วันจันทร์, มีนาคม 28, 2565

เรื่องเล่าของคนรุ่นใหม่ "เชน" เชษฐา กลิ่นดี 1 ใน 3 จำเลยต่อสู้คดีชักธง “ปฏิรูปกษัตริย์” ใน มข. เพราะธงคือธง เป็นสัญลักษณ์ ไม่ใช่ความศักดิ์สิทธิ์ ‘ประเทศ’ ต้องไกลกว่านี้


ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน
17h ·

ชั่วเวลาไม่นานของการเกิดพรรคการเมือง ‘แห่งความหวัง’ ของคนรุ่นใหม่ กระแสการเพ่งหาการเมืองที่ดี และความเป็นไปได้ที่จะเห็นสังคมที่ดีกว่า ก่อเกิดกับเยาวชนในหลายแห่งที่ทั่วประเทศ ความตื่นตัวนั้นลุกลามรุนแรง เมื่อพรรคอนาคตใหม่ที่พวกเขาและเธอลงคะแนนเสียงในฐานะตัวแทนที่จะไปห้ำหั่นกับอำนาจเก่าถูกยุบไปโดยศาลรัฐธรรมนูญ
.
ในวัยวันนั้น "เชน" เชษฐา กลิ่นดี เด็กหนุ่มชาวสุรินทร์ เพิ่งอายุ 17 ปี เขาเฝ้ามองการเลือกตั้งใหญ่ของประเทศเมื่อ 24 มี.ค. 2562 ปีถัดมาเมื่ออนาคตใหม่ถูกยุบ เขาเริ่มตั้งข้อคำถามถึงสาเหตุความเป็นไป จากเพียงแค่เป็นประธานสภานักเรียน ทำกิจกรรมจิตอาสาทั่วไป เมื่อเกิดกระแสชุมนุมทางการเมืองเรียกร้องประชาธิปไตย จึงเป็นช่วงเวลาที่เขาออกมาร่วมขบวน พร้อมเปลี่ยนสถานะจากนักเรียนเป็นนิสิตวิทยาลัยการเมืองการปกครอง มหาวิทยาลัยมหาสารคาม คณะที่เขาเห็นว่าเหมาะเจาะและตรงกับความต้องการกระหายรู้ในศาสตร์ๆ หนึ่ง
.
ตั้งแต่นั้นกับบทบาทแตกต่างกันไป ทั้งผู้ร่วมก่อตั้งเยาวชนสุรินทร์เพื่อประชาธิปไตย, หนึ่งในแกนนำแนวร่วมนิสิต มมส.เพื่อประชาธิปไตย, สมาชิกกลุ่ม WeVo และปัจจุบันเป็นสมาชิกสภานิสิตมหาวิทยาลัยมหาสารคาม
.
การตกเป็น 1 ใน 3 จำเลยคดีชักธงปฏิรูปกษัตริย์ เหตุที่ตึกอธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นอีกเรื่องราวที่เขาต้องเรียนรู้ ยิ่งกับความอ่อนไหวเปราะบางของเจ้าหน้าที่รัฐที่มีต่อธงชาติและคำว่าปฏิรูปกษัตริย์ สำหรับเชนเห็นว่ายิ่งสมควรต้องมีการพูดจาถกเถียงกับสิ่งสมมติและวัตถุเชิงสัญลักษณ์มากขึ้น
.
“มันก็เหมือนงานกีฬาสี หรือธงกองเชียร์ฟุตบอล เราก็ใช้ธงเป็นสัญลักษณ์เพื่อสื่อในสิ่งที่เราต้องการจะตีแผ่ ตามแนวทางข้อเรียกร้อง ส่วนธงชาติเราก็ยังเคารพและไม่ได้ทำการใดๆ โดยตรงต่อธงชาติที่เป็นการเหยียดหยามดูถูกใดๆ เพียงแค่ชักธงสัญลักษณ์อื่นขึ้นแทน” เชนเคยกล่าวไว้ที่ศาลแขวงขอนแก่นในวันพิจารณาคดีนัดหนึ่ง
.
++สุรินทร์ ไม่สิ้นนักประชาธิปไตย
หากติดตามประวัติศาสตร์การเมืองบ้าง อาจเคยได้ยินชื่อชาวสุรินทร์อย่าง เปลื้อง วรรณศรี เจ้าของบทกวี โดม ผู้พิทักษ์ธรรม ผู้ต้องหาคดีกบฏสันติภาพเมื่อปี 2495 หรือ นเรศ นโรปกรณ์ นักเคลื่อนไหวทางการเมือง ยิ่งกับบทกวีที่ขึ้นต้นประโยคด้วย "เพียงหวังจะเฟื่องฟุ้ง หรือจึงมุ่งมาศึกษา” อันเป็นอีกกระแสธารของขบวนการนิสิตนักศึกษายุคตุลา 16 และตุลา 19
.
เชนเล่าถึงบุคคลสำคัญในอดีตว่า ถ้าพูดถึงผลทางจิตใจ ก็น่าจะเป็นความรู้สึกภูมิใจที่ในอดีต จ.สุรินทร์ มีปัญญาชน นักเคลื่อนไหว ผู้แทนที่คอยเป็นปากเป็นเสียงให้ประชาชน โดยมีอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยจังหวัดสุรินทร์เป็นดั่งหลักฐานทางประวัติศาสตร์ชิ้นหนึ่งที่อยู่คู่จังหวัด อันสื่อถึงระบอบใหม่ ระบอบการปกครองของประชาชนอย่างแท้จริง
.
“ถ้าพูดถึงภูมิทัศน์และประชากรในสุรินทร์ตอนนี้หลักๆ ก็เป็นเกษตรกรที่อิงกับนโยบายพรรคเพื่อไทย แต่ก็มีนักการเมืองบ้านใหญ่อยู่ 2-3 นามสกุล แต่การเลือกผู้แทนของผู้คนในเมืองก็จะคล้ายกับทางบุรีรัมย์ (พรรคภูมิใจไทย) แต่ถ้าออกมาต่างอำเภอพรรคเพื่อไทยยังครองเสียงประชาชนแถบนี้”
.
เมื่อให้เล่าถึงครอบครัวและตัวตน เชนคิดว่าครอบครัวเขาก็คล้ายๆ ครอบครัวอื่นๆ ในสุรินทร์ ที่เป็นเกษตรกร ทำนา รับจ้างทั่วไป อยู่ในตำบลหนึ่งของอำเภอเมือง อยู่บ้านก็พูดภาษาเขมรถิ่นไทย อันเป็นภาษาที่คนส่วนใหญ่ในจังหวัดใช้
.
สำหรับการเมืองดูเป็นเรื่องห่างไกล แต่เมื่อถึงเวลาหนึ่งสิ่งๆ นั้นก็กลายเป็นเรื่องใกล้ตัวอย่างแยกไม่ขาด ด้วยช่วง ม.ปลาย เชนมีโอกาสเป็นประธานสภานักเรียน เริ่มจากทำงานเชิงจิตอาสาเรื่องขับขี่ปลอดภัย หรือจัดอบรมผู้นำเยาวชน จึงสนใจการเมืองมาตั้งแต่ตอนนั้น ด้วยต้องการอยากเรียนรัฐศาสตร์ จึงยื่นผลการเรียนสมัครรอบรับตรงของมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ก่อนสอบสัมภาษณ์และมีรายชื่อเป็นนิสิต มมส. มหาวิทยาลัยเพียงแห่งเดียวที่เขาหมายมั่นสมัครเข้า
.
“สิ่งที่จุดประกายให้ผมน่าจะเป็นการที่เราทำค่ายเยาวชน เราก็เลยตั้งคำถามต่อปัญหา จนถึงโครงสร้าง ทำให้เราเริ่มสนใจ เริ่มติดตามการเมืองผ่านปรากฏการณ์ และการกระทำของรัฐ อันป็นสิ่งที่ทำให้ยิ่งรู้สึกว่าเราอยากเปลี่ยนแปลงมันมากขึ้น เราไม่อยากอยู่แบบนี้ เราไม่อยากส่งต่อสังคมแบบนี้ให้คนรุ่นหลังเรา”
.
เชนเล่าต่อว่า เขาเริ่มเคลื่อนไหวตั้งแต่ยังไม่ได้เข้ามาเรียนเป็นนิสิตเลย “ตอนสอบติดก็เริ่มติดตามแนวร่วมนิสิต มมส. เพื่อประชาธิปไตย ว่าเขามีกิจกรรมอะไรบ้าง ก่อนจะสมัครเป็นสมาชิกกลุ่ม” ขณะเดียวกันที่สุรินทร์กลางปี 2563 เชนเริ่มก่อตั้งกลุ่มเยาวชนสุรินทร์เพื่อประชาธิปไตย กิจกรรมแรกคือจัดงานรำลึกวันที่ 24 มิถุนา ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยสุรินทร์
.
“ตอนนั้นจะไปอ่านประกาศคณะราษฎร แต่ยังไม่ได้ทำอะไรเลยก็มีตำรวจไปที่บ้าน บอกว่าหากจะจัดงานก็จะโดนข้อหา เพราะเป็นช่วงประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ตอนนั้นปิดเทอมจบ ม.6 กำลังจะขึ้นปี 1 เห็นเขาจัดกันทั่วประเทศก็เลยอยากจัดด้วย ผมตั้งกลุ่มวันที่ 21 มิถุยายน วันที่ 22 ประกาศจัด ตำรวจไปที่บ้านวันที่ 23”
.
หลังกลุ่มตัดสินใจไม่จัดกิจกรรมดังกล่าว ก็ไม่อาจทำให้เชนหลุดพ้นจากการติดตามคุกคามของเจ้าหน้าที่ในจังหวัดสุรินทร์ เพราะแม้ตัวเขาจะเข้าไปเรียนที่มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ที่ห่างจากตัวอำเภอเมืองสุรินทร์ไปราว 190 กิโลเมตร เมื่อเวลามีกิจกรรมทางการเมืองหรือมีบุคคลสำคัญในประเทศไปที่สุรินทร์ บ้านของเชนมักตกเป็นเป้าหมายการคุกคามของเจ้าหน้าที่รัฐอยู่เสมอๆ แต่เชนก็ยืนยันโดยตลอดว่าเขาเรียนหนังสืออยู่ที่มหาสารคามไม่ได้กลับไปทำกิจกรรมเคลื่อนไหวอะไรในสุรินทร์
.
++แนวร่วมนิสิต มมส. ที่กลายเป็นจำเลยคดีชักธง “ปฏิรูปกษัตริย์” ใน มข.
ด้วยความที่เข้าเป็นนิสิตมหาวิทยาลัยในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 พอดี ทำให้หลายกิจกรรมจัดขึ้นไม่ได้ และส่วนมากก็เรียนออนไลน์เป็นหลัก “การจัดการเรียนการสอนก็ยังยากอยู่ ตั้งแต่ผมเข้าปี 1 ได้เข้าห้องเรียน 10% ที่เหลือออนไลน์หมดเลย และเปิดเรียนทุกครั้งก็มีคลัสเตอร์มาตลอด”
.
ถึงอย่างนั้นเชนก็สัมผัสได้ถึงวัฒนธรรมของวิทยาลัยการเมืองการปกครอง “ผมมองว่านิสิตที่นี่ ค่อนข้างที่จะมีส่วนร่วมและตื่นตัวทางการเมือง ทั้งประเด็นในมหาวิทยาลัยรวมไปถึงประเด็นทางสังคมด้วย”
.
เชนเล่าถึงการชุมนุมครั้งแรกในมหาวิทยาลัย ที่เขามีส่วนร่วมกับแนวร่วมนิสิต มมส.เพื่อประชาธิปไตย ในชื่อ “อีสานสิบ่ทน” จัดขึ้นช่วงเดือนกรกฎาคม 2563 ที่ลานแปดเหลี่ยม วันนั้นมีผู้เข้าร่วมมากถึง 2-3 พันคน จนกลายเป็นแรงกระเพื่อมให้เกิดชุมนุมอีกหลายครั้งในภาคอีสานโดยเฉพาะในมหาสารคาม กระทั่งสะดุดหยุดลงในช่วงสถานการณ์โรคระบาดและการตรึงด้วยกฎหมาย พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ของรัฐ
.
จนเมื่อต้นปี 2564 เชนกับกลุ่มเพื่อนจากมหาสารคามเดินทางไปขอนแก่น ในวันสุดท้ายก่อนกลับ “ราษฎรออนทัวร์” จัดชุมนุมบริเวณบึงสีฐาน มหาวิทยาลัยขอนแก่น เรียกร้องปล่อยผู้ต้องหาคดี 112 เชนจึงเดินทางไปเข้าร่วม ที่นั่นเขาพบกับ “เซฟ” วชิรวิทย์ เทศศรีเมือง เพื่อนนักกิจกรรมกลุ่มขอนแก่นพอกันที ที่ภายหลังชวนไปทำกิจกรรมแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ชักธงแดงปฏิรูปกษัตริย์ เชนย้อนเล่าความหลังว่า
.
“เราไปหลัง 6 โมงเย็น รอเจ้าหน้าที่มหาวิทยาลัยชักธงชาติลงก่อน ค่อยเอาธงแดงชักขึ้นยอดเสา แต่ไม่เห็นมีเจ้าหน้าที่มานำธงชาติลง เรารอซักพัก เมื่อใกล้มืดแล้ว จึงตัดสินใจชักธงชาติลงเอง และพยายามแกะออก แต่แกะไม่ได้ ก็เลยดึงธงชาติขึ้นไว้ตามเดิม แล้วผูกธงแดงด้านล่าง จากนั้นก็ชักธงแดงขึ้นไปบนยอดเสา ทำให้ธงชาติลงมาอยู่ข้างล่าง แต่เราก็ได้รวบเก็บธงไว้ตรงที่ผูกเชือกธงอย่างเรียบร้อยแล้ว”
.
หลังจากถูกออกหมายเรียกจากกิจกรรมครั้งนั้น ไม่ว่าจะผ่านตาว่าโดนข้อหา ผิด พ.ร.บ.ธงฯ จากการชักธง เหยียดหยามธงชาติ หรือแม้แต่ข้อหาเหยียดหยามประเทศชาติ เชนให้ความเห็นว่า “ผมไม่มีเจตนากระทำการใดๆ ที่ไม่ควรต่อธงชาติเลย เพราะฉะนั้นผมก็ไม่ได้รู้สึกว่าผมทำผิดอะไร อีกอย่างยุคสมัยมันเปลี่ยนไป คนเราจะนับถือเคารพสิ่งใดทุกวันนี้มันขึ้นอยู่ที่เหตุและผล เมื่อก่อนเราอาจจะมองว่ามันศักดิ์สิทธิ์มาก แต่ทุกวันนี้คนเราอยากจะมองมันแค่สิ่งประกอบสร้างที่เป็นสัญลักษณ์ของรัฐ เราอาจจะมองคุณค่าของสิ่งนั้นๆมากกว่านับถือในความศักดิ์สิทธิ์”
ส่วนอุปสรรคในการสู้คดี นิสิตผู้กลายเป็นผู้ต้องหาและจำเลยเล่าว่า “สำหรับผมก็น่าจะเป็นการเดินทาง ด้วยความที่เราถูกดำเนินคดีที่ขอนแก่น เราเรียนอยู่มหาสารคาม แต่ช่วงที่ผ่านมาเป็นการเรียนออนไลน์ทำให้ผมกลับสุรินทร์ไปเรียนอยู่บ้าน การเดินทางเลยเป็นปัญหาหลัก เป็นเรื่องที่ทำให้เสียเวลาและค่าใช้จ่ายอยู่ไม่น้อย”
.
เมื่อถามถึงวิธีจัดการกับอารมณ์ในระหว่างถูกดำเนินคดี เชนย้ำเสมอว่า “จิตใจของเราเป็นสิ่งสำคัญมากครับ ในกรณีของผมช่วงแรกเราก็เจอกระแสต้าน ไม่ว่าจะเป็นครอบครัว หรือสังคมรอบข้าง บางทีผมก็รู้สึกเหนื่อย แต่เราแค่พักเหนื่อยแล้วก็มาลุยใหม่”
.
++สิ่งที่คิดฝัน ในวันที่เชื่อมั่นว่า ‘ประเทศ’ ต้องไกลกว่านี้
สำหรับอนาคตที่วาดภาพไว้หลังเรียนจบ เชนอยากทำงานเชิงการเมือง ‘หลังบ้าน’ ขององค์กรต่างๆ แต่ก็ไม่ทิ้งความคิดที่อยากกลับไปทำงานการเมืองท้องถิ่นที่บ้านเกิด “ผมว่าในอนาคตมันก็มีสิทธิ เพราะวันหนึ่งต้องมีตัวแทนอุดมการณ์ของเราเข้าไปเปลี่ยนแปลง”
.
การผันตัวจากบทบาทนักกิจกรรมมาเป็นสมาชิกสภานิสิตเช่นปัจจุบัน เชนมองว่าไม่ค่อยมีความแตกต่างกันมากนัก ตลอดเวลาที่ผ่านมาของการเป็นนักกิจกรรมเขาก็เป็นคนหนึ่งที่คอยเรียกร้อง ขับเคลื่อนประเด็นของนิสิตควบคู่กับประเด็นทางสังคมมาอยู่แล้ว การเข้ามาเป็นสมาชิกสภานิสิต ก็เป็นงานที่คอยเป็นกระบอกเสียง รักษาสิทธิประโยชน์ของนิสิต ตลอดจนตรวจสอบองค์กรนิสิต เหมือนกับการเป็นนักกิจกรรมที่ผ่านมา
.
“ช่วงเป็นนักกิจกรรมในสุรินทร์ก่อนหน้านี้ผมก็ทำค่ายเยาวชน ค่ายอาสาทั่วไป มันก็เริ่มทำให้ผมตั้งคำถามถึงประเด็นทางการเมืองที่ใหญ่ขึ้น ทำให้ผมตั้งคำถามถึงโครงสร้าง พอมาเป็นนักกิจกรรม นักเคลื่อนไหว ก็ได้เรียนรู้อะไรหลายๆ อย่างมากขึ้น ได้เรียนรู้ถึงประเด็นปัญหาของสังคมในแง่มุมที่เราไม่เคยรับรู้มันมาก่อนเลยจนถึงกลายเป็นจำเลยคดีการเมืองเราก็ได้เข้าใจกระบวนการทางกฎหมาย เข้าใจถึงความอยุติธรรมของกระบวนการทางกฎหมาย และตัวบทกฎหมายในบ้านเรา”
.
เมื่อถามถึงนักการเมืองที่เป็นต้นแบบ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ เป็นชื่อแรกที่นิสิตผู้นี้เอ่ยขึ้น อาจด้วยภูมิหลังเป็นนักเคลื่อนไหวและเห็นว่ามีความมุ่งมั่นตั้งใจ ส่วนปิยบุตร แสงกนกกุล ก็ประทับใจในแง่การเป็นสายวิชาการที่ออกมาขับเคลื่อนประชาธิปไตย และ “ไอติม” พริษฐ์ วัชรสินธุ ที่เชนมองว่าเป็นอีกคนรุ่นใหม่ที่รอบรู้และก้าวหน้ามาก “แม้ตอนแรกจะอยู่พรรคประชาธิปัตย์ เขาก็ยอมละทิ้งพรรคนั้น และนำเสนอเรื่องการศึกษาได้น่าสนใจ”
.
นอกจากกิจกรรมการเมือง ปกติเชนจะอ่านหนังสือแนวประวัติศาสตร์การเมืองมากกว่าประเภทอื่นๆ ‘การเมืองแห่งความหวัง’ ที่เล่าถึงประเด็นเชิงโครงสร้างที่พรรคอนาคตใหม่ทำ ซึ่งล้วนต่างเป็นความหวัง หรืองานของอาจารย์สมชัย ภัทรธนานันท์ “การเมืองการปกครองในอีสานการครอบงำและการต่อต้าน”
.
“ผมนิยามว่า ทำให้รู้และเข้าใจรากเหง้ามากขึ้น พูดถึงการต่อต้านรัฐ"
ใช้เป็นบทวิเคราะห์ในกระบวนการเคลื่อนไหวได้ เราไม่เคยเห็นประวัติศาสตร์พวกนี้มาก่อนในหนังสือเรียน แม้แต่ประวัติศาสตร์ชนชาติกูยที่ใกล้ชิดกับ จ.สุรินทร์”
.
ปี 2565 การเกิดขึ้นของเครือข่ายนักกิจกรรมในอีสานอย่าง “ราษฎรโขงชีมูล” สำหรับเชนคิดว่าเป็นเรื่องดีที่มีคนเสนอประเด็นในภูมิภาค ไม่ใช่แค่การเมือง แต่เป็นวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ “ในอนาคตเราอาจจะเป็นมูลนิธิ เป็นพรรคการเมือง ถ้าเราได้ประชาธิปไตยเราก็ต้องชูเรื่องนี้ขึ้นมาอีก ทั้งกลุ่ม LGBT กลุ่มปฏิรูปการศึกษา การกระจายอำนาจ ทำให้ประชาชนรู้สึกว่าการเมืองอยู่ใกล้ตัวมากขึ้น”
เชนเล่าถึงความฝันและอนาคตอีกครั้งว่ายังอยากกลับไปพัฒนาท้องถิ่น อยากเปลี่ยนแปลงบ้านเกิดให้ดียิ่งขึ้น สำหรับเขาการเมืองที่ดีคือ การเมืองที่ยึดผลประโยชน์และความต้องการของประชาชนเป็นหลัก ขณะที่การเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างใหญ่คงต้องใช้เวลา และเขาก็พร้อมจะรอคอยวันเวลาเหล่านั้น ดั่งประโยคทิ้งท้าย
.
“ตั้งแต่มีชุมนุมต้นปี 2563 เราสร้างการเปลี่ยนแปลงกันมาก็มาก และผมเชื่ออย่างมากว่าในอนาคตมันก็จะเปลี่ยนแปลงไปมากกว่า”
อ่านเนื้อหาบนเว็บไซต์: https://tlhr2014.com/archives/41941