ถ้าพวกเขาสู้อย่างนี้ ได้งานดีกว่า ‘สู้เป็น’ นะ สุทิน คลังแสง เสร็จจากเลือกซ่อมหลังไม่ทันเย็น ลุยต่อในสภา ถ้าไม่เจอพวกจรเข้ขวางคลองทำสภาล่ม ร่างกฎหมายสรรพสามิต มาตรา ๑๕๓ ส่งเสริมประชาชนผลิตของเมาพื้นบ้าน อาจผ่านไปแล้ว
เนื่องจากการผลิตคร้าฟเบียร์ปัจจุบันในไทยเป็นที่นิยมอย่างกว้างขวาง อีกทั้งคุณภาพดีมีหลากหลายรสชาต (variety) และนานาพรรณ (novelty) แต่ไม่สามารถทำกันเป็นล่ำเป็นสันในประเทศได้ เพราะกฎหมายสรรพสามิตตราไว้ ‘เอื้อ’ แต่เจ้าสัว
นั่นคือจะผลิตเพื่อการค้าได้ต้องจดทะเบียนจัดตั้งบริษัท โดยมีทุนจดทะเบียนไม่ต่ำกว่าสิบล้านบาท และมีปริมาณผลิตขั้นต่ำที่สุด ๑๐ ล้านลิตรต่อปี อย่างไรก็ดีมีการผ่อนผันโดยรัฐบาล คสช.ให้รายย่อยสามารถผลิตจำหน่ายในลักษณะ ‘บรูว์ผับ’ ได้
แต่จะต้องมีปริมาณผลิตระหว่าง ๑ แสนลิตร ถึง ๑ ล้านลิตรต่อปี ไม่น้อยไม่มากไปกว่านี้ แต่การประกอบการขนาดนั้นก็ต้องใช้เงินลงทุนนับเป็นร้อยๆ ล้านบาท จึงได้มีการรณรงค์ให้ปลดล็อคการผลิตคร้าฟเบียร์ในประเทศกันมาอย่างน้อยๆ ตั้งแต่ปี ๒๕๖๐
จากวันนั้นถึงวันนี้ การผลิตคร้าฟเบียร์ในไทยมีการพัฒนาและเติบโตทั้งคุณภาพและปริมาณอย่างรวดเร็วจนอั้นไว้ไม่อยู่ ส่วนหนึ่งใช้วิธีออกไปตั้งโรงงานผลิตขนาดย่อมกันในประเทศเพื่อนบ้าน เช่น ลาว เวียตนาม แล้วส่งกลับเข้ามาขายในไทย เลยไปโด่งดังในต่างแดนด้วย
เท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร ส.ส.พรรคก้าวไกลผู้เสนอแก้ไขกฎหมายสรรพสามิตฉบับนี้ ก็เป็นหนึ่งในนักผลิตคร้าฟเบียร์รุ่นบุกเบิก ซึ่งหาทางออกเลี่ยงกฎหมายด้วยการผลิตแล้วแอบจำหน่ายกันเองในหมู่เพื่อฝูงและคนในชมรม จนตนเองเคยถูกจับกุมมาแล้ว
เขาให้สัมภาษณ์ ‘เดอะ สแตนดาร์ด’ ว่า “รู้สึกตื่นเต้นที่สุดในชีวิต นับตั้งแต่เคยถูกจับ จนถึงวันนี้เป็นเวลา ๑,๘๓๘ วัน” @EakThestandard บอกว่า “ในที่สุดประเทศไทยก็ได้เสนอแก้กฎหมายให้รายเล็ก-รายย่อย ผลิตเหล้าเบียร์ได้”
พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล อภิปรายสนับสนุนการแก้ไขมาตรา ๑๕๓ พรบ.สรรพสามิตไว้เมื่อวาน ทั้ง ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาล และ สว.ตู่ตั้ง ฟังกันแล้วควรจะต้องสะอึก เขาบอกเหตุผล ‘ง่ายๆ’ “ไทยกับญี่ปุ่นมีตลาดมูลค่าสุราเท่ากัน”
คือ ๒ แสนล้าน แต่ “ทั้งประเทศไทยสุรามี ๑๐ ยี่ห้อ ญี่ปุ่นมี ๕ หมื่นยี่ห้อ ขนาดเท่ากัน ประเทศหนึ่งมูมมามกินกันแค่ ๑๐ คน อีกประเทศหนึ่งกระจายกินกัน ๕ หมื่นคน ถ้าตัวเลขนี้ เพื่อนสมาชิกหรือประชาชนฟังอยู่แล้วไม่รู้สึกตงิด ก็ไม่รู้จะพูดอย่างไร”
มิหนำซ้ำ ๕ หมื่นยี่ห้อของญี่ปุ่นนั่นส่งออกถึง ๙๓% “ข้อเท็จจริงมันโกหกกันไม่ได้ สถิติโกหกกันไม่ได้ เขาทำเพื่อจะกระตุ้นเศรษฐกิจ เพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้าทางการเกษตรของเขา นี่คือตลกร้ายของประเทศไทย” พิธายังบอกอีกว่ามี ‘ตลกร้ายยิ่งกว่า’
“วันนี้ หากเลิกประชุมสภา เพื่อน ส.ส.ไปกินร้านอาหารญี่ปุ่นย่านทองหล่อ และกินเหล้าอาโอโมริจากโอกินาวา ขวดละ ๒,๕๐๐ บาทต่อลิตร จะพบว่าเหล้านั้นนำเข้าจากประเทศไทย และนำเข้าสิบปีที่ผ่านมา ๒ แสนกว่าตัน มูลค่า ๓,๐๐๐ กว่าล้านบาท”
ยังมีอีก “ถ้าปลดล็อคเรื่องนี้ได้ มันคือการเปลี่ยนง่ายๆ เปลี่ยนโภคภัณฑ์ให้กลายเป็นผลิตภัณฑ์ เปลี่ยนจากทำมากได้น้อย ให้เป็นทำน้อยได้มาก เปลี่ยนจากเก็บในโกดังที่ราคามีแต่ลง ไปเก็บในขวดที่ราคามีแต่ขึ้น แล้วหลากหลาย”
แล้วยังถ้ามีการผลิตอย่างหลากหลาย จนมีชื่อเสียงโด่งดัง โดยเฉพาะในด้านคร้าฟเบียร์ ที่มีการอ้อล้อรสชาตแปลกๆ จากพืชผักผลไม้พื้นบ้าน แตกหน่อออกไปจากมะม่วงไปสู่ ระกำ ลำไย ตะไคร้ ใบปอ จนกระทั่งกัญชง กระท่อม ก็จะสร้างเสริมการส่งออก
แม้แต่การท่องเที่ยว ดังที่พิธาสาธยายให้เปลี่ยนจุดขาย “เอาเรื่องเล่าขึ้นมาตั้งก่อนจุดหมาย คือเอา Story ขึ้นมาก่อน Destination” เขายกตัวอย่าง “ผมไปเที่ยวลำปางเพราะอะไร แต่ผมต้องไปดื่มเหล้าดาวลอยที่พี่น้องชาติพันธุ์ลำปางทำ”
ไม่ต่างกับเวลา ส.ส.ไปเที่ยวต่างประเทศ “เราไปวากายามะเพื่อไปดื่มเหล้าบ๊วยของเขา หรือไปโอกินาวาแล้วไปดูสวนสับปะรด ว่าเขาเอาสับปะรดไปทำบรั่นดีได้อย่างไร คิดง่ายๆ แค่นี้...ช่วงที่รัฐบาล ‘ถังแตก’ หาภาษีไม่ได้ จนต้องรีดเลือดจากปู”
เขาชี้ให้ดูที่ตำบลสะเอียบ จังหวัดแพร่ “มีประชากรแค่ ๕,๐๐๐ คน แต่สามารถเก็บภาษีได้ 500 ล้านบาทต่อปี จากการผลิตเหล้าสะเอียบ...เพราะฉะนั้น ถ้าเปลี่ยนทั้งประเทศ ปลดล็อคกฎหมาย...เศรษฐกิจจะไปได้ไกลขนาดไหน การท่องเที่ยวไทยจะไปได้ขนาดไหน”
ที่แน่ๆ แม้แต่ก้าวแรกที่จะไปสู่การเปลี่ยนแปลง ก็ยังทำไม่ได้ในไตแลนเดีย หรืออย่างดีเลื่อนไปโหวตกันอาทิตย์หน้า เพราะว่า “#สภาล่ม อีกแล้ว องค์ประชุมไม่ครบ” ไปกันแค่ ๒๓๔ คน สุชาติ ตันเจริญ ทำหน้าที่ประธานต้องปิดประชุม เฮ้อ
(https://www.facebook.com/themomentumco/posts/2889705264654492, https://tdri.or.th/2019/04/th-craft-beer-industry/ และ https://www.parliament.go.th/section77/survey_detail.phpQVec)