วันพฤหัสบดี, มีนาคม 24, 2565

ยังไม่มีหนังสือ "ทหารของพระราชา" โดย เทพ บุญตานนท์ อ่านสรุปบรรยาย "ทหารของพระราชา: การปลูกฝังลัทธิกษัตริย์นิยมในกองทัพไทย" ของเค้าไปพลางๆก่อน


ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์
13h ·


บ่ายวันนี้ ได้รับหนังสือใหม่ ที่ชื่อตื่นเต้นเร้าใจจาก สนพ. มติชน เพื่ออ่านล่วงหน้าก่อนไปร่วมเสวนาที่งานสัปดาห์หนังสือที่สถานีบางซื่อ อาทิตย์ 3 เมษา นี้ บ่าย 4-5

หนังสือเล่มนี้ของ เทพ บุญตานนท์ ปรับปรุงจากวิทยานิพนธ์ปอเอกที่ ม.วาเซดะ ญี่ปุ่น ที่ชื่อ ถ้าเติมคำว่า "กว่าจะมาเป็น" "ทหารของพระราชา" ในสองทศวรรษปัจจุบัน ก็จะเข้าใจชัดมากขึ้น ว่ามันมีพัฒนาการมานานถึงศตวรรษครึ่งทีเดียว โดยหนังสือนี้อธิบายยาวถึง 1 ศตวรรษแรก

แต่ดูเหมือนใน 1 ศตวรรษนั้น ทหารก็ดื้อทีเดียว จนเอาไม่อยู่! กบฏ ร.ศ.130 ปฏิวัติ 2475 ยุคจอมพล ป. กับความตึงเครียด

แต่ก็ดูเสมือน ทหารจะสามารถครองอำนาจได้ก็ต้องอ้างอิงความเป็นทหารพระราชา ดังนั้น ทหารจึงเป็นเสมือนม้าที่มีสายเชือกผูกจมูก ม้าของใคร? ใครเป็นจ๊อกกี้?

หนังสือเพิ่งออกใหม่ อ่านแค่สารบัญ ก็เร้าใจ 335 หน้า 360 บาท หาซื้อได้จากมติชน นะจ๊ะ...!
.....

สรุปบรรยาย "ทหารของพระราชา: การปลูกฝังลัทธิกษัตริย์นิยมในกองทัพไทย"
พิธีสวนสนามถวายสัตย์ปฏิญาณของทหาร-ตำรวจ เนื่องในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562 และวันกองทัพไทย เมื่อ18 ม.ค. 2563 ที่มาภาพ: โทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย

ที่มา ประชาไท
2021-04-24

  • รัชกาลที่ 5 ได้เปลี่ยนแปลงการจัดกำลังทหารจากเดิมที่ใช้ระบบไพร่มาเป็นการเกณฑ์ทหารแทน ทำให้เจ้านายคนอื่นไม่สามารถสะสมกำลังได้อีกต่อไป แต่ยังไม่มีความขัดแย้งกับกองทัพทำให้แนวคิดกษัตริย์นิยมยังไม่ถูกเน้นย้ำในกองทัพมากนัก
  • ในช่วงรัชกาลที่ 6 ที่ให้ความสนใจเอาใจใส่กับกิจการทหารมาก สนับสนุนพัฒนากองทัพทั้งการซื้อเรือและตั้งกองบินขึ้นมา มีพิธีถือน้ำพิพัฒน์สัตยา รวมถึงการออกเครื่องราชอิสริยาภรณ์แก่ทหารที่มีความกล้าหาญ และเหตุการณ์สำคัญคือการเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่ 1 ในฐานะจอมทัพของชาติ แต่พิธีกรรมจะมีการปรับลดในส่วนของงานรื่นเริงในช่วงของรัชกาลที่ 7 เนื่องจากประสบปัญหาทางการคลัง
  • ทั้งนี้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญเมื่อคณะราษฎรเปลี่ยนแปลงการปกครองสำเร็จได้พยายามลดบทบาททางการเมืองและการทหารของกษัตริย์ลง ไปจนถึงการยุบทั้งกองทหารรักษาวังและให้พิธีกรรมต่างๆ มาอยู่ในมือของทหารอย่างตัวจอมพล ป.พิบูลสงครามและยังพยายามสร้างสำนึกใหม่ให้กับทหารในกองทัพทั้งหน้าที่ปกป้องรัฐธรรมนูญและชาติเปลี่ยนความภาคภูมิใจกลับมาที่ตัวทหารรวมถึงสำนึกในบุญคุณของพ่อแม่ที่ส่งมาเรียนทหาร
  • ทั้งนี้บทบาทของกษัตริย์ในทางการทหารจะกลับมาอีกครั้งในช่วงรัชกาลที่ 9 จากความพยายามของจอมพล ป.โดยการคืนบทบาททางการให้กับรัชกาลที่ 9 และการมีพระราชกรณียกิจเยี่ยมเยียนทหารและร่วมซ้อมรบ ซึ่งเกิดขึ้นในช่วงที่จอมพล ป.กำลังเผชิญศัตรูรอบด้านซึ่งเป็นจังหวะที่สหรัฐฯ พยายามผลักดันสถาบันกษัตริย์ให้มีบทบาททางการเมืองเพื่อสู้กับภัยคอมมิวนิสต์ในเวลานั้นด้วย
  • กระบวนการสร้างความภักดีผ่านพิธีกรรมต่างๆ ของกองทัพเน้นไปที่ตัวบุคคลมากกว่ารัฐบาล สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาคือเมื่อกองทัพมีมุมมองว่ารัฐบาลใดเป็นฝ่ายตรงข้ามหรือไม่ภักดีกับกษัตริย์ก็จะไม่ได้รับความไว้วางใจจนไปถึงการล้มรัฐบาล ในทางกลับกันรัฐบาลใดโดยเฉพาะรัฐบาลทหารที่ยืนยันความจงรักภักดีก็จะได้รับการค้ำจุนจากกองทัพ
23 เม.ย.2564 เทพ บุญตานนท์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล บรรยายในหัวข้อ "ทหารของพระราชา: การปลูกฝังลัทธิกษัตริย์นิยมในกองทัพไทยระหว่างปี 1868-1957" ในการสัมมนาออนไลน์ระดับบัณฑิตศึกษา สาขาวิชาประวัติศาสตร์ มหาวิยาลัยธรรมศาสตร์ ในการบรรยายเทพได้กล่าวถึงกระบวนการสร้างอุดมการณ์ความจงรักภักดีต่อสถาบันกษัตริย์ตั้งแต่มีการปฏิรูปกองทัพในสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ในปี 2411(1868) จนถึงปี 2500 (1957) ซึ่งเป็นช่วงต้นของพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช

เริ่มปฏิรูปกองทัพ

พิธีทางทหารเมื่อแรกเริ่มเกิดขึ้นสมัย ร.5 พร้อมๆ กับการปฏิรูปกองทัพที่มีการนำเข้ายุทธวิธีทางทหารและพิธีต่างๆ มาปรับให้เข้ากับราชสำนักสยามเพื่อสร้างอำนาจในการปกครองประเทศและกองทัพให้กับพระมหากษัตริย์ พิธีกรรมทางทหารจึงกลายเป็นกิจกรรมสำคัญที่พระมหากษัตริย์ใช้เพื่อสร้างอำนาจทางพระบารมีในกองทัพ รวมถึงพระราชกรณียกิจในทางทหารของกษัตริย์


ตัวอย่างพิธีกรรมของพระมหากษัตริย์กับกองทัพ รัชกาลที่ 5-7
  • พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 - เสด็จฯ เยือน ค่ายทหารทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด มีพระบรมราโชวาทให้กำลังใจ รวมถึงการตั้งโรงเรียนนายร้อยขึ้นมา
         จัดงานเลี้ยงรื่นเริ่ง พระราชทานกระบี่และประกาศนียบัตรให้นักเรียนที่
         จบโรงเรียนนายร้อยในแต่ละปี (เมื่อถึง ร.7 ก็ไม่มีงานเลี้ยง เนื่องจาก
         ไม่มีเงิน)

         พระราชทานธงชัยเฉลิมพล ดัดแปลงจากพิธีมอบธงประจำหน่วยใน
         ต่างประเทศ สำหรับสยามให้ความหมายกับธงชัยเฉลิมพลว่าเป็นตัวแทน
         ของพระมหากษัตริย์
         เพราะบนยอดธงบรรจุพระเกษา (ผม) เมื่อมีทหารหน่วยใหม่ ก็จะให้เข้า
         เฝ้าและพระราชทาน
         ธงชัยเฉลิมพลเพื่อเป็นสัญลักษณ์ว่ากษัตริย์ทรงอยู่ร่วมกับทหารตลอด
         เวลาแม้แต่ในสนามรบ
  • พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 - จัดให้มีเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นรามาธิบดีในปี 2461 พระราชทานให้ทหารที่มีความกล้าหาญเป็นที่ปรากฏ
  • พิธีถือน้ำพิพัฒน์สัตยา ตัวเลขของทหารที่ร่วมพิธีเพิ่มขึ้นมากในสมัย ร.6 ก่อนจะลดลงไปในสมัย ร.7 ที่ไปให้ความสำคัญกับพิธีอื่น
  • พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 - พิธีปฏิญาณตนต่อหน้าพระมหากษัตริย์และธงชัยเฉลิมพล จัดขึ้นที่ลานพระราชวังดุสิต ทหารที่ประจำการที่กรุงเทพฯ ต้องเข้าร่วม และมีการเปิดให้ประชาชนมาดูด้วย เป็นการทำให้ประชาชนเห็นการปฏิญาณแสดงความจงรักภักดี และยังมีการพระราชทานกระบี่เพื่อให้นักเรียนนายร้อยที่จะต้องเติบโตไปคุมกำลังได้ตระหนักถึงหน้าที่ดูแลปกป้องสถาบันกษัตริย์และสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ แต่ลดงานรื่นเริงก็เพื่อประหยัดในสภาวะที่รัฐบาลในเวลานั้นก็ไม่มีเงิน ส่วนงานพิธีถือน้ำพิพัฒน์สัตยาซึ่งเป็นโบราณราชพระเพณีมีทหารเข้าร่วมน้อยลงและร.7ก็ไม่ได้ให้ความสำคัญกับพิธีนี้
  • พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช รัชกาลที่ 9 – หลังจากพิธีกรรมต่างๆ ถูกเปลี่ยนมือไปอยู่ภายใต้การดำเนินการของจอมพล ป. ช่วงยุคคณะราษฎร์ พิธีกรรมเหล่านั้นได้กลับมาดำเนินการโดยกษัตริย์อีกครั้งทั้งการมอบกระบี่ให้กับนักเรียนทหาร การสวนสนาม และยังมีพระราชกรณียกิจไปเยี่ยมค่ายทหาร ตรวจดูการซ้อมรบด้วยตัวพระองค์เองรวมถึงการพักค้างแรมในค่ายทหารหรือบนเรือรบที่ออกไปซ้อมรบกลางทะเล

เมื่อ ร.5 ขึ้นมามีอำนาจก็มีแนวคิดในการสร้างกองทัพส่วนพระองค์ที่ไว้วางใจได้ การทำเช่นนั้นทำให้เกิดการเผชิญหน้ากับกลุ่มผู้มีอำนาจเดิมจนมีวิกฤตการณ์วังหน้า ซึ่งก็จบลงด้วยความพยายามไม่อยากจะมีเรื่องกัน แต่ความไม่ไว้วางใจก็ยังคงอยู่ พอผู้ที่สนับสนุนวังหน้าอย่างสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ตายก็จะเริ่มเห็นการพัฒนากองทัพอย่างเป็นระบบ รวมถึงการสร้างฐานอำนาจของ ร.5 ในกองทัพมากขึ้นเช่นการก่อตั้งโรงเรียนนายร้อยในปี 2430 ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นของการปฏิรูปกองทัพสมัยใหม่ที่มีการนำทฤษฏี วิธีฝึกและระเบียบแบบกองทัพตะวันตกมาใช้ ต่อมาก็ยกเลิกระบบไพร่ ทำให้เจ้านายคนอื่นไม่สามารถสะสมกองกำลังส่วนตัวแล้วแทนที่ด้วยระบบเกณฑ์ทหารเข้ามาในสังกัดกองทัพบกซึ่งเป็นหน่วยงานที่ ร.5 ควบคุมได้แล้ว

เมื่อมีทหารอยู่ในมือ สิ่งที่ต้องทำต่อมาก็คือต้องแสดงให้กำลังพลซึ่งเคยใกล้ชิดกับเจ้าขุนมูลนายได้เห็นว่าพระมหากษัตริย์มีความใส่ใจต่อกองทัพ จึงเริ่มเห็นพระราชกรณียกิจเสด็จฯ เยือน และพระราชทานพระบรมราโชวาทให้กำลังใจตามโรงทหารต่างๆ ในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด หนึ่งในตัวอย่างในกรณีนี้คือ เคยมีการร้องทุกข์ไปยังเจ้าฟ้าภานุรังษีที่ดูแลกองทัพบกว่าทหารเกณฑ์ได้กินข้าวเพียงวันละ 2 มื้อ คือตอนเช้ากับบ่ายสอง งบประมาณค่าอาหารถูกนำมาใช้เพียงบางส่วนแล้วทำอาหารรสชาติเลวมาให้ทหารกิน เจ้าฟ้าภานุรังษีก็ไปกราบบังคมทูล ร.5 ซึ่งพระองค์ก็ส่งคนไปตรวจตราว่าเป็นอย่างไร แต่ผลก็เหมือนทุกวันนี้ที่อาหารการกินจะดีในวันที่มีคนไปตรวจ วันไหนที่ไม่มีคนไปดู อาหารก็เลวเหมือนเดิม แต่ก็ถือว่าทหารยังพอได้กินอาหารที่ดีขึ้นบ้างในวันที่มีคนไปตรวจ ร.5 จึงให้เพิ่มอาหารว่างอีกหนึ่งมื้อในมื้อเย็น ทำให้เห็นว่าในตัว ร.5 เองก็พยายามแก้ปัญหาอะไรที่จะทำให้เกิดความไม่พอใจในกองทัพ และทำให้ทหารเห็นว่าพระมหากษัตริย์ใส่พระทัยในกองทัพ

กองทหารบกรถยนต์ร่วมสวนสนามฉลองชัยชนะที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส วันที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2462 ภาพจาก Wikipedia

เนื่องในพระราชพิธีทวีธาภิเษกสมโภช 50 ปี กองทัพบกโดยกรมหลวงนครชัยศรีจัดให้มีพิธีถวายพระคทาจอมพลให้กับ ร.5 เพื่อยืนยันสถานะสูงสุดทางทหารของพระมหากษัตรยิ์ แต่สถานภาพ “จอมทัพ” นั้นเพิ่งถูกพูดถึงในสมัย ร.6 ในพระราชพิธีพระราชทานจอมพลและเครื่องยศจอมพลของ ร.6 ที่พระองค์ตรัสว่ารับตำแหน่ง “จอมทัพ” ต่อจากพ่อตัวเอง

บทบาทต่อกองทัพเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ

เทพกล่าวว่า ด้วยความที่ช่วง ร.5 ไม่มีความขัดแย้งระหว่างกษัตริย์กับกองทัพ และเป็นช่วงเวลาที่เพิ่งสถาปนากองทัพแบบใหม่ขึ้นมา แนวคิดกษัตริย์นิยมจึงยังไม่ถูกเน้นย้ำมากนัก หากไปดูในสมัยรัชกาลที่ 6 7 และ 9 จะเห็นว่าการแสดงตนของพระมหากษัตริย์ว่าเป็นทหารมากกว่าอย่างเห็นได้ชัด

ในสมัยที่ ร.6 เป็นมกุฏราชกุมาร ได้รับหน้าที่จาก ร.5 ให้เป็นจเรทหาร มีหน้าที่ไปตรวจตรากองทัพแล้วกลับมารายงาน ซึ่ง ร.6 ถือว่าเอาใจใส่กับกิจการทางทหารมาก ในการติดตามไปดูการซ้อมรบก็ไปประทับกับทหารที่ซ้อมรบ รายงานที่จัดทำมาถือว่าละเอียดมากถึงขั้นไปสืบชื่อทหารที่มีผลการซ้อมรบที่ดีเพื่อรายงานให้ ร.5 ฟัง นอกจากนั้นยังดำรงตำแหน่งเป็นผู้บัญชาการทหารมหาดเล็ก เป็นความพยายามของ ร.5 ในการปูพื้นฐานทางทหารให้กับ ร.6 ทั้งในเชิงภาพรวมและกับบุคลากรทหารที่อยู่ใกล้ชิด แต่ต่อมา ร.6 ก็มีการตั้งกองเสือป่ามาแทนที่ระบบราชการเดิมที่พระองค์ไม่ค่อยรู้สึกมีส่วนเกี่ยวข้องด้วย แต่กองเสือป่าก็ทำให้เกิดความขัดแย้งกับกองทัพซึ่งนำมาสู่เหตุการณ์กบฏ ร.ศ. 130 ซึ่งจบลงด้วยความล้มเหลวของการก่อกบฏ

ทั้งนี้ หลังเหตุการณ์กบฏข้างต้นก็จะเห็นการปรับตัวของ ร.6 ที่เข้ามามีส่วนร่วมซ้อมรบกับกองทัพ มีพระบรมราโชวาทชื่นชมทหาร และพยายามมีส่วนร่วมกับกิจกรรมพัฒนากองทัพต่างๆ เช่นการซื้อเรือหลวงพระร่วงหรือการพัฒนากองบินทหารบกในปี 2457 ในช่วงนั้น ในหนังสือพิมพ์ที่ ร.6 เป็นบรรณาธิการ หรือในพระราชนิพนธ์ในหนังสือพิมพ์จะเห็นการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนร่วมบริจาคเงินเพื่อซื้อเรือหลวงพระร่วง พอสถานภาพของ ร.6 ดีขึ้นภายในหมู่กองทัพ ก็ได้กลับมาให้ความสำคัญกับกองเสือป่า รวมถึงการเปลี่ยนเป้าหมายการบริจาคกลับมาที่กองเสือป่าด้วย

อีกบทบาททางทหารหนึ่งของ ร.6 คือการเข้าร่วมในสงครามโลกครั้งที่ 1 เพื่อให้คนเห็นว่าพระองค์เป็นจอมทัพของชาติที่นำไทยไปร่วมมหาสงครามอย่างที่ไม่มีกษัตริย์ไทยพระองค์ไหนทำมาก่อนและยังสามารถไปชนะชาติตะวันตกด้วย ในช่วงนั้นมีกระแสที่ประชาชนไม่พอใจการไปร่วมรบกับอังกฤษและฝรั่งเศสที่สยามมีความบาดหมางกันมาก่อน และออกจะเชียร์ทางเยอรมนีที่เหมือนจะชนะ แถมยังมีเจ้านายหลายคนที่เรียนการทหารมาจากเยอรมนี ร.6 จึงใช้สิ่งที่พระองค์ชำนาญที่สุดคือการเขียนงานเพื่อให้ประชาชนคล้อยตามโดยเลือกไม่ใช้การเขียนทรรศนะทางทหารเพราะไม่ได้จบทหารมา และเลือกใช้งานแปลวารสารจากอังกฤษที่เน้นย้ำความได้เปรียบของอังกฤษ และยังพยายามเอาเรื่องคุณธรรม จริยธรรมมาเน้นย้ำว่าเยอรมนีเป็นฝ่ายที่ไม่ดี

กองทหารบกรถยนต์ร่วมสวนสนามฉลองชัยชนะที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส วันที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2462 ภาพจาก Wikipedia

ในส่วนของการรบในสงครามโลกครั้งที่ 1 นั้น ร.6 ยังนำเอาพระนเรศวรมหาราชมาเปรียบเทียบในด้านภาพลักษณ์การเป็นวีรบุรุษ ต่อมาก็มีการค้นพบเจดีย์ยุทธหัตถี และมีพงศาวดารเรื่องพระนเรศวรโดยกรมพระยาดำรงราชานุภาพในภายหลัง

ในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 1 มีกระแสที่ประชาชนไม่พอใจการไปร่วมรบกับอังกฤษและฝรั่งเศสที่มีความบาดหมางกันมาก่อน และออกจะเชียร์ทางเยอรมนีที่เหมือนจะชนะ และเจ้านายหลายคนก็เรียนจบมาจากเยอรมนี ร.6 จึงใช้สิ่งที่พระองค์ชำนาญที่สุด คือการเขียนงานเพื่อให้ประชาชนคล้อยตามโดยเลือกไม่ใช้การเขียนทรรศนะทางทหารเพระาไม่ได้จบทหารมา จึงเลือกใช้งานแปลวารสารจากอังกฤษที่เน้นย้ำความได้เปรียบของอังกฤษ ร.6 พยายามเอาเรื่องคุณธรรม จริยธรรมมาเน้นย้ำว่าเยอรมนีเป็นฝ่ายที่ไม่ดี

ต่อมาเมื่อ ร.7 ครองราชย์ก็ได้มีการจัดกำลังทัพใหม่ ถือโอกาสในช่วงที่ลดงบประมาณ โยกย้ายเอาคนที่พระองค์ไว้ใจมาดำรงตำแหน่งสำคัญในกองทัพ เช่น หม่อมเจ้าอมรทัตอละกรมพระยานครสวรรค์ ด้วยความที่ ร.7 จบจากโรงเรียนนายร้อยและโรงเรียนเสนาธิการ ก็มีความเข้าใจพิธีกรรมและพิธีทางทหารมากกว่า ร.6 และตระหนักถึงการนำพิธีเหล่านั้นมาใช้เพื่อปลูกฝังความจงรักภักดีมากกว่า นอกจากนั้นยังให้ความใส่ใจในการเสด็จเยี่ยมทหารอย่างต่อเนื่องและให้ความสำคัญกับกองทัพทุกเหล่า

หนึ่งเรื่องที่น่าสนใจคือก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครองปี 2475 ร.7 สับเปลี่ยนกำลังพลขนาดใหญ่ และมีสมาชิกของคณะราษฎรอย่างน้อย 2 คนที่ได้รับการเลื่อนตำแหน่งคือพระยาฤทธิอาคเนย์ที่ย้ายจากทหารปืนใหญ่ที่โคราชมาอยู่ที่กรุงเทพฯ และพระยาพหลพลพยุหเสนาที่ย้ายจากจเรทหารปืนใหญ่มาเป็นรองจเรทหารบกที่แม้ว่าจะไม่มีอำนาจในมือแต่ก็ถือได้ว่าเป็นการก้าวในอาชีพเพราะว่าจากที่เคยคุมทหารแค่กรมเดียวมาดูแลทั้งกองทัพจึงจะเห็นว่าเป็นความก้าวหน้าในอาชีพของแกนนำคณะราษฎร์เหมือนกัน อาจหมายความได้ว่า แม้ ร.7 จะรู้ว่ามีความเคลื่อนไหวทางการเมืองในการปฏิวัติแต่ก็ไม่รู้ว่าใครมีบทบาทบ้างเพราะการปรับทัพครั้งนี้เกิดขึ้นก่อนการปฏิวัติ 2475 เพียง 3 เดือน

แต่มี 1 คนที่ทำให้ร.7ต้องกังวลมากกว่าในเวลานั้นคือพระองค์เจ้าบวรเดชที่ตอนนั้นมีปัญหาขัดแย้งกันเรื่องที่พระองค์เจ้าบวรเดชจะขอขึ้นเงินเดือนแต่กระทรวงการคลังในเวลานั้นอนุมัติให้ขึ้นแต่ทหารที่เลื่อนตำแหน่งซึ่งพระองค์เจ้าบวรเดชก็ขู่ว่าจะลาออกและยังเอาเรื่องนี้ไปบอกแก่หนังสือพิมพ์ทั้งที่เป็นการประชุมลับ ทำให้บรรดาเจ้านายในเวลานั้นไม่ไว้ใจพระองค์เจ้าบวรเดชและยิ่งมีความขัดแย้งยังเพิ่มขึ้นอีกเมื่อพระองค์เจ้าบวรเดชส่งโทรเลขเรื่องนี้ไปถึงร.7ที่ตอนนั้นรักษาพระเนตรอยู่ที่อังกฤษแต่ร.7ก็ส่งโทรเลขตอบกลับมาว่าไม่เข้าใจเรื่องที่พระองค์เจ้าบวรเดชพยายามจะขอขึ้นเงินเดือนนี้แล้วถ้าพระองค์เจ้าบวรเดชจะลาออกก็ให้ลาออกไป สุดท้ายที่ประชุมก็ให้ลาออกแล้วตั้งหม่อมเจ้าอลงกฏขึ้นมาเป็นเสนาบดีกระทรวงกลาโหมแทน ซึ่งจะเห็นความขัดแย้งระหว่างพระองค์เจ้าบวรเดชกับบรรดาเจ้านายในเวลานั้นรุนแรงมากซึ่งมีความไม่ไว้เนื้อเชื่อใจกันกว่านั้นอีกหลายเรื่อง

ทั้งนี้ ก่อนที่คณะราษฎรจะก่อการปฏิวัติ 24 มิ.ย.2475 เพียงสองเดือน วันที่ 10 เม.ย.2475 ในงานพระราชทานกระบี่ครั้งสุดท้าย ร.7ได้ให้พระบรมราโชวาทด้วยว่าทหารจะต้องไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมืองเพราะว่าถ้าทหารยุ่งกับการเมืองแล้วจะทำให้บ้านเมืองวุ่นวายแล้วก้ยกตัวอย่างประเทศจีรนที่ทหารเข้าไปยุ่งกับการเมืองแล้วเกิดเป็นก๊กเป็นเหล่าขึ้นมา และรักษาความสงบเท่านั้น ซึ่งก็เข้าใจได้ว่าเวลานั้นกระแสการเปลี่ยนแปลงการปกครองกำลังรุนแรงมากขึ้นและร.7 เองก็รู้ว่าทหารกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งมีความต้องการเปลี่ยนแปลงการปกครองและท้าทายอำนาจของพระองค์

กษัตริย์ถูกถอนออกจากการเมืองและการทหาร

เทพกล่าวต่อว่าเมื่อเกิดการปฏิวัติ 24 มิ.ย.2475 สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือคณะราษฎรก็พยายามลดบทบาทและอำนาจของกษัตริย์ต่อกองทัพลงทำให้หน่วยรักษาพระองค์ถูกยุบให้เหลือเหมือนเป็นทหารทั่วไปแล้วก็ปลดเชื้อพระวงศ์ออกจากกองทัพแล้วก็เอาสมาชิกคณะราษฎร์มาดำรงตำแหน่งในกองทัพแทน

นอกจากนั้นคณะราษฎร์ยังมีการส่งสายลับตามอดีตข้าราชการทหารระดับสูงอย่างพระองค์เจ้าบวรเดช หรือหม่อมเจ้าอลงกฏ ฯลฯ ซึ่งมีระดับการบันทึกความเคลื่อนไหวรายชั่วโมงไม่ว่าจะเป็นไปตัดผมหรือไปกินข้าว รวมถึงว่ามีแขกคนไหนจำนวนเท่าไหร่มาที่บ้านบ้าง จะเห็นว่าคณะราษฎร์นั้นไม่วางใจฝั่งเจ้าเลยว่าจะมีการต่อต้านขนาดไหน แล้วก็มีเจ้านายบางพระองค์ก็วิจารณ์การปฏิวัติ 2475 แย่มาก คณะราษฎร์ก็ให้ร.7ไปคุยห้ามเจ้านายเหล่านี้แทน เพราะคณะราษฎร์เองก็ไม่อยากมีความขัดแย้งกับเจ้านายเหล่านี้ หรือกระทั่งส่งดิเรก ชัยนามไปฟังพระองค์เจ้าวรรณไวทยากรสอนที่จุฬาลงกรณ์เพื่อดูว่ามีเรื่องใดบ้างที่มีแนวโน้มต่อต้านคณะราษฎร์ แต่ทุกอย่างก็ผ่านไปโดยที่ไม่มีเจ้านายคนไหนถูกจับกุมอีกหลัง 2475

แต่คณะราษฎร์เองก็มีการประนีประนอมกับสถาบันฯ อยู่บ้าง เช่น คณะราษฎร์เข้าไปจัดการกองทัพบกก็จริง แต่ไม่ไปแตะทหารรักษาวังที่อยู่ภายใต้กรมวังและยังยอมให้ตั้งทหารรักษาวังเพิ่มอีกหนึ่งกรมเป็นทหารรับจ้างได้เพราะ ร.7ก็บอกว่าอยากได้ทหารที่มีประสิทธิภาพมากกว่าทหารเกณฑ์ที่มาฝึก 2 ปีแล้วก็ไป ซึ่งก็เป็นเงินของกระทรวงวังเองหรือจะย้ายใครเข้าไปในหน่วยทหารรักษาวังก็ให้ย้าย

เทพกล่าวถึงการสร้างภาพยนตร์สองเรื่องที่คณะราษฎร์ให้จัดทำขึ้นเกี่ยวกับการฉลองรัฐธรรมนูญและการเปลี่ยนแปลงการปกครองทำออกมาแล้วก็ไม่ได้ฉายเพราะเกรงว่าจะยิ่งทำให้พระบรมวงศานุวงศ์ชอกช้ำมากเกินไป แต่หลังกบฏบวรเดชถูกปราบ ทางรัฐบาลก็เลิกนโยบายประนีประนอมกับฝ่ายเจ้าอย่างชัดเจน โดยมีการสร้างภาพยนตร์การปราบกบฏ 2476 ที่เป็นการตอบโต้การปฏิวัติของฝั่งเจ้าและขอให้กรมโฆษณาการซื้อภาพยนตร์แล้วก็เอาไปฉาย

ในการยกเลิกการประนีประนอมนี้ไปถึงการจัดการกองทหารของร.7และจัดการกับกองทัพด้วย กล่าวคือจอมพล ป.พิบูลสงครามได้ยุบกระทรวงวังแล้วก็ย้ายทหารรักษาวังเข้าไปอยู่ใต้กระทรวงกลาโหม แต่ก็ถูกพระยาพหลพยุหเสนาชะลอไว้เพราะไม่อยากให้เกิดปัญหาเพิ่มขึ้นอีกเพราะว่าร.7ย้ายไปอังกฤษแล้วก็มีเรื่องที่ต้องต่อรองกันมากคือเรื่องที่ร.7จะไม่ให้ยุบทหารรักษาวัง ซึ่งพระยาพหลฯ เกรงว่าจะเป็นเหตุทำให้ร.7 สละราชสมบัติ แต่สุดท้ายร.7 สละราชสมบัติอยู่ดี ทำให้จอมพล ป. ก็ยุบทหารรักษาวังแล้วก็เปลี่ยนเป็นกองพันทหารราบที่ 9 รักษาวังแทน

นอกจากนั้นจอมพล ป.ยังกำจัดศัตรูทางการเมืองอย่างพระยาทรงสุรเดชโดยพ่วงเอาฝั่งเจ้าไปด้วย และให้ยกเลิกพิธีที่ส่งเสริมสถานะอันศักดิ์สิทธิ์ของตัวกษัตริย์ทั้งสังคมการเมืองต่างๆ แล้วก็ยังมีสิ่งที่ทำพร้อมๆ กันคือการสร้างอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยและวัดพระศรีมหาธาตุที่มีชื่อเดิมคือวัดประชาธิปไตยขึ้นมาโดยการเรี่ยไรเงินจากประชาชนเพราะอยากให้ประชาชนมีส่วนร่วมไม่ใช่เป็นเรื่องของรัฐบาลเท่านั้นนอกจากนั้นข้างในวัดยังเป็นที่ประทับของพระประธานปางปราบมารซึ่งก็คือการมองเห็นว่าถึงสถาบันกษัตริย์เป็นมารที่มาผจญระบอบประชาธิปไตยแล้วก็เพื่อให้วัดมีความศักดิ์สิทธิ์มากขึ้นและก็ยังมีพระบรมสารีริกธาตุอยู่ในวัดด้วยจึงมีการเปลี่ยนชื่อมาเป็นวัดพระศรีมหาธาตุในเวลาต่อมา

เทพกล่าวถึงการเปลี่ยนแปลงในช่วงสงครามอินโดจีนกฎหมายฉบับหนึ่งที่จอมพล ป.เสนอขึ้นไปให้พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภาลงนามในฐานะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ของพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดลรัชกาลที่ 8 ซึ่งเป็นเชื้อพระวงศ์ไม่กี่คนที่อยู่กับฝ่ายรัฐบาลจอมพล ป. ก็คือพ.ร.บ.แต่งตั้งผู้บัญชาการทหารสูงสุด ในปี 2480(ค.ศ.1937) ที่จะทำให้จอมพล ป. สามารถควบคุมกองกำลังของทั้ง 3 เหล่าทัพได้และยังเป็นครั้งแรกที่มีตำแหน่งนี้ในประเทศไทย

ต่อมา 2484(ค.ศ.1941) พระองค์เจ้าอาทิตย์ฯ เขียนในราชกิจานุเบกษาว่าให้จอมพล ป. ได้ตำแหน่งจอมพลโดยให้เหตุผลว่าสิ่งที่จอมพล ป.ทำไม่ได้เป็นเพียงเกียรติยศของจอมพล ป.เท่านั้น แต่เป็นของคนทั้งชาติ จอมพล ป.จึงควรจะได้เป็นจอมพลไม่ใช่เป็นเพียงพลเอกตามที่กองทัพบกขอให้กับจอมพล ป.เท่านั้น และภายหลังจอมพล ป.ยังจะได้เครื่องราชนพรัตน์ที่แทบจะเป็นคนแรกที่เป็นสามัญชนที่ได้เครื่องราชชั้นนี้ ส่วนพระองค์เจ้าอาทิตย์ฯ ก็ได้เลื่อนชั้นเป็นพระเจ้าวรวงศ์เธอและได้ยศทางทหารเป็นระดับพลโทในทั้งสามเหล่าทัพ

เทพสรุปว่าเหตุการณ์นี้ถือเป็นความสำเร็จของจอมพล ป.ในเวลานั้นซึ่งได้มีตำแหน่งเทียบเท่ากับกษัติรย์ที่ได้ตำแหน่งจอมทัพในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ แต่สิ่งนี้ทำให้เกิดปัญหาตามมาในภายหลังจากการยังรักษาระบบเกียรติยศแบบที่กษัตริย์ทำในยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์เอาไว้ซึ่งเป็นการยกตัวบุคคลให้เป็นผู้นำทำให้ทหารจงรักภักดีต่อคนหนึ่งคนและเป็นศูนย์กลางของชาติ

สร้างสำนึกใหม่ให้กองทัพ

เทพกล่าวถึงสิ่งที่จอมพล ป.พิบูลสงครามทำไว้อีกหลายอย่างเพื่อสร้างคอนเซปท์ใหม่ให้กับทหารที่ต้องปกป้องรัฐธรรมนูญและประเทศชาติแทนการปกป้องสถาบันกษัตริย์และกษัตริย์ก็จะไม่ใช่ทหารสูงสุดอีกต่อไปแต่เป็นผู้บัญชาการทหารจริงๆ อย่างจอมพล ป. ซึ่งจะมาเป็นคนมอบกระบี่ให้กับนักเรียนทหารด้วย จอมพล ป.จะบอกในงานพิธีมอบกระบี่ว่าความภาคภูมิใจของทหารควรจะภูมิใจในตัวเองและพ่อแม่ที่มีบุญคุณกับทหารแทนการสำนักในพระมหากรุณาธิคุณของกษัตริย์


จอมพล ป. เดินตรวจแถวและทักทายทหารที่จะไปร่วมรบในสงครามอินโดจีน ภาพจาก Wikipedia

นอกจากนั้นหลังสงครามอินโดจีนจอมพล ป.ก็สถาปนาเหรียญชัยสมรภูมิและเหรียญกล้าหาญขึ้นมาแทนเหรียญกล้าหาญเดิมที่จะต้องได้รับอนุมัติจากกษัตริย์เพื่อไม่ให้กษัตริย์เข้ามามีบทบาททางการทหารมากนัก และยังเปลี่ยนสถานที่สวนสนามจากเดิมที่ลานพระราชวังดุสิตมาเป็นที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิแทนแล้วก็มีการเปลี่ยนเป็นเพลงทหารของชาติ ในการสวนสนามแทนเพลงสรรเสริญพระบารมี แต่ภายหลังก็มีการเปลี่ยนมาใช้มาร์ชราชวัลลภของร.9 ในการสวนสนามของทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์หลังร.9 ขึ้นครองราชย์ แล้วเพลงทหารของชาติก็จะใช้ในการสวนสนามภายในเท่านั้น

เหรียญชัยสมรภูม ภาพจาก Wikipedia

สถาบันกษัตริย์มีบทบาททางการเมืองการทหารอีกครั้ง

แต่สถานการณ์ตั้งแต่หลังจากจบสงครามโลกครั้งที่ 2 ก็เปลี่ยนไปเมื่อ จอมพล ป.พิบูลสงครามต้องลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเพราะแพ้โหวตในสภา แต่ก็ได้กลับมาอีกครั้งหลังการรัฐประหาร 2490(ค.ศ.1947) โดยจอมพลผิน ชุณหะวัณ

เทพกล่าวว่าการกลับมาครั้งนี้ของจอมพล ป.ได้มีนโยบายต่างจากตอนเป็นนายกรัฐมนตรีครั้งแรกๆ เพราะจอมพล ป.รู้แล้วว่าถูกท้าทายอำนาจอย่างรุนแรงและมีศัตรูรอบด้านทั้งเสรีไทยของปรีดี พนมยงค์ กองทัพเรือและยังเกิดกบฏสำคัญถึง 3 ครั้ง คือ กบฏเสนาธิการทหาร กบฏวังหลวง และกบฏแมนฮัตตัน ทำให้จอมพล ป.ต้องมองหาใครซักคนที่มาช่วยเพื่อให้อยู่รอดในการปกครองประเทศไทย

ในเวลาเดียวกันสหรัฐอเมริกาก็มีนโยบายผลักดันพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช รัชกาลที่ 9 ให้มีบทบาททางสังคมและการเมืองเพื่อสู้กับภัยคอมมิวนิสต์ ซึ่งประจวบเหมาะกับสถานการณ์ที่จอมพล ป.กำลังหาคนมาช่วยเหลือตัวเองเพราะในเวลานั้นจอมพล ป.ก็ไม่สนิทใจกับพ.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์และจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์เพราะเห็นชัดว่าต้องการท้าทายอำนาจของตัวเอง ซึ่งพระองค์เจ้าวรรณไวทยากรเข้ามามีบทบาทเป็นสะพานเชื่อมระหว่างจอมพล ป. กับร.9 และทำให้ร.9มีบทบาทขึ้นมาหลัง 2490 ก็เพราะจอมพล ป. เองก็ไม่มีทางเลือกมากนักในการเอาตัวรอดทางการเมืองเวลานั้น และภายหลังพระองค์เจ้าวรรณไวทยากรก็จะเข้ามาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศให้กับรัฐบาลจอมพล ป.

เทพอธิบายว่าการฟื้นฟูบทบาทสถาบันกษัตริย์กลับมาช่วยในการปกครองประเทศตามนโยบายของสหรัฐฯ ทำให้ร.9จะมีบทบาททางการเมืองมากขึ้นเรื่อยๆ โดยที่จอมพล ป.เองก็สนับสนุนและบางทีก็ต่อรองอำนาจระหว่างกันเช่น จอมพล ป.ทูลเชิญร.9 เสด็จเยือนพม่าอย่างเป็นทางการหลังจากอู นุ นายกรัฐมนตรีพม่าในเวลานั้นมาเข้าเฝ้า ร.9 ซึ่งเหตุการณ์นี้จะทำให้ร.9ได้เสด็จเยือนต่างจังหวัดเพราะร.9จะใช้เรื่องนี้มาต่อรองกับจอมพล ป. โดยให้เหตุผลว่าการเสด็จประพาสต่างประเทศก่อนเป็นเรื่องไม่เหมาะสมพระองค์จะเสด็จประพาสในประเทศไทยก่อนเพราะว่าพระองค์ยังไม่เคยไปเยี่ยมประชาชนในประเทศเลย ทำให้รัฐบาลจอมพล ป.ร่างแผนเสด็จประพาสทางอีสานให้ทันทีพร้อมอนุมัติเงิน 2.6 แสนบาท แต่ระหว่างที่มีการร่างแผนเสด็จประพาสทางภาคอีสานอยู่จอมพล ป. เองก็ยังพยายามขอให้เสด็จไปพม่าด้วยแต่ก็ไม่ได้บังคับมาก

เทพชี้ให้เห็นว่า เหตุการณ์นี้จะเป็นการปูพื้นอำนาจและบทบาทของร.9 ที่มีส่วนร่วมในการปกครองประเทศกับนายกรัฐมนตรีด้วยตั้งแต่ช่วงปี 2490 อย่างเช่นมีประชาชนร้องเรียนร้องทุกข์กับ ร.9โดยตรงร.9 ก็จะสั่งให้ผู้ว่าราชการจังหวัดที่ตามเสด็จแก้ปัญหาทันที ซึ่งเกิดขึ้นพร้อมการที่ร.9เมื่อได้เห็นและสนพระทัยเรื่องใด เช่น การสั่งให้กระทรวงเกษตรและกระทรวงมหาดไทยสนับสนุนประชาชนในจังหวัดเลยที่เพาะเลี้ยงตัวครั่งอยู่

แม้ว่าจอมพล ป.จะให้พระองค์เจ้าวรรณไวทยากรร่างแผนการเสด็จในต่างประเทศไว้ แต่สุดท้ายการเสด็จต่างประเทศของร.9 ก็ไปเกิดขึ้นในยุคของสฤษดิ์แทนเพราะรัฐบาลจอมพล ป.ถูกรัฐประหารไปก่อนที่จะได้ใช้แผนดังกล่าวสืบเนื่องมาจากความขัดแย้งระหว่างจอมพล ป.กับร.9

ทั้งนี้ก็ปรากฏเอกสารของทางสหรัฐฯ ว่าถ้าร.9จะต้องทำงานร่วมกับใครซักคนตัวเลือกก็คือจอมพล ป.เพราะสามารถต่อรองกันได้มากกว่าเผ่า-สฤษดิ์ เพราะสามารถเข้าใจได้ว่าเผ่า-สฤษดิ์ในเวลานั้นมีอำนาจต่อรองกับร.9ค่อนข้างมากกว่าจอมพล ป.

เทพอธิบายเสริมอีกว่า จอมพล ป. เองก็แทบจะคืนบทบาททางการทหารให้กับ ร.9เกือบทั้งหมด เช่น ให้ ร.9 พระราชทานกระบี่ให้กับนักเรียนนายร้อยในปี 2491(ค.ศ.1948) โดยให้กรมพระยาชัยนาทมามอบแทนเพราะเวลานั้น ร.9อยู่ที่สวิตเซอร์แลนด์ แล้วก็สถาปนาทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์กลับมาเพื่อใช้สวนสนามในพิธีพระบรมราชาภิเษกในปี 2493(ค.ศ.1950) จากนั้นก็ไปพระราชฐานกระบี่ให้กับนักเรียนนายร้อยและนักเรียนนายเรือแล้วหลังจาก 2496(ค.ศ.1953) ก็เสด็จไปพระราชทานกระบี่ให้ทุกปี อีกทั้งร.9 ยังมีการแต่งเพลงมาร์ชราชวัลลภและมาร์ชธงชัย แล้วก็ยังมีการมอบชื่อให้ค่ายทหารด้วย เช่น ค่ายนเรศวร หรือค่ายพิชัยดาบหัก


รัชกาลที่ 9 ควบคุมการติดตั้งปืนเข้ากับเฮลิคอปเตอร์ของกรมตำรวจด้วยพระองค์เอง จากบทความ "ในหลวงรัชกาลที่ 9 กับประดิษฐกรรมทางทหาร" ศิลปวัฒนธรรม

อีกทั้งร.9 ยังมีพระราชกรณียกิจไปติดตามดูการซ้อมรบด้วยพระองค์เอง เช่น การเสด็จไปดูการซ้อมรบของทหารเรือครั้งหนึ่งที่ถือว่าเป็นครั้งที่มีทูตประเทศต่างๆ และราชการชั้นใหญ่ไปกันเยอะมากระดับปิดจังหวัดชลบุรีและร.9ยังติดตามขึ้นไปบนเรือรบที่ออกไปซ้อมรบกลางทะเลในเขตน้ำลึกถึง 3 วันด้วย หรือการไปเยี่ยมค่ายทหารค่ายตำรวจตระเวณชายแดนในภาคอีสานปี 2498(ค.ศ.1955) ก็ไปนอนในค่ายทหารแทนการไปนอนที่จวนผู้ว่าราชการจังหวัด ซึ่งพระราชกรณียกิจลักษณะนี้จะดำเนินอย่างต่อเนื่องมาจนถึงช่วงปีทศวรรษ 2530


พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ และสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ เสด็จเมืองนครศรีธรรมราช 13 มีนาคม 2502 ภาพจาก

เทพสรุปการค้นพบจากการศึกษาว่า การปฏิรูปกองทัพอย่างตะวันตกนอกจากความรู้ทางการทหารแล้วยังนำพิธีกรรมต่างๆ มาปรับใช้ให้เข้ากับราชสำนักไทยเพราะในช่วงแรกๆ กษัตริย์ก็ไม่เชื่อมั่นในความจงรักภักดีของทหารไทย แต่ต่อมาสิ่งเหล่านี้ก็มีไว้สร้างและเน้นย้ำบทบาทของกษัตริย์ในกองทัพ แต่ปัญหาของพิธีกรรมเหล่านี้มีเพื่อทำให้กองทัพเน้นภักดีกับตัวบุคคลมากกว่าภักดีต่อรัฐบาลและองค์กร เพราะฉะนั้นสิ่งที่เกิดขึ้นคือจนถึงปัจจุบันหากรัฐบาลใดทำให้กองทัพมองว่าเป็นฝั่งตรงข้ามกับสถาบันกษัตริย์หรือไม่ภักดีกับสถาบันฯ ก็จะไม่ได้รับความไว้วางใจจากกองทัพแล้วก็มีแนวโน้มที่จะทำให้รัฐบาลถูกล้ม หากรัฐบาลใดโดยเฉพาะรัฐบาลทหารที่ยืนยันว่าจงรักภักดีต่อสถาบันกษัตริย์ก็จะได้รับการค้ำจุนจากกองทัพเป็นอย่างดี ซึ่งหลังพ.ศ.2500 หรือหลังยุคสฤษดิ์เป็นต้นมาจากที่กษัตริย์ต้องการให้ทหารจงรักภักดีเพื่อยืนยันอำนาจของพระองค์จะกลับกลายเป็นทหารต้องจงรักภักดีต่อกษัตริย์เพื่อแสดงให้เห็นว่าทหารมีความชอบธรรมในการทำอะไรต่างๆ นาๆ ภายใต้ความจงรักภักดีต่อสถาบันกษัตริย์

ช่วงถามตอบท้ายการนำเสนอวิทยานิพนธ์ เทพได้อธิบายเพิ่มเติมเกี่ยวกับประสิทธิภาพของพิธีกรรมต่างๆ ในการปลูกฝังแนวคิดภักดีต่อสถาบันกษัตริย์ให้กับทหารว่านอกจากพิธีกรรมที่จัดขึ้นเพียงปีละครั้งแล้วในระบบการเรียนการสอนในโรงเรียนทหารและกองทัพเองก็มีการปลูกฝังผ่านการเรียนการสอนที่มีการเน้นย้ำหน้าที่ของทหารและความจงรักภักดีด้วยและในการผลิตสื่ออย่างเช่นเมื่อร.7มีพระบรมราโชวาทก็จะมีการทำสื่อแจกให้กับทหารทุกนายในกองทัพได้อ่านแม้ว่าจะไม่ได้เข้าร่วมพิธีต่างๆ ก็ตามเพื่อให้รู้ว่ากษัตริย์กล่าวถึงพวกเขาอย่างไรและเพื่อกระจายแนวคิดของกษัตริย์ แต่ก็วัดได้ยากเหมือนกันว่าพิธีกรรมหรือสื่อเหล่านี้จะมีผลมากน้อยแค่ไหนในระดับปัจเจคของทหารแต่ละคนเพราะไม่มีการบันทึกจากทหารตัวเล็กๆ ว่าเขารู้สึกกับพิธีกรรมเหล่านั้นอย่างไร

เทพกล่าวต่อว่า แต่กองทัพไทยเองก็สนใจแต่ระดับนายทหารที่จะไปคุมกำลัง ซึ่งสถาบันกษัตริย์เองก็ใส่ใจทหารกลุ่มนี้มากกว่าระดับจ่าทหารหรือพลทหารเพราะตำแหน่งเหล่านี้มีหน้าที่ทำตามคำสั่งเท่านั้นทั้งไม่สามารถที่จะคิดและไม่มีหน้าที่ที่จะต้องคิด ดังนั้นเพื่อให้อำนาจทางทหารยังคงอยู่กับสถาบันกษัตริย์ก็ต้องให้ความใส่ใจและทำให้บรรดานายทหารปรับตัว(assimilate) เข้าหาสถาบันกษัตริย์ให้ได้

เทพตอบต่อในอีกสองประเด็นจากผู้เข้าร่วมคือ กระบวนการสร้างอุดมการณ์การจงรักภักดีให้กับทหารในกองทัพว่าระบบทหารที่สามารถผลิตซ้ำอุดมการณ์ให้กับบุคลากรในกองทัพได้มาเป็น 60-70 ปี คือ หากไม่มีการออกนอกแถวและยังคงเดินตามแนวทางนี้ต่อไปคือการทำตามคำสั่งนายไปเรื่อยๆ ก็จะทำให้อาชีพการงานและชีวิตในกองทัพอยู่ได้อย่างเป็นปกติสุข แต่หากใครจะลุกขึ้นมาโต้แย้งกับนายในระบบกองทัพก็มีบทลงโทษที่ชัดเจนเป็นรูปธรรมมากกว่าและหนักกว่าหน่วยงานราชการอื่นๆ ทำให้มีการควบคุมบุคลากรในกองทัพได้มากกว่า อย่างเช่นการ การลงโทษทางวินัยที่ไม่ใช่จบแค่การไล่ออกหรือตัดเงินเดือน แต่มีทั้งการทำโทษ ต้องไปขึ้นศาลทหาร หรือติดคุกทหารที่หากไม่ใช่โทษจำคุกที่เกิน 10 ปี ก็ต้องถูกขังเอาไว้ในคุกทหารทำให้ทหารอยู่ในกรอบได้อย่างง่ายดายสำหรับผู้ปกครอง