัวเองใช้สิทธิ คะแนนนิยมพรรคไหนนำ ควรเลือกใคร เพื่อให้ที่นั่งร่วมกันของฝ่ายก้าวหน้าชนะ โดยต้องไม่ทำให้จำนวนที่นั่งเดิมของแต่ละพรรคลดลง ความพยายามนี้จะสำเร็จไหม ต้องรอดูผลเลือกตั้งวันที่ 2 มิถุนายน
ขอบคุณภาพประกอบจาก ไทยรัฐออนไลน์​และ Strategic Voting 2021 Canadian Federal Election
...
Thanakorn Manavid
วิธีแก้ไข น่าจะให้ใช้ระบบเลือกตั้ง 2 รอบ (TRS) ไปเลย จะได้แฟร์ๆกันทั้งสองฝ่าย