วันศุกร์, มีนาคม 25, 2565

สนามหลวง ให้ประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกันดีมั้ย ?


คณะก้าวหน้า - Progressive Movement
9h ·

[ สนามหลวงใช้ทำอะไรดี? ]
.
[1] สนามหลวงสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์
“หลวง = ของกษัตริย์”
.
นับตั้งแต่ก่อตั้งกรุงรัตนโกสินทร์ในปี 2325 สนามหลวงถูกใช้เป็นที่ประกอบกิจกรรมต่างๆ ของวัง ตั้งแต่ใช้เป็นที่ออกกำลังกาย แข่งม้า ตีกอล์ฟ ไปจนถึงการประกอบพิธีศพของราชวงศ์
.
ในสมัยรัชกาลที่ 3 สนามหลวงถูกใช้เป็นที่ทำนา ด้วยหวังว่าจะทำให้ประเทศต่างๆ เห็นว่าเมืองไทยอุดมสมบูรณ์เพียบพร้อมไปด้วยข้าวปลาอาหาร
.
ในสมัยรัชกาลที่ 5 สนามหลวงได้ถูกขยายจนมีขนาดเท่าที่เราเห็นในปัจจุบัน โดยสนามหลวงถูกใช้เพื่อจัดงานฉลองพระนครครบ 100 ปี รวมถึงงานฉลองเมื่อรัชกาลที่ 5 เดินทางกลับจากยุโรปในปี 2440
.
ในสมัยรัชกาลที่ 6 สนามหลวงถูกใช้เป็นสนามแข่งม้า สนามกอล์ฟ ของเหล่าชนชั้นสูงในประเทศไทย
.
[2] สนามหลวงสมัยประชาธิปไตย
“หลวง = ของประชาชน”
.
จากสนามหลวงที่เป็นของกษัตริย์ ประชาชนไม่มีสิทธิใช้ในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เมื่อมีการปฏิวัติสยาม 24 มิถุนายน 2475 สนามหลวงจึงถูกเปลี่ยนมาเป็นของประชาชน
.
โดยงานแรกที่แสดงให้เห็นว่าสนามหลวงกลายมาเป็นของประชาชนแล้ว ก็คือการจัดพิธีศพให้กับทหาร ตำรวจ และพลเรือนฝ่ายประชาธิปไตยที่เสียชีวิตจากการต่อสู้กับกบฏบวรเดช ที่ต้องการจะเปลี่ยนแปลงการปกครองกลับไปยังระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์
.
ต่อมาในปี 2491 หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เกิดภาวะข้าวยากหมากแพง ประชาชนหาซื้อข้าวของเครื่องใช้กันลำบาก รวมถึงเกษตรกรก็เดือดร้อน จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี จึงส่งเสริมให้จัดตั้งตลาดนัดในทุกจังหวัด สำหรับกรุงเทพ ได้ใช้สนามหลวงเป็นที่ตั้งตลาดนัดเรื่อยมา จนกระทั่งกรุงเทพได้เตรียมใช้พื้นที่สนามหลวงจัดงานสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี ในปี 2491 จึงจำเป็นต้องย้ายตลาดนัดจากสนามหลวงมาเป็นสวนจตุจักรอย่างที่เราเห็นในปัจจุบัน
.
นอกจากเป็นตลาดนัดแล้ว จอมพล ป. พิบูลสงคราม ก็มีความต้องการให้สนามหลวงเป็นเหมือนสวนสาธารณะไฮด์ปาร์คของอังกฤษ การชุมนุมปราศรัยทางการเมืองจึงเกิดขึ้น ณ ท้องสนามหลวงอยู่บ่อยครั้ง ตั้งแต่ 14 ตุลา 2516 เหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ภาพศพนิสิตนักศึกษาที่ถูกแขวนคอบนต้นมะขามสนามหลวง และถูกฟาดด้วยเก้าอี้ก็กลายเป็นภาพประวัติศาสตร์ที่จารึกความโหดเหี้ยมของฝ่ายอนุรักษ์นิยม มาจนถึงการชุมนุมพฤษภา 2535 การชุมนุมของม็อบพันธมิตร และการชุมนุมต้านรัฐประหาร 2549
.
แต่ถึงอย่างนั้นสนามหลวงก็ยังสามารถใช้จัดงานต่างๆ ของวังได้เช่นเดิม สะท้อนการอยู่ร่วมกันได้อย่างกลมกลืนระหว่างประชาชนและสถาบันกษัตริย์
.
[3] ปิดสนามหลวงย้อนกลับไปก่อน 2475
.
ปี 2553 กรุงเทพ โดย ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพ เริ่มผลักดันความคิดที่จะห้ามไม่ให้ใช้สนามหลวงจัดกิจกรรมทางการเมืองอีกต่อไป โดยให้เหตุผลว่าต้องการสงวนไว้สำหรับจัดงานของวังเท่านั้น
.
ทุกอย่างชัดเจนขึ้นในปี 2555 ที่ได้มีการออกระเบียบการใช้สนามหลวง โดยในระเบียบได้ระบุไว้อย่างชัดเจนว่า อนุญาตเฉพาะ “งานประเพณีสําคัญของชาติโดยหน่วยงานของรัฐ เช่น งานรัฐพิธี งานพระราชพิธี การจัดการแข่งขันกีฬาไทยประจำปี” และห้ามจัดงานชุมนุมทางการเมืองโดยเด็ดขาด
.
อย่างไรก็ตามในปี 2556 กลุ่มพันธมิตรและแนวร่วมคนไทยหัวใจรักชาติ รักษาแผ่นดิน ก็ยังสามารถตั้งเวทีปราศรัยขนาดใหญ่ที่ท้องสนามหลวงโดยไม่ติดปัญหาอะไร สร้างความไม่พอใจให้กับกลุ่ม นปช. ที่ถูกกีดกันไม่ให้ใช้พื้นที่ดังกล่าวจัดกิจกรรมทางการเมืองมาโดยตลอด
.
[4] จากสนามหลวงสู่สนามราษฎร สัญลักษณ์แห่งการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์
.
19 กันยายน 2563 เกิดการชุมนุมครั้งใหญ่ที่สุดในรอบหลายปี ที่สนามหลวง โดยกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมขนานนามสถานที่ที่ใช้ในการชุมนุมว่า “สนามราษฎร” ถือเป็นการยืนยันว่าสนามหลวงเป็นของประชาชน ในการชุมนุมครั้งนั้นยังมีการทำพิธีปักหมุดคณะราษฎร หมุดที่ 2 บนท้องสนามหลวงอีกด้วย
.
.
เรื่องราวยังไม่จบ การยื้อแย่งพื้นที่อันเป็นหัวใจของกรุงเทพยังคงดำเนินต่อไป เพียงแต่ครั้งนี้ความหมายของการยื้อแย่งได้เปลี่ยนไปจากเดิม และแน่นอนว่าจะไม่มีวันหวนกลับไปสู่ความหมายเดิมอีกตลอดกาล

แล้วคุณล่ะ คิดว่า #สนามหลวงใช้ทำอะไรดี
...

Wiroj Lakkhanaadisorn - วิโรจน์ ลักขณาอดิศร
11h ·

[ สนามหลวงต้องเป็นพื้นที่สาธารณะของทุกคน ]
.
วันนี้ผมได้ไปเดินรอบสนามหลวง พื้นที่สาธารณะแห่งแรกใจกลางกรุงเทพ เพื่อสำรวจสภาพปัญหาของสนามหลวงที่กลายเป็นพื้นที่หวงห้าม มีรั้วกั้น จนประชาชนที่รอรถเมล์ ซึ่งผ่านที่นี่มากถึง 15 สาย ต้องมาเสี่ยงชีวิตยืนรอบนถนนแทน เพราะทางเท้าโดนรั้วกั้นสนามหลวงกินพื้นที่ไปเกือบหมด
.
หลายปีที่ผ่านมา กทม. มีนโยบายทวงคืนทางเท้า เทศกิจที่ไปจับพ่อค้าแม่ขายบนทางเท้าเพราะกีดขวางทางเดินเท้า แล้วที่กั้นรั้วรอบสนามหลวงนี่ ผมถามว่าไม่กีดขวางทางเดินเท้าหรือครับ?
.
สนามหลวงในความทรงจำของผม คือตลาดนัด คือที่พักผ่อนหย่อนใจกับครอบครัว และหลายๆ ครั้ง เป็นที่ชุมนุมทางการเมืองของหลากหลายกลุ่ม แต่อยู่ๆ ในยุคผู้ว่าสุขุมพันธุ์ ก็เกิดการกั้นรั้ว และออกระเบียบห้ามใช้สนามหลวงทำกิจกรรมทางเศรษฐกิจและห้ามชุมนุมทางการเมืองเด็ดขาด
ผมไม่เข้าใจเลยว่า สนามหลวงที่ถึงกับเคยให้รถทัวร์รับนักท่องเที่ยวจอดได้ แต่คนจะเข้าไปนั่ง ไปนอน ไปเล่นว่าว ไปดูดวง ไปไฮปาร์ก ไปทำกิจกรรมเสวนาการเมือง ไปเปิดสภากาแฟ ตำหนิรัฐบาล ตำหนิฝ่ายค้านไม่ได้ ทำไมเราจะเปิดเสรีภาพตรงนั้นไม่ได้
.
คำว่าหลวง หมายถึงเป็นของประชาชน ใช้เงินภาษีประชาชน เช่นถนนหลวง ไฟหลวง สนามหลวงจึงเป็นสนามของประชาชน ไฟทุกดวง หญ้าทุกต้น รั้วทุกอัน ใช้เงินภาษีจากประชาชน ต้องให้ประชาชนได้ใช้อย่างสะดวกไม่ปิดกั้น ไม่ใช่จำกัดห้ามทำนั่นทำนี่เต็มไปหมด
.
หากผมเป็นผู้ว่าฯ สนามหลวงจะเปิดใช้งานอย่างมีชีวิตชีวาเหมือนที่เคยเป็น เอารั้วกั้นออกให้หมด เปิดให้ประชาชนทำได้ทุกอย่างที่ถูกกฎหมาย ตั้งแต่เล่นว่าว ดูดวง ออกกำลัง ไปจนถึงกิจกรรมทางการเมือง
.
สำหรับท่านที่เป็นห่วงเรื่องความปลอดภัยและความสะอาดเรียบร้อย ผมยืนยันว่า การดูแลความสะอาดและความปลอดภัยของสนามหลวง ยังสามารถทำได้โดยไม่ต้องใช้รั้วกั้น สนามหลวงเป็นพื้นที่โล่งโปร่งตา ไม่มีใครไปแอบซ่องสุมก่ออาชญากรรมได้อยู่แล้ว จึงไม่จำเป็นต้องมีรั้วเพื่อความปลอดภัย ใช้เพียงตำรวจหรือเจ้าหน้าที่ดูแลลาดตระเวนตามความเหมาะสมก็เพียงพอ และกทม. ก็มีกล้องวงจรปิดรอบบริเวณอยู่แล้ว
.
นอกจากนี้ ผมยังต้องการเพิ่มสิ่งอำนวยความสะดวกให้สนามหลวงน่าใช้และเป็นมิตรกับประชาชนมากขึ้น เพิ่มม้านั่ง ก๊อกน้ำดื่ม รวมถึงสร้างห้องน้ำถาวร ไม่ใช่แค่รถสุขาเคลื่อนที่อย่างที่มีในปัจจุบัน
.
ผมเชื่อว่าคนกรุงเทพต้องการให้สนามหลวงกลับมามีเสน่ห์ มีชีวิตชีวา และเป็นพื้นที่สาธารณะของทุกคนอีกครั้ง มาช่วยกันคิด ช่วยกันออกแบบครับว่า #สนามหลวงใช้ทำอะไรดี แสดงความเห็นในคอมเมนต์ได้เลยครับ