วันเสาร์, ตุลาคม 08, 2559

'Dark side’ ของ‘คนดี’ ของสังคมไทย ชนักปักบนหลังของประเทศไทย





เหตุการณ์ล้อมฆ่านักศึกษาในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เมื่อ ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙ จะยังคงเป็น ‘ตราบาป’ ฝังลึกอยู่ในประวัติศาสตร์โลกต่อไปอีกนานเท่านาน

จนกว่าจะมีการคลี่คลายข้อเท็จจริงให้กระจ่าง ดังถ้อยปาฐกถาในวันรำลึกครบรอบ ๔๐ ปี ๖ ตุลา ที่หอประชุมศรีบูรพา มธ. ของ ดร.ธงชัย วินิจจะกูล อดีตแกนนำนักศึกษาในเหตุการณ์ครั้งนั้นคนหนึ่ง ที่ว่า

“มีเรื่องอีกมากที่ต้องสะสาง เรายังไม่กล้าพูดว่าใครทำ ทำเพราะอะไร เพราะทุกสถาบันไม่มีการยกเว้น ล้วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์หฤโหดนั้นทั้งสิ้น”

(https://www.facebook.com/Prachatai/posts/10153974575401699)

แต่สำหรับชาวโลก สิ่งที่ ‘ลืมไม่ได้’ สำหรับความหฤโหดนี้อยู่ที่ ประโยคสำคัญในรายงานของนิตยสาร ‘ไทม์’ ในโอกาสวันที่ ๖ ตุลานี้ว่า

“หลายศตวรรษผ่านมา ยังไม่มีใครเลยที่รับผิดต่อการไล่ล่าสังหารนักศึกษาครั้งนั้น”





ไทม์ยกเอาคำพูดของคิงสลี่ย์ แอ็บบอต ที่ปรึกษากฎหมายของคณะกรรมการตุลาการนานาชาติ มาสรุปว่า “โดยที่ไม่มีเจ้าหน้าที่รัฐใดๆ ต้องรับผิดต่อการฆ่าหมู่ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

เหตุการณ์ครั้งนั้นกลายเป็นการฝังลึกของวัฒนธรรม ‘ปลอดความผิด’ ที่เป็นชนักปักบนหลังของประเทศไทย ขัดขวางต่อการปรองดองใดๆ ในสังคม”

(http://time.com/…/thailand-bangkok-october-6-1976-thammasa…/)

ดร.ธงชัยก็ได้พูดถึงวัฒธรรมปลอดความผิดนั้นเช่นกันในปาฐกถาของเขา “สำหรับคนมีอำนาจ ยิ่งสูงยิ่งมี ‘อภิสิทธิ์ปลอดความผิด’

ความเงียบสะท้อนอภิสิทธิ์ปลอดความผิดซึ่งมีทั่วไปในสังคมไทย ที่แย่ยิ่งกว่าคือ อภิสิทธิ์ปลอดความผิดเป็นสิ่งปกติในสังคมไทย”

และคำ ‘อภิสิทธิ์’ ก็มีความหมายในทางลบที่กว้างไกลกว่าอดีตนายกฯ หล่อใหญ่ ผู้ได้รับฉายาแปะหน้าผากไปจนตายว่า ‘ดีแต่พูด’ มากนัก

อาจารย์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ท่านหนึ่งที่ได้รับการอ้างอิงบ่อยๆ ในระยะนี้ ดร.เดชรัต สุขกำเนิด เล่าถึงการสนทนากับลูกๆ ในประเด็นคำถามจากครูภาควิชาสังคมว่า “ระหว่าง ‘คนดีที่บริหารประเทศประเทศไม่ค่อยเป็น’ กับ ‘คนโกงที่มีผลงาน’ เราจะเลือกใคร”

เขาชี้แจงให้ลูกฟังถึงคำว่า ‘คนดี’ ของสังคมไทย ว่ามี ‘dark side’ แฝงอยู่ “เพราะคำว่า ‘คนดี’ มีอันตรายอย่างยิ่ง ๒ ประการ ทั้งสำหรับตัวเราเอง และคนอื่น

ประการแรก เมื่อไหร่ก็ตามที่เราเผลอคิดว่าเราเป็นคนดี เรามักจะมีอคติลำเอียงเข้าข้างความคิดของตัวเราเอง เราจะคิดว่าความคิดของเรานั่นดี นั่นถูก แล้วเราจะฟังคนอื่นน้อยลง...

ประการที่สอง คำว่า ‘คนดี’ มักนำไปสู่การมี ‘อภิสิทธิ์’ เหนือคนอื่นๆ

ลองตัดคำว่า ‘คนดี’ ออกจากประโยคที่ว่า ‘คนดีที่บริหารประเทศไม่ค่อยเป็น’ ดูซิ มันจะเหลือแค่คำว่า ‘คนที่บริหารประเทศไม่ค่อยเป็น’ เฉยๆ...มันดูแย่ ไม่แพ้คนโกงเลย

แล้วคนดี ‘จริงๆ’ ที่พบว่าตัวเขาเองบริหารประเทศไม่เป็น เขาควรทำอย่างไร

ถ้าเขาเป็นคนดีจริง เขาควรลาออก แล้วให้คนอื่นบริหารประเทศแทน...เพราะถ้าเขาดีจริง เขาจะไม่อยู่สร้างภาระให้กับประเทศหรอก”

(https://www.facebook.com/decharut.sukkumnoed/posts/1133689876722962)

แต่ในสังคมที่แตกระแหงแบ่งฝ่ายด้วยข้ออ้างแห่งกฎหมายและคุณธรรม ที่ปรับใช้ไม่เหมือนกันกับคนต่างกลุ่มต่างอุดมการณ์ เช่นประเทศไทยเวลานี้ การเป็นคนดีจะดีจริงหรือไม่ขึ้นอยู่กับว่าเป็นพวกไหน คนของใคร

ไม่กี่วันมานี้มีรองอธิบดีอัยการท่านหนึ่งแสดงความคิดเห็นผ่านสื่อสังคม ถึงกรณีการร้องเรียนให้ตรวจสอบพฤติกรรมของปลัดกระทรวงกลาโหม ผู้เป็นน้องชายของหัวหน้าคณะรัฐประหาร ที่ผันตัวเองไปเป็นนายกรัฐมนตรีจากการยึดอำนาจรัฐบาลชุดที่แล้วซึ่งมาจากการชนะเลือกตั้งอย่างท่วมท้น





แล้วปรากฏว่าอีกสองสามวันต่อมาเขาถูกอัยการสูงสุดตั้งกรรมการสอบสวนความผิด และสั่งย้ายออกจากศาลอาญาไปรักษาการในสำนักงานชี้ขาดอัยการสูงสุดทันที

อย่างไรก็ดี นายปรเมศวร์ อินทรชุมนุม ได้โพสต์ข้อความอีกครั้ง แจ้งว่ามีคนให้กำลังใจจำนวนมาก รวมทั้งอัยการสูงสุดเก่าแก่หลายคน

“ผมขอเรียนว่า ผมไม่เป็นไรครับ พร้อมทำงานเสมอ ที่ไหนก็ได้ครับ เราเป็นนักกฎหมาย เราเป็นทนายแผ่นดิน เราเป็นอัยการของประชาชนและเป็นครูกฎหมาย เราท้อไม่ได้ เราหมดกำลังใจไม่ได้...

ศัตรูของเราคือความไม่ถูกต้อง ความไม่ชอบธรรม และความไม่ยุติธรรม”

(http://www.matichon.co.th/news/313139)

แปลกไหมล่ะ ผู้ทำหน้าที่อัยการน่าจะได้แต่คอยปกป้องรักษา และแก้ไขปัญหาความไม่ถูกต้อง ไม่ชอบธรรมและไม่ยุติธรรมแก่ประชาชน กลับต้องมาเผชิญกับปัญหาเหล่านั้นด้วยตนเอง จากอิทธิพลเบื้องบนของระบอบทหารครองเมือง

แล้วนี่เพิ่งเคาะเสร็จหมาดๆ รายชื่อสมาชิกสภานิติบัญญัติอีก ๓๓ คน สำหรับผ่านกฎหมายลูกต่างๆ มารองรับระบอบการเมืองตามแนวทางที่ คสช. วางไว้เป็นยุทธศาสตร์แห่งชาติ ๒๐ ปี อันมีวุฒิสภาแต่งตั้ง (แต่เรียกว่าสรรหา) เป็นประหนึ่งพรรคการเมืองของทหาร มาแบ่งปันการใช้อำนาจปกครองร่วมกับสภาที่มาจากการเลือกตั้ง

“รอประกาศ..รายชื่อ ๓๓ สนช.ใหม่ที่มีการแจกจ่ายกันในหมู่ สนช. ทหารพรึ่บ! ผบ.พล แม่ทัพ รองแม่ทัพ ๕เสือ แต่ละเหล่าทัพ-ตร.ที่ขึ้นมาใหม่ มีพลเรือนแค่ ๕” คน

(จากทวี้ตของ Deep Blue Sea‏ @WassanaNanuam)

ซึ่งก็คงเป็นไปตามคอมเม้นต์จาก ‘Minds’ ของ อจ. กานดา นาคน้อย Kanda Oct 3, 2016, 11:16:08 PM ที่ว่า

“มี ‘นายพลว่างงาน’ จำนวนมากก็เป็นเช่นนี้ แย่งงานพลเรือนทำอุตลุต อยากนั่งในสภาแต่ไม่อยากลงสมัครรับเลือกตั้งแข่งกะพลเรือน อยากใช้ทางลัดแบบนายพลพม่า ใช้ภาษีมาจนเกษียณแล้วยังไม่ ‘พอเพียง’ ได้บำนาญสบายๆ ก็ยังไม่ ‘พอเพียง’”

ประดุจดังว่าต่อนี้ไป คสช. ก็จะแจกจ่ายงานให้แก่ทหารบริหารจัดการประเทศกันอย่างค่อนข้างอำเภอใจ ดังกรณีการกักตัวแกนนำนักศึกษาฮ่องกง นายจอสชัว วอง ไว้ที่สนามบินกว่าสิบสองชั่วโมงก่อนส่งตัวกลับ





อ้างมีข้อมูลว่าเขา “จะเป็นภัยต่อความมั่นคงของประเทศ มีรายชื่อในบัญชีเฝ้าระวัง หรือวอชต์ลิสต์” มิหนำซ้า พล.ต.ต.ภาคภูมิ สัจจพันธุ์ รอง ผบ. ตรวจคนเข้าเมืองระบุด้วยว่า “เป็นบุคคลต้องห้ามเฝ้าระวังที่ไม่สามารถเดินทางเข้าประเทศไทยได้อีกต่อไป”

(http://www.matichon.co.th/news/312680)

แม้นว่ารอง ผบ.ตร. พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล จะอ้าง “เป็นอำนาจอธิปไตยของประเทศ” ให้ทำอย่างนั้นได้ แต่ในสังคมอารยะประเทศ ไม่จำเป็นต้องอ้างใช้กฎหมายตะบี้ตะบัน

หลักการ diplomacy และ curtesy เป็นสิ่งที่ผู้บริหารประเทศเจริญแล้วมักนำมาใช้กันบ่อยๆ มิฉะนั้นถ้าระเบียบกฎหมายที่แตกต่างกันไปของแต่ละชาติ ‘เกิดขัดกันก็บรรลัย’

แม้กระทั่งจะอ้างว่าประชาชนให้การรับรองอำนาจของ คสช. และตัวบทกฎหมายที่ คสช. กำลังจะเขียนขึ้นเพื่อกำกับควบคุมต่อประชาชน ด้วยการผ่านประชามติขาดลอยเมื่อวันที่ ๗ สิงหาคมแล้วก็ตาม

จากปรากฏการณ์ Brexit ในอังกฤษ ประชามติในไทย และประชามติปฏิเสธข้อตกลงสันติภาพในโคลอมเบีย ทำให้นักรัฐศาสตร์ในชาติตะวันตกเริ่มพูดกันถึงหลักการทำประชามติว่า เป็นแนวทางการเมืองที่ ‘ยุ่งเหยิงและอันตราย’

บทความเรื่อง “ทำไมการทำประชามติระดับชาติจึงเป็นเครื่องมือในทางประชาธิปไตยที่วุ่นวาน” ในหนังสือพิมพ์เดอะนิวยอร์คไทมส์เมื่อสองสามวันก่อน กล่าวถึงการทำประชามติในไทยว่า

เป็นการ “รับรองร่างรัฐธรรมนูญที่ปิดกั้นประชาธิปไตย”

“คณะทหารไทยจำกัดรายงานข่าวเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อให้แน่ใจว่าไม่มีการวิจารณ์ว่าเป้นรัฐธรรมนูญที่ต่อต้านประชาธิปไตย ดูจากที่คณะทหารแสดงท่าทีผลักดันอย่างหนักแล้ว แท้จริงกลับกลายเป็นการทำให้แปดเปื้อนเสีมากกว่า”

“รัฐบาลทหารไทยจัดให้มีการทำประชามติเมื่อเดือนสิงหาคม เพื่อรับรองร่างรัฐธรรมนูญที่กระชับอำนาจของพวกตนและกีดกันองคาพยพของประชาธิปไตย

แต่พวกทหารก็ให้สัญญาว่าถ้าประชามติผ่านแล้วจะมีการเลือกตั้ง แท้จริงเป็นการขายเอกสารต้านประชาธิปไตยในรูปแบบของทางเลือกไปสู่การเลือกตั้ง ร่าง รธน.เลยผ่าน”

(http://www.bostonglobe.com/…/bvMtcmJcqURTwj7X6b…/story.html…)

บทความกล่าวถึงการทำประชามติในทั้งสามประเทศ (อังกฤษ ไทย และโคลอมเบีย) ว่าไม่ได้มอบการตัดสินใจให้ประชาชนดังที่ภาพพจน์กำหนด แต่เป็นการรับรองในสิ่งที่รัฐบาลได้เตรียมไว้แล้วเท่านั้น

นายเค็นเน็ธ โรก็อฟ ศาสตราจารย์ทางเศรษฐศาสตรของฮาวาร์ด เขียนถึงเรื่องนี้ไว้ว่า “นี่มันไม่ใช่ประชาธิปไตยหรอก มันเป็นการเสี่ยงตายอย่างรัสเซียนรูเล็ตต์ต่างหาก”

เช่นนี้แม้ว่า คสช. จะอ้างอาณัติจากการประชามติว่าเป็นผลพวงของการจัดตั้งประชาธิปไตยยั่งยืนโดยพวกตนสำหรับประเทศไทยอย่างไรก็ตาม

ในทางเป็นจริงจากการกระทำฝ่าฝืนประชาธิปไตย ละเมิดสิทธิมนุษยชนสากล และใช้อำนาจเบ็ดเสร็จในการบริหารจัดการรัฐกิจ ย่อมชี้ให้เห็นว่าระบอบที่ คสช.จัดตั้งตามรัฐธรรมนูญใหม่นี้ เป็นเพียงเผด็จการทหารโฉมใหม่เท่านั้นเอง