https://www.khaosod.co.th/hot-topics/news_2189077
ไม่ว่าสถานการณ์จะพลิกไปพลิกมาอย่างไร ก็มีแนวโน้มว่าจะเกิด (หรือต้องการให้เกิด) "รัฐบาลแห่งชาติ" ภายใต้อำนาจนำ (นี่เขียนไว้ตั้งแต่เมื่อวาน)
รัฐบาลแห่งชาติคืออะไร คือให้ทุกฝ่ายเลิกแล้วต่อกัน หันหน้าเข้าหากัน จบหมด เกิดการประนีประนอมระหว่างชนชั้นนำ อาจมีการร่าง รธน.ใหม่ แต่ก็ไม่มีหลักประกันว่า รธน.ใหม่จะเป็นประชาธิปไตยเพียงไร
ส่วนอดีตที่ผ่านไป ก็มีแนวโน้มแบบไม่มีใครผิดใครถูก ไม่ต้องฟื้นฝอย อย่าไปเพ้อฝันว่าจะมีใครเอาผิดทหาร อำมาตย์ รื้อฟื้นความยุติธรรม อย่างมากก็นิรโทษกันหมด แล้วให้กลับมาอยู่ในความสงบ
ซึ่งมันเป็นไปไม่ได้ เพราะความขัดแย้งมันขยายไปสู่มวลชน ไม่ใช่เรื่องที่จะตกลงกันได้ในคนระดับนำเหมือนเมื่อก่อน มันไม่ใช่เรื่องส่วนตัว แต่เป็นทัศนะต่อระบอบการปกครอง ความยุติธรรม ความมีหลักการ เหตุผล ตรรกะ หรืออีกฝ่ายก็อ้างความดีความชั่ว
มันเป็นการต่อสู้ระหว่างอนุรักษ์นิยมกับเสรีนิยม ที่สั่งสมมานาน ซึ่งไม่มีทางลงเอยด้วยการหยวนยอม ถึงแม้ใครจะอยากให้จบ ฝันว่าตื่นขึ้นมาความขัดแย้งหายวับ ราวกับไม่เคยเกิดขึ้น มันก็ไม่มีทางเป็นจริงได้ จะให้ลืมอดีต 12 ปีอย่างไร จะบอกว่าไม่เคยมีอะไรเกิดขึ้น เป็นหน้าขาวว่างเปล่าในประวัติศาสตร์อย่างนั้นหรือ
คือแน่ละ ความขัดแย้งที่แบ่งคนครึ่งประเทศนี่มันฆ่ากันไม่ได้ แต่ก็จบไม่ลงง่ายๆ แม้เป็นอย่างที่ อ.เกษียรว่า ต้องแสวงหาฉันทมติ "เจตจำนงร่วมใหม่" หลังเลือกตั้ง ก็ไม่ง่ายหรอก
ความคิดที่จะบีบให้เกิดรัฐบาลแห่งชาติ บางคนอาจเห็นว่าดี เพราะกังวลว่าไปอย่างนี้ก็วิบัติ อยากให้จบ ให้หวนกลับมาทำมาหากิน เศรษฐกิจดี
แต่มันไม่มีทางเกิดได้ถ้าไม่สะสางถูกผิด ความยุติธรรม แล้วจึงค่อยให้อภัย
ที่สำคัญ มันต้องสะสางเรื่องหลักการ กติกา ตรรกะ เหตุผล เพราะ 12 ปีที่ผ่านมา ทำให้ทุกอย่างวิบัติไปหมด เมื่อหลักการ ตรรกะ มันพิกลพิการแล้ว ประเทศจะเดินไปอย่างไร
นี่ไม่นับโครงสร้างของระบอบ ที่มันวิปริตไปหมด ทหารเป็นใหญ่ ศาล องค์กรอิสระเป็นใหญ่ เป็นอุปสรรคไปทุกอย่าง
จริงๆ เหตุการณ์วันนี้มันก็เป็นอีกขั้นตอนหนึ่งที่พิสูจน์ว่ารัฐบาลแห่งชาติเป็นไปไม่ได้
Atukkit Sawangsuk