วันจันทร์, กุมภาพันธ์ 04, 2562

'ไร้อารยะ น่าอับอาย เมื่อต้องบอกต่างชาติว่ามาจากประเทศเผด็จการทหาร' 'ฟ้ารุ่ง ศรีขาว' เปิดใจ 'ง้วง สุกฤษฏ์' นักเรียนไทยในไต้หวันผู้ต้องหา ม.116 หนึ่งใน 'คนอยากเลือกตั้ง'



https://www.facebook.com/thai.udd.news/videos/vb.2030206840588110/1988701421430919/?type=2&theater


'ไร้อารยะ น่าอับอาย เมื่อต้องบอกต่างชาติว่ามาจากประเทศเผด็จการทหาร' เปิดใจ 'ง้วง สุกฤษฏ์' นักเรียนไทยในไต้หวันผู้ต้องหา ม.116 หนึ่งใน 'คนอยากเลือกตั้ง' ท้า!!! ใครชีวิตดีหลังรัฐประหาร เชิญไปหย่อนบัตรเลือก 'ประยุทธ์' พิสูจน์แล้ว 5 ปีเศรษฐกิจโตแต่คนรวย ส่วนรากหญ้าตาย - ย้อนเวลา ล้าหลัง สร้างความหวาดกลัว เทียบการเมืองไทยปัจจุบันกับประวัติศาสตร์ไต้หวันยุคหลังสงครามโลกครั้งที่2

แฟนเพจ 'ยูดีดีนิวส์ - UDD News' สัมภาษณ์ ‘สุกฤษฏ์ เพียรสุวรรณ’ หรือ ‘ง้วง’ หนุ่มวัย 25 นักศึกษาระดับปริญญาโท คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยการเมืองแห่งชาติไต้หวัน (National Chengchi University) หรือ มหาวิทยาลัยแห่งชาติเจิ้งจื้อ (เจิ้งจื้อ แปลว่า การเมือง)

ก่อนหน้านี้ เขาจบคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยในช่วงรัฐประหาร 22 พ.ค.57 เขาเป็นนักศึกษาปี 2 ของ มธ.

ปัจจุบัน ‘ง้วง’ เป็นผู้ประสานงาน 'เครือข่ายนักเรียนไทยและนักวิชาการนานาชาติในไต้หวันเพื่อประชาธิปไตยในไทย' โดยเมื่อวันที่ 8 ม.ค.62 เขาเผยแพร่จดหมายเปิดผนึกถึงประชาชนชาวไทย โดยมีนักศึกษาไทย นักศึกษาและนักวิชาการต่างชาติในไต้หวันร่วมลงชื่อ 102 รายชื่อ เรียกร้องให้ไทยจัดการเลือกตั้งอย่างเสรีเป็นธรรมต่อทุกฝ่าย

ระหว่างเรียนในไต้หวัน ‘ง้วง’ ต้องรับภาระค่าใช้จ่ายบินกลับมาขึ้นศาลไทย ในคดี ‘คนอยากเลือกตั้ง’ ม.116 ปัจจุบันคดียังไม่สิ้นสุด แม้บรรยากาศทางการเมืองจะนับถอยหลังสู่วันหย่อนบัตรแล้วก็ตาม


-เป็นผู้ต้องหา ‘คนอยากเลือกตั้ง’ คดีไหนบ้าง

คดีเกิดจากการร่วมชุมนุมเรียกร้องให้มีการเลือกตั้ง ช่วงต้นปี61 ผมทำกิจกรรมการเมืองตรงสกายวอล์คหอศิลป์ ทำให้กลายเป็นเป็น 1 ในผู้ต้องหา 'MBK39' และอีกจุดตรงใกล้ๆ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย หรือที่เรียกว่า 'RDN50'

จุดมุ่งหมายในการทำกิจกรรมคือ ต้องการให้มีการเลือกตั้งอย่างรวดเร็ว

จากการที่เราเรียกร้องสิ่งที่เราต้องการ ผลพวงคือ คสช. ฟ้องพวกเราในคดีความมั่นคง ม.116 ซึ่งคดียืดเยื้อถึงปีนี้

ผมศึกษาปริญญาโทอยู่ไต้หวัน คณะเศรษฐศาสตร์ ในมหาวิทยาลัยด้านสังคมศาสตร์และการเมือง ก็ต้องบินไปกลับอยู่เรื่อยๆ เป็นสิ่งที่สร้างภาระให้ผมพอสมควร ซึ่งไม่ค่อยสะดวกเท่าไหร่

-ใครรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการเดินทาง


ค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ต้องรับผิดชอบเอง ซึ่งหนักพอสมควร ไม่ถึงขนาดเดือดร้อน แต่สร้างความรำคาญใจ และถูกที่บ้านบ่น เพราะเป็นค่าใช้จ่ายที่บานปลายและไม่ควรจะจ่าย กับสิ่งที่เราเรียกร้อง สิ่งที่เรามองว่าถูกต้อง ประชาชนทุกคนพึงมี คือสิทธิในการเลือกตั้ง แต่สุดท้ายเราเป็นผู้โดนลงโทษเสียเอง เป็นสิ่งที่น่าเศร้าเหมือนกัน

-เข้าสู่ช่วงนับถอยหลังวันเลือกตั้งแล้ว แต่คดียังไม่สิ้นสุด?

ผมก็ไม่เข้าใจว่าทำไมทางรัฐบาลซึ่งก็ต้องการให้มีการเลือกตั้ง จึงยังดำเนินคดีกับพวกผมอยู่ ทั้งๆ ที่เขากำลังจะจัดเลือกตั้ง 24 มี.ค. เขาควรจะปลดล็อคทุกอย่าง ผ่อนคลายทางการเมืองทุกอย่าง แต่ คสช.ก็กลับใช้เครื่องมือนี้ควบคุมไม่ให้นักกิจกรรมหลายๆ คน เคลื่อนไหวทางการเมืองอีก

ในความเห็นของผม ถ้าคสช.ต้องการจะคืนสู่ประชาธิปไตยจริงๆ คสช.ควรจะยกเลิกการใช้มาตรา 44 และยกเลิกการฟ้องร้องนักกิจกรรมและนักการเมืองทั้งหลาย หรือ ถ้ามีความจริงใจอย่างที่สุด ควรยกเลิกการสั่งฟ้องทุกคน

เพราะประเทศที่เปลี่ยนผ่านจากระบอบเผด็จการสู่ประชาธิปไตยแบบราบรื่น ก็ต้องมีการผ่อนคลายแบบนี้ แต่ คสช. ไม่มีความตั้งใจทำในจุดนี้ ก็พยายามใช้เครื่องมือนี้ในการสร้างความได้เปรียบให้ตัวเอง

- ครอบครัวเห็นด้วยกับแนวคิดทางการเมืองที่กำลังต่อสู้อยู่หรือไม่

ครอบครัวทำธุรกิจ ไม่ค่อยสนใจการเมืองเท่าไหร่ แต่เขาก็ยอมรับในความคิดทางการเมืองของผม และอาจจะกล่าวได้ว่า ครอบครัวมีความเป็นประชาธิปไตยสูง

แต่ผมและครอบครัวก็มีความกังวลว่า เมื่อผมถูกฟ้องร้องมีคดี ถ้าผมจะไปสมัครงาน หรือ หาหนทางเจริญก้าวหน้าอย่างปกติก็คงลำบาก เพราะผมมีคดีติดตัวอยู่ เกรงว่าทางนายจ้างอาจจะไม่วางใจที่จะจ้างคนที่มีคดีความมั่นคงแบบนี้เท่าไหร่ ก็เป็นสิ่งที่ผม และครอบครัวก็กังวลอยู่เหมือนกัน


-ตอนล่ารายชื่อได้ 102 รายชื่อ เรียกร้องการเลือกตั้งที่เป็นธรรมในไทย ต้องเผชิญอะไรบ้าง


ตอนที่ผมล่ารายชื่อทั้งนักเรียนไทยและไต้หวัน เรียกร้องรัฐบาลไทยจัดการเลือกตั้งอย่างเสรีและเป็นธรรม เพราะเราเห็นว่ารัฐบาลปัจจุบันมีกลไกหลายๆ อย่าง ที่เอื้อประโยชน์แก่พรรคการเมืองที่เอื้อคณะรัฐประหาร แล้วเราต้องการให้รัฐบาลการันตีว่า ต้องจัดการเลือกตั้งอย่างเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้

เราก็คุยกับเพื่อคนไทยในมหาวิทยาลัยแห่งชาติเจิ้งจื้อ ก็เห็นว่า เราควรจะทำอะไรสักอย่างถึงแม้ว่าเสียงของเราจะเป็นเสียงเล็กๆ แต่เราก็อยากให้เสียงเหล่านี้ไปสะท้อน สู่สังคมไทยและรัฐบาลไทยด้วยนะครับ

เราก็อยากให้นักศึกษาในไต้หวันมีส่วนร่วม เพราะเขาก็มองประเทศเราว่า ประเทศเราเป็นประเทศที่น่าเสียดายพอสมควร

เพราะเป็นประเทศที่มีศักยภาพและมีแนวโน้มที่จะไปสู่ลู่ทางที่ดีกว่า แต่เราติดอยู่ในหล่มของวงจรอุบาทว์ของการรัฐประหารอยู่เรื่อยๆ

ซึ่งเขาก็เห็นใจเราครับ อันที่จริงก็คือ ผมไปเรียนอยู่ไต้หวัน เวลาที่ผมบอกว่า ผมมาจากประเทศไทย เขาก็มองว่า ประเทศคุณปกครองโดยระบอบอะไร

ผมก็รู้สึกกระอักกระอ่วนว่า เราปกครองโดย Military junta คือ เผด็จการทหาร ซึ่งประเทศที่ปกครองโดยระบอบแบบนี้เป็นประเทศที่ไม่อารยะ

ผมคิดว่า เฮ๊ย มันสะท้อนในตัวเลยว่า เวลาเราไปอยู่กับต่างชาติ ไปอยู่ประเทศอื่น แล้วเราแสดงว่าเรามาจากประเทศที่ปกครองโดยระบอบนี้ มันเป็นสิ่งที่น่าอับอายมากครับ คือแบบ โอ้โห ผมไม่เข้าใจเหมือนกันว่า ทำไมชนชั้นนำของเราไม่คิดจุดนี้

คือพวกนี้ก็ไปลอยหน้าลอยตาอยู่ในเวทีโลก เขาไม่คิดเหรอฮะ ว่า สถานะของตัวเองที่ปกครองอยู่นี้ มันเชิดหน้าชูตายังไงฮะ แล้วรับรองกันได้ยังไง ก็เป็นสิ่งที่ไม่เข้าใจว่าทำไมเขาไม่เลือกหนทางที่ถูกต้อง ไม่เลือกหนทางที่เป็นเกียรติเป็นศักดิ์ศรีของเขา

-ฟีดแบคหลังรวบรวมรายชื่อและเผยแพร่จดหมายเปิดผนึก

หลังเผยแพร่จดหมายเปิดผนึกแล้ว ก็มีทีวีสาธารณะของไต้หวันนำไปเผยแพร่ในภาคภาษาไทย

แต่คนไทยส่วนใหญ่ในไต้หวันไม่กล้าลงชื่อ เพราะกลัวว่าลงไปแล้วจะมีคดีอะไรตามมาหรือเปล่า

ซึ่งมันก็สะท้อนให้เห็นว่า การที่คณะรัฐประหาร คสช. ปกครองมา 5 ปี มีความกลัวครอบงำจิตใจคน และวัฒนธรรมในการเซ็นเซอร์ตัวเองมีสูง ทั้งๆ ที่มันไม่ควรจะเป็นอย่างงั้นฮะ

คือ ถ้าเราเลือกหนทางโลกเสรี เราควรจะเปิดกว้างมากกว่านี้ แต่เราอยู่ในสังคมที่แบบ คือโดนปิด ปิดจนกลัว ปิดจนไม่กล้าทำอะไร ทำให้คนไม่กล้าออกมาแสดงความคิดเห็น

ส่วนคนที่ลงชื่อส่วนใหญ่ก็จะเป็นคนไต้หวันและคนต่างชาติเพราะเขามองว่า ประเทศเขาเองเป็นประชาธิปไตย เขาก็อยากให้ประเทศเรา เป็นประชาธิปไตยทัดเทียมด้วย

-ไทยคล้ายกับไต้หวันในประวัติศาสตร์ช่วงไหน

ผมบอกได้เลยว่า คล้ายยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 คือปี 1945(2488) - 1980 (2523) เพราะไต้หวันเคยถูกปกครองโดยรัฐบาลพรรคเดียวของก๊กมินตั๋ง

ช่วงนั้น ก็เป็นเผด็จการสุดขั้วเหมือนกัน คล้ายๆ กับเมืองไทย แต่เมืองไทยจะเป็นแบบวัฏจักร มีการเลือกตั้ง มีรัฐประหาร แล้วก็มีความวุ่นวาย สร้างสถานการณ์ในการรัฐประหาร แล้วก็เลือกตั้ง และรัฐประหาร เป็นวงจรอุบาทว์ไป

ขณะที่ของไต้หวันเป็นเผด็จการยาวรวดจนถึงปี 1980

พอปี 1980 นานาชาติจึงกดดันว่าปกครองแบบนี้ไม่ได้แล้ว ต้องผ่อนคลายให้มีการเลือกตั้งอย่างเสรีและเป็นธรรม มีการเลือกตั้งประธานาธิบดี และมีพรรคฝ่ายค้านคือ Democrat Progressive Party(DPP) ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้านหลักในช่วงเผด็จการ

พรรค DPP เพิ่งชนะเลือกตั้งครั้งแรกในปี 2000 อยู่ 2 สมัย ต่อมาแพ้เลือกตั้ง และกลับมาชนะเลือกตั้งเป็นพรรครัฐบาลในปัจจุบัน

ก่อนหน้านั้นช่วง 1945 - 1980 ก็มีการใช้ศาลทหารอย่างเต็มที่เหมือนกันในการข่มขู่นักการเมืองฝ่ายตรงข้าม, นักกิจกรรม และก็มีการอุ้มหายนักกิจกรรมทางการเมือง

พูดง่ายๆ สิ่งที่เขาเคยทำ คือสิ่งที่เราเป็นอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งสิ่งเหล่านี้มันล้าสมัยไปแล้ว แต่ประเทศไทย ก็ยังเลือกในหนทางที่ล้าหลัง และไม่เป็นอารยะอยู่

ส่วนเขาก้าวพ้นสิ่งที่ล้าหลังไปแล้ว เขาก้าวสู่ประชาธิปไตยอย่างมั่นคง

คือตอนนี้เขาก็มีรัฐบาลที่เคยเป็นพรรคฝ่ายค้านมาเป็นรัฐบาลปัจจุบัน

ผมกล่าวได้ว่า ไต้หวัน สามารถเปลี่ยนผ่านจากระบอบเผด็จการพรรคเดียวเป็นระบอบประชาธิปไตยอย่างสมบูรณ์ได้

ซึ่งน่าเศร้าว่า ประเทศไทยซึ่งมีแนวโน้มที่จะก้าวสู่ความเป็นประชาธิปไตยได้เหมือนเขา ผมก็ไม่ทราบว่ามีอภินิหารอะไรบางอย่างฉุดรั้งไม่ให้ประชาธิปไตยของเราก้าวสู่ประชาธิปไตยอย่างเข้มแข็งได้ มันอาจจะเป็นเรื่องเหนือความคาดหมายว่า เราจะแตะต้องคนกลุ่มนั้นได้หรือเปล่า เราก็ไม่รู้เหมือนกัน

แต่สิ่งที่เรารู้ก็คือ การที่คณะรัฐประหารคสช. อยู่ได้อย่างสบายๆ 5 ปีนี้ มันก็มีการสนับสนุนบางอย่างจากองคาพยพแวดล้อมของเขา ด้วย แล้วมีกลุ่มทุนที่ได้ประโยชน์จากเขาร่วมอยู่ด้วย ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าหนักใจมากว่า ในอนาคตของคนรุ่นถัดไป เราจะอยู่กันลำบาก

-ครบรอบ 5 ปีรัฐประหาร คิดว่าสังคมไทยได้บทเรียนอะไรหรือไม่

ผมพยายามมองโลกในแง่ดีว่า รัฐประหารไม่ใช่คำตอบในการแก้วิกฤต แต่มันคือการสร้างวิกฤตให้หนักขึ้น และทำให้คนทุกข์ทรมานมากขึ้น ทั้งที่คณะรัฐประหารอ้างว่าจะมาปฏิรูป จะมาหยุดยั้งความวุ่นวายไม่ให้เกิดขึ้น ก็เป็นวาทกรรมที่เขาสร้างขึ้นมา

เพราะถ้าสืบค้นลงไป ความวุ่นวาย ก็เป็นความวุ่นวายที่เซ็ทอัพแล้วทำไมมันเกิดขึ้นได้ ทั้งที่หน่วยงานความมั่นคงก็ดูอยู่

แล้วที่บอกว่า จะมาปฏิรูปโน่นนั่นนี่ ผมอยากถามว่า ปฏิรูปได้สักกี่อย่าง? ไม่มีเลย

การบริหารทางเศรษฐกิจก็ล้มเหลวอย่างชัดเจน ใช่เศรษฐกิจของประเทศไทยโตเฉลี่ยประมาณร้อยละ 3 (อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ หรือ GDP Growth)

แต่ที่โตเนี่ย เมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน เราแย่กว่าเพื่อน รั้งท้าย นอกจากนั้นไม่กระจายสู่คนรากหญ้า โตแต่ข้างบน ในคนรวยไม่กี่เปอร์เซ็นต์ กลุ่มแรกที่รวยสุดในประเทศได้ประโยชน์ รวยขึ้นอย่างมหาศาล แต่คนรากหญ้ากับคนชั้นกลางไม่ได้รู้สึกดีขึ้น

ดูง่ายๆ จากค่าแรงขั้นต่ำ ค่ารองชีพเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แต่ค่าแรงขั้นต่ำ เพิ่มไม่กี่สิบบาท ก็เป็นที่อนาถใจ และพวกชนชั้นกลางที่เย้วๆ อยากปฏิรูปนั่นนี่ พวกท่านมีชีวิตดีขึ้นไหมครับ

ผมอยากถามตรงๆ ว่า ชีวิตของท่าน สวัสดิการของท่านดีขึ้นไหม ท่านคงมีคำตอบในใจของตัวเองแล้ว ถ้าท่านคิดว่าคณะรัฐประหาร คสช. ทำให้ชีวิตของท่านดีขึ้น ท่านก็เลือกพรรคที่เชิญพล.อ.ประยุทธ์ เป็นแคนดิเดตนายกฯ เลือกไปเลย

แต่ถ้าท่านต้องการการเปลี่ยนแปลง ท่านก็เลือกพรรคที่ไม่สนับสนุนคณะรัฐประหาร ไม่สนับสนุนพล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯ เลือกพรรคอะไรก็ได้ ที่ไม่เอารัฐประหาร ไม่เป็นนั่งร้านให้คณะรัฐประหาร ผมเชื่อมั่นว่าประชาชนทุกคน มีสติปัญญาพอที่จะเลือกในสิ่งที่ท่านพึงพอใจ เพราะเสียง 1 เสียงของท่านมีพลัง

ผมไม่คิดว่าทุกคนโง่ เพราะคนทุกคนมีความคิดเป็นของตัวเอง แต่เขาจะเลือกตามผลประโยชน์ของตัวเขาเอง

ที่สอดคล้องนิสัยจริตของเขาเอง ถ้าเขาชอบแบบนี้ มันก็สะท้อนว่า เขาเป็นคนแบบนี้ ถ้าเขาชอบประชาธิปไตย จิตใจเขาก็เป็นประชาธิปไตย ถ้าเขาชอบเผด็จการ จิตใจเขาก็เป็นเผด็จการ ก็ง่ายๆ ครับ

เราก็ไม่รู้ว่าแต่ละคนจะเลือกยังไง เพราะว่าการเลือกตั้ง การลงคะแนนเสียงเป็นความลับ แต่เสียงของท่านจะสะท้อนว่าต้องการประชาธิปไตย หรือคณะรัฐประหาร ก็ขึ้นอยู่กับท่านนะครับ

(สัมภาษณ์โดย ฟ้ารุ่ง ศรีขาว)