วันพฤหัสบดี, กุมภาพันธ์ 03, 2565

เปิด 7 ข้อกังขาที่ทำให้ภาคประชาชนมองว่ารัฐบาลกำลังให้ผลประโยชน์แก่ บ.คิงส์เกต "เกินไปกว่าข้อพิพาท"

สภาพพื้นที่เหมืองทองอัคราซึ่งตั้งอยู่บริเวณรอยต่อ 3 จังหวัด--พิจิตร พิษณุโลก เพชรบูรณ์

เหมืองทองอัครา: เปิด 7 ข้อกังขาของภาคประชาชนกรณีรัฐบาลอนุญาตให้คิงส์เกตกลับมาเปิดเหมืองทอง

2 กุมภาพันธ์ 2022
บีบีซีไทย

กลุ่มตัวแทนประชาชนที่ใช้ชื่อว่า "เครือข่ายประชาชนผู้เป็นเจ้าของแร่" พร้อมกับชาวบ้านที่อาศัยใกล้เหมืองทองอัครา ในพื้นที่รอยต่อ จ.พิจิตร เพชรบูรณ์ และพิษณุโลก ยื่นหนังสือต่อผู้นำฝ่ายค้านและพรรคร่วมฝ่ายค้าน เรียกร้องให้ตรวจสอบกรณีรัฐบาลอนุญาตให้ บ.คิงส์เกต คอนโซลิเดทเต็ด ลิมิเต็ด ของออสเตรเลีย ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของ บ.อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) ผู้ดำเนินการเหมืองทองอัคราสามารถกลับมาดำเนินการได้อีกครั้ง

ความเคลื่อนไหวดังกล่าวมีขึ้นภายหลังจากที่ บ.คิงส์เกตฯ เปิดเผยว่ารัฐบาลไทยอนุมัติประทานบัตรเหมืองแร่ 4 แปลง ปูทางสู่การเปิดเหมืองชาตรีอีกครั้ง โดยการอนุมัตินี้มีขึ้นไม่นานก่อนที่คณะอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศจะเลื่อนการอ่านคำชี้ขาด "คดีเหมืองทองอัครา" ที่บริษัทฟ้องราชอาณาจักรไทยออกไปโดยไม่มีกำหนด จากเดิมที่คาดว่าจะมีคำชี้ขาดในวันที่ 31 ม.ค.

คดีเหมืองทองอัครา เป็นคดีที่ บ.คิงส์เกตฯ ฟ้องร้องต่ออนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศเรียกร้องให้รัฐบาลไทยชดเชยค่าเสียหายกว่า 750 ล้านดอลลาร์สหรัฐหรือประมาณ 30,000 ล้านบาท จากกรณีที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ลงนามในคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 72/2559 สั่งปิดเหมืองทองอัครา ซึ่งบริษัทมองว่าเป็น "คำสั่งปิดเหมืองโดยมิชอบด้วยกฎหมายของรัฐบาลไทย" และเป็นคำสั่งที่ละเมิดข้อตกลงการค้าเสรีไทย-ออสเตรเลีย

คิงส์เกตเผยรัฐบาลไทยอนุมัติให้เปิดเหมืองทองคำชาตรี ขณะที่อนุญาโตฯ เลื่อนอ่านคำชี้ขาดโดยไม่มีกำหนด
คิงส์เกตระบุรัฐบาลอนุมัติประทานบัตรเหมืองแร่ 4 แปลง ปูทางสู่การเปิดเหมืองชาตรีอีกครั้ง
"คิงส์เกต" เผย รัฐบาลไทยอนุญาตเอากากแร่ทองและเงินออกขายได้
อนุญาโตตุลาการเตรียมตัดสินข้อพิพาท ไทยต้องจ่าย 3 หมื่นล้านบาทให้คิงส์เกตหรือไม่

นอกจากกลุ่มตัวแทนจากเครือข่ายประชาชนผู้เป็นเจ้าของแร่แล้วยังมีตัวแทนชาวบ้าน อ.เนินมะปราง จ.พิษณุโลก มาร่วมยื่นหนังสือดังกล่าวด้วยราว 20 คนโดยมี นพ. ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทยและผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎรเป็นตัวแทนฝ่ายนิติบัญญัติรับเรื่องดังกล่าวพร้อมด้วยตัวแทนของพรรคฝ่ายค้านอื่น ๆ ด้วย

ตัวแทนเครือข่ายฯ ได้กล่าวถึงความไม่ชอบมาพากลของรัฐบาลที่อนุญาตให้ บ.คิงส์เกตฯ เตรียมกลับมาเปิดเหมืองทองอัครา พร้อมกับเรียกร้องให้ฝ่ายค้านนำปัญหาดังกล่าวไปอภิปรายซักฟอกรัฐบาล รวมถึงหาข้อมูลข้อเท็จจริงในกระบวนการอนุญาโตตุลาการมาเปิดเผยสู่สาธารณะ
น.ส. จุฑามาส ศรีหัตถผดุงกิจ ตัวแทนเครือข่ายฯ ระบุว่าเครือข่ายฯ ได้ติดตามกรณีนี้มาโดยตลอดและเห็นว่าเหมืองทองอัคราสมควรจะถูกปิด เนื่องจากการประกอบการมีข้อบกพร่องหลายอย่าง เช่น

-ประชาชนไม่มีส่วนร่วมกระบวนการจัดทำรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและการอนุญาตประกอบการเหมืองทอง

-บริษัทจัดสรรงบประมาณเพื่อการพัฒนาชุมชนโดยรอบในระดับที่ต่ำมากคือเพียง 0.1% ของมูลค่าทองคำที่ได้

-เหมืองทองไม่มีแนวกันชน ทำให้หมู่บ้านที่อยู่ติดกับเหมืองกลายเป็นหมู่บ้านร้าง ชุมชนล่มสลาย,

-ไม่มีการฟื้นฟูพื้นที่ในระหว่างและหลังปิดเหมือง

"เป็นเรื่องน่าเสียใจที่รัฐบาลไทยไม่ได้นำข้อมูลนี้ไปใช้สู้คดีในขั้นอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศอย่างเพียงพอ เสมือนว่ามีพฤติกรรมสมยอมให้ไทยต้องแพ้คดีฯ หรือแลกกับการไม่แพ้คดีโดยให้ บ.คิงส์เกตฯ กลับมาทำเหมืองแร่ทองคำอีกครั้งได้" เธอกล่าว


นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ผู้นำฝ่ายค้าน รับหนังสือจากตัวแทน "เครือข่ายประชาชนผู้เป็นเจ้าของแร่"

คำถามต่อสิ่งที่รัฐบาลไทยให้ บ.คิงส์เกต

ผู้แทนเครือข่ายฯ อ้างถึงรายงานข่าวในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า บ.อัคราฯ ได้รับประทานบัตร รวมทั้งผลประโยชน์อื่น ๆ ที่อาจจะเกินไปกว่าข้อพิพาทในชั้นอนุญาโตตุลาการฯ เพื่อแลกกับรัฐบาลประยุทธ์ไม่ต้องถูกคณะอนุญาโตตุลาการฯ มีคำสั่งชี้ขาดให้แพ้คดี ซึ่งต้องเสียค่าปรับประมาณ 24,750 ล้านบาท ตามอัตราแลกเปลี่ยนในปัจจุบัน

โดยเครือข่ายฯ ตั้งข้อสังเกต 7 ประการที่ทำให้พวกเขามองว่ารัฐบาลกำลังให้ผลประโยชน์แก่ บ.คิงส์เกตที่เกินไปกว่าข้อพิพาท

1. บริษัทจะได้รับอนุญาตให้กลับมาทำเหมืองใหม่บนพื้นที่เดิม หรือ "แหล่งชาตรี" ที่ยังเหลืออีก 1 แปลงจากทั้งหมด 5 แปลง พื้นที่ 1,259 ไร่ และใน "แหล่งชาตรีเหนือ" ที่ยังเหลืออีก 8 แปลง จากทั้งหมด 9 แปลง พื้นที่ 2,466 ไร่ รวมทั้งการขยายอายุประทานบัตรแหล่งชาตรีที่หมดอายุประทานบัตรไปเมื่อปี 2563 หรือต่ออายุประทานบัตรให้กับแหล่งชาตรีไปอีก 10-20 ปี ขยายอายุประทานบัตรแหล่งชาตรีเหนือที่หมดอายุประทานบัตรในปี 2571 ด้วย เนื่องจากเสียโอกาสที่ไม่ได้ทำเหมืองมาหลายปีจากคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 72/2559 ที่่สั่งการทำเหมืองทองทั้งหมดนับตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2560

2. บริษัทจะได้รับอนุญาตให้ทำเหมืองแร่ในพื้นที่ใหม่นอกจากข้อที่ 1 ที่เป็นคำขอประทานบัตรที่ค้างมานานหลายปี ตามข้อมูลที่บ.คิงส์เกตฯ เคยแถลงต่อตลาดหลักทรัพย์ในประเทศออสเตรเลีย พบว่าเป็นพื้นที่ใหม่ดังกล่าวคือ "แหล่งสุวรรณ" ซึ่งอยู่ห่างจากแหล่งชาตรีขึ้นไปทางเหนือ 6-10 กิโลเมตร อยู่บนพื้นที่ประมาณ 20 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 12,500 ไร่ คาดว่าน่าจะอยู่ในเขต ต.วังโพรง อ.เนินมะปราง จ.พิษณุโลก และ "แหล่งโชคดี" อยู่ห่างจาก "แหล่งชาตรี" ขึ้นไปทางเหนือ 20 กิโลเมตร บนพื้นที่ประมาณ 18,750 ไร่ คาดว่าจะอยู่ในเขตของ ต.บ้านมุง และ ต.วังยา อ.เนินมะปราง จ.พิษณุโลก ซึ่งเป็นแหล่งทองคำที่ทับลงบนพื้นที่ทั้งในและนอกเขตอุทยานแห่งชาติทุ่งแสลงหลวงและป่าสงวนแห่งชาติป่าลุ่มน้ำวังทองฝั่งซ้าย



3. จะได้รับการขยายเวลาหรือต่ออายุใบอนุญาตต่าง ๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับการทำเหมืองทองตามประทานบัตรแหล่งชาตรีและแหล่งชาตรีเหนือ เช่น ใบอนุญาตประกอบโลหกรรม ใบอนุญาตจัดตั้งสถานที่เพื่อการเก็บขังน้ำขุ่นข้นหรือมูลดินทรายนอกเขตเหมืองแร่ เป็นต้น ซึ่งถือว่าเป็นการ "กระทำผิดให้เป็นถูก" ด้วย คือ อนุญาตให้โรงประกอบโลหกรรมขยายการถลุงแร่ทองคำเพิ่มอีกสามเท่าจาก 8,000 ตันต่อวัน เป็น 24,000 ตันต่อวัน ทั้งที่โรงงานแห่งนี้สร้างก่อนได้รับอนุญาตโรงงานและก่อนรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) จะผ่านความเห็นชอบ ซึ่งขณะนี้เป็นคดีความอยู่ในศาลปกครองสูงสุด โดยศาลปกครองชั้นต้นได้มีคำสั่งไม่ให้โรงประกอบโลหกรรมส่วนขยายดำเนินการ

4. บริษัทจะได้รับการลดหย่อนค่าภาคหลวงแร่ ผลประโยชน์พิเศษที่จะต้องมอบให้แก่กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) เมื่อได้ประทานบัตรและเมื่อได้ภาษีอื่น ๆ ของการประกอบกิจการอื่น ๆ และเหมืองทองโลหกรรม

5. นำ บ.อัคราฯ เข้าตลาดหลักทรัพย์ไทยโดยไม่ต้องทำตามขั้นตอนของกฎหมายเพิ่มเติม

6. บริษัทจะได้รับอนุญาตอาชญาบัตรพิเศษสำรวจแร่ทองคำไม่ต่ำกว่า 1 ล้านไร่ ซึ่งเครือข่ายประชาชนผู้เป็นเจ้าของแร่มีข้อมูลว่า บ.คิงส์เกตฯ ได้รับอาชญาบัตรไปแล้ว 44 แปลง เนื้อที่ประมาณ 4 แสนไร่ ใน จ.เพชรบูรณ์ ตามมติคณะกรรมการแร่เมื่อวันที่ 16 ต.ค. 2563 ส่วนอีก 6 แสนแปลงอยู่เขตรอยต่อ 3 จังหวัด พิจิตร เพชรบูรณ์และพิษณุโลก และพื้นที่อื่น ๆ ใน จ.ลพบุรี ชลบุรีและจันทบุรี

7. บ.คิงส์เกตฯ จะได้รับอนุญาตให้ขนสินแร่ทองคำและเงินคงค้างในระบบผลิตเดิมก่อนถูกคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 72/2559 ระงับยับยั้งไว้เข้าสู่กระบวนการถลุงโลหะทองคำและเงินในโรงถลุงภายในประเทศได้ตั้งแต่เดือน ก.ย. 2563

ก่อนหน้านี้ นายนิรันดร์ ยิ่งมหิศรานนท์ อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ได้เคยอธิบายถึงกรณีเห็นชอบต่ออายุประทานบัตร บมจ.อัครา ฯ เมื่อวันที่ 21 ม.ค. ที่ผ่านมาว่า สำหรับการอนุญาตอาชญาบัตรพิเศษและการประกอบโลหกรรม รวมถึงการอนุญาตให้ต่ออายุประทานบัตรเหมืองแร่ เป็นไปเพื่อสนับสนุนภาคอุตสาหกรรมของไทยให้มีวัตถุดิบทองคำและเงินทดแทนการนำเข้า ช่วยเสริมสร้างเศรษฐกิจให้กับประเทศ และยกระดับรายได้ ตลอดจนคุณภาพชีวิตของประชาชนในชุมชนบริเวณใกล้เคียงให้สูงขึ้น ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจที่ฝืดเคือง ประชาชนมีรายได้ลดลงจากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 โดยมีเงื่อนไขว่า บริษัทฯ ต้องดำเนินการด้วยความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชนด้วย

ฝ่ายค้านรับปากตั้งกระทู้ถามรัฐบาล

ด้าน นพ. ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทยและผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร กล่าวภายหลังการรับหนังสือจากเครือข่ายประชาชนฯ ว่า พรรคร่วมฝ่ายค้านจะนำเรื่องนี้เข้าสู่กระบวนการของทางรัฐสภาตามความประสงค์ของกลุ่มผู้ร้องเรียน

"ในปีนี้พรรคร่วมฝ่ายค้านได้เขียนญัตติเป็นการอภิปรายทั่วไปตาม รัฐธรรมนูญมาตรา 152 เพื่อนำเรื่องเหมืองทองอัครา เรื่องการอนุญาตอนุมัติการเปิดเหมืองใหม่ การให้สิทธิบัตรต่าง ๆ เข้าไปเป็นประเด็นสอบถามข้อเท็จจริงในสภา" นพ. ชลน่านกล่าว และจะนำข้อมูลดังกล่าวที่เครือข่ายตั้งข้อสังเกตมาตั้งเป็นกระทู้สดสอบถามผู้เกี่ยวข้องในสภาทันทีในวันพรุ่งนี้ (3 ก.พ.)

นอกจากนี้ผู้นำฝ่ายค้านกล่าวว่า จะลงพื้นที่ไปรับฟังความคิดเห็นและพบปะประชาชนในพื้นที่ รวมทั้งผลักดันให้เรื่องนี้เข้าไปยังคณะกรรมาธิการเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงเชิงลึกคู่ขนานไปด้วย