วันศุกร์, มีนาคม 25, 2565

“เรามีเสรีภาพในการรวมกลุ่ม หยุดกฎหมายควบคุมองค์กรเอกชน” ร่วมหยุดกฎหมายควบคุมเสรีภาพการรวมกลุ่มของประชาชน ก่อนเส้นตาย 25 มี​.​ค​.​65 #ไม่เอาพรบควบคุมภาคประชาสังคม



เครือข่ายคัดค้านร่างกฎหมาย ควบคุมการรวมกลุ่มของประชาชนของประชาชน started this petition to นายกรัฐมนตรี

เราอาจเคยเห็นมูลนิธิร่วมกตัญญูคอยช่วยเหลือคนประสบอุบัติเหตุ กลุ่มเส้นด้ายคอยช่วยเหลือผู้ป่วยโควิด หรือรถหมูแดงจากมูลนิธิกระจกเงาตระเวนแจกอาหารคนไร้บ้าน เหล่านี้ล้วนแต่เป็นส่วนหนึ่งจากราว 84,099 องค์กรไม่แสวงหากำไรและกลุ่มประชาชนที่กำลังทำงานอยู่ในไทย

ทว่านอกจากหน้าที่ช่วยเหลือประชาชนที่เห็นได้ชัดดังกล่าว ยังมีองค์กรไม่แสวงผลกำไรและกลุ่มประชาชนคอยทำหน้าที่ตรวจสอบการทำงานและความโปร่งใสของรัฐและทุน บ้างคอยปกป้องสิทธิเสรีภาพประชาชน ซึ่งองค์กรประเภทนี้เองที่มีแนวโน้มจะอ่อนแอลง ขาดอิสระ หรือกระทั่งไม่อาจทำงานได้ หากรัฐบังคับใช้ "พ.ร.บ.การดำเนินกิจกรรมขององค์กรไม่แสวงหากำไร พ.ศ." … หรือโดยเนื้อหาอาจเรียกได้ว่าเป็น "ร่าง กม.ควบคุมเสรีภาพการรวมกลุ่มของประชาชน"

ความเข้มแข็งขององค์กรไม่แสวงหากำไรและการรวมกลุ่มของประชาชนส่งผลต่อชีวิตของคนไทยอย่างไร

รัฐไม่อาจแก้ปัญหาทุกอย่างเองหรือตรวจสอบรัฐหรือทุนได้เสมอไป การรวมกลุ่มของประชาชนองค์กรไม่แสวงหากำไรจึงเข้ามาทำหน้าที่แทน เนื่องจากเป็นอิสระและปลอดอิทธิพลจากรัฐและทุนมากกว่า เมื่อไหร่ก็ตามที่กลุ่มหรือองค์กรเหล่านี้ถูกปิดกั้น การช่วยเหลือผู้คนจะเป็นไปได้ยากขึ้น หรือไม่ทันท่วงที ดังที่เห็นกันหลายครั้งแล้วว่าถ้ารอรัฐอย่างเดียวก็อาจสายเกินไป และการตรวจสอบอำนาจรัฐและกลุ่มธุรกิจใหญ่จะยิ่งลำบาก

ทำไมต้องคัดค้าน ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้

1. นิยามกิจกรรม “ต้องห้าม” กว้างขวาง-กำกวม เปิดช่องให้จำกัดสิทธิประชาชนได้มาก

กฎหมายที่ดี โดยเฉพาะกฎหมายที่มีโทษทางอาญา ควรเป็นกฎหมายที่ชัดเจน ประชาชนตีความและเห็น ‘เส้น’ ได้ง่ายว่าทำสิ่งใดแล้วเข้าข่ายความผิด อีกทั้งหากจำเป็นต้องจำกัดสิทธิประชาชนจะต้องจำกัดน้อยที่สุดและระบุเกณฑ์ชัดเจน ทว่า ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้กลับระบุเกณฑ์อย่างกำกวม เช่นในมาตรา 20 ซึ่งกำหนดกิจกรรม “ต้องห้าม” ไว้หลายข้อว่า “เป็นกิจกรรมที่กระทบต่อความมั่นคงของรัฐ เศรษฐกิจ ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ความสงบเรียบร้อย ศีลธรรมอันดี, ก่อให้เกิดความแตกแยกในสังคม ฯลฯ” ซึ่งนับว่ากินความกว้างขวาง ไม่อาจเข้าใจได้ทันที และต้องมีผู้ตีความว่ากิจกรรมใด “ต้องห้าม” และนำไปสู่ปัญหาต่อมาคือ “ใครเป็นผู้ตีความ”

2. เกิดการควบคุมซ่อนรูปด้วยการให้อำนาจข้าราชการประจำมากเกินไป

หากร่างฯ ฉบับนี้ผ่าน ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ในฐานะนายทะเบียน จะเป็นผู้มีสิทธิ์ตีความมาตราที่ 20 ว่ากิจกรรมใดมีลักษณะ “ต้องห้าม” รวมทั้งการให้บทบาท “คณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาองค์กรไม่แสวงหากำไร” ซึ่งประกอบไปด้วย รมต.กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เป็นประธานกรรมการ ครอบคลุมในหลายประเด็นที่ชี้ขาดทิศทางการดำเนินงานขององค์กรไม่แสวงผลกำไรและกลุ่มประชาชน ทำให้เกิดการควบคุมซ่อนรูปที่มาในนามของข้าราชการประจำ

3. ลงโทษรุนแรง-มากเกินส่วน

ในร่างฯ ฉบับนี้มีการลงโทษหลายข้อที่รุนแรง เช่นการใส่คำว่า ‘ฟอกเงิน’ และ ‘ก่อการร้าย’ ไว้ประกอบการพิจารณายกร่างฯ และกำหนดโทษปรับทางอาญาที่สูงเกินสัดส่วน เช่นหากไม่ทำตามข้อกำหนดในบางกรณีจะต้องรับโทษปรับไม่เกิน 500,000 บาทและปรับวันละ 10,000 บาท การรับเงินทุนจากต่างประเทศบางกรณีกำหนดบทลงโทษทางการปกครองและอาญาอย่างรุนแรง เช่นปรับเป็นสองเท่าของเงินทุนที่ได้รับ หรือคนที่รับผิดชอบในงานนั้นๆ ต้องรับโทษด้วย นอกจากนี้ยังบังคับให้การรวมตัวกันทั้งองค์กรจดทะเบียนและไม่จดทะเบียน ให้เปิดเผยข้อมูลทุกอย่างต่อสาธาณะ รวมถึงเส้นทางการเงิน ซึ่งละเมิดสิทธิความเป็นส่วนตัว และขัดกับหลักสิทธิเสรีภาพในการรวมตัว

ส่งผลกว้างขวาง ครอบคลุมแม้แต่การชุมนุมของประชาชนทั่วไป

หากร่างฯ ฉบับนี้ผ่าน องค์กรไม่แสวงหาผลกำไรกว่า 200,000 องค์กร รวมทั้งสภาองค์กรชุมชนกว่า 7,000 องค์กร ชมรม สมาคม ชุมนุม กลุ่มอาสาสมัคร สมาคมหอการค้า องค์กรพัฒนาเอกชนทุกประเภท เครือข่ายประชาชน กลุ่มรากหญ้า เครือข่ายวิชาชีพ มูลนิธิ สถาบัน กองทุน ศูนย์ประสานงาน สมัชชา สมาพันธ์ สหกรณ์ สหภาพ ภาคีศูนย์ คณะกรรมการ องค์กรสวัสดิการชุมชนองค์กรสาธารณะประโยชน์​ทุกรูปแบบ รวมถึงกลุ่มนักกิจกรรม หรือกระทั่งการรวมตัวชุมนุมของประชาชนทั่วไปจะมีโอกาสอยู่ภายใต้การควบคุมของ พ.ร.บ.ฉบับนี้ อันเนื่องมาจากนิยามของ “องค์กรไม่แสวงผลกำไร” ในร่างฯ กินความกว้างขวางและกำกวมจนดรอนสิทธิด้านการแสดงออกของประชาชน ไม่ว่าจะมีความคิดเห็นทางการเมืองหรือไม่ก็ตาม เพราะร่างกฎหมายฉบับนี้เน้นย้ำถึงกิจการใดๆ ที่ไม่ใช่ของรัฐต้องถูกจำกัด-ควบคุมอย่างกว้างขวาง

เราจึงขอชวนทุกคนร่วมหยุดร่างก่อนเส้นตาย 25 มี.ค. นี้!

ขณะนี้ ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ผ่านมติ ครม.แล้วในวาระแรก แต่ยังเหลืออีกสองวาระ และยังต้องผ่านขั้นตอนการแก้ไขในชั้นกรรมาธิการทั้งสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา, ทว่าขั้นตอนที่นับว่าประชาชนจะมีส่วนร่วมได้มากที่สุดคือขั้นตอนการศึกษาผลกระทบและการเปิดรับความคิดเห็นจากประชาชนเพื่อส่งต่อไปยัง ครม.ตามกฎหมายรัฐธรรมนูญมาตราที่ 77 ซึ่งกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) จะเป็นเจ้าภาพและจะปิดรับความคิดเห็นทุกช่องทางภายใน 25 มีนาคม 2565 นี้

ทุกความคิดเห็นและรายชื่อที่เซ็นต์ผ่าน Change.org จะถูกรวบรวมเพื่อนำไปยื่น ครม.ด้วยเช่นกัน ขณะที่รัฐมักเอ่ยอ้างถึงความมั่นคงของรัฐ ประชาชนต้องการหลักประกันสิทธิเสรีภาพซึ่งเป็นความมั่นคงของมนุษย์ด้วยเช่นกัน ถ้ากฎหมายฉบับนี้ผ่าน พื้นที่ซึ่งประชาชนและภาคประชาสังคมจะได้ปกป้องสิทธิเสรีภาพ แสดงความคิดเห็น และตรวจสอบผู้มีอำนาจทั้งรัฐและเอกชนจะยิ่งสั่นคลอนและน้อยลงยิ่งขึ้น

ขอให้ช่วยกันลงชื่อก่อนจะสายเกินไป
ลงชื่อคัดค้านที่: http://change.org/RightToAssembly