วันอังคาร, กุมภาพันธ์ 08, 2565

เรื่องของน้องเดียร์ผู้อ่านแถลงการณ์ภาษาเยอรมันหน้าสถานทูต ได้รับทุนไปเรียนต่อที่เยอรมัน แต่ติดที่ศาล(อ)ยุติธรรม คดี 112 ศาลไม่อนุญาตให้เดินทางออกนอกประเทศ


มนุษย์กรุงเทพฯ
14h ·

“หนึ่งในความโชคดีของเราคือพ่อแม่ไม่เคยคาดหวังอะไรเลย คำพูดของเขาคือ ‘ไม่ต้องเรียนเก่งก็ได้ ขอแค่ใช้ชีวิตให้รอดก็พอ’ เขาเคยถูกคาดหวังมาก่อน เลยตั้งใจว่าจะไม่ทำแบบนั้นกับเราและพี่สาว บ้านของเราอยู่ลพบุรี วันจันทร์ถึงศุกร์ก็ไปโรงเรียนตามปกติ วันเสาร์อาทิตย์ตื่นมาดูการ์ตูนตอนเช้า แล้วมาช่วยงานในร้านแว่นของครอบครัว พ่อแม่เป็นสายชิล บางครั้งบอกให้เราลาเรียนไปเที่ยวด้วยซ้ำ (หัวเราะ) เหมือนเขาอยากแสดงให้เห็นว่าชีวิตไม่ต้องซีเรียสขนาดนั้นก็ได้ พอมองกลับไป เขาก็ทำถูกนะ มันทำให้เราได้เห็นว่าชีวิตมีมุมอื่นด้วยนอกจากการเรียนในห้อง

“สมัยประถมเราเรียนไม่เก่งเลย สอบได้ที่เกือบโหล่ตลอด (หัวเราะ) จำได้ว่าครูใจร้ายมาก ถ้าทำการบ้านแล้วผิดจะโดนตีด้วยไม้บรรทัดที่มัดรวมกัน ครูหลายคนก็วางท่าประมาณนี้ ฉันเป็นคนดุ นักเรียนคือลูกไก่ตัวเล็กๆ ที่เขาจะทำอะไรก็ได้ พอขึ้น ม.ต้น เราย้ายไปโรงเรียนที่ว่ากันว่าดีที่สุดในลพบุรี การได้เจอสังคมใหม่ เจอครูคนใหม่ที่ใจดี บรรยากาศในห้องเรียนก็ผลักดันให้เราตั้งใจเรียน จากคนที่ได้เกือบโหล่ เราเปลี่ยนมาสอบได้ที่ต้นๆ ของห้อง แต่เป็นห้องโหล่นะ (หัวเราะ) คนที่บ้านยังไม่อยากจะเชื่อเลย เราเริ่มรู้สึกว่าตัวเองเก่ง คิดว่าเทอมหน้าต้องทำให้ดีขึ้น เลยค่อยๆ พัฒนาผลการเรียนของตัวเอง

“พอเราสอบได้คะแนนดี พ่อแม่ก็ดีใจ แต่ไม่ได้คาดหวังอะไรเหมือนเดิม สิ่งที่พวกเขาทำคือการส่งเราไปลองทำทุกอย่าง เช่น ตีแบด ว่ายน้ำ ตีขิม วาดรูป ฯลฯ แต่ไม่ได้บังคับให้ทำ เขาจะถามก่อนว่าอยากทำไหม สิ่งเดียวที่เขาวางแผนให้ทำ คือการเรียนภาษา เราเรียนภาษาจีนตั้งแต่เด็ก ตอนกำลังจะขึ้น ม.ปลาย เขาส่งเราไปเรียนภาษาเยอรมันที่สถาบันเกอเธ่ ตอนนั้นเราเรียน ม.4 ที่ลพบุรีก่อน เรากับพี่สาวจะนั่งรถตู้ไปกรุงเทพฯ ทุกวันเสาร์ ซึ่งกลายเป็นจุดเริ่มต้นที่เรามาสอบเข้าสายศิลป์เยอรมันที่โรงเรียนเตรียมอุดม เรามีพื้นฐานมาก่อนเลยทำคะแนนวิชาภาษาเยอรมันได้ดี ทำให้ดูเป็นคนมีอะไรขึ้นมา (หัวเราะ)

“ตอนเรียนอยู่เตรียมอุดม เราชอบที่เรียนแล้วตัวเองเก่ง เป็นอันดับต้นๆ ของสาย พอเรียนดีก็อยากทำให้ดีขึ้นอีก เราชอบครูที่สอนด้วย ครูอรนุชเป็นคนใจดีและตลก เป็นผู้หญิงอายุห้าสิบกว่าที่เข้าใจนักเรียนมาก เรียกได้ว่าเป็นแม่พระของสายศิลป์เยอรมัน การเรียนสายภาษาไม่ได้มีปลายทางที่รออยู่แล้ว มันพลิกผันได้ตลอด เพื่อนบางคนไปต่อคณะบัญชี เราชอบภาษาเยอรมันมาก ก็คิดว่าต้องเรียนคณะที่ได้เรียนภาษาเยอรมัน เลยสอบเข้าที่คณะอักษรศาสตร์ เอกภาษาเยอรมัน ที่จุฬาฯ เลือกเป็นอันดับแรกแล้วได้เลย พ่อแม่ก็ไม่ได้ว่าอะไรเลย ลูกอยากเรียนอะไรก็เลือก

“ระหว่างเรียนมหาวิทยาลัย เราได้ทุนไปเรียนภาษาที่เยอรมัน บ้านเมืองมีเสน่ห์ พอกลับมาก็คิดถึงความเจริญของที่นั่น ระหว่างเรียนปี 3 เราทำคะแนนสอบได้ดี แต่เริ่มถามตัวเองว่า ทำไมถึงไม่มีความสุขเลย เรียนจบไปจะทำอะไร เหมือนชีวิตกำลังหลงทาง พอได้เรียนวรรณกรรมเรื่อง Faust มันตรงกับชีวิตของเรา ตัวละครหาความหมายของชีวิต เป็นคนเก่ง มีทุกอย่าง แล้วฉันอยู่ไปทำไม เลยขายวิญญาณให้ซาตานพาไปทำนั่นทำนี่ จนเจอความหมายในการใช้ชีวิต คือการให้ การส่งต่ออะไรให้คนอื่น เออว่ะ เออ ดูมีอะไร (หัวเราะ) ถ้าเราแค่เกิดมาหายใจแล้วตาย ชีวิตดูไม่มีอะไรเลย เราเลยอยากทำอะไรให้กับสังคมบ้าง

“เราเรียนจบด้วยเกียรตินิยมอันดับสอง ตอนนั้นไม่รู้เลยว่าจะทำงานอะไร ช่วงเรียนมหาวิทยาลัยเราสอนพิเศษเยอะ แล้วไม่ชอบระบบการสอนภาษาเยอรมันของประเทศนี้เลย งานครูสอนภาษาเยอรมันในโรงเรียนเป็นอย่างเดียวที่ผุดขึ้นมา แต่สุดท้ายก็ตัดสินใจไม่ทำ เพราะอาชีพครูที่โรงเรียนเตรียมอุดม ได้เงินเดือนหมื่นห้า เราไม่ใช่คนกรุงเทพฯ มีทั้งค่าเช่าห้อง ค่าเดินทาง และค่ากินค่าอยู่ เราอยากเป็นครู เพื่อนหลายคนก็อยาก แต่เราต้องเอาชีวิตตัวเองให้รอดด้วย ก็ต้องเลือกชีวิตมากกว่า พอมีคนชวนทำงานแปลให้บริษัทรถยนต์ของเยอรมัน เราเลยตัดสินใจไปทำ ช่วงแรกๆ ก็ชอบ อยากซื้ออะไรก็ซื้อ แต่เวลาผ่านไปก็อิ่มตัว งานมันเหมือนเดิม ไม่ได้รู้สึกภาคภูมิใจ แต่ยังอดทนทำต่อเพราะเงิน (หัวเราะ) และเวลาทำงานมีความยืดหยุ่นด้วย

“เราชอบงานเขียนเลยพยายามหางานเขียนทำ เคยเป็นนักเขียนอาสาให้เพจ Thaiconsent เขียนเรื่องเกี่ยวกับเฟมินิสต์ ระหว่างหาข้อมูลก็เปิดโลกของเราไปด้วย เคยมีคนเถียงเรื่องอะไรสักอย่างในทวิตเตอร์แล้วมีคนยกบทความของเราไปพูดถึง ตอนเห็นก็รู้สึกดีนะ เราเขียนบทความส่งให้ที่ต่างๆ บ้าง เคยเป็นอาสาสมัครทีมพีอาร์ให้กับเพจ EDeaf: Education for the Deaf เลยได้หาข้อมูลเกี่ยวกับคนหูหนวก ไม่รู้ว่าคนหูหนวกได้ประโยชน์แค่ไหน แต่สิ่งที่เราได้แน่ๆ คือเข้าใจคนหูหนวกมากขึ้น ช่วงนั้นเรื่องที่เราสนใจคือ สิทธิมนุษยชน ความเท่าเทียมทางเพศ และประชาธิปไตย เราติดตามการเมืองพอสมควร และพยายามไปร่วมการชุมนุมเท่าที่ทำได้

“วันนั้น (26 ตุลาคม 2563) การชุมนุมนัดกันหน้าสามย่านมิตรทาวน์ เรายืนกินลูกชิ้นอยู่แล้วเพื่อนทักมาบอกว่า ‘เขากำลังหาคนอ่านแถลงการณ์ภาษาเยอรมัน สนใจไหม’ เราเลยทักไปถามในทวิตเตอร์นั้น เขาบอกให้ไปเจอกันที่หน้าสถานทูตเยอรมัน เป็นวันแรกที่ได้เจอเบญจา (เบนจา อะปัญ) เขายื่นกระดาษมาให้หนึ่งแผ่น เราเห็นด้วยกับข้อเรียกร้องของการชุมนุม คือ ประยุทธ์ลาออก แก้รัฐธรรมนูญ ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ทุกอันก็เมคเซนส์ เราไปม็อบเพื่อแสดงพลัง ในใจอยากทำอะไรมากกว่านั้น แต่ไม่รู้ว่าตัวเองทำอะไรได้ จนเขาหาคนอ่านแถลงการณ์ นี่ไง ภาษาเยอรมันคือสิ่งที่เราทำได้ดี ทำไมถึงจะไม่ทำล่ะ

“คนมาอ่านด้วยกันหลายคน เนื้อหาที่เราอ่านคือหนึ่งย่อหน้า เราเลือกย่อหน้านี้เพราะอ่านง่ายที่สุด (หัวเราะ) เนื้อหาเกี่ยวกับการสลายการชุมนุมที่แยกปทุมวัน (16 ตุลาคม 2563) ตั้งคำถามว่ารุนแรงเกินกว่าเหตุหรือเปล่า แล้วใครจะรับผิดชอบการกระทำนี้ เราไม่ได้คิดว่าจะเกิดอะไรขึ้น แค่ถือกระดาษหนึ่งแผ่นแล้วอ่านข้อความหนึ่งย่อหน้า แล้วส่วนของเราไม่มีเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ด้วย พออ่านจบก็นั่งแท็กซี่กลับบ้านตามปกติ เวลาผ่านไปจน 4 ธันวาคม 2563 เรานั่งทำงานอยู่ พ่อโทรมาบอกว่า ‘มีหมายจากตำรวจมาที่ลพบุรีแล้วนะ’ พ่อเป็นคนเซ็นรับ เราก็ตกใจ เนื้อระบุว่าให้ไปรายงานตัวกับตำรวจในคดี 112 (ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112) สิ่งแรกที่เราทำคือการทักไปหาเพื่อนที่เป็นนักข่าว เขาก็ให้โทรไปปรึกษาศูนย์ทนาย (ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน)

“เราต้องไปรายงานตัววันที่ 25 มีนาคม 2564 มีกระแสมาแรงว่า โดนขังแน่ๆ ทนายก็เรียกไปคุยให้เตรียมเอกสารอะไรบ้าง ให้ลิสต์รายชื่อคนเข้าเยี่ยม 10 คน ตอนนั้นเตรียมใจว่าคงติดคุก เราไปบอกเจ้านายว่า ‘เราอาจติดคุกนะ ถ้านานก็อาจต้องลาออก’ แต่โชคดีที่เขาเข้าใจ ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น เขาจะทำให้ดีที่สุดเพื่อให้เราได้อยู่บริษัทนี้ต่อไป พ่อแม่คงกังวลแหละ แต่ทำเป็นไม่เครียดแล้วให้กำลังใจ พูดแต่แง่บวกว่า ‘ไปสู้’ ไม่ได้พูดว่ากลัวลูกติดคุก สุดท้ายอัยการก็สั่งฟ้อง แต่เราได้ประกันตัวมาสู้คดี เงื่อนไขคือ ห้ามทำกิจกรรมที่เสื่อมเสียชื่อเสียงต่อสถาบันกษัตริย์ ห้ามเดินทางออกนอกประเทศโดยไม่ได้รับอนุญาต และต้องมาตามที่ศาลนัดทุกครั้ง

“เวลามีเพจลงข่าวเกี่ยวกับเรา ก็มีคนคอมเมนท์มาด่า 'นี่ไง ทำตัวเอง ไม่ออกไปยุ่งก็ไม่โดนอะไรหรอก' แต่เราไม่เก็บมาคิด มันเป็นคำพูดที่นึกออกได้ว่าจะได้เจอ หลังโดน 112 เราคุยกับตัวเองจนชัดเจนแล้วว่า อยากไปเรียนต่อด้านเอ็นจีโอที่เยอรมัน ชื่อคณะคือ Management in Non-Profit Organization เราอยากกลับมาทำให้องค์กรเอ็นจีโอมีประสิทธิภาพและมีพาวเวอร์มากกว่านี้ แต่เงื่อนไขการประกันตัวของเราคือ ห้ามเดินทางออกนอกประเทศโดยไม่ได้รับอนุญาต ทนายบอกว่าอาจขออนุญาตศาลไปเรียนต่อได้ ระหว่างทำเรื่องสมัครเรียน เราต้องปรึกษาทนายเป็นระยะ ต้องหาข้อมูลคำกฎหมายในภาษาเยอรมันเพื่อทำเรื่องต่างๆ โมเมนต์หนึ่งก็ขึ้นมาว่า ทำไมชีวิตต้องยากขนาดนี้ด้วย เราแค่จะไปเรียนต่อ

“มีคนถามเยอะมากว่า ‘ถ้าไม่โดน 112 ชีวิตจะเป็นยังไง’ แต่เราไม่ชอบคิดว่า ถ้าวันนั้นฉันไม่ทำแบบนั้น ไม่ออกไปม็อบ ไม่ออกไปอ่านแถลงการณ์ และไม่โดน 112 ชีวิตในวันนี้จะเป็นยังไง เพราะวันนั้นทำไปแล้ว วันนี้โดนแล้ว เราไม่ได้ดีใจที่ตัวเองโดน 112 หรอก แต่เราโอเคกับตัวเองที่ยืนอยู่จุดนี้ที่สุดแล้ว ไม่เคยนึกถึงตัวเองในจุดอื่นเลย โอเค ถ้าไม่โดน 112 เราอาจไปเรียนต่อได้ง่ายขึ้น ตอนนี้อาจได้ไปเรียนต่อแล้วก็ได้ ไม่ว่าวันนั้น วันนี้ หรือวันไหน เราก็อยากไปเรียนต่อแล้วกลับมาทำงานที่ประเทศไทย

“ทางเยอรมันส่งจดหมายมาแล้วว่าเราได้รับทุน อยู่ระหว่างทำเรื่องขอศาลเพื่อเดินทางออกนอกประเทศไปเรียนต่อ แต่เราเพิ่งไปทำพาสปอร์ตเล่มใหม่ เพราะอันเดิมจะหมดอายุก่อนเรียนจบ ปรากฏว่าเจ้าหน้าที่ไม่อนุญาตให้ทำเล่มใหม่ บอกให้โทรไปคุยกับฝ่ายตรวจสอบประวัติก่อน พอติดต่อไป ทางนั้นแจ้งว่าต้องคุยกับ สน.ทุ่งมหาเมฆ เพราะทางนั้นส่งเรื่องมาว่าเรามีคดีเกี่ยวข้องกับความมั่นคง ต้องใช้เวลาตรวจสอบประมาณ 1-2 สัปดาห์ เรากลัวว่าพาสปอร์ตเล่มปัจจุบันจะถูกยกเลิกไปด้วยไหม ตอนนี้ต้องรีบขอวีซ่าเพื่อไปเรียนเดือนเมษายนนี้แล้ว ถ้าสุดท้ายศาลไม่ให้ไป เราคงใจสลาย แต่ก็ต้องยอมรับผลของมัน

“ถามว่าเราทำตัวเองไหม ก็ใช่ แต่คนที่ออกไปถือกระดาษหนึ่งแผ่นแล้วอ่านข้อความหนึ่งย่อหน้า เขาสมควรโดนอะไรแบบนี้เลยเหรอ นัดครั้งต่อไปคือการตรวจพยานหลักฐาน หลังจากนั้นก็มีนัดอีกเรื่อยๆ ทนายบอกว่าคดีนี้อาจยาวไปถึงปี 2566 เราเป็นคนนึกถึงสิ่งที่แย่ที่สุดไว้ก่อนจะได้เตรียมใจรับ เคยคิดถึงชีวิตในเรือนจำเหมือนกัน แต่คนไม่เคยเข้าก็คิดไม่ออกหรอก เราไม่เคยคิดเรื่องลี้ภัยเลย เพราะทุกคนที่เรารักอยู่ที่นี่ สิ่งสำคัญคือ เรามั่นใจว่าตัวเองไม่ได้ผิด ทั้งตอนที่ตัดสินใจออกไปอ่านแถลงการณ์ และตอนนี้ก็ยังเชื่อแบบนั้น”
 
Ravisara Eksgool
สวัสดีค่ะ เดียร์นะคะ
ขออนุญาตมาอัปเดตความคืบหน้านะคะ วันนี้ไปทำเรื่องขอเดินทางออกนอกประเทศเพื่อไปเรียนต่อที่ศาลแล้ว สรุปศาลไม่อนุญาตนะคะ ต้องรออุทธรณ์ค่ะ
ขอบคุณทุกกำลังใจนะคะ ได้อ่านทุกคอมเม้นแล้ว มีกำลังใจขึ้นมากเลยค่ะ