วันนี้มีการอ่านคำพิพากษาคดีความผิด ม.๑๑๒ อีกหนึ่งราย ในชุด ‘สภ.บางแก้ว’ ซึ่งเป็นเรื่องของการแสดงความคิดเห็นออนไลน์ที่ไม่เข้าหูผู้ฟ้องร้องคนเดียวกันถึง ๑๓ คดี ต่อการกระทำต่างกรรมต่างการเมื่อกลางปี ๖๓ แล้วตำรวจออกหมายเรียกในปี ๖๔
เชื่อว่าผู้ถูกกล่าวหาจะต้องได้รับโทษแน่ๆ แต่อาจไม่มากเกินไปเพราะรับสารภาพว่ากระทำผิดกฎหมายจริง อีกทั้งพยานโจทก์อ้างว่าสามารถเอาผิดฐานหมิ่นประมาทกษัตริย์ในอดีตได้ แม้จะมีความเห็นนักวิชาการมากรายบอกว่าไม่เข้าข่ายตามร่าง ก.ม.
สืบเนื่องจากการโพสต์แสดงความเห็นบนหน้าเฟชบุ๊ค ของชายวัย ๒๗ ปี ต่อเรื่องราวการเสียชีวิตของในหลวงรัชกาลที่ ๘ “และการตั้งคำถามต่อเหตุการณ์ที่ ๓ จำเลยในคดีประทุษร้ายต่อพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๘ ถูกประหารชีวิตไปโดยไม่มีความผิด”
คดีนี้โจทก์เบิกความพยาน ๔ ปาก ได้แก่ ศิวพันธุ์ มานิตย์กุล ผู้ฟ้อง “จรินทร์ ภูริคุปต์ ทนายความผู้ให้ความเห็นเกี่ยวกับมาตรา ๑๑๒, วาสนา โอภาสวัฒนาร ครูสอนภาษาไทย และ พ.ต.ท.รังสรรค์ คำสุข พนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบคดี”
ฝ่ายผู้ถูกกล่าวหามีพยานรายเดียวคือตัวจำเลย ที่ต่อสู้ว่าแม้ตนจะโพสต์ข้อความซึ่ง “มีการพาดพึงถึงในหลวงรัชกาลที่ ๙” จริงตามที่โจทก์แสดงหลักฐาน แต่ก็ “ไม่เข้าองค์ประกอบข้อหามาตรา ๑๑๒” ซึ่งมาตรานี้ “ไม่ครอบคลุมถึงอดีตพระมหากษัตริย์”
ทว่าพยานโจทก์รายที่เป็นผู้ชำนาญคดีหมิ่นกษัตริย์ บอกว่าความเห็นของนักวิชาการที่เขียนตำรากฎหมาย เช่น จิตติ ติงศภัทิย์ และ หยุด แสงอุทัย ระบุคำศัพท์ ‘พระมหากษัตริย์’ นั้นหมายถึงองค์ที่ทรงครองราชย์อยู่เท่านั้น ตนไม่ทราบ แต่ในความเห็นส่วนตัวอยู่ที่การตีความ
พยานโจทก์รายนี้ตีความว่า กษัตริย์องค์ไหนๆ ในอดีตอยู่ในขอบข่ายคุ้มครองของ ม.๑๑๒ ไม่ว่าจะเป็น ร.๙ หรือพระเจ้าตากสินฯ ส่วนนายตำรวจผู้ทำคดีนี้ให้การในฐานะพยานด้วยว่า ตนไม่รับฟังความเห็นของนักวิชาการต่างๆ หากแต่ยึดแนวฎีกาเป็นหลัก
“คณะพนักงานสอบสวนได้ยึดแนวฎีกาที่ ๖๓๗๔/๒๕๕๖ ที่มีคำพิพากษาออกมาแล้วว่า ‘มาตรา ๑๑๒ ให้การคุ้มครองกษัตริย์ที่สวรรคตไปแล้ว’ มาเป็นแนวทางการดำเนินคดี” พ.ต.ท.รังสรรค์เบิกความ มิใยที่จำเลยในคดีอ้าง คำพิพากษาของศาลจังหวัดจันทบุรี แย้ง
พยานโจทก์อีกคนเบิกความในสถานะผู้เชี่ยวชาญด้านภาษาไทย ก็ให้การว่าข้อเขียนของจำเลยบนเฟชบุ๊ค “ข้อความดังกล่าวอ่านแล้วจะเข้าใจว่า มีการพาดพิงถึงในหลวงรัชกาลที่ ๙ ในแง่ที่ไม่ดี...ต้องการจะสื่อให้เห็นว่ารัชกาลที่ ๙ เป็นผู้ปลงพระชนม์ในหลวงรัชกาลที่ ๘”
สี่ปากพยานโจทก์ต่อปากเดียวคำให้การของจำเลย ดูแล้วไม่น่าจะรอด โดยเฉพาะหลักฐานความเห็นวิชาการและคำพิพากษาศาลชั้นต่ำที่จำเลยอ้างอิง ไม่น่าจะทัดทานพยานโจทก์ ซึ่งเชี่ยวชาญการชี้ผิดกับผู้ถูกกล่าวหา ม.๑๑๒ กับฎีกาคดีเดียวได้
ด้วยแบบแผนการพิพากษาคดีกล่าวหาความผิด ม.๑๑๒ คงจะทำให้การวิจารณ์ใดๆ เกี่ยวกับข้อผิดพลาด หรือภาพพจน์มิดีที่เกี่ยวข้องกับรัชกาลที่ ๙ ก็จะตกที่นั่งเดียวกันไปด้วยโดยปริยาย ดังกรณีเพิ่งเกิดเกี่ยวกับ ‘กุ้งก้ามแดง’ ที่พบบริเวณน้ำตกเขาค้อ
กุ้งดังกล่าวเป็นสายพันธุ์ ‘ต่างดาว’ หรือ ‘Alien’ มาจากออสเตรเลีย ซึ่งแพร่หลายและเป็นที่กล่าวขวัญมาตั้งแต่ช่วงปี ๒๕๔๕-๔๙ หลังจากที่ โครงการหลวง ร.๙ “ส่งเสริมให้เกษตรกรที่ปลูกข้าวบนที่สูง เลี้ยงในนาข้าวร่วมกับการปลูกข้าว”
จากนั้น “โปรดเกล้าฯ ให้ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืดเชียงใหม่ นำไปทดลองและเลี้ยงในบ่อดินก่อน” พบว่าเติบโตขยายพันธุ์ได้ดี จึงนำไปขยายผลในที่นาของชาวเขาปกาเกอญอ “ผลผลิตกุ้งก้ามแดงรุ่นแรก ใช้ประกอบอาหารถวายเลี้ยงราชอาคันตุกะ”
ครั้นเมื่อพบว่ามีกุ้งพันธุ์นี้ในน้ำตกศรีดิษฐ์ และมีการเตือนให้ระวังการขยายพันธุ์รวดเร็วจนทำให้ระบบนิเวศน์เสียไป ก็มีนักธุรกิจฟาร์มปลาสวยงามรายหนึ่งโพสต์ข้อความ ว่าอย่าหาเรื่องให้โทษโครงการหลวง “ถือว่าเลวนะครับ” แม้นว่ายอมรับ
จริง “เคยมีการนำมาทดลองในโครงการหลวง...ดอยอินทนนท์ อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่...แต่เท่าที่ทราบมาการวิจัยก็ไม่ได้ขยายไปสู่เกษตรกรรมเป็นวงกว้าง หรือมีหลุดรอดไปสู่แหล่งธรรมชาติแต่อย่างใด” เขาโทษ “การฉ้อฉลของนักการตลาด”
นายนิธิพัฒน์ พันธุ์ธุมจินดา ผลักพันธะความรับผิดไปให้เอกชน “การแพร่ระบาดนั้น เกิดจากความหน้ามืดเล็งผลเลิศของคนไทยในสังคมเดียวกันทั้งนั้น อยู่ๆ สร้างปัญหากันเอง แล้วลงท้ายจะหาเรื่องโทษโครงการหลวง”
(https://mgronline.com/travel/detail/9650000027473 และ https://tlhr2014.com/archives/41811)