วันศุกร์, มีนาคม 25, 2565

รัสเซีย ยูเครน : ทำไมฝ่ายอนุรักษ์นิยมในไทยจึงเอนเอียงมาทางมอสโก



รัสเซียบุกยูเครนมานานเกือบ 1 เดือนเต็มแล้ว ผู้คนยังคงถกเถียงกันว่า เรื่องนี้จะจบลงอย่างไร ใครผิดใครถูก เมื่อเกิดความขัดแย้งที่แบ่งขั้วชัดเจน ก็ย่อมมีการเลือกข้างเป็นธรรมดา หรือไม่ก็อาจจะมีการเอนเอียงไปทางใดทางหนึ่ง ในสังคมไทยก็เช่นกัน

ฝ่ายที่สนับสนุนรัสเซียมักจะอ้างเหตุผลเรื่องการคุกคามรัสเซียขององค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (North Atlantic Treaty Organisation--NATO) หรือ นาโต รัสเซียจำเป็นต้องป้องกันตัวเอง จากการที่ศัตรูกำลังจะขยับมาอยู่ประชิดชายแดน ในกรณีนี้ก็คือ การที่ยูเครนได้เป็นสมาชิกนาโต ซึ่งจะส่งผลให้นาโตสามารถส่งกำลังทหารข้ามพรมแดนเข้ามาในเขตของยูเครนได้ นอกจากนี้อาจจะมีการติดตั้งอาวุธขนาดใหญ่ประชิดชายแดนที่ติดกับรัสเซียได้ด้วย

ด้านฝ่ายที่สนับสนุนยูเครนก็มักจะอ้างการเป็นชาติอธิปไตยที่มีอำนาจในการเลือกเป็นสมาชิกขององค์กรใด ๆ ก็ได้ รัสเซียไม่มีสิทธิ์ที่จะก้าวก่ายและไม่มีความชอบธรรม ๆ ที่จะยกทัพบุกยูเครน

ต่างฝ่ายต่างมีเหตุผลที่โต้แย้งกันไปมา บางเรื่องไม่สามารถบอกได้ว่า ใครผิดหรือถูก แต่สิ่งที่เห็นได้ชัดคือ ฝ่ายอนุรักษ์นิยมในไทย มักจะแสดงความเห็นใจทางฝ่ายรัสเซียมากกว่ายูเครน

"เผด็จการนิยม" ในฝ่ายขวาของไทย

แต่เมื่อพูดถึงการเป็นฝ่ายอนุรักษ์นิยม หรือที่เรียกว่า "ฝ่ายขวา" อาจจะต้องเจาะจงให้ชัดด้วยว่า อยู่ในบริบทของประเทศไหน เพราะในแต่ละประเทศ เส้นแบ่งความเป็นขวาและซ้ายไม่เหมือนกัน และระหว่างขวาจัดกับซ้ายสุด ก็มีพื้นที่ระหว่างกลางที่แล้วแต่ว่าใครจะเลือกยืนอยู่ตรงไหน


ศ.ดร.ฐิตินันท์ ได้เปรียบเทียบกับการต่อสู้ระหว่างขบวนการประชาธิปไตยในไทยกับฝ่ายเผด็จการซึ่งมีอำนาจเหนือกว่า คล้ายกับสถานการณ์ในยูเครน

ศ.ดร.ฐิตินันท์ พงษ์สุทธิรักษ์ จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวกับบีบีซีไทยว่า ในการเมืองไทยมีการแบ่งขั้วกันมานานร่วม 20 ปีแล้ว "แล้วก็มีความชัดเจนว่า ข้างหนึ่ง ก็เหมือนกับว่า จะนิยมน้ำเสียงจากประชาชนเป็นหลัก มีกระบวนการประชาธิปไตยผ่านการเลือกตั้ง ผ่านสถาบันการเมืองที่มาจากความเห็น สะท้อน ยึดโยงกับประชาชน อีกข้างหนึ่งนั้นเนี่ย ก็เหมือนกับว่า จะเป็นฝั่งที่มีความไม่ไว้ใจกระบวนประชาธิปไตย เขามีข้ออ้างว่า มันทำให้เกิดการคอร์รัปชันต่าง ๆ"

การเป็นอนุรักษ์นิยมในบริบทของสังคมไทยในความเห็นของศาสตราจารย์ผู้นี้จึงมีความเป็น "เผด็จการนิยมไม่มากก็น้อย" ร่วมอยู่ด้วย

บัญชีเฟซบุ๊กของ พล.ต.นพ. เหรียญทอง แน่นหนา ผู้ที่มักจะแสดงความเห็นสุดโต่งต่อต้านผู้ประท้วงชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยอยู่บ่อยครั้ง เนื้อหาในรายการ "คุยทุกเรื่องกับสนธิ" ซึ่งดำเนินรายการโดย สนธิ ลิ้มทองกุล เจ้าของสื่อเครือผู้จัดการ ที่เคยนำการเคลื่อนไหวของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย จนนำไปสู่การทำรัฐประหารในปี 2549 หรือเพจเฟซบุ๊กสถาบันทิศทางไทย ซึ่งมีสโลแกนว่า "ทิศทางไทยก้าวเดินตามรอยพระยุคลบาท" อาจเป็นตัวอย่างที่ทำให้เห็นภาพของฝ่ายขวาในไทยได้บ้าง โดยเนื้อหาจากช่องทางเหล่านี้มักจะมีลักษณะต่อต้านสหรัฐฯ และชาติตะวันตก


เนื้อหาในรายการ "คุยทุกเรื่องกับสนธิ" ซึ่งดำเนินรายการโดย สนธิ ลิ้มทองกุล เจ้าของสื่อเครือผู้จัดการ ที่เคยนำการเคลื่อนไหวของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย จนนำไปสู่การทำรัฐประหารในปี 2549 มักจะมีการโจมตีสหรัฐฯ

ศ.ดร.ฐิตินันท์ บอกว่า "เป็นเรื่องที่ผมไม่แปลกใจ ก็จะมีการเถียงกันว่า อยู่ข้างใคร ใครถูกใครผิด มันก็เป็นธรรมดา" ผู้เชี่ยวชาญด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศผู้นี้ไม่แปลกใจที่ฝั่งอนุรักษ์นิยมจะมองว่า "ปูตินไม่ผิด คือเขาอาจจะไม่ได้ยอมรับ หรือว่า เปิดเผยโดยตรงว่า ปูตินถูกอะไรอย่างนี้ ก็อาจจะเอียง ๆ มาทาง ปูตินแหละ"

นอกจากนี้ก็ขึ้นอยู่กับความเข้มข้นของการเป็นฝ่ายขวาของคน ๆ นั้นด้วย "ถ้าฝ่ายขวามาก ขวาจัด ปูตินถูกแล้ว ยูเครนเนี่ยผิดเอง ที่คิดจะมาเข้านาโต จะมาเข้าสหภาพยุโรป บังคับให้ปูตินต้องทำอย่างนั้น เพราะอย่างนี้ก็เลยต้องมารุกราน ในขณะเดียวกัน ใครที่เป็นอนุรักษ์นิยมแบบจาง ๆ หน่อย ก็อาจจะบอกว่า ก็อาจจะเห็นใจ แทนที่จะไปถึงขนาดเห็นชอบ แล้วก็สนับสนุนเนี่ย ก็อาจจะเห็นใจว่า ปูตินไม่มีทางเลือกอื่นอะไรอย่างนี้ ต้องทำอย่างนี้"


พบทหารที่สนับสนุนฝ่ายรัสเซียที่ชานเมืองมาริอูโปลที่กำลังถูกปิดล้อมอยู่ในขณะนี้

แต่เขาเห็นว่า "อนุรักษ์นิยมไทย เขาจะไปเอนเอียงทางฝั่งยูเครน เซเลนสกีไม่ได้เลย เพราะว่า ฝั่งยูเครน เซเลนสกี นั้น เขาเป็นสัญลักษณ์ เขามีภาพของความเป็นประชาธิปไตย นอกเหนือจากนั้นแล้ว เขาเป็นรองด้วย เขามีภาพของการสู้ ต่อสู้กับเผด็จการอยู่ ต่อสู้กับประเทศที่กำลังมารังแกเขา ที่มีผู้นำเป็นเผด็จการคือ ปูติน"

โดย ศ.ดร.ฐิตินันท์ ได้เปรียบเทียบกับการต่อสู้ระหว่างขบวนการประชาธิปไตยในไทยกับฝ่ายเผด็จการซึ่งมีอำนาจเหนือกว่า คล้ายกับสถานการณ์ในยูเครน "เหมือน ๆ กับว่า ประชาธิปไตยยูเครน สู้กับเผด็จการรัสเซีย ผู้นำประชาธิปไตยเซเลนสกี สู้กับ ผู้นำรัสเซียที่เป็นเผด็จการปูติน ที่มีอำนาจมายาวนาน" ดังนั้นเมื่อคิดตามตรรกะแล้ว ฝ่ายอนุรักษ์นิยมในไทยซึ่งมีความเป็นเผด็จการนิยมผสมอยู่ด้วยจึงไม่สามารถเข้าข้างยูเครนได้

รัสเซีย ยูเครน : อาวุธเคมีคืออะไร และมีโอกาสแค่ไหนที่รัสเซียจะใช้ในยูเครน
ยูเครน - รัสเซีย : รัสเซียโจมตีศูนย์ฝึกทหารในยูเครนใกล้พรมแดนโปแลนด์
รัสเซีย ยูเครน : ประกาศเคอร์ฟิวเคียฟ-เซเลนสกีแนะทหารรัสเซียยอมจำนน


"เขาจะไปเลือกข้างเซเลนสกีได้ยังไงอะครับ ในเมื่อเซเลนสกีเนี่ย มาจากกระบวนการประชาธิปไตย เป็นประธานาธิบดียูเครน มาจากน้ำเสียงของประชาชน แล้วก็กำลังสู้อยู่กับเผด็จการปูติน"

เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว สโสมสรผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทย ที่ใช้ชื่อย่อว่า FCCT ได้จัดงานเสวนาเรื่อง "การบุกยูเครนของรัสเซีย มีความหมายกับไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างไรบ้าง" โดยหนึ่งในผู้ร่วมเสวนาคือ นายกษิต ภิรมย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศของไทยสมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ซึ่งคนบางส่วนอาจจะมองว่า เขาก็อยู่ในฝ่ายอนุรักษ์นิยมในสังคมไทยเช่นกัน ด้วยผลงานการขึ้นเวทีปราศัยในระหว่างการชุมนุมประท้วงของกลุ่มพันธมิตรฯ ทั้งที่ทำเนียบรัฐบาล และท่าอากาศยานนานาชาติสุวรรณภูมิ

"เมื่อวันที่ 8 ธ.ค. 1941 ทหารญี่ปุ่นได้ยกพลขึ้นพลที่ชายหาดประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งเป็นที่ตั้งของหัวหิน เมืองพักตากอากาศที่มีชื่อเสียงระดับโลก ตำรวจในพื้นที่ ทหาร และแม้แต่อาสาสมัครพลเรือน ได้ร่วมกันต่อสู้ต้านทหารญี่ปุ่นนาน 7 วัน จากนั้นก็ได้มีการตัดสินใจจากคณะรัฐมนตรีภายใต้การนำของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ผมคิดว่า สยาม หรือไทย มี 2 ทางเลือก คือ สู้ตายเหมือนกับที่ยูเครนกำลังทำอยู่ในขณะนี้ หรือ มานั่งโต๊ะเจรจาและหาทางประนีประนอม" นายกษิต กล่าวเป็นภาษาอังกฤษในงานเสวนาดังกล่าว

อดีต รมว.ต่างประเทศไทย เสนอทางออก

อดีตเอกอัครราชทูตไทยประจำรัสเซียผู้นี้ เห็นว่า นี่คือตัวอย่างบทเรียนจากประวัติศาสตร์ที่อาจเป็นประโยชน์ต่อสถานการณ์ในยูเครน โดยสุดท้าย ทางการไทยก็เลือกการรักษาชีวิตของประชาชน โดยคณะรัฐมนตรีได้ตัดสินใจเจรจากับญี่ปุ่น และอนุญาตให้ญี่ปุ่นส่งทหารเข้ามาในประเทศไทยเพื่อเคลื่อนกำลังต่อไปยังมาเลเซีย สิงคโปร์ เมียนมา และอินเดียต่อไปได้

นอกจากนี้ กษิต ยังบอกว่า ข้อตกลงระหว่าง ประธานาธิบดีจอร์จ บุช ของสหรัฐฯ และนายมิคาอิล กอร์บาชอฟ ผู้นำสหภาพโซเวียตในสมัยนั้น "ถูกละเมิด" และเขาเข้าใจถึงความรู้สึกของ "เพื่อนชาวรัสเซีย" จากการขยายตัวของนาโตในช่วง 30 ปีที่ผ่านมาด้วย โดยได้ยกตัวอย่างถึงเหตุการณ์ในอดีตสมัยที่คอมมิวนิสต์เวียดนามส่งรถถังและทหารเข้ามายึดครองกัมพูชานั้น ไทยเองก็กลัวการขยายตัวของคอมมิวนิสต์และกองทัพเวียดนามที่อาจจะเคลื่อนกำลังมาใกล้ชายแดนไทย

เขาบอกว่า ผู้นำรัสเซียในเวลาต่อมาทั้งนายบอริส เยลต์ซิน และนายวลาดิเมียร์ ปูติน ต่างก็บอกกับสหรัฐฯ และบรรดาชาติสมาชิกของนาโต มาโดยตลอดว่า ต้องคำนึงเรื่อง "ผลประโยชน์ด้านความมั่นคงของรัสเซีย" แต่ก็ไม่ได้รับการแยแสใด ๆ และได้ตั้งคำถามว่า จะเป็นอย่างไร หากรัสเซียยกกำลังไปที่พรมแดนของเม็กซิโกและแคนาดาที่อยู่ติดกับสหรัฐฯ หรือนำกำลังกลับไปประจำการบนเกาะคิวบาอีกครั้งหนึ่ง

นอกจากนี้ยังนายกษิต ยังได้วิพากษ์วิจารณ์ประธานาธิบดีสหรัฐฯ โดยมีเนื้อหาที่ร้อนแรงด้วยว่า "ตอนนี้น่าจะทวีความรุนแรงขึ้น เพราะประธานาธิบดีสหรัฐฯ พยายามอย่างมากที่จะทำให้ปูตินและชาวรัสเซียยอมจำนน ปาฐกถาของเขา แถลงนโยบายประจำปีต่อรัฐสภา มีความกระหายสงครามอย่างมาก และผมคิดว่า เต็มไปด้วยความเกลียดชัง และแค้นเคือง สำหรับผู้ที่อารยะผู้หนึ่งผู้ใด ที่กล่าวเช่นนั้นออกมาต่อคนทั้งโลก ไม่เพียงแต่ต่อสมาชิกรัฐสภาสหรัฐฯ เท่านั้น"


นายกษิต ภิรมย์ อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศ เคยดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตไทยประจำรัสเซียนาน 3 ปี

นอกจากเคยดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตไทยประจำรัสเซียนาน 3 ปี แล้ว นายกษิต ยังเคยดำรงตำแหน่งเอกอัคราชทูตไทยประจำสหรัฐฯ ก่อนที่จะเกษียณอายุราชการในปี 2548 ด้วย

จากการพูดนานกว่า 10 นาทีของอดีตรัฐมนตรีต่างประเทศผู้นี้ เขาได้เน้นย้ำให้ทั้งสองฝ่ายเจรจากัน โดยเห็นว่า ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ควรจะเจรจาโดยตรงกับประธานาธิบดีรัสเซีย แต่อาจจะเป็นการประกาศแต่เพียงฝ่ายเดียวก็ได้ว่า ยูเครนจะไม่เป็นสมาชิกของนาโตและขอให้รัสเซียหยุดการรุกรานและถอนกำลังออกไป หรืออาจจะให้ผู้นำจีนและผู้นำฝรั่งเศสมาเข้าร่วมในกระบวนการเจรจาด้วยก็ได้ เพื่อที่จะได้เห็นวี่แววการเกิดขึ้นของสันติภาพ ส่วนการใช้มาตรการคว่ำบาตรมีแต่จะทำให้พลเรือนได้รับผลกระทบ

"การไม่เป็นสมาชิกนาโตของยูเครนจะต้องเกี่ยวพันกับการที่ทั้งสองฝ่ายต้องรับรองเอกราชอธิปไตยของยูเครนในขอบเขตกฎหมายของสหประชาชาติ ต่อสมาชิกสมัชชาใหญ่ของสหประชาชาติทุกประเทศ" นายกษิต กล่าวว่า นั่นคือทางออกหนึ่งที่จะทำได้

โดยในช่วงที่นายกษิตพูดใกล้จบ ได้มีผู้ฟังในงานพูดแทรกขึ้นมา ดูเหมือนว่า พยายามแสดงความเห็นและถามคำถามบางอย่าง นายกษิตขอพูดต่อให้จบ แต่ก็มีการพูดแทรกขึ้นมาอีกครั้ง จนพิธีกรในงานต้องมาขัดจังหวะ ขอให้ฟังให้จบแล้วค่อยถาม ขณะที่นายกษิตก็ถึงกับพูดขึ้นมาว่า "เราออกไปสู้กันนอกห้องได้นะ"

ซ้ายไทยเห็นต่าง

แต่ก็ไม่ใช่ว่า มีแต่ฝ่ายอนุรักษ์นิยมเท่านั้นที่มีเห็นว่า ยูเครนควรจะวางตัวเป็นกลาง และไม่เข้าเป็นสมาชิกของนาโต นายสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล อดีตอาจารย์ด้านประวัติศาสตร์จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้ซึ่งได้ชื่อว่า สนับสนุนฝ่ายประชาธิปไตยและกำลังลี้ภัยอยู่ในฝรั่งเศส ได้แสดงความเห็นต่อความสถานการณ์ในยูเครนที่อาจจะต่างไปจากฝ่ายซ้ายคนอื่น ๆ



"อินเดียงดออกเสียงกรณียูเครน แม้จะแสดงความกังวลที่รัสเซียเคลื่อนทัพเข้าไปยูเครน นี่เป็นตัวอย่างที่ถูกต้องที่จะไม่หนุนสหรัฐฯ ขณะเดียวกันก็ไม่หนุนรัสเซียในกรณีนี้ ผมอ่านความเห็นของเพื่อนจำนวนมากที่ออกไปทางหนุนตะวันตก (กระทั่งหนุนนาโต) อยากให้ใจเย็น ๆ และทบทวนให้ดี ประเทศไทยโชคดีที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องมากนัก เหตุใดจึงจะพาตัวเองเข้าสู่วังวนของปัญหา ?" นายสมศักดิ์โพสต์ทางเฟซบุ๊ก เมื่อ 26 ก.พ. ที่ผ่านมา

นอกจากนี้ ยังได้โพสต์ข้อความว่า "พรุ่งนี้ลองเสนอให้ยูเอ็นพิจารณาให้อิสราเอลถอนทหารออกจากดินแดนยึดครองปาเลสไตน์สิครับ ดูว่าอเมริกาจะวีโต้ไหม? (อันที่จริงเสนอแล้ว อเมริกันวีโต้) เด็ก ๆ ปาเลสไตน์ตายไม่รู้กี่ศพแล้ว หลายปีมานี้ (เราก็ไม่ตื่นเต้นเท่าไร) ผมยกเรื่องนี้ขึ้นมา เพื่อจะบอกว่า เวลาคิดอะไร คิดให้รอบคอบ คิดให้ตลอด เราบอกให้รัสเซียควรถอนทหาร และหาทางสันติ แต่อย่าตื่นเต้นตามอเมริกันไป"

จุดยืนของไทย

เมื่อวันที่ 2 มี.ค. ที่สำนักงานใหญ่สหประชาชาติใน นครนิวยอร์ก สหรัฐฯ สมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ มีมติท่วมท้น ยืนยันถึงอำนาจอธิปไตยและบูรณภาพแห่งดินแดนภายในพรมแดนยูเครน และตำหนิการรุกรานยูเครนโดยรัสเซียอย่างรุนแรงที่สุด โดยเรียกร้องให้รัสเซียหยุดใช้กำลัง และถอนกองกำลังออกจากยูเครนโดยทันที นอกจากนี้ ยังมีมติตำหนิเบลารุสด้วยที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการใช้กำลังในยูเครน โดยไทยเป็นหนึ่งใน 141 ชาติที่สนับสนุนมตินี้ด้วย

หลังการลงมติ ดร. สุริยา จินดาวงษ์ เอกอัครราชทูต ผู้แทนถาวรไทยประจำสหประชาชาติ ณ นครนิวยอร์ก แถลงต่อที่ประชุมว่า ไทยได้พิจารณาร่างมติอย่างถี่ถ้วน เนื่องจากให้ความสำคัญกับหลักการตามกฎบัตรสหประชาชาติและกฎหมายระหว่างประเทศ โดยเฉพาะการเคารพในบูรณภาพแห่งดินแดน และการไม่ใช้กำลังต่อรัฐ


บรรดาทูตยืนสงบนิ่งในช่วงเริ่มการประชุมสมัชชาใหญ่สหประชาชาติเมื่อ 28 ก.พ. 2022 เพื่อพิจารณามติประณามปฏิบัติการทางทหารของรัสเซียในยูเครน

เมื่อถามว่า ไทยควรมีจุดยืนอย่างไรต่อความขัดแย้งนี้ ศ.ดร. ฐิตินันท์ กล่าวว่า ที่ผ่านมาในทางการเมืองระหว่างประเทศ ประเทศไทย "มีจุดยืนที่ก้ำกึ่ง" โดยในช่วงแรกที่รัสเซียบุกยูเครน นายกรัฐมนตรีของไทย "เปรยว่า ไทยจะเป็นกลาง" แต่ต่อมาไทยก็เป็นหนึ่งในชาติที่ลงมติประณามการรุกรานของรัสเซียด้วย

โดยผู้เชี่ยวชาญด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศผู้นี้เห็นว่า การประเมินว่าไทยควรจะแสดงออกอย่างไรอาจจะดูจากเพื่อนบ้านในอาเซียนด้วย โดยในการลงมติของสหประชาชาตินั้น ลาวและเวียดนาม ซึ่งมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับรัสเซียมากกว่าเป็นหนึ่งใน 35 ชาติที่งดออกเสียง

"สิงคโปร์เขาไปอีกคนละข้างกับ เวียดนาม กับลาวเลย สิงคโปร์นั้นรอบนี้ ออกตัวมานะครับ ออกตัวเต็มที่เลยก็คือ การคว่ำบาตรรัสเซียโดยตรง แต่ถ้าลองดูอย่างอินโดนีเซีย มาเลเซีย แม้กระทั่งฟิลิปปินส์อะไรอย่างนี้ ก็เป็นอีกวิธีหนึ่งที่เราจะประเมิน นะครับว่า เราควรจะทำยังไงดี เราก็ดูเพื่อนบ้านเราว่า ในกลุ่มอาเซียนเรานี่เขาทำกันยังไง แล้วเราก็ดูประเทศไทยโดยตรง ว่าเราควรจะทำยังไง เราก็มีผลประโยชน์กับรัสเซียไม่น้อยนะครับ แต่เราก็ต้องดูว่า ต้นทุนมันก็สูงเหมือนกัน ต้องดูด้วยว่า ประชาคมโลก เขาจะคว่ำบาตร หรือเขาจะต่อต้านกัน เขาจะถึงไหน แล้วเราก็ต้องพยายามหาตรงนี้ ระหว่างแนวทางเหล่านี้ แล้วก็พยายามหาจุดที่มัน พอดี ๆ ที่มันรักษาผลประโยชน์ไปด้วย แล้วก็เอากับประชาคมโลกไปด้วย"

ที่มา บีบีซีไทย
โดยเอกรินทร์ บำรุงภักดิ์
ผู้สื่อข่าวบีบีซีไทย
23 มีนาคม 2022