วันอังคาร, กุมภาพันธ์ 01, 2565

เครือข่ายประชาชนเตรียมยื่นรัฐสภาตรวจสอบข้อพิพาทไทย-คิงส์เกต


นายเลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ หัวหน้าพรรคสามัญชน

เครือข่ายประชาชนเตรียมยื่นรัฐสภาตรวจสอบข้อพิพาทไทย-คิงส์เกต

นายเลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ หัวหน้าพรรคสามัญชนและนักต่อสู้ด้านสิทธิในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติกล่าวกับบีบีซีไทยภายหลังกรณีการเลื่อนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการฯ คดีดังกล่าวว่า เป็นไปตามที่เคยคาดหมายก่อนหน้านี้ ว่าทั้งสองฝ่าย คือ รัฐบาลไทยและบ.คิงส์เกต ต้องการหลีกเลี่ยงให้อนุญาโตตุลาการชี้ขาด ถ้าแพ้คดี รัฐบาลไทยก็ต้องชดใช้ แต่ถ้าไม่แพ้คดี อนุญาโตตุลาการก็ต้องชี้ขาดอย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งก็อาจจะขึ้นอยู่กับการเจรจาระหว่างกัน แต่เขาตั้งคำถามว่า สิ่งที่จะเกิดขึ้นจะเป็นการตัดสินใจเกินข้อพิพาทหรือไม่

นักเคลื่อนไหวเพื่อพิทักษ์สิ่งแวดล้อมรายนี้ตั้งข้อสังเกตว่า มีความเป็นไปได้ที่อนุญาโตตุลาการจะไม่ชี้ขาดใด ๆ ในกรณีนี้ โดยปล่อยให้ทั้งสองฝ่ายเจรจากัน ซึ่งที่ผ่านมาจากที่รัฐบาลได้อนุมัติใบอนุญาตประทานบัตรเหมืองแร่และใบอนุญาตแปรรูปโลหกรรมไปแล้ว เป็นการเปิดทางให้ บ.คิงส์เกต กลับมาดำเนินการเหมืองทองชาตรีได้แล้ว ซึ่งเวลา 6 เดือนข้างหน้าจะเป็นการดำเนินการเพื่อให้เปิดเหมืองได้อีกครั้ง รวมถึงการคำนวณค่าใช้จ่าย ค่าตอบแทนต่าง ๆ

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ภาคประชาชนจะต้องจับตา คือ การอนุญาตที่เกิดขึ้นสอดคล้องกับ พ.ร.บ.แร่ ฉบับใหม่หรือไม่ นอกจากนี้ในวันที่ 2 ก.พ. นี้ เครือข่ายประชาชนผู้เป็นเจ้าของแร่จะเข้าไปยื่นหนังสือต่อรัฐสภา เพื่อให้ตรวจสอบข้อพิพาทระหว่างรัฐบาลไทยกับ บ.คิงส์เกตฯ เพื่อให้สภาผู้แทนราษฎรได้ยื่นกระทู้ถามนายกรัฐมนตรีเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวข้อมูลข้อเท็จจริงเกี่ยวกับคดีนี้ ขอให้ตรวจสอบกระบวนการตรวจสอบต่าง ๆ ตั้งแต่การอนุญาตให้ประทานบัตรต่าง ๆ รวมทั้งการออกอาชญาบัตรพิเศษของริชภูมิ ไมนิ่ง ซึ่งเป็นบริษัทลูกของคิงส์เกตฯ ในการสำรวจแร่ทองคำที่ จ.จันทรบุรี อีกด้วย

ด้านนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวต่อสื่อมวลชนที่ทำเนียบรัฐบาลว่า ยังไม่ทราบกรณีที่คณะอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศเลื่อนการอ่านคำพิพากษาคดีเหมืองทองอัคราออกไป แต่ที่รับทราบมาเกี่ยวกับการกลับมาเปิดเหมืองแร่ในประเทศ เป็นข้อตกลงกับกระทรวงอุตสาหกรรมโดยที่ บ.คิงส์เกตฯ ยินยอมที่จะปฏิบัติตามพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2560 ทุกประการ และเป็นสิทธิที่เขาจะยื่นขอเพื่อรับใบอนุญาตได้

ที่มาของข้อพิพาท "เหมืองทองอัครา"

กรณีพิพาทระหว่างรัฐไทยกับ บ.คิงส์เกต คอนโซลิเดทเต็ด ลิมิเต็ด ของออสเตรเลีย ในคดีเหมืองทองอัคราหลัง พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีใช้อำนาจหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) สั่งระงับกิจการเหมืองแร่ทั่วประเทศ

เหมืองทองอัคราหรือเหมืองทองคำชาตรีตั้งอยู่ในพื้นที่รอยต่อ 3 จังหวัด คือ จ.พิจิตร จ.พิษณุโลก และ จ.เพชรบูรณ์ ดำเนินการโดย บ.อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ บ.คิงส์เกตฯ ผ่านมาแล้วกว่า 4 ปี

บ.คิงส์เกตฯ เรียกคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 72/2559 ลงนามโดย พล.อ.ประยุทธ์ว่า "คำสั่งปิดเหมืองโดยมิชอบด้วยกฎหมายของรัฐบาลไทย" และเห็นว่าคำสั่งนี้ละเมิดข้อตกลงการค้าเสรีไทย-ออสเตรเลีย แม้ว่าจะมีความพยายามในการเจรจาแล้วแต่ไม่สามารถหาข้อยุติได้ จึงเข้าสู่กระบวนการอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศเพื่อระงับข้อพิพาทเมื่อเดือน พ.ย. 2560 โดยเรียกร้องให้รัฐบาลไทยชดเชยค่าเสียหายกว่า 750 ล้านดอลลาร์สหรัฐหรือประมาณ 30,000 ล้านบาท

อนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศเสร็จสิ้นกระบวนการไต่สวนไปตั้งแต่วันที่ 12 ก.พ. 2563 แล้ว แต่ยังไม่มีคำชี้ขาดใด ๆ เนื่องจากคู่กรณีทั้งสองได้ร้องขอให้คณะอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศเลื่อนการอ่านคำตัดสินมาแล้วถึง 2 ครั้ง ครั้งแรกขอให้เลื่อนการอ่านคำตัดสินมาเป็นภายในวันที่ 31 ต.ค. 2564 และขอเลื่อนอีกครั้งมาเป็นภายในวันที่ 31 ม.ค. 2565 เนื่องจากกระบวนการเจรจาคู่ขนานยังไม่ได้ข้อยุติ

ที่มา บีบีซีไทย
https://www.bbc.com/thai/thailand-60194064