วันพฤหัสบดี, กุมภาพันธ์ 07, 2562

เถียงกันมันหยดเรื่องข่าวลือ 'พระพี่นางเธอ' ประเด็นนายกฯ ต้องมาจาก ส.ส.


วันที่ ๘ (กุมภา) นี่สำมะคัญ ลือกันจ้าละหวั่นออกสื่อ (สายหลัก) เช่น ข่าวสดที่กล่าวถึงการจะประกาศรายชื่อผู้จะเป็นนายกรัฐมนตรีของพรรคไทยรักษาชาติ (ทษช.) เช่นเดียวกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะให้คำตอบว่ายอมรับการเสนอชื่อตนเป็นนายกฯ โดยพรรคพลังประชารัฐหรือไม่

“หนึ่ง ไม่ใช่ ร.ท.ปรีชาพล พงษ์พานิช และไม่ใช่ นายจาตุรนต์ ฉายแสง ซึ่งเป็นแกนนำสำคัญ ยิ่งกว่านั้น หนึ่ง ไม่ใช่คนในตระกูลชินวัตร ยิ่งกว่านั้น หนึ่ง ไม่ใช่บุคคลในทางการเมือง และไม่ใช่บุคคลในพรรค จึงก่อให้เกิดข้อสงสัยอย่างยิ่งว่าเป็นใคร”


ซึ่งจาตุรนต์เองก็รีทวี้ต @hoonchuckyai ที่บ่นเสียดายตนว่า “ผมรอหนังสือเชิญอยู่เหมือนกันครับ แต่ยังไม่มีมา เผอิญไม่ได้เป็นกรรมการบริหาร เลยไม่ทราบว่าไปถึงไหนยังไงครับ”
 
แต่ไม่ต้องสงสัยอะไรมากนักแล้ว หากท่องเว็บทางโซเชียลมีเดียจะเห็นเฟชบุ๊คโพสต์และทวี้ตของ แอนดรูว์ แม็คเกรเกอร์ มาร์แชล ทะลุปล้องเลยว่า “one of the three names is likely to be Princess Ubolratana, the eldest child of the late King Bhumibol and older sister of King Vajiralongkorn.


นั่นละ พระพี่นางเธออุบลรัตน์ หรืออดีต Julie Jensen โดยแอนดรูว์ให้ภูมิหลังอย่างละเอียด รวมทั้งความสนิทสนมของพระองค์กับครอบครัวของ ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี (ตอนที่เราเข้าไปดูนี่มีคนเข้าดู ๔ พันกว่า แชร์ ๓ พันกว่า)

คอมเม้นต์เกือบ ๙๐๐ รายการ เท่าที่สแกนคร่าวๆ ดูจะเปี่ยมไปด้วยความพอใจ สองสามรายเปรี้ยวมาก รายหนึ่งชมว่าเขียนภาษาอังกฤษได้เนี้ยบ (You should thank me Andrew for this recognition. Ha ha.)

จะเป็นด้วยเหตุนั้นหรือไม่ ก็ไม่ทราบที่ทำให้ อจ.พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์ โพสต์ปฏิกิริยาว่า คนเสื้อแดงบางกลุ่มนี่เดินทางมาไกลมากจริง ๆ สุดท้าย รัฐประหาร ๒๕๕๗ ไม่เสียของ ก็ตรงนี้แหละ” และที่เป็นประเด็นร้อน ตอนบอกว่า

“เลอะเทอะหนักคือ ยังแถไปว่าถ้าพรรคการเมือง เชิญ มา ก็ถือว่าเป็นประชาธิปไตยแล้ว! แล้วพรรคพลังประชารัฐ อัญเชิญ ประยุทธ์มาเหมือนกัน พวกคุณจะต่อต้านประยุทธ์ด้วยเหตุผลอะไรมิทราบ? ประยุทธ์ก็มาแบบประชาธิปไตยเหมือนกันแล้วนี่”


ตรงนี้ละที่น่าถกให้แตกดอกออกกอ โดยมี เอกชัย ชัยนุวัติ เป็นผู้เข้าไปคอมเม้นต์ต้นๆ หลักใหญ่ก็คือสนับสนุนแนวคิดของ ปิยบุตร แสงกนกกุล ในบทความล่าสุดเรื่อง “ต้องยืนยันหลักการ นายกรัฐมนตรีต้องเป็น ส.ส.”
 
ปิยบุตร นักวิชาการกฎหมายมหาชนดีกรีด็อคตอรัทอังดรัวต์ ที่ผันไปเป็นนักการเมืองในตำแหน่งเลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ ชี้ว่าหลักการนายกฯ ต้องเป็น ส.ส. เป็นมรดกของเหตุการณ์ ๑๔ ตุลา ๑๖ และพฤษภาทมิฬ ๓๕ ที่การรัฐประหารสองครั้ง (กุมภา ๓๔ และ กันยา ๔๙) ต้องการทำลาย

แต่มาสำเร็จเอาตอนรัฐประหาร พฤษภา ๕๗ ซึ่งรัฐธรรมนูญ ๒๕๖๐ “ได้แปลง นายกฯ คนนอก ให้กลายเป็น นายกฯ คนใน ด้วยการกำหนดให้พรรคการเมืองเสนอชื่อบุคคลเป็นนายกรัฐมนตรีได้ ๓ รายชื่อ โดยไม่จำเป็นต้องเป็น ส.ส.”

ปิยบุตรแนะด้วยว่าฝ่ายประชาธิปไตยไม่เพียงต่อต้าน คสช. และมุ่งยุติการสืบทอดอำนาจของ คสช.เท่านั้น “พยายามในการพิทักษ์รักษาหลักการประชาธิปไตยที่ประชาชนได้ร่วมกันต่อสู้มาด้วย” โดยยึดมั่นว่า “สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นเพียงตำแหน่งเดียวที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน” ให้ไปใช้อำนาจรัฐ

“การลงสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. มิใช่เรื่องความถนัดหรือไม่ถนัด แต่นี่คือหน้าที่ คือภารกิจ คือการสร้างความชอบธรรม”


มันจึงไปกระทบต่อกรณี ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ได้รับการเสนอชื่ออันดับ ๒ นายกรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทย แต่ไม่อยู่ในรายชื่อปาร์ตี้ลิสต์ของพรรค และเจ้าตัวให้สัมภาษณ์ว่าไม่ถนัดในทางนิติบัญญัติ แต่เสียงล่ำลืออ้างว่าเป็นการกันตัวไว้ลงสมัครผู้ว่า กทม.
 
อย่างไรก็ดี อจ.พิชิต คอมเม้นต์เพิ่มเติมในโพสต์ของเขาว่า “การอ้าง กลยุทธ์ เลี่ยงกลโกงฝ่ายตรงข้าม ไม่ใช่ข้ออ้างที่จะขัดหลักการใหญ่ตรงนี้ครับ ถ้าเช่นนั้น คุณก็จะอ้างไปเรื่อยกระทั่งอ้างให้ทำรัฐประหารไล่ คสช.ในที่สุดก็ยังอ้างได้”

ต่อคำถามว่า “อันนี้ หมายถึงว่า นายกรัฐมนตรีในสามอันดับนั้นต้องอยู่ในปาตี้ลิสต์ และต้องได้เป็น. สส บัญชีรายชื่อด้วยใช่มั้ยครับ” อจ.พิชิตตอบ Kwanchai Gulsantithamrong ว่า “ใช่แล้ว” และต่อคำถามว่า “ความหมายของ นายกคนนอก รวมถึงคนที่อยู่ในบัญชีนายกแต่ไม่ได้เป็น สส. เหรอครับ”

คำตอบคือ “ก็ใช่นะสิ ต้องอยูู่ในรายชื่อเป็นนายกฯ (ถึงแม้จะไม่อยู่ใน สส.บัญชีรายชื่อ) ถึงจะได้รับโหวตในสภาได้ นี่แหละคือ นายกคนนอก” เลยได้ อานนท์ นำภา เข้ามาเติม “จริงๆ เรื่องนี้มันเป็นปัญหาที่ระบบเลือกตั้งแต่แรก

เพราะหากจะยึดหลักนายกต้องมาจาก ส.ส. สมมุติว่าพรรคเพื่อไทยชนะถล่มทลายจนได้ ส.ส.เขตมาเกินสัดส่วน ทำให้ไม่ได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อเลย แบบนั้นหญิงหน่อย หรือคนอื่นที่ถูกเสนอชื่อทั้งในบัญชีรายชื่อ ส.ส. และเป็นนายกฯ ก็จะเป็นนายกไม่ได้เลย เพราะไม่ได้เป็น ส.ส. 

ซึ่งไม่รู้จะหยิบด่าตรงไหนดี ของระบบเลือกตั้งเหี้ยๆ แบบนี้” เอาละจะเฮียๆ แค่ไหน ก็เป็นระบบที่จะต้องเข้าไปต่อสู้กันอย่างน้อยๆ เพื่อมีจำนวน ส.ส.ของฝ่ายประชาธิปไตย (หรือฝ่ายไม่เอา คสช.) อยู่ในสภาเพียงพอคัดง้างไม่ให้ คสช.ปกครองต่อไปได้

บางคนเสนอความเห็น “ถ้าบอกกันมาแต่แรกว่าจะเอาใครเป็นนายก​ ก็ถือได้ว่าได้ผ่านการเลือกของประชาชนแล้ว​ แม้จะไม่เป็น สส.​ แต่ประชาชนก็เลือกเป็นนายก​ ไม่ว่าใครชนะตรงนี้​ก็ต้องยอมรับว่าเขาเป็นนายก” ซึ่ง อจ.พิชิตแย้งว่า “ตรรกะนี้ผิด

ถ้าคิดว่าพรรคการเมืองได้คะแนนเสียงจาก ปชช.มากเท่าใด แล้วทำตามใจตัวเองได้หมดโดยอ้างว่า "บอกกล่าวล่วงหน้าแล้ว" แม้จะขัดประชาธิปไตย อย่างนี้ก็ไม่ต่างกับเผด็จการ” ก็ยังไม่ยอมจน บางคนนั้นโต้กลับว่า

“ประเด็นอยู่ที่บัตรเลือกตั้งนั้น​ เลือกนายกด้วย​ เลือกสส.ด้วย​ เลือกพรรคการเมืองด้วย​ ประชาชนหย่อนบัตรหนึ่งใบ​ เลือกสามอย่าง​ ถ้าเสียงข้างมากเลือกนายกคนไหน​ก็ต้องคนนั้น​ ผมว่านี่คือ​ประชาธิปไตยที่สุดแล้ว”

ประเด็นเหมือนกัน ไอ้ระเบียบ ใบเดียว ๓ อย่างนี่ 'ไม่ถูกต้อง' อย่างน้อยในหลักประชาธิปไตยสากล มันมาจากการวางหมากของ คสช. ให้พรรคการเมืองอ่อนแอ ไม่สามารถได้รับเสียงข้างมากเด็ดขาด (ที่อ้างกันว่าเผด็จการรัฐสภานั่นละ) ได้

อีกทั้งยังเขียนไว้โทนโท่ให้พรรคการเมืองเสนอชื่อใครคนหนึ่งเป็นนายกฯ ได้อีก เป็นกติกาที่เขาเขียนกันมาเอง เอามาใช้ฟอกตัวให้ผ่านพรรคการเมือง จงใจให้ คสช.อยู่ในอำนาจต่ออีกอย่างน้อย ๕ ปี แล้วยังมีอำนาจกำกับควบคุมผ่านยุทธศาสตร์ชาติอีก ๒๐ ปี