วันพฤหัสบดี, กุมภาพันธ์ 03, 2565
ศึกชิงเก้าอี้ผู้ว่าฯกทม. ชัชชาติ VS มาดามแป้ง จุดตัดชี้ชะตา 3 ป.!
เริ่มเป็นรูปเป็นร่างขึ้นตามลำดับ สำหรับศึกเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) หลังถูกคำสั่งมาตรา 44 แช่แข็งมานาน เกือบ 6 ปีเต็ม
ทบทวนความจำศึกเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ครั้งล่าสุดเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 3 มี.ค.2556 ครั้งนั้น ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร หรือ “คุณชายหมู” จากพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ได้รับการเลือกตั้ง 1,256,349 คะแนน แซงทางโค้ง พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ จากพรรคเพื่อไทย (พท.) ที่ได้ 1,077,899 คะแนน
จากนั้นหลังเกิดเหตุยึดอำนาจ วันที่ 18 ต.ค. 2559 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช.ใช้อำนาจ มาตรา 44 ปลดฟ้าผ่า “คุณชายหมู” พร้อมตั้ง “บิ๊กวิน” พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง เป็นผู้ว่าฯ กทม.แทน
ลากยาวตั้งแต่ปี 2559 มาถึง ปัจจุบัน!
อย่างไรก็ตาม หลังจากมีกระแสกดดันอย่างหนักทั้งจาก ภาคประชาชน-นักวิชาการ-นักการเมือง ทำให้ไทม์ไลน์ เลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. เริ่มมีความชัดเจนมากที่สุดในรอบเกือบ 6 ปี
พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย ในฐานะ พี่กลาง 3 ป. รายงานในที่ประชุม ครม.นัดล่าสุด ไทม์ไลน์เลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.แบ่งเป็น 3 ช่วงหลัก
“ช่วงแรก” ต้นเดือน มี.ค. กระทรวมหาดไทย เสนอ ครม.เรื่องเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. อย่างเป็นทางการ เมื่อ ครม.เห็นชอบถือว่าเริ่มเดินหน้านับหนึ่ง
“ช่วงสอง” ปลายเดือน มี.ค. กกต.ประกาศวันรับสมัครเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ถือว่านับสอง
“ช่วงสาม” ภายในเดือน พ.ค. เลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. คู่ขนานกับ เลือกตั้งสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) ถือว่านับสาม เสร็จสิ้นภารกิจ แช่แข่งมานาน 6 ปี
จับอารมณ์รู้เลย สาเหตุที่ก่อนหน้านี้ ผู้มีอำนาจเข้าเกียร์ว่างไม่มีความชัดเจนเรื่องเปิดคูหาเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ปัญหาหลักมาจากความไม่พร้อมของ พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ในฐานะพรรคนั่งร้านค้ำยันอำนาจให้ กลุ่ม 3 ป. ที่ไม่สามารถ หาผู้ท้าชิง ไปชนกับ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ อดีต รมว.คมนาคม เจ้าของฉายา บุรุษที่แข็งแกร่งที่สุดในปฐพี
เมื่อ “กลุ่ม 3 ป.” ยอมคายอำนาจ เท่ากับเป็นสัญญาณชี้ชัด พรรค พปชร.ได้ตัวเต็งไปสู้ศึกเลือกตั้งสมรภูมิเสาชิงช้า หลังจากนี้ รอเพียงวัน ว. เวลา น. ตัดริบบิ้น จุดพลุเปิดตัว
ประเด็นที่น่าสนใจจากการตามแกะร่องรอยทางการเมือง เมื่อวันที่ 26 ม.ค. มีกระแสข่าว “อนุสรี ทับสุวรรณ” ส.ส.หญิง จากพรรครวมพลังประชาชาติไทย (รปช.) ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งเลขานุการผู้ว่าฯ กทม. สมัยคุณชายหมู มีชื่อโผล่ เป็นแคนดิเดต ชิงผู้ว่าฯ กทม.ในนามพรรค พปชร
ทว่าจังหวะไล่เลี่ยกันก่อนหน้านั้นไม่ถึง 24 ชั่วโมง วันที่ 25 ม.ค. แฟนเพจ “Madam Pang – มาดามแป้ง – นวลพรรณ ล่ำซำ” โพสต์ภาพ “มาดามแป้ง-นวลพรรณ” ที่ก่อนหน้านี้ มีกระแสข่าวเป็นแคนดิเดต ชิงผู้ว่าฯ กทม.ในนามพรรค พปชร.เปลี่ยนลุคใหม่
เป็นภาพมาดามแป้ง ใส่เสื้อเชิ้ตแขนยาวสีขาว สวมด้วยกางเกงยีน ยืนเด่นเปล่งประกายอ่อร่า แบ๊กกราวด์เบื้องหลังคือชุมชนริมทางรถไฟแห่งหนึ่ง พร้อมระบุข้อความปริศนา
“ไม่ว่าเราจะอยู่ในสถานะใด สิ่งที่สำคัญเลยในความสัมพันธ์ ก็คือการให้เกียรติซึ่งกันและกัน เคารพตัวตนที่เราเป็น และตัวตนที่เป็นเขา ถึงจะมีบางมุมที่แตกต่างกันบ้าง แต่ทุกคนย่อมมีเหตุผลของตัวเองจงให้เกียรติคนอื่นให้เป็น ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่เราควรทำ”
จากการตรวจสอบ ข้อมูลจำนวนประชากร จากการทะเบียนของสำนักงานสถิติแห่งชาติปี 2564 พบ พื้นที่กรุงเทพฯ มีประชากร รวม 5,527,994 คน ในจำนวนนี้เป็นผู้อายุ 18 ปีขึ้นไปมีสิทธิเลือกตั้ง 4,630,879 คน แบ่งออกได้ทั้งหมด 9 กลุ่ม
(1) กลุ่ม “นิวโหวตเตอร์” (New Voter) อายุ 18-20 ปี จำนวน 182,349 คน
(2) กลุ่มอายุ 21-30 ปี 746,210 คน
(3) กลุ่มอายุ 31-40 ปี 784,447 คน
(4) กลุ่มอายุ 41-50 ปี 874,095 คน
(5) กลุ่มอายุ 51-60 ปี 825,811 คน
(6) กลุ่มอายุ 61-70 ปี 608,047 คน
(7) กลุ่มอายุ 71-80 ปี 307,111 คน
(8) กลุ่มอายุ 81-90 ปี 125,307 คน
(9) กลุ่มอายุ 91-100 ปี 22,831 คน และคนอายุ 101 ปีขึ้นไปมีจำนวน 2,593 คน
ศึกเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. คือสมรภูมิแย่งชิงพื้นที่ยุทธศาสตร์เมืองหลวง เสมือนกระจกสะท้อนศึกเลือกตั้งใหญ่ ก่อนรัฐนาวาประยุทธ์ ครบวาระต้นปี 2566
พรรค พปชร. ในฐานะนั่งร้านค้ำยันอำนาจให้พี่น้อง 3 ป. ต้องพลิกตำราพิชัยสงคราม ศึกษากลศึกทุกสมรภูมิ ระดมไพร่พล เข้าตีจุดยุทธศาสตร์เมืองหลวงแบบทุ่มสุดตัว เพื่อใช้เป็นหนึ่งในจิ๊กซอว์สำคัญของแผนต่อท่ออำนาจ 3 ป.
ทว่าหากผลเลือกตั้งสนามเมืองหลวงออกมาตรงข้าม เหมือนที่ พปชร.ปราชัยศึกเลือกตั้งซ่อม 3 สนามรวด
เท่ากับเป็นจุดตัดสำคัญที่ส่งสัญญาณนับถอยหลังกลุ่มพี่น้อง 3 ป.ได้เช่นกัน.
ขุนไพร พิเคราะห์การเมือง
ที่มา เดลินิวส์ออนไลน์