วันพฤหัสบดี, มีนาคม 31, 2565

ข้อเขียนในวัยหนุ่มของ วัฒน์ วรรลยางกูร



วาด รวี ชวนอ่าน ‘จากบันทึกของนักเขียนคนหนึ่ง’

by nandialogue
updated on 26/03/2022

จากบันทึกของนักเขียนคนหนึ่ง

วรพจน์ขอให้ผมเขียนถึงพี่วัฒน์ ในทีแรกนั้นผมตั้งใจจะเขียนถึงหนังสือเล่มแรกในชีวิตของ วัฒน์ วรรลยางกูร ก็คือ นกพิราบสีขาว เป็นหนังสือรวมเรื่องสั้นและบทกวี พิมพ์โดยสำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์น เมื่อมกราคม 2519 แต่ด้วยเวลาอันจำกัดทำให้ไม่สามารถเขียนตามที่ตั้งใจไว้ได้ ผมจึงขอคัดข้อเขียนในวัยหนุ่มของวัฒน์เอง มาให้ผู้อ่านพิจารณา ข้อเขียนชิ้นนี้มีชื่อว่า “จากบันทึกของนักเขียนคนหนึ่ง” พิมพ์อยู่ในรวมเรื่องสั้น ข้าวแค้น เป็นผลงานที่เขียนจากในป่าของ วัฒน์ วรรลยางกูร จัดพิมพ์โดยกลุ่มกุลา เมื่อปี 2522 ผมไม่ได้คัดมาทั้งชิ้น หากแต่ตัดเอาเฉพาะ 2 ส่วนแรก เพื่อจะให้ผู้อ่านได้พิจาณาความคิดของวัฒน์ในวัยหนุ่ม เมื่อเขาบอกเล่าอุดมการณ์ในการเขียนหนังสือของตนเอง

ปัญหาพื้นฐานคือทำงานเพื่อใคร

นักทฤษฎีทางศิลปะวรรณคดีหลายคนสรุปไว้ว่า ปัญหาสำคัญที่สุดของศิลปินนักเขียนคือ ปัญหาเพื่อใคร? ผมเห็นด้วยอย่างยิ่ง และเห็นด้วยอย่างยิ่งต่อความเห็นที่ว่านักเขียนหรือศิลปินควรมีสำนึกว่าตนเองทำงานเพื่อรับใช้ประชาชน ดังที่ศรีนาครเขียนไว้ว่า “ศิลปินทั้งผองต้องเกื้อเพื่อชีวิต ของมวลมิตรผู้ใช้แรงทุกแห่งหน ใช่เพื่อศิลปอย่างที่นับสัปดน ใช่เพื่อตนศิลปินชีวินเดียว” ในสภาพที่เป็นจริงของสังคมไทยเบื้องหน้านี้คือ รับใช้กรรมกรชาวนาอันเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศในการต่อสู้กับการกดขี่ขูดรีด รับใช้ประชาชาติไทยในการต่อสู้กับอิทธิพลของมหาอำนาจผู้รุกราน รับใช้ผู้รักสิทธิเสรีภาพในการต่อสู้คัดค้านเผด็จการฟัสซิสต์ จิตสำนึกเช่นนี้เกิดขึ้นได้ท่ามกลางการต่อสู้ที่เป็นจริง

แน่นอนว่า ย่อมแตกต่างจากเป้าหมายของการทำงานอีกแบบหนึ่งคือ ๑. เกียรติ สร้างผลงานเพียงเพื่อใช้งานเขียนเป็นบันไดก้าวไปสู่เกียรติยศที่คับแคบเฉพาะตน หรือ ๒. เพื่อเงินตรา ยอมให้อำนาจเงินกำหนดความคิดทุกสิ่งทุกอย่าง

ทุกวันนี้ มีนักเขียนไม่ว่าจะรุ่นอาวุโสหรือรุ่นใหม่ๆ ได้มองเห็นและเข้าใจได้ว่า นักเขียนจะต้องทอดตัวเข้าไปสร้างผลงานรับใช้ประชาชน

เราจะมามัวคิดถึงประโยชน์ส่วนตัวอยู่ได้อย่างไร ในเมื่อกรรมกรชาวนาคนส่วนใหญ่ของประเทศกำลังอดอยากปากหมอง ทุกข์ยากแสนสาหัส

เราจะมามัวคิดถึงผลประโยชน์ส่วนตัวอยู่ได้อย่างไร ในเมื่อเสือร้ายและหมาป่า – มหาอำนาจผู้รุกรานกำลังแย่งขย้ำเอกราชและความเป็นไทของประชาชาติไทย

เราจะมามัวคิดถึงผลประโยชน์ส่วนตัวอยู่ได้อย่างไร ในเมื่อบ้านเมืองของเราเป็นค่ายกักกันและขุมนรกอันมืดมนโดยฝีมือเผด็จการฟัสซิสต์

การจะสร้างสรรค์ผลงานรับใช้ประชาชนได้ดีหรือไม่ เป้าหมายของการทำงานเป็นพื้นฐานสำคัญ ถ้ามีเป้าหมายเพื่อส่วนตัว ย่อมไม่อาจทำงานเพื่อส่วนรวม เพราะมันไปด้วยกันไม่ได้ หรือจะเสแสร้งก็ย่อมไม่ได้ งานเขียนที่ดีไม่อาจเสแสร้างเขียนขึ้นมาได้ น้ำตาปลอมของนางเอกหนังไทยบางเรื่องไม่อาจทำให้คนดูสะเทือนใจได้อย่างแท้จริง ไม่อาจเสแสร้ง หากต้องถอดออกมาจากชีวิตวิญญาณที่แท้จริงทุกตัวอักษร ทุกบรรทัดย่อมสะท้อนจุดมุ่งหมายของผู้เขียน

ทั้งในอดีตและปัจจุบัน ได้มีนักเขียนของประชาชนก้าวไปบนเส้นทางเกียรติยศแห่งการรับใช้ประชาชนภายใต้สภาพที่ยากลำบากคือ อยู่ใต้เงาปืนของเผด็จการฟัสซิสต์ หลายคนเสียสละเกียรติยศจอมปลอม เสียสละช่องทางแห่งการกอบโกย มาสร้างสรรค์ผลงานเพื่อประชาชนบางคนได้พิสูจน์ให้เห็นว่า เขาไม่เสียดายแม้จะเสียสละชีวิตอันมีค่า (มีค่าเพราะเป็นชีวิตของคนทำงานเพื่อส่วนรวม) สร้างแบบอย่างอันสูงส่งแก่นักเขียนรุ่นหลังและมวลนักต่อสู้

ทุกวันนี้อุดมการณ์ของนักเขียนเพื่อประชาชนนับวันแข็งกล้า แผ่ขยาย ผลงานสร้างสรรค์นับวันมีพลัง ไม่ว่าจะมีความยากลำบากอย่างไร สามารถยืนหยัดสร้างผลงานได้ถึงที่สุด การรุดหน้าไปอย่างไม่ย่อท้อ

มีบทกวีบทหนึ่งสะท้อนอุดมการเช่นนี้อย่างลึกซึ้งว่า

เพื่อลบรอยคราบน้ำตาประชาราษฎร์
สักพันชาติจักสู้ม้วยด้วยหฤหรรษ์
แม้นชีพใหม่มีเหมือนหวังอีกครั้งครัน
จักน้อมพลีชีพนั้นเพื่อมวลชน



นักเขียนต้องกล้า

ชีวิตการต่อสู้ของประชาชนมีเรื่องราวอยู่มากมาย เป็นเสมือนวัตถุดิบของโรงงานสมองและปากกา เป็นต้นธารของศิลปวรรณคดีอันสมบูรณ์ เมื่อต้องการวัตถุดิบ ต้องการสร้างสรรค์ศิลปวรรณคดีก็ต้องกล้าบุกเข้าไปให้ถึงแหล่งวัตถุดิบ ให้ถึงต้นธารของมัน เมื่อนักเขียนจะไปสัมผัสชีวิตของประชาชน ก็ต้องใช้ความกล้าระดับหนึ่ง หรือเดิมทีบางคนมีเงื่อนไขในการสัมผัสสิ่งเหล่านั้นอยู่แล้วโดยไม่ได้ตั้งใจ แต่พอจะตั้งใจสัมผัสขึ้นมา ก็ต้องรวบรวมความกล้าเช่นกัน หรือแม้แต่การจะนั่งรถผ่านๆ มองคนจนด้วยความเห็นอกเห็นใจ ก็ต้องใช้ความกล้าอีกเหมือนกัน ที่พูดเช่นนี้เพราะบางคนไม่กล้าแม้แต่จะเห็นใจคนยากคนจน (เห็นใจจริงๆ ไม่ใช่หลอกๆ) เหลียวไปเห็นชาวนาแว่บหนึ่งก็สรุปทันทีว่า “ชาวนาขี้เกียจ” อะไรทำนองนี้ เขาไม่กล้าเพราะมันขัดผลประโยชน์ของเขา

ยิ่งถ้านักเขียนตัดสินใจจะใช้ปากกาของตนเป็นส่วนหนึ่งแห่งการต่อสู้ของประชาชน ก็ยิ่งต้องใช้ความกล้ายิ่งขึ้นอีก กล้าจะท้าทายอิทธิพลของมหาอำนาจผู้รุกราน กล้าท้าทายอำนาจของเผด็จการฟัสซิสต์ กล้ากบฏต่อความสะดวกสบายที่มีอยู่เดิมไปสู่สภาพใหม่ที่ยากลำบากกว่าเก่าเพื่อเข้าไปถึงต้นธารของศิลปวรรณคดี เพื่อจะได้ทำงานสร้างสรรค์อย่างมีชีวิตชีวา ปลุกผู้ถูกกดขี่ให้มาพบแสงแห่งสัจจะ เหล่านี้เป็นความกล้าที่ประชาชนต้องการ

การหมกตัวเป็นกวีราชสำนัก ไม่ยอมรับรู้โลกกว้างมีแต่สายตาจะสั้น ความคิดจะแคบลง ไหนเลยจะสร้างผลงานรับใช้คนส่วนใหญ่ของประเทศได้ มีแต่ต้องกล้าบุกกล้าผจญ กวีสมัยก่อนเขียนเป็นฉันท์ไว้ว่า “จงจรเที่ยว เทียวบทไป พลพนไพร ไศลลำเนา” คือส่งเสริมให้ท่องเที่ยวไปพบสิ่งใหม่ และยังมีบทกวีของต่างประเทศว่า “อินทรีโผบินไปในนภา มัจฉาแหวกว่ายกลางสายชล” คือส่งเสริมให้ไปฝ่าคลื่นลม หากเรามีเป้าหมายว่าจะทำงานรับใช้ประชาชน การออกไปฝ่าคลื่นลมย่อมหมายถึงไปพบบทเรียนแห่งการต่อสู้ในชีวิตของประชาชน ไม่ใช่ผจญภัยเพียงเพื่อพิสูจน์ความเป็น “แมน” ของข้าอย่าง “สิงห์เท็กซัส”

และเมื่อมั่นใจว่าต้องทำงานเพื่อประชาชนไปตลอดชีวิต ก็ต้องกล้าบุกกล้าผจญตลอดชีวิตเช่นกัน ส่วนรูปธรรมในการทำเช่นนี้ก็ต้องแล้วแต่สภาพความเป็นจริงของแต่ละบุคคล

การศึกษาสิ่งใหม่ๆ กล้าสัมผัสแนวคิดที่ขัดแย้งกับความคิดที่เรายึดมั่นอยู่เดิม กล้าบุกกล้าผจญไปเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ อยู่เสมอเป็นเงื่อนไขช่วยให้หูตาเรากว้างไกล ความคิดพัฒนาสดชื่นอยู่ไม่ขาด ความคิดเก่าสิ้นอายุไป ความคิดใหม่เกิดขึ้นมา มีแต่ต้องอยู่ท่ามกลางการเคลื่อนไหว จึงจะมีการพัฒนา

การรับรู้ ทำความเข้าใจชีวิตที่เป็นจริง บางด้านบางเรื่องต้องใช้เวลาสะสมยาวนานพอสมควร มิใช่จะสุกงอมเอามาเขียนได้ทันที ในการเผชิญคลื่นลมจึงมีทั้งเรื่องราวที่เขียนออกมาเป็นตัวอักษรบนกระดาษได้ทันทีและที่เขียนไว้ในใจ

เรื่อง : วัฒน์ วรรลยางกูร