“… การปลดโควิดออกจากสิทธิยูเซ็ป ผลกระทบที่จะตามมาคือ ผู้ป่วยโควิดที่ประสงค์จะรักษาฟรี จะต้องเข้ารับการรักษาได้แต่ในโรงพยาบาลที่ตนเองมีสิทธิ อาทิ สิทธิบัตรทอง สิทธิประกันสังคม ประกันสุขภาพ หรือสวัสดิการราชการ ส่วนการรักษาโควิดกับโรงพยาบาลเอกชน หากไม่มีสิทธิใดๆ จะไม่สามารถขอเบิกจ่ายกับรัฐได้ และต้องจ่ายค่ารักษาเองทั้งหมด เว้นแต่จะเป็นผู้ป่วยเข้าข่าย 6 อาการภาวะวิกฤตฉุกเฉิน…”
ที่ผ่านมา ‘โรคโควิด’ ถือเป็นโรคติดต่อที่จำเป็นต้องได้รับการรักษาพยาบาลโดยฉุกเฉิน และได้จัดอยู่ในยูเซ็ป มาตั้งแต่ปี 2563 โดยประชาชนสามารถเข้ารับการรักษาฟรีไม่ว่าจะเป็นโรงพยาบาลรัฐหรือเอกชน และไม่มีการจ่ายส่วนต่างใดๆ แม้จะเข้ารักษากับโรงพยาบาลเอกชนก็ตาม
แต่หลังจากกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ประกาศเตรียมปลดโรคโควิด ออกจากยูเซ็ป (Universal Coverage for Emergency Patients: UCEP) หรือสิทธิรักษาฟรีสำหรับอาการเจ็บป่วยฉุกเฉิน เมื่อไม่นานมานี้
โดยให้ใช้แนวทางการรักษาตามสิทธิของประชาชนแต่ละบุคคล เช่น สิทธิบัตรทอง สิทธิประกันสังคม ประกันสุขภาพ ตลอดจนสวัสดิการข้าราชการ ซึ่งคาดว่าอาจจะมีผลในช่วง 1 มี.ค.-1 เม.ย.นี้ อย่างไรก็ตามในเรื่องของเวลานั้น ปัจจุบันยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจน
สธ.จ่อปลด'โควิด'ออกจากโรคฉุกเฉิน ให้รักษาตามสิทธิ คาดเริ่ม 1 มี.ค.
ดังนั้นแล้ว หากยกเลิกให้ผู้ป่วยโควิดเป็นผู้ป่วยฉุกเฉินแล้ว จะส่งผลกระทบต่อประชาชนอย่างไร? สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ได้รวบรวมข้อมูล มีรายละเอียดที่น่าสนใจดังนี้
จากคู่มือผู้ใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพบนเว็บไซต์ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ระบุว่า สิทธิยูเซ็ป คือ สิทธิการรักษาตามนโยบายรัฐ เพื่อคุ้มครองผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตให้สามารถเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลทุกแห่งที่ใกล้ที่สุดได้ โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายจนพ้นวิกฤต หรือสามารถเคลื่อนย้ายได้อย่างปลอดภัย แต่ต้องไม่เกิน 72 ชั่วโมง
โดย 6 อาการที่เข้าข่าย ภาวะวิกฤตฉุกเฉิน ได้แก่
- หมดสติ ไม่รู้สึกตัว ไม่หายใจ
- หายใจเร็ว หอบเหนื่อยรุนแรง หายใจติดขัดมีเสียงดัง
- ซึมลง เหงื่อแตก ตัวเย็น
- เจ็บหน้าอกเฉียบพลัน รุนแรง
- แขนขาอ่อนแรงครึ่งซีก พูดไม่ชัดแบบปัจจุบันทันด่วน หรือชักต่อเนื่องไม่หยุด
- อาการอื่นที่มีผลต่อการหายใจ ระบบการไหลเวียนโลหิต และระบบสมองที่เป็นอันตรายต่อชีวิต หากพบอาการที่เข้าข่าย
- ผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตเข้าโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุด
- โรงพยาบาลประเมินอาการและคัดแยกระดับความฉุกเฉิน
- ศูนย์ประสานคุ้มครองสิทธิ ผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตตรวจสอบความถูกต้องครบถ้วนของข้อมูล
- กรณีเข้าเกณฑ์ฉุกเฉินวิกฤต จะได้รับความคุ้มครองตามสิทธิ UCEP ทันทีแต่ไม่เกิน 72 ชั่วโมง
- กรณีไม่เข้าเกณฑ์ฉุกเฉินวิกฤตให้รีบประสานโรงพยาบาลตามสิทธิ หากประสงค์รักษาต่อต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายเอง
การปลดโควิดออกจากสิทธิยูเซ็ป ผลกระทบที่จะตามมาคือ ผู้ป่วยโควิดที่ประสงค์จะรักษาฟรี จะต้องเข้ารับการรักษาได้แต่ในโรงพยาบาลที่ตนเองมีสิทธิ อาทิ สิทธิบัตรทอง สิทธิประกันสังคม ประกันสุขภาพ หรือสวัสดิการราชการ
ส่วนการรักษาโควิดกับโรงพยาบาลเอกชน หากไม่มีสิทธิใดๆ จะไม่สามารถขอเบิกจ่ายกับรัฐได้ และต้องจ่ายค่ารักษาเองทั้งหมด
โดยปัจจุบัน สปสช.ได้ปรับแนวทางการเบิกจ่ายค่ารักษาเกี่ยวกับโรคโควิด ดังนี้
- ปรับค่าตรวจหาเชื้อโควิดด้วยวิธี RT-PCR ตรวจ 2 ยีนส์ อยู่ที่ 900 บาท ตรวจ 3 ยีนส์ อยู่ที่ 1,1000 บาท
- ปรับค่าตรวจหาเชื้อโควิดด้วย ATK อยู่ที่ 250-350 บาท ขึ้นอยู่กับเทคนิคของชุดตรวจ แต่จะต้องเป็นชุดตรวจ ATK แบบที่บุคลากรการแพทย์ใช้ (Professional Use)
- ปรับค่ารักษาตัวในฮอสพิเทล (Hospitel) อยู่ที่ 1,000 บาท/วัน เทียบเท่ากับการแยกกักตัวเองที่บ้าน (Home Isolation)
เงื่อนไขเคลมประกันโควิดใหม่ เริ่ม 15 ก.พ.นี้
ขณะเดียวกัน สมาคมประกันชีวิตไทย แจงข้อปฏิบัติในการเคลมประกันโควิดสำหรับผู้เอาประกันภัยที่ติดเชื้อโควิดของธุรกิจประกันชีวิต จะปรับหลักเกณฑ์การเคลมประกันโควิดใหม่ ที่จะจ่ายชดเชยให้ ‘ผู้ป่วยใน' แต่ไม่จ่ายชดเชยสำหรับผู้ป่วยที่รักษาตัวเองที่บ้าน (Home Isolation) ซึ่งจะต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ของ สธ. ข้อใดข้อหนึ่ง โดยจะเริ่มตั้งแต่วันที่ 15 ก.พ. 2565 ดังต่อไปนี้
ทั้งนี้การปรับแนวทางปฏิบัติทางการแพทย์ของสาธารณสุขครั้งนี้ จะครอบคลุมเฉพาะกรมธรรม์ประกันโควิด และประกันสุขภาพ ของบริษัทประกันชีวิตและวินาศภัยที่ให้ความคุ้มครองค่ารักษาพยาบาลผู้ป่วยใน และค่าชดเชยรายวันเท่านั้น ไม่เกี่ยวข้องกับประกันโควิด ‘เจอ-จ่าย-จบ’ ดังนั้นหากผู้ป่วยมีประกันโควิด ‘เจอ-จ่าย-จบ’ เพียงแค่มีผลตรวจพบเชื้อโควิดด้วยวิธี RT-PCR จากโรงพยาบาลหรือสถานพยาบาลที่ได้รับรองจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ก็สามารถนำหลักฐานมาแจ้งเคลมกับบริษัทประกันได้เหมือนเดิม
นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข
ขณะเดียวกัน สมาคมประกันชีวิตไทย แจงข้อปฏิบัติในการเคลมประกันโควิดสำหรับผู้เอาประกันภัยที่ติดเชื้อโควิดของธุรกิจประกันชีวิต จะปรับหลักเกณฑ์การเคลมประกันโควิดใหม่ ที่จะจ่ายชดเชยให้ ‘ผู้ป่วยใน' แต่ไม่จ่ายชดเชยสำหรับผู้ป่วยที่รักษาตัวเองที่บ้าน (Home Isolation) ซึ่งจะต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ของ สธ. ข้อใดข้อหนึ่ง โดยจะเริ่มตั้งแต่วันที่ 15 ก.พ. 2565 ดังต่อไปนี้
- เมื่อมีอาการไข้สูงกว่า 39 องศาเซลเซียส ระยะเวลานานกว่า 24 ชั่วโมง
- หายใจเร็วกว่า 25 ครั้ง/นาที ในผู้ใหญ่
- Oxygen Saturation น้อยกว่า 94%
- โรคประจำตัวที่มีการเปลี่ยนแปลง หรือจำเป็นต้องติดตามอาการอย่างใกล้ชิด ตามดุลยพินิจของแพทย์
- สำหรับในเด็ก หากมีอาการหายใจลำบาก ซึมลง ดื่มนมหรือทานอาหารน้อยลง
ทั้งนี้การปรับแนวทางปฏิบัติทางการแพทย์ของสาธารณสุขครั้งนี้ จะครอบคลุมเฉพาะกรมธรรม์ประกันโควิด และประกันสุขภาพ ของบริษัทประกันชีวิตและวินาศภัยที่ให้ความคุ้มครองค่ารักษาพยาบาลผู้ป่วยใน และค่าชดเชยรายวันเท่านั้น ไม่เกี่ยวข้องกับประกันโควิด ‘เจอ-จ่าย-จบ’ ดังนั้นหากผู้ป่วยมีประกันโควิด ‘เจอ-จ่าย-จบ’ เพียงแค่มีผลตรวจพบเชื้อโควิดด้วยวิธี RT-PCR จากโรงพยาบาลหรือสถานพยาบาลที่ได้รับรองจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ก็สามารถนำหลักฐานมาแจ้งเคลมกับบริษัทประกันได้เหมือนเดิม
นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข
รัฐยังดูแล จ่ายตามสิทธิที่ทุกคนมีอยู่ ไม่ต่างจากโรคอื่น
ล่าสุดนี้ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงกรณีที่จะมีการปลดโรคโควิดออกจากบริการของยูเซ็ป ซึ่งต่อมามีความกังวลว่า อาจจะทำให้ผู้ป่วยต้องเสียเงินเพิ่มเพื่อรักษาโรค ข้อเท็จจริงคือ เราจะนำสิทธิที่ให้ไว้ตามปกติ มาช่วยในการรักษา หากใครติดโควิด หากมีอาการหนัก สามารถเข้ารักษาฉุกเฉินได้ในสถานพยาบาลทุกที่ สปสช.จะดูแล เพราะสิทธิ์บัตรทองใช้ได้ทุกที่อยู่แล้ว
ในส่วนของบางคนที่บอกว่า พอออกจาก UCEP ก็หมายถึงรัฐจะไม่ดูแล จะยกเลิกสิทธิ์ทุกอย่าง จะไม่จ่ายนั้น ขอชี้แจงว่า เป็นการตีความที่ไม่ถูกต้อง ความเป็นจริง รัฐก็จ่ายตามสิทธิที่ทุกคนมีอยู่ และที่สำคัญใครฉุกเฉินหรือมีอาการหนัก เราต้องรักษา ทั้งจากเจ็บป่วยเพราะโควิด หรือโรคอื่น เราก็ดูแล
“โดยระบบฉุกเฉิน จะดูแลให้ 3 วันหลังจากนั้นก็จะมีการส่งตัวต่อไปที่โรงพยาบาลของรัฐ ซึ่งมีศักยภาพ และเตียงเพียงพอ เราไม่ได้ไปตัดการดูแล สำหรับผู้มีประกันหากใครต้องการความสะดวกสบาย สามารถไปใช้โรงพยาบาลเอกชนหากยินดีจะจ่ายส่วนต่าง ถือว่าเป็นสิทธิ์ที่ทำได้ หากเกรงว่าประกันภัย ประกันสุขภาพจะไม่ครอบคลุม กรมการแพทย์ สปสช. หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะออกหลักเกณฑ์ขึ้นมา จะมาเลี่ยงบาลีใช้ ใช้เหตุผลต่างๆ ทำให้ประชาชน ผู้ซื้อประกัน เสียผลประโยชน์ไม่ได้ ทำเช่นนั้น ถือว่าผิดกฎหมาย” นายอนุทิน กล่าว
ยันทุกคนใช้สิทธิ‘ยูเซ็ป’ได้ตามปกติ อาการวิกฤติรักษาได้ทุกที่
ขณะที่ นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวอีกว่า ทุกคนยังสามารถใช้สิทธิรักษา ตามสิทธิยูเซปได้ตามปกติทุกอย่าง เพียงแต่ว่ายูเซปนี้จะดูแลเรื่องผู้ป่วยวิกฤติจริงๆ ไม่ว่าจะเป็นอาการช็อค แขนขาอ่อนแรง หรืออาการอื่นๆ ที่จะทำให้เสียชีวิต หรือทุพพลภาพ หากเข้ารับการรักษาไม่ทัน เพื่อสำรองเตียงให้กับกลุ่มดังกล่าว โดยปัจจุบันมีเตียงรองรับกว่า 30,000 เตียง และมีเตียงสำหรับผู้ป่วยมีอาการน้อย 130,000 เตียง ซึ่งจะสามารถขยายเตียงไปให้ผู้วิกฤติได้เพิ่มเติมได้ เพราะหากไม่สำรองเตียงเอาไว้ เมื่อมีผู้ติดเชื้อมากขึ้นอาจจะต้องขยายเตียงลามไปจนถึงกลุ่มผู้ป่วยโรคอื่น
ขณะที่ปัจจุบัน การระบาดของโควิดในไทย พบว่าเป็นสายพันธุ์โอไมครอน กว่า 90% อาการรุนแรงน้อยกว่าสายพันธุ์เดลต้าถึง 7 เท่าตัว แต่ยังขอความร่วมมือประชาชนรีบฉีดวัคซีน เพราะหากฉีด 3 เข็ม ช่วยลดอัตราการเสียชีวิตและป่วยหนักได้กว่า 90%
“การไม่ติดเชื้อยังเป็นหนทางที่ดีที่สุด ขอให้ประชาชนรีบมาฉีดวัคซีน และขอให้คิดเสมอว่าตนเองและคนรอบข้างติดเชื้อแล้ว เพื่อป้องกันและเว้นระยะห่างซึ่งกันและกัน พร้อมย้ำว่าเตียงยังมีเพียงพอสำหรับดูแลผู้ป่วยอาการปานกลางและหนักได้ แต่หากอาการไม่รุนแรง ให้ประสานไปที่ 1330 เพื่อดูแลในระบบ HI และ CI ต่อไป” นพ.ธงชัย กล่าว
จ่อยื่นหนังสือถึง คปภ. ให้ผู้ป่วย HI-CI มีสิทธิ์ได้รับการเยียวยา
ด้าน นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กล่าวเสริมว่า ปัจจุบันคนไทยมีสิทธิรักษาพยาบาลอยู่ 100% ทั้งบัตรทอง ประกันสังคม และสิทธิการรักษาของข้าราชการ แต่เมื่อเกิดโรคโควิดเป็นเวลากว่า 2 ปี จึงมีการประกาศให้ใช้ยูเซป กล่าวคือผู้ป่วยโควิดจะสามารถเข้ารักษาที่ไหนก็ได้ในช่วงนั้น แต่ปัจจุบันพบว่าโอไมครอนมีอาการน้อย และประชาชนนิยมเดินทางไปรักษาตามโรงพยาบาลใหญ่ๆ เช่น โรงพยาบาลมหาวิทยาลัย ทำให้ผู้ป่วยโรคอื่นๆ เดินทางไปรักษาไม่ได้ ที่ประชุมจึงเห็นว่าควรปรับโรคโควิด ให้ไปรักษาตามสิทธิ์ที่มีอยู่ตามสิทธิ์การรักษา
ส่วนการรักษาที่บ้าน (Home Isolation: HI) หากเป็นผู้ป่วยระบบไหนจะเข้าสู่ระบบ HI ของระบบนั้น โดยบัตรทอง สามารถโทร 1330, สิทธิ์ประกันสังคม โทร 1506, สิทธิ์เบิกจ่ายตรง โทร 02-270-6400, ต่างด้าว โทร 02-590-1578 และกรณีฉุกเฉินวิกฤติ โทร 1669 จะสามารถเข้ารับรักษาที่โรงพยาบาลได้ทุกแห่ง
ทั้งนี้ยืนยันว่าจะอำนวยความสะดวกแก่ประชาชน และไม่เป็นอุปสรรคต่อการเข้ารับการรักษา โดยให้ผู้ป่วยสามารถเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเครือข่ายได้
นพ.ธเรศ กล่าวเพิ่มเติมว่า ขอให้ประชาชนตรวจสอบสิทธิรักษาพยาบาลของตนเอง ขณะเดียวกันทาง สธ.จะให้สถานพยาบาลอธิบายกับผู้ป่วยเรื่องไปรักษาตามโรงพยาบาลเครือข่ายเช่นกัน
ส่วนเรื่องระบบประกันสุขภาพที่ซื้อเอง ก็ยังเป็นไปตามกรมธรรม์นั้น แต่ที่รับทราบพบว่ามีบางบริษัทตีความ ไม่มีการจ่ายเงินและคุ้มครองให้กับผู้ป่วย HI ซึ่งทางกระทรวงกำลังจะทำหนังสือไปที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ว่าผู้ป่วยที่รักษาระบบ HI เป็นการรักษาแบบผู้ป่วยใน จึงมีสิทธิ์ได้รับการเยียวยา และจะมาใช้ข้ออ้างว่าไม่ได้แอดมิดในโรงพยาบาลไม่ได้ เพราะระบบการดูแลโดยชุมชน (Community Isolation : CI) และ HI ถือเป็นการรักษาเช่นเดียวกัน พร้อมยืนยันว่าเรื่องการรักษาในฮอสพิเทลยังไม่ได้ยกเลิก
หวั่นกระทบกลุ่มรายได้น้อย-การระบาดลาม-เศรษฐกิจสะดุด
อย่างไรก็ตาม นายอนุสรณ์ ธรรมใจ อดีตกรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะ กระทรวงการคลัง และอดีตคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวถึงการปลดโควิดออกจากยูเซ็ปด้วยว่า ขอคัดค้านนำโรคโควิดออกจากการให้บริการเจ็บป่วยฉุกเฉิน เนื่องจากจะกระทบต่อครัวเรือนที่มีรายได้น้อยอย่างมาก และกระทบต่อแรงงานรายวัน นอกจากนั้นยังจะทำให้การป้องกันและควบคุมทำได้ยากลำบากขึ้น เนื่องจากแรงงานรับจ้างรายวันจะไม่บอกนายจ้างว่าตนเองป่วย หรือป่วยก็จะไม่ยอมไปรักษาหรือกักตัวเป็นพาหนะของการแพร่เชื้อได้
หากไม่มีรักษาฟรีคาดว่า จะมีระบาดมากขึ้นในกลุ่มครอบครัวรายได้น้อยและกลุ่มแรงงาน และในที่สุดจะส่งกระทบเศรษฐกิจรุนแรง หากรัฐบาลยังเดินหน้ารักษาฟรีโดยยังกำหนดให้โรคโควิดโอไมครอนเป็นโรคเจ็บป่วยฉุกเฉินจะทำให้การกระเตื้องขึ้นของเศรษฐกิจไม่สะดุด รัฐบาลจะมีรายได้จากภาษีมากขึ้นและสามารถนำมาจ่ายให้กับงบประมาณสาธารณสุขได้
“เราสามารถแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเรื่องงบประมาณด้วยการปรับลดงบซื้ออาวุธนำมาเพิ่มให้กระทรวงสาธารณสุขเพื่อให้การรักษาโควิดสามารถดำเนินต่อไปได้จนกว่าการระบาดจะยุติ ประชาชนผู้มีรายได้น้อยที่เจ็บป่วยที่จำเป็นต้องพัก Hospitel และ โรงพยาบาลสนาม รัฐบาลยังคงต้องดูแลค่าใช้จ่ายให้ต่อไป” นายอนุสรณ์ กล่าว
นายอนุสรณ์ กล่าวอีกว่า ประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศนั้น ไม่มีประกันสุขภาพจากภาคเอกชนอยู่แล้ว ส่วนประชาชนที่ซื้อประกันสุขภาพภาคเอกชน ต่อไปหากมีการประกาศให้โรคโควิดเป็นโรคประจำถิ่น สมาคมประกันชีวิตไทยก็อาจออกแนวทางในการไม่จ่ายค่าชดเชยรายวันและค่ารักษาพยาบาลอาจไม่ครอบคลุมผู้ป่วยแบบรักษาที่บ้าน (Home Isolation) อันอาจทำให้ประชาชนผู้ถือกรมธรรม์เสียสิทธิได้ การประกาศให้โรคโควิด เป็นโรคประจำถิ่น ต้องมีความมั่นใจอย่างชัดเจนว่า โรคโควิดจะไม่กลับมาระบาดและต้องปิดเมืองปิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจกันอีก
ทั้งหมดนี้เป็นผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้น หากมีการประกาศปลดโควิดออกจากยูเซ็ป แต่การประกาศนี้จะเริ่มมีผลเมื่อใดนั้นจะต้องติดตามอย่างใกล้ชิดกันต่อไป
ภาพจาก : กรุงเทพธุรกิจ
อ้างอิงจาก :
https://www.nhso.go.th/page/coverage_rights_emergency_patients
https://www.tlaa.org/page_bx.php?cid=23&cname=&cno=1384
ที่มา สำนักข่าวอิศรา