ข่าวใหญ่ไหมเนี่ย “ห้างแตก คนแห่เข้าคิวซื้อนาฬิกาแบรนด์ดัง” ขนาดปักหลักรอกันข้ามคืนเชียวละ สำหรับการเปิดจำหน่ายปฐมฤกษ์วันนี้ (๒๖ มีนา) ๓ จุด คือที่ ‘สยามพารากอน เซ็นทรัลเวิลด์ และ ไอคอนสยาม’ แต่ละแห่งเป็นร้อย
เฉพาะที่เซ็นทรัลเวิร์ลด์ ข่าวบอกว่าตอนเช้าหกโมงครึ่งมีคนรอคิวแล้ว ๒๐๐ แม้นว่าทางห้างจัดระเบียบด้วยการเอาแผงเหล็กวางเป็นรั้วกั้นริมทางเท้า ก็ยังมีการพังรั้วเข้าไปหน้าห้าง และเกิดการทะเลาะแย่งชิงตำแหน่งในคิวกันชุลมุน
แต่ที่สยามพารากอนเรียบร้อยกว่า ทางห้างเอาเก้าอี้ไปตั้งให้ผู้ที่รอคิวนั่งพักกันได้ เหตุการณ์นี้น่าจะเป็นสัญญานใช้อ้างบ่งบอกทิศทางเศรษฐกิจขาขึ้นได้บ้างละมัง ว่าตอนนี้ (อย่างน้อยๆ) คนกรุงอูฟูขึ้นแล้ว ในเมื่อนาฬิกาที่เปิดขายนั่นดังไม่เบา
นัยว่ายังเป็น คอลเล็คชั่น รุ่นพิเศษอีกด้วย เมื่อยี่ห้อ Swatch จับมือกับ Omega ร่วมกันออกแบบ ‘Speedmaster MoonSwatch’ ข่าวไม่มีรายละเอียดว่าสนนราคาเรือนละเท่าไร และสำหรับการเปิดตัวในแบงค็อคนี่จำนวนกี่แสนกี่ล้านเรือน
ไม่เฉพาะนาฬิกาแบรนด์ดังที่อูฟูในไทย ห้างเฟอร์นิเจอร์แบรนด์สแกนดิเนเวีย อย่าง ‘อิเกีย’ ก็ทำมาค้าขึ้นในไทยเหมือนกัน กำลังจะเปิดแห่งที่สี่ “บนถนนสุขุมวิท ใจกลางกรุงเทพฯ ที่ Emsphere” โพสต์โฆษณาบอกว่า เร็วๆ นี้ หวัง “การต้อนรับอย่างอบอุ่น”
เรื่องช้อปปิ้งมอลส์ในไทยเนี่ยก่อนโควิดมา เป็นที่เลื่องชื่อของภูมิภาคในความหะรูหะราและความยิ่งใหญ่ เป็นแหล่งรับนักท่องเที่ยว ส่วนมากจากจีนที่นอกจากแย่งกันลุยบุฟเฟ่ต์แล้วก็กว้านซื้อแบรนด์เนมส์ตามห้างไทยนี่ละ ไหนๆ คุยเรื่องนี้แล้วขยายผลนิดหน่อย
มีคนทำกร้าฟฟิคเปรียบเทียบความยิ่งใหญ่ศูนย์การค้าทั่วโลก ด้วยความผิดหวังที่ของไทยไม่ติดอันดับ ๑ ว่าตามขนาดของมอลล์อะนะ ปรากฏว่าที่อิหร่านได้ครองแช้มป์ (เนื้อที่เกือบสองล้านตารางเมตร) ตามด้วยมอลส์ของจีน ๓ แห่ง
มอลส์ไทยได้อันดับ ๕ (เซ็นทรัลเวสต์เกต) ๖ (เซ็นทรัลเวิร์ลด์) และ ๗ (ไอคอนสยาม) ด้วยเนื้อที่ดำเนินการราว ๕ แสนครึ่งตารางเมตร ซึ่งช่วงจะสามปีที่ผ่านมาก็ซบเซากันไปมากบ้างน้อยบ้าง ขณะที่แย่มากๆ ก็ระดับชาวบ้านอย่างประตูน้ำ เยาวราช สำเพ็ง
ข้อหนึ่งที่พอจะวิเคราะห์ที่ไปว่าทำไมรัฐบาลต่อยอดอำนาจ คสช.จะขึ้นค่าแรงในตอนนี้ ทั้งที่ผ่านมาจะ ๘ ปีนี่มีการปรับไปแล้ว ๓ ครั้ง ในปี ๖๐ ๖๑ และ ๖๒ แต่ละครั้งขึ้นมาเล็กน้อย เทียบกับยุค ‘ยิ่งลักษณ์’ ไม่ติด เมื่อนายกฯ หญิงสร้างประวัติการณ์ขึ้นพรวด ๓๐๐ บาทต่อวัน
การขึ้นค่าแรงในปลายยุค คสช.พอคุยได้เล็กน้อย ว่าปรับขึ้นโดยเฉลี่ย ๓๒๐-๓๓๐ บาทต่อวัน โยแยกแยะเป็นกลุ่มๆ จังหวัด ที่ขึ้นสูงสุดมีแค่ ๓ จังหวัด ส่วนจำนวนจังหวัดมากสุดขึ้นต่ำสุดเป็นวันละ ๓๑๕ บาทต่อวัน พอจะเลือกตั้งปี ๖๒ ราคาคุยก็มา
ตอนนั้นมีนโยบายขึ้นค่าแรงโดยรัฐบาลรัฐประหาร ‘ครองอำนาจ’ ให้เพิ่มค่าแรงขั้นต่ำอีก ๕-๖ บาท แต่มีแค่ ๘ จังหวัด คือกรุงเทพฯ และรอบๆ กับชลบุรีและภูเก็ต ที่ค่าแรงขึ้น ๖ บาท นอกนั้นขึ้น ๕ บาทรวด โดยให้มีผลปีใหม่ ๒๕๖๓
ก่อนกำหนดเลือกตั้งปี ๖๒ ช่วงใกล้คืนหมาหอน พรรคพลังประชารัฐที่ตั้งขึ้นมาเป็นฐานปฏิบัติการให้ติ๊ดตู่กลับมาเป็นนายกฯ อีก ออกนโยบายทีเด็ดหลายข้อเกี่ยวกับเรื่องปากท้องประชาชน ซึ่งจนป่านนี้ยังทำไม่ได้ซักกะอย่าง รวมทั้งค่าแรง ๔๐๐ บาทต่อวัน
และที่ว่าจะมีการขึ้นค่าแรงอีกครั้งกลางปีนี้ ไม่น่าจะพ้น ‘หาเสียง’ อีกเช่นเคย เพราะดูท่าว่าอย่างช้ากลางปีหน้าคงมีการประกาศเลือกตั้งครั้งใหม่ ซึ่งพรรคหนุนตู่เกิดอาการคลอนแคลนไม่มากก็น้อย ส่วนจะขึ้นขนาดไหน ได้ใจชาวบ้านหรือไม่ อย่าเพิ่ง ‘หลั่งน้ำตา’
เนื่องจากว่าถ้าคิดดีๆ เรื่องความอูฟูที่เกิดอาการ ‘นาฬิกาแบรนด์หรู’ ฉาบหน้าอยู่ขณะนี้นั้น อาจเป็นแผนแยบยลร่วมด้วยช่วยกัน ระดับไฮโซ ‘ของสูง’ ก็ได้นะ ดูสิดู ห้างต่างๆ ที่ทำโปรโมชั่นเรื่องนี้ เครือ ‘สยาม’ กับ ‘เซ็นทรัล’ บอกอะไร
(https://www.prachachat.net/prachachat-hilight/news-894919 และ https://www.matichon.co.th/local/news_3253638)