iLaw
12h ·
กระแส #สภาล่ม เริ่มดังขึ้นเรื่อย ๆ หลังจากตั้งแต่ที่เปิดปี 2565 มาจนถึงการประชุมวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2565 การประชุมของสภาผู้แทนราษฎรล่มไปแล้ว 3 ครั้ง และหากนับตั้งแต่สภาผู้แทนราษฎรชุดนี้เริ่มทำงานหลังการเลือกตั้งทั่วไปปี 2562 มีถึง 15 ครั้งที่องค์ประชุมสภาไม่ครบ ทำให้ต้องปิดสภาไปและยกยอดการพิจารณากฎหมายไปการประชุมครั้งหน้า
.
สภาล่มคือเหตุการณ์ที่องค์ประชุมสภาไม่ครบถึงกึ่งหนึ่งของจำนวน ส.ส. ที่ปฏิบัติงานอยู่ รัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 120 และข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร 2562 ข้อ 25 ระบุให้ที่ประชุมต้องมี ส.ส. แสดงตนอย่างน้อยกึ่งหนึ่ง หากไม่ครบตามจำนวนข้างต้น ก็ไม่สามารถประชุมต่อไป นอกจากนี้ ก่อนการลงมติทุกครั้งประธานสภาจะต้องกดออดเพื่อเรียก ส.ส. ให้มีแสดงตนเพื่อตรวจสอบองค์ประชุม หากไม่ครบกึ่งหนึ่ง ประธานสภาก็จะสั่งปิดประชุมเช่นกัน
.
ทั้งนี้ การแสดงตนหรือไม่นั้นเป็นคนละอย่างกับจำนวนผู้มาร่วมประชุม ส.ส. อาจจะมารายงานตัวในช่วงเช้า และอาจจะต้องไปประชุมกรรมาธิการหรือปฏิบัติงานอื่น และจะเข้ามาแสดงตนตอนประธานกดออดเรียกหรือไม่ก็ได้
.
ผลจากการประชุมสภาล่มที่สำคัญคือทำให้การพิจารณาร่างกฎหมายเป็นไปด้วยความล่าช้า หากมีการอภิปรายร่างกฎหมายและเมื่อถึงเวลาแสดงตนเพื่อลงมติแล้ว ส.ส. แสดงตนไม่ถึงกึ่งหนึ่ง ก็จะต้องยกยอดการลงมติไปในการประชุมครั้งต่อไป รวมถึงลำดับของร่างกฎหมายที่จะได้พิจารณาต่อก็ต้องช้าตามกันไปด้วย
.
การไม่แสดงตนแม้ว่าจะเข้าประชุมนั้นเป็นกลยุทธ์หนึ่งที่ฝ่ายค้านมักใช้ในเกมสภา ในหลายครั้ง แม้ว่าฝ่ายค้านจะเข้าร่วมประชุม แต่เมื่อถึงคราวต้องเสียบบัตรแสดงตน ส.ส. ฝ่ายค้านก็จะไม่แสดงตน หรือใช้วิธีการเดินออกจากสภา เพื่อเป็นการกดดันให้ ส.ส. ฝ่ายรัฐบาลในฐานะเสียงข้างมากต้องเข้าประชุม หาก ส.ส. ฝ่ายรัฐบาลไม่สามารถมาได้ถึงกึ่งหนึ่งของสภา และ ส.ส. ฝ่ายค้านเลือกจะไม่แสดงตน ประธานสภาก็จะต้องสั่งปิดประชุม
.
การรักษาองค์ประชุมจึงเป็นมาตรวัดสเถียรภาพของรัฐบาลและความสามารถของวิปรัฐบาล ในฐานะที่เป็นผู้ประสานงานให้ ส.ส. ฝ่ายตัวเองเข้าประชุม และอาจจะต้องคุยกับฝ่ายค้านเพื่อให้ช่วยรักษาองค์ประชุมในบางครั้ง
.
หากมองเหตุการณ์สภาล่มในปัจจุบัน จะเห็นว่าความเปลี่ยนแปลงภายในพรรคพลังประชารัฐในช่วงหลังมีความสัมพันธ์กับความถี่ขององค์ประชุมสภาไม่ครบ พรรคพลังประชารัฐต้องเจอกับการสูญเสียครั้งสำคัญในช่วงต้นเดือนพฤศจิกายน 2564 เมื่อวิรัช รัตนเศรษฐ วิปรัฐบาล ถูกศาลสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ ส.ส. ทำให้ นิโรธ สุนทรเลขา ส.ส. พลังประชารัฐจากจังหวัดนครสวรรค์ต้องขึ้นมาเป็นวิปรัฐบาลแทน ซึ่งนับตั้งแต่มีการเปลี่ยนตัวผู้ประสานงาน สภาผู้แทนราษฎรล่มถึง 7 ครั้งภายในเวลาเพียงสามเดือน จนนิโรธต้องออกมาขอความร่วมมือกับฝ่ายค้านให้ช่วยรัฐบาลแสดงตน
.
อีกหนึ่งปัญหาภายในพรรคพลังประชารัฐคือการขับธรรมนัส พรหมเผ่าพร้อม ส.ส. อีก 20 คนออกจากพรรค ทำให้เสียงในสภาที่ฝ่าบรัฐบาลควรจะคุมได้หายไปอีก นับตั้งแต่ที่มีการขับธรรมนัสออกจากพรรคในวันที่ 19 มกราคม จนถึงสภาล่มครั้งล่าสุดในวันที่ 4 กุมภาพันธ์ สภาล่มไปแล้วทั้งหมด 3 ครั้ง โดยเฉพาะในวันที่ 19 มกราคม ท่ามกลาง ส.ส. พรรคพลังประชารัฐบางตาในสภาเนื่องจากไปรอการประชุมที่บ้านป่ารอยต่อที่จะตัดสินชะตาของธรรมนัส ผู้ที่เสนอให้นับองค์ประชุมก็คือพีระวิทย์ เรื่องลือดลภาค ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคไทรักธรรม หนึ่งในพรรคเล็ก ที่อยู่ภายใต้การอุปถัมภ์ของธรรมนัส โดยแม้นิโรธ จะขอร้องให้ ส.ส. ฝ่ายตัวเองให้อยู่ในการประชุมสภาก่อน แต่ก็ไม่เป็นผล ทำให้สภาล่มให้ที่สุด
.
ผลการแสดงตนเพื่อนับองค์ประชุมก่อนสภาล่ม 2 ครั้งก่อนหน้านี้ มีรายละเอียด ดังนี้
๐ สภาล่มครั้งที่ 1 ของปี 2565 วันที่ 19 มกราคม 2565
.
จำนวน ส.ส. ทั้งหมด 473 คน องค์ประชุมต้องไม่น้อยกว่า 237 คน
.
แต่มี ส.ส. แสดงตนเพียง 227 คน แบ่งเป็น
.
ฝ่ายรัฐบาล แสดงตน 182 คน จาก 264 คน
.
- พลังประชารัฐ แสดงตน 81 คน จาก 115 คน
- ภูมิใจไทย แสดงตน 49 คน จาก 59 คน
- ประชาธิปัตย์ แสดงตน 25 คน จาก 50 คน
- ชาติไทยพัฒนา แสดงตน 8 คน จาก 12 คน
- เศรษฐกิจใหม่ แสดงตน 3 คน จาก 5 คน
- พลังท้องถิ่นไทย แสดงตน 4 คน จาก 5 คน
- รวมพลังประชาชาติไทย แสดงตน 5 คน จาก 5 คน
- ชาติพัฒนา แสดงตน 1 คน จาก 4 คน
- รักษ์ผืนป่าประเทศไทย แสดงตน 0 คน จาก 2 คน
- พรรคเล็ก แสดงตน 6 คน จาก 8 คน
.
ฝ่ายค้าน แสดงตน 44 คน จาก 209 คน
.
- เพื่อไทย แสดงตน 11 คน จาก 131 คน
- ก้าวไกล แสดงตน 28 คน จาก 52 คน
- เสรีรวมไทย แสดงตน 0 คน จาก 10 คน
- ประชาชาติ แสดงตน 3 คน จาก 7 คน
- เพื่อชาติ แสดงตน 1 คน จาก 6 คน
- พลังปวงชนไทย แสดงตน 1 จาก 1 คน
- เศรษฐกิจใหม่ แสดงตน 0 จาก 1 คน
- ไทยศรีวิไลย์ แสดงตน 0 จาก 1 คน
.
๐ สภาล่มครั้งที่ 2 ของปี 2565 วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2565
.
จำนวน ส.ส. ทั้งหมด 475 คน องค์ประชุมต้องไม่น้อยกว่า 238 คน
แต่มี ส.ส. แสดงตนเพียง 234 คน แบ่งเป็น
.
ฝ่ายรัฐบาล แสดงตน 175 คน จาก 266 คน
.
- พลังประชารัฐ แสดงตน 83 คน จาก 97 คน
- ภูมิใจไทย แสดงตน 37 คน จาก 59 คน
- ประชาธิปัตย์ แสดงตน 29 คน จาก 50 คน
- ชาติไทยพัฒนา แสดงตน 9 คน จาก 12 คน
- เศรษฐกิจใหม่ แสดงตน 2 คน จาก 5 คน
- พลังท้องถิ่นไทย แสดงตน 1 คน จาก 5 คน
- รวมพลังประชาชาติไทย แสดงตน 1 คน จาก 5 คน
- ชาติพัฒนา แสดงตน 4 คน จาก 4 คน
- รักษ์ผืนป่าประเทศไทย แสดงตน 0 คน จาก 2 คน
- พรรคเล็ก แสดงตน 5 คน จาก 9 คน
- ก๊วนธรรมนัส แสดงตน 4 คน จาก 19 คน
.
ฝ่ายค้าน แสดงตน 59 คน จาก 209 คน
.
- เพื่อไทย แสดงตน 14 คน จาก 131 คน
- ก้าวไกล แสดงตน 42 คน จาก 52 คน
- เสรีรวมไทย แสดงตน 0 คน จาก 10 คน
- ประชาชาติ แสดงตน 2 คน จาก 7 คน
- เพื่อชาติ แสดงตน 1 คน จาก 6 คน
- พลังปวงชนไทย แสดงตน 0 จาก 1 คน
- เศรษฐกิจใหม่ แสดงตร 0 จาก 1 คน
- ไทยศรีวิไลย์ แสดงตน 1 จาก 1 คน