วันพฤหัสบดี, มีนาคม 31, 2565

'โทนี่'ฟาดลูกน้องเก่าเลวทราม (หมายถึง สุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ?) แฉดูดส.ส.เพื่อไทยอ้างจะถูกยุบ ซัดคนโหนเบื้องสูงตั้งชื่อพรรค



‘โทนี่’ ฟาดลูกน้องเก่าเลวทราม โหนเบื้องสูงตั้งชื่อพรรค แฉดูด ส.ส.เพื่อไทย อ้างจะถูกยุบ ลั่นอย่าดึงสถาบันลงมายุ่งเกี่ยวการเมือง

เมื่อวันที่ 29 มี.ค. 2565 นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี หรือโทนี่ วู้ดซัม กล่าวในรายการ CARE Talk x CARE ClubHouse หัวข้อ “มองเมืองดูไบ ใส่ใจกรุงเทพฯ ถึงตัวอยู่ไกล แต่ใจยังคิมิโนโตะ” ช่วงหนึ่งว่า

“มีเรื่องหนึ่งที่ผมไม่ค่อยสบายใจเท่าไหร่ มีคนออกจากพรรคผมไปตั้งพรรค เสร็จแล้วแกเป็นคนที่พูดไปพูดมา ไปเจอพวกไฮโซทั้งหลาย เขาก็ถามว่าทำไมออกจากผม รู้ไหมว่าเขาตอบว่าอย่างไร เขาตอบว่าผมไม่เอาในหลวง ท่านอยู่เบื้องสูง ทำไมไปดึงท่านลงมา”

“จริงๆ แล้วขอเรียนว่าผมไม่เคยมีอคติ หรือความไม่เคารพพระเจ้าอยู่หัวเลย เพราะผมถวายงานท่านตั้งแต่เป็นนักธุรกิจ ดังนั้น เรื่องนี้เป็นเรื่องไร้สาระ ไฮโซทั้งหลายก็มาถามผมว่าจริงหรือ ผมเลยเล่าให้ฟัง และคนๆ เดียวกันนี้ก็ไปชวน ส.ส.พรรคเพื่อไทย ว่ามาอยู่พรรคเขาเถอะ พรรคเพื่อไทยถูกยุบแน่เพราะในหลวงไม่เอา บังอาจจริงๆ ไม่น่าเลย”

“เรื่องนี้พระเจ้าอยู่หัวท่านอยู่สูง ท่านไม่ยุ่งกับการเมืองการเมืองสกปรกอย่าไปเอาท่านลงมา นี่เป็นสิ่งที่เลวทรามมาก เมื่อไปถึงพื้นที่ก็ไปบอกคนในพื้นที่อีกว่านี่เป็นพรรคสาขากัน เลือกใครก็เหมือนกันแหละ สับสนกันไปหมด ดังนั้น ผมถือว่าใครออกจากพรรคเพื่อไทยถือเป็นลูกน้องเก่า แวะมาดูไบก็กินข้าวกับผมได้ตลอด ขอแค่อย่าด่าพ่อล่อแม่ผมเท่านั้น ดังนั้น เป็นสิ่งที่ไม่บังควร”

นายทักษิณ กล่าวอีกว่า “ที่ กกต.อนุญาตจดทะเบียนตั้งพรรคหนึ่ง ไม่ได้สำรวจเลยหรือว่าชื่อเป็นการเอาพระเจ้าอยู่หัวมาอ้าง มีหมอคนหนึ่งไปทำพรรคแล้วตั้งชื่อเหมือนให้รู้ว่าถ้าใครรักในหลวง ต้องเลือกเขา ผมถือว่าเป็นการบังอาจมาก พระเจ้าอยู่หัวท่านอยู่สูง กรุณาอย่าเอาท่านมายุ่งกับการเมือง กกต.ต้องระวังตั้งแต่ต้น ใครที่มีพฤติกรรมหมิ่นเหม่ ต้องไม่รับจดทะเบียน พอจดทะเบียนแล้วมันดูไม่ดี พระเจ้าอยู่หัวไม่เกี่ยวกับการเมือง”

“ผมเลยบอกว่าขอร้องเถอะ ฝ่ายการเมืองทุกคน ในฐานะที่ผมเคยเป็นอดีตนายกฯ อดีตหัวหน้าพรรคใหญ่ๆ ครม.ในวันนี้ เคยอยู่กับผมครึ่งค่อนมาทั้งนั้น ดังนั้น อย่าเอาเรื่องในวังมายุ่งกับการเมืองเลย บางคนไปอ้างว่ามีไลน์ติดต่อคนรอบข้างท่าน มันเลว ใช้ไม่ได้ ไม่ควรเลย ขอให้ความชั่วความดีอยู่ที่นักการเมืองด้วยกัน ใครจะชั่วจะดีก็ขออยู่ที่ตัวเอง ต่อหน้าและลับหลังไม่ต้องไปเอ่ยถึงเจ้านาย อันนี้ผมขอในฐานะที่เคยรับผิดชอบบ้านเมืองมา” นายทักษิณ กล่าว

ที่มา ข่าวสดออนไลน์
...
สำรวจคดียุบพรรค เพื่อไทย – ก้าวไกล ระทึกขวัญปี 2565
https://www.prachachat.net/politics/news-833082

สำรวจคดียุบพรรค เพื่อไทย – ก้าวไกล ระทึกขวัญปี 2565



1 มกราคม 2565
ประชาไท

เรื่องสยองสองบรรทัดของฝ่ายค้าน ในศักราช 2565 มีเพียงอย่างเดียวคือปม “ยุบพรรค”

ที่พรรคเพื่อไทย – พรรคก้าวไกล แกนหลักฝ่ายค้านต้องสุ่มเสี่ยงถึงกับสิ้นชื่อ ต้องย้ายพรรคสลับร่างไปอยู่ร่างใหม่อีกครั้งหรือไม่ ยังต้องลุ้นระทึกกันทั้งปี

โดยเฉพาะพรรคพี่ใหญ่ “เพื่อไทย” ยังต้องตอบคำถามหน่วยงาน “ตรวจสอบ” องค์กรอิสระทั้งหลาย ในปม “ทักษิณ ชินวัตร” หรือในร่างพี่โทนี่ ที่ไม่ได้เป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทย ครอบงำ สั่งการ ชี้นำพรรคหรือไม่

เพราะพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง 2560 มาตรา 28 ห้ามมิให้พรรคการเมืองยินยอมหรือกระทำการใดอันทำให้บุคคลอื่นซึ่งมิใช่สมาชิกกระทำการอันเป็นการควบคุม ครอบงำ หรือชี้นำ กิจกรรมของพรรคการเมืองในลักษณะที่ทำให้พรรคการเมืองหรือสมาชิกขาดความอิสระ ทั้งนี้ ไม่ว่าโดยทางตรงหรือโดยทางอ้อม

มาตรา 29 ห้ามมิให้ผู้ใดซึ่งมิใช่สมาชิกกระทำการใดอันเป็นการควบคุม ครอบงำ หรือชี้นำกิจกรรมของพรรคการเมืองในลักษณะที่ทำให้พรรคการเมืองหรือสมาชิกขาดความอิสระ ทั้งนี้ ไม่ว่าโดยทางตรงหรือโดยทางอ้อม

แต่การปรากฏกายของ “ทักษิณ” หลายจังหวะ หลายครั้ง ถูกนำไปร้องให้ยุบพรรคเพื่อไทย เกือบทุกครั้ง

เช่นในช่วงปลายปี 2563 ก่อนการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด “ทักษิณ” ทั้งทวิตข้อความผ่านทวิตเตอร์–อัดคลิป เป็นโปรโมเตอร์สนับสนุนผู้สมัครพรรคเพื่อไทย คือ นายพิชัย เลิศพงษ์อดิศร หรือ ส.ว.ก๊อง ในศึกเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.)

คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ตั้งประเด็นสอบสวนเรื่องดังกล่าว และ ศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ไปยื่นร้องกับ กกต.ให้ตรวจสอบเรื่องการครอบงำเพื่อไทยด้วย

กรณีต่อมา เป็นคลิปวีดีโอคอลของ “ทักษิณ” ในงานวันเกิดของ “เกรียง กัลป์ตินันท์” รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ซึ่งคลิปดังกล่าวเกิดจาก ส.ส.ในพรรครู้เท่าไม่ถึงการณ์อัดคลิปไว้และดันหลุดไปสู่สาธารณะ ทำให้เป็นเรื่อง เพราะวันนั้นทักษิณ พูดเฉี่ยวๆ ถึงแผนการเลือกตั้งของพรรคเพื่อไทยว่า

“ผมมีหลายแนวทาง รับรองว่าแต่ละแนวทางเนี่ย ส.ส.ที่คิดจะออก รับตังค์เขามาแล้ว ต้องเอาตังค์ไปคืน เที่ยวนี้ต้องชนะแลนด์สไลด์ เพราะว่าชนะธรรมดา มันไม่ให้เป็นรัฐบาลหรอก ถ้าแลนด์สไลด์มันไม่กล้าเป็นรัฐบาล ต้องเอาแลนด์สไลด์ชนิดที่ไม่กล้าเป็นรัฐบาล”

สถานการณ์ล่าสุด “ศรีสุวรรณ จรรยา” เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ให้ข่าวกับสื่อมวลชนก่อนสิ้นปี 2564 ว่า ได้ไปให้การต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ในเรื่องนี้

“เรื่องที่เกิดขึ้น มีพยานหลักฐานเป็นวิดีโอคอล มีถ้อยคำผูกมัดชัดเจน พร้อมรูปถ่ายหน้าตาของ ส.ส. และผู้บริหารของพรรคเพื่อไทยกว่า 11 คน ซึ่งสมาคมฯ ได้มอบไว้ให้กับ ป.ป.ช. ทั้งหมด และน่าจะเป็นหลักฐานสำคัญที่ใช้เป็นหมัดน็อกพรรคการเมือง และหรือนักการเมืองที่ฝ่าฝืนกฎหมายได้ ซึ่งปีใหม่ 2565 น่าจะมีปรากฏการณ์ฟ้าผ่าแถว ๆ ถนนเพชรบุรีตัดใหม่อีกครั้งเป็นแน่แท้”

และประเด็นที่เพิ่งผ่านไปหยก ๆ เมื่อ “วิฑูรย์ นามบุตร” อดีตรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ให้สัมภาษณ์สื่อท้องถิ่นเมืองอุบลราชธานี ว่า ได้ต่อสายหารือกับ “พี่โทนี่” เรื่องขอย้ายซบพรรคเพื่อไทย ในลำดับต่ำกว่าลำดับที่ 30 พร้อมจะไปหาถึงดูไบ

ทำให้ “เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ” นักร้องขาประจำผู้ที่ “แค้นฝังหุ่น” กับพรรคเพื่อไทย ได้ยื่น กกต.ให้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริง นำไปสู่การยุบพรรคเพื่อไทยด้วย

ในเรื่องนี้ “ชูศักดิ์ ศิรินิล” ประธานคณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย ให้สัมภาษณ์ในรายการเจาะลึกทั่วไทยอินไซด์ไทยแลนด์ ตอนหนึ่งว่า บทบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้เกิดขึ้นในสมัยสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และเขียนไว้ใน พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง มาตรา 28 – 29 องค์ประกอบของมาตรานี้ไม่ใช่มีแค่สั้น ๆ แค่นั้น แต่บอกว่าทำให้สมาชิกขาดความเป็นอิสระ ใช้อำนาจครอบงำ ควบคุม สั่งการ พจนานุกรมแปลว่า เป็นเรื่องของการใช้อำนาจ มีอำนาจเหนือกว่า

ที่สำคัญกฎหมายเขียนต่อไปว่า ห้ามมิให้พรรคการเมืองยินยอม พรรคการเมืองหมายถึงหัวหน้าพรรคการเมือง กรรมการบริหารพรรคการเมือง ข้อสำคัญต้องยินยอม ดังนั้น โดยรวม การพูดจา การพูดคุย การปรึกษาหารือ มิได้สั่งการให้ทำนู่นทำนี่ ผมคิดว่าไม่ใช่องค์ประกอบที่ถือว่าครอบงำ ควบคุม สั่งการ

รื่องคลิป แต่ยังไม่เห็นว่ามีใครสั่งการให้ทำนู่น ทำนี่ ให้รับคุณนู่น คุณนี่เข้ามา ก็ยังเงียบ ตรงกันข้าม พรรคเพื่อไทย โดยหัวหน้าพรรคก็ออกมาบอกชัดเจนว่า พรรคมีกระบวนการของพรรค ใครมาทำอะไรอย่างนั้นอย่างนี่ ใช่ว่าพรรคยินยอมให้ทำได้

“ต้องแยก ใคร ๆ ก็ทราบว่าท่านนายกฯ ทักษิณเป็นคนก่อตั้งพรรคไทยรักไทย ก็มีความผูกพันกับพรรค เป็นเรื่องปกติธรรมดา ใครก่อตั้งพรรคอะไรมา เราจะห้ามเหรอว่าคุณอย่ามายุ่งอะไรเลย การถามสารทุกข์สุขดิบกัน การมีข้อแนะนำเป็นเรื่องปกติธรรมดา” ชูศักดิ์ กล่าว

“และต้องแยกกับกองเชียร์ กับการครอบงำ ผมอาจมีข้อเสนอแนะอย่างนั้น อย่างนี้ จริงๆ กรณีคลิปเชียงใหม่ก็จบไปแล้ว มีการรับรองนายก อบจ. (เลือกตั้งนายก อบจ.เชียงใหม่) และท่านทักษิณประกาศชัดเจนว่าเป็นกองเชียร์ ผมขอเชียร์ ในฐานะคนเชียงใหม่ด้วยกัน”

“ผมไม่ค่อยกังวลอะไร” ชูศักดิ์ กล่าวอย่างมั่นใจ

นอกจากเรื่อง ข้อกล่าวหาเรื่อง “ทักษิณ” ครอบงำเพื่อไทย อันเป็นมูลเหตุที่ทำให้พรรคเพื่อไทยเสียวสันหลัง ยังมีกรณีที่ สนธิญา สวัสดี ที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การกฎหมาย การยุติธรรรมและสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร ยื่นหนังสือต่อ กกต.เพื่อพิจารณายุบพรรคเพื่อไทย

เนื่องจากนายไชยอมร แก้ววิบูลย์พันธ์ หรือแอมมี่ เดอะบอททอมบลูส์ นักเคลื่อนไหวทางการเมืองกลุ่มราษฎร โพสต์เฟซบุ๊กระบุ พรรคเพื่อไทยสนับสนุนการเงินในการเคลื่อนไหวชุมนุมทางการเมือง ซึ่งเข้าข่าย เป็นการกระทำของพรรคเพื่อไทยที่ฝ่าฝืนพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยพรรคการเมือง มาตรา 45 และมาตรา 92 (1) (2) (3) (4) หรือไม่

เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่มีผู้ร้องพรรคเพื่อไทยเอาไว้

ขณะที่ พรรคก้าวไกล เพื่อนร่วมฝ่ายค้าน ยังต้องเผชิญคดีที่ถูกร้องยุบพรรคซึ่งส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับการชุมนุมของกลุ่มราษฎร และการอภิปรายเรื่องสถาบัน

อาทิ กรณีที่ “เรืองไกร” ร้อง กกต.ให้ยุบพรรค ภายหลังการอภิปรายร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2565 เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2564 ส.ส.พรรคก้าวไกลหลายคนร่วมกันในลักษณะแบ่งหน้าที่กันทำอภิปรายร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ ในส่วนมาตรา 36 งบประมาณรายจ่ายของส่วนราชการในพระองค์

พบว่ามีหลายข้อความเข้าข่ายเป็นหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าพรรคก้าวไกลกระทำการอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามมาตรา 92 วรรคหนึ่ง (2) พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง 2560

กรณี นายณฐพร โตประยูร ยื่นคำร้อง ให้ กกต.ส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยยุบพรรคฐานเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขกรณีเข้าร่วมชุมนุมและใช้ตำแหน่ง ส.ส.ประกันตัวนักศึกษา

คำร้องดังกล่าวอาจดูเหมือนเบาบาง แต่กลับทำให้พรรคก้าวไกลอาจเสียวสันหลัง เพราะคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อ 10 พฤศจิกายน 2564

ที่ตัดสินการปราศรัยของ ภานุพงศ์ จาดนอก อานนท์ นำภา และ ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล ปราศรัยบนเวที “ธรรมศาสตร์จะไม่ทน” เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2563 เป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

กลายเป็น “จุดเสี่ยง” ที่ทำให้พรรคก้าวไกลยืนอยู่ปากเหวยุบพรรค