วันจันทร์, มีนาคม 28, 2565

ตัดสินคุก ๓ ปี ยายอายุ ๗๐ ที่ขอนแก่นปลูกกัญชา ๑ ต้น ชี้ให้เห็นเส้นบางๆ ระหว่าง 'ไตแลนเดีย' กับ 'ตอแหลแลนด์'

มันมีเส้นบางๆ ระหว่างไตแลนเดียกับตอแหลแลนด์ จริงๆ เสียด้วย ดูจากยายวัย ๗๐ ปีที่ขอนแก่น ปลูกกัญชา ๑ ต้น โดนตำรวจจับดำเนินคดี ศาลตัดสินว่ามีความผิดตาม พรบ.ยาเสพติดปี ๒๕๒๒ อ้างว่าเป็นฉบับที่ใช้บังคับขณะทำผิด

คือว่า ไตแลนตอแหล แห่งนี้มีกฎหมายใช้บังคับเกี่ยวกับกัญชา ๒ ฉบับ ระวางโทษตามความผิดของยาย นั้นเท่ากัน อีกฉบับเพิ่งออกมาเมื่อเร็วๆ นี้ (๒๕๖๔) พรรคการเมืองคู่ขวัญรัฐบาลผลักดัน มุ่งหมายจะปลดล็อคกัญชาให้ใช้เป็นยารักษาโรค

แต่ความลักลั่นในกระบวนการเมือง ทำให้ ประมวลกฎหมายยาเสพติด ฉบับใหม่ไปไม่สุด ยังคงบัญญัติให้การผลิตกัญชาและครอบครองกัญชา เป็นความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดประเภท ๕ ตำรวจขอนแก่นบอกว่าจะต้นเดียวหรือกี่ต้นก็ผิดเหมือนกัน

ไม่รู้ว่าถ้าเป็นตำรวจบุรีรัมย์ จะว่าไง เจ้าของพรรคภูมิใจไทยเปรียบเป็นบิดาแห่งนครรัฐแห่งนี้ เพียงแต่ยังไม่เรียก เนวินบุรี เหมือน บรรหารบุรี เท่านั้น พรรคภูมิใจไทยชูนโยบายกัญชาเป็นยามาแต่อ้อนออก และก็ยังยืนกรานว่าไม่ผิดกฎหมายจน ยายที่ขอนแก่นโดนพิพากษา

ว่าจำเลยมีความผิด “เป็นกรรมเดียว” แต่ “ผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานผลิตกัญชา ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด” ทางอาญา ในประมวล กม.มาตรา ๙๐ ให้ “จำคุก ๗ เดือน และปรับ ๓๕,๐๐๐ บาท

ทว่ามีเหตุบรรเทาโทษเพราะจำเลยรับสารภาพ จึงลดโทษให้กึ่งหนึ่ง เหลือจำคุก ๓ เดือนกับ ๑๕ วัน ปรับอีก ๑๗,๕๐๐ บาท แต่เนื่องจากจำเลยไม่เคยต้องโทษจำคุกมาก่อน จึงให้รอการลงโทษไว้ ๒ ปี และคุมประพฤติ ๑ ปี กับไปทำงานสาธารณประโยชน์ ๑๒ ชั่วโมง

ถึงอย่างนั้นก็ยังเข้าไคล้ ว่ารัฐใช้อำนาจมากเกินไป ไม่คำนึงหลักความเหมาะควรแห่งสถานการณ์ หรือ ‘decency’ เมื่อมีปัญหามั่วซั่วของกระบวนกฎหมายเช่นนี้ ควรที่จะยกประโยชน์แก่จำเลย และหันไปจัดการปรับแก้ให้อยู่ในคลองธรรมเสียก่อน

แต่ก็นะ เจ้าหน้าที่รัฐเดี๋ยวนี้ โดยเฉพาะฝ่ายตำรวจมักใช้อำนาจเกินพอดีไปมากบ้างน้อยบ้างอยู่เสมอ แต่ก็ยังไม่อยู่ใน ทำนอง อันเหมาะควรเสียเกือบทั้งนั้น กรณีเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบ ๔ คน ไปก่อกวนและตามติด อจ.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ นี่เป็นความผิดชัดแจ้ง

อดีตอธิการบดี ม.ธรรมศาสตร์ โพสต์ว่า “เมื่อวันอังคารที่ ๒๓ มีนา มีชายสี่คน...ตัดผมสั้น ใส่เสื้อยืดคอกลม ขับรถปิ๊กอัพที่ป้ายถูกปกปิด เบลอเป็นสีขาวมองไม่เห็นเลขทะเบียน เข้ามาที่คอนโดบ้านพักของผม...ถามหาผม แล้วขึ้นลิฟต์ไปจนถึงหน้าห้อง เคาะประตู”

เจ้าตัวไม่อยู่ “ได้รับบอกเล่าในภายหลังว่า พวกเขาติดตามหาคนหลายคนที่ไปเกี่ยวข้องกับม็อบเด็ก ๆ ผมได้ปรึกษากับนักกฎหมายบางท่าน และได้รับการชี้แจงว่า การกระทำนี้ คือรูปแบบหนึ่งของการคุกคาม หรือ harassment – stalking

อาจเข้าข่ายฐานพยายามกระทำความผิดต่อเสรีภาพ ตามประมวลอาญา ม. ๓๐๙ และ ๘๐” ในโพสต์ต่อๆ มา อจ.ชาญวิทย์ระบุว่า เจ้าหน้าที่จะไปติดตาม สอบถามหาใครในลักษณะคุกคามหยามหมิ่นเยี่ยงนี้ น่าจะตรวจสอบภูมิหลังของผู้นั้นให้ดีเสียก่อน

ควรที่ผู้เสียหายจะได้แจ้งความ ร้องทุกข์เอาไว้ ถึงผู้บังคับบัญชาระดับนโยบาย ที่ปล่อยให้พนักงานในกำกับเที่ยวไปก่อความเดือดร้อนแก่ประชาชนทั่วไป จักต้องทำการลงโทษตามควรแก่ความผิด รวมทั้งในส่วนของผู้บังคับบัญชารับผิดชอบด้วย

หากระดับผู้บังคับบัญชาถือดีว่ามีอำนาจมาก ไม่แยแสหรือใยดีต่อความเสื่อมเสียที่เกิด ผลกรรมอันเป็นรูปธรรมย่อมเกิดได้ไม่ทางใดทางหนึ่ง หากการประพฤติร้ายสั่งสมไว้เป็นเดือนเป็นปี นี่ก็เข้า ๘ ปีแล้ว ดั่งแรงอัดกระสุนดินดำรอวันระบิดพุ่งออกไป

(https://www.facebook.com/charnvit.ks/posts/5597935306887517 และ https://www.isranews.org/article/isranews/107618-news-244.html)