ภาพจาก ประชาชาติธุรกิจ
5 องค์กรสิทธิห่วง 4 ประเด็นใน 'ร่างแก้ไข พ.ร.บ.คอมฯ'-เรียกร้อง สนช.ไม่เห็นชอบ
ที่มา ประชาไท
Wed, 2016-10-26
26 ต.ค. 2559 องค์กรสิทธิมนุษยชน 5 แห่งออกแถลงการณ์ร่วมระบุว่า เนื้อหาที่เสนอให้แก้ไขเพิ่มเติมในร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ฉบับที่ .. (พ.ศ. ....) ไม่ตอบสนองต่อข้อกังวลด้านสิทธิมนุษยชนใน 4 ประเด็นใหญ่ พร้อมเรียกร้อง สนช.ไม่เห็นชอบร่างแก้ไขดังกล่าว
แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล (Amnesty International) อินเตอร์เนชั่นแนล เฟเดอเรชั่น ฟอร์ ฮิวแมนไรท์ (International Federation for Human Rights) องค์กรฟอร์ติฟาย ไรท์ (Fortify Rights) คณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากล (International Commission of Jurists) และลอว์เยอร์ ไรท์ วอทช์ แคนาดา (Lawyers Rights Watch Canada) เรียกร้องให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ของไทย พิจารณาไม่เห็นชอบต่อเนื้อหาที่เสนอให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 ตามที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน และให้ดำเนินการแก้ไขให้มีเนื้อหากฎหมายที่สอดคล้องกับพันธกรณีของไทยตามกฎหมายระหว่างประเทศ รวมทั้งพันธกรณีที่จะต้องเคารพสิทธิที่จะมีเสรีภาพในการแสดงออก เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและความเป็นส่วนตัว
โดยทั้ง 5 องค์กรระบุว่าหากทาง สนช.เห็นชอบต่อการแก้ไขเพิ่มเติมตามที่ถูกเสนอแทนที่จะช่วยแก้ปัญหาเหล่านี้ได้ กลับจะทำให้ข้อบกพร่องเดิมของพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ เลวร้ายลงกว่าเดิมและหากเนื้อหาที่เสนอให้แก้ไขเพิ่มเติมพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ได้รับการอนุมัติจะเกิดการคุกคามมากยิ่งขึ้นต่อการใช้สิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานและการจัดกิจกรรมอย่างสงบของบุคคล สถาบัน และหน่วยงานธุรกิจต่างๆ
สำหรับเนื้อหาของพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ และบทแก้ไขเพิ่มเติมที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของสนช. ที่ทางองค์กรสิทธิมนุษยชนดังกล่าวมีความกังวลเป็นพิเศษได้แก่ การกำหนดโทษอาญาต่อผู้ใช้งานคอมพิวเตอร์เนื่องจากการแสดงออกที่ควรได้รับการคุ้มครอง ความรับผิดของผู้ให้บริการ สิทธิความเป็นส่วนตัวถูกละเมิดและการเซ็นเซอร์ที่ทำได้สะดวกขึ้น
.....
ประเทศไทย: เนื้อหาที่เสนอให้แก้ไขเพิ่มเติมในร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ฉบับที่ .. (พ.ศ. ....) ไม่ตอบสนองต่อข้อกังวลด้านสิทธิมนุษยชน
กรุงเทพฯ 25 ตุลาคม 2559
พวกเราซึ่งเป็นองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศตามรายนามที่ลงชื่อแนบท้ายนี้ขอเรียกร้องให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ของไทย พิจารณาไม่เห็นชอบต่อเนื้อหาที่เสนอให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 ตามที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน และให้ดำเนินการแก้ไขให้มีเนื้อหากฎหมายที่สอดคล้องกับพันธกรณีของไทยตามกฎหมายระหว่างประเทศ รวมทั้งพันธกรณีที่จะต้องเคารพสิทธิที่จะมีเสรีภาพในการแสดงออก เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและความเป็นส่วนตัว
ในช่วงสองปีที่ผ่านมามีการฟ้องร้องดำเนินคดีตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ เพิ่มขึ้นอย่างมาก ตามข้อมูลของสำนักงานศาลยุติธรรมซึ่งมอบให้กับองค์กรฟอร์ติฟายไรท์ (Fortify Rights) มีข้อกล่าวหาตาม พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ฯ ที่เข้าสู่การพิจารณาคดีของศาล 399 ข้อกล่าวหา นับตั้งแต่เดือนมกราคม - สิงหาคม 2559 เปรียบเทียบกับปี 2558 ที่มี 321 ข้อกล่าวหา ปี 2557 มี 71 ข้อกล่าวหา ปี 2556 มี 46 ข้อกล่าวหา ปี 2555 มี 13 ข้อกล่าวหาและหกข้อกล่าวหาในปี 2554
ปัจจุบันมีการใช้พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯอย่างสม่ำเสมอและอย่างไม่เป็นที่ยอมรับ เพื่อจำกัดสิทธิที่จะมีเสรีภาพในการแสดงออกและความคิดเห็น ตลอดจนการใช้เพื่อคุกคามและลงโทษนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ผู้วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล และผู้สื่อข่าว จากสถิติของโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชนหรือ iLaw ระบุว่าระหว่างเดือนกรกฎาคม 2550 ถึงธันวาคม 2557 มีการฟ้องคดีอาญาตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ 277 ครั้ง โดยมีเพียง 22% ที่เป็นความผิดที่เกี่ยวข้องกับอาชญากรรมคอมพิวเตอร์ตามความหมายโดยทั่วไป เช่น การเจาะเข้าระบบคอมพิวเตอร์ ส่วนอีก 78% ของคดีเหล่านี้ล้วนแต่เกี่ยวข้องกับการเผยแพร่ข้อมูลซึ่งถูกกล่าวหาว่ามีลักษณะดูหมิ่นหรือหมิ่นประมาท
หากทาง สนช.เห็นชอบต่อการแก้ไขเพิ่มเติมตามที่ถูกเสนอ แทนที่จะช่วยแก้ปัญหาเหล่านี้ได้ กลับจะทำให้ข้อบกพร่องเดิมของพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ เลวร้ายลงกว่าเดิมและหากเนื้อหาที่เสนอให้แก้ไขเพิ่มเติมพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ได้รับการอนุมัติจะเกิดการคุกคามมากยิ่งขึ้นต่อการใช้สิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานและการจัดกิจกรรมอย่างสงบของบุคคล สถาบัน และหน่วยงานธุรกิจต่างๆ
เรามีความกังวลโดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อเนื้อหาของพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ และบทแก้ไขเพิ่มเติมที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของสนช. ตามรายละเอียดดังต่อไปนี้
1) การกำหนดโทษอาญาต่อผู้ใช้งานคอมพิวเตอร์เนื่องจากการแสดงออกที่ควรได้รับการคุ้มครอง
เนื้อหาที่เสนอให้แก้ไขเพิ่มเติมพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯยังคงกำหนดโทษอาญาสำหรับการละเมิดกฎหมายนี้ และไม่มีการแก้ไขระวางโทษที่ไม่ชอบธรรมต่อผู้ใช้งานคอมพิวเตอร์ รวมทั้งกำหนดโทษจำคุกเป็นเวลานานต่อการกระทำของผู้ใช้งานคอมพิวเตอร์ โดยที่จริงแล้วอาจเป็นเพียงการใช้เสรีภาพในการแสดงออกอย่างสงบที่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายและมาตรฐานสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ
มาตรา14 (1) ของพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯกำหนดระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปีหรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ กรณีที่มีการนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่ “ปลอม” หรือ “เท็จ” “โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน” ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา มีการใช้ประโยชน์โดยพลการจากเนื้อหาที่กว้างขวางและกำกวมของข้อบัญญัตินี้เพื่อปราบปรามผู้สื่อข่าว นักปกป้องสิทธิมนุษยชนไปจนถึงบุคคลซึ่งทำงานสำคัญเพื่อให้สาธารณชนได้รับทราบข้อมูลข่าวสารและเพื่อรณรงค์ให้มีการคุ้มครองด้านสิทธิมนุษยชน นอกจากนี้ มักมีการใช้ข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญาว่าด้วยการหมิ่นประมาทหรือการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพประกอบกับข้อหาตามมาตรา14(1) ของพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ แม้ว่าก่อนหน้านี้จะมีการแก้ไขเพิ่มเติมที่กำหนดขอบเขตเนื้อหาชองมาตรา 14 (1) ให้แคบลงอย่างมากเพื่อป้องกันไม่ให้มีการบังคับใช้กฎหมายนี้กับคดีประเภทดังกล่าวแล้วก็ตาม แต่เมื่อเร็วๆ นี้ สนช. กลับแสดงท่าทีว่าจะกำหนดให้มีเนื้อหาที่กว้างอยู่ตามเดิม
กฎหมายที่เอาผิดทางอาญากับการแสดงออกอย่างสงบซึ่งได้รับการคุ้มครองตามหลักสิทธิที่จะมีเสรีภาพในการแสดงออก รวมทั้งกฎหมายหมิ่นประมาททางอาญา ล้วนไม่สอดคล้องกับพันธกรณีของไทยที่มีต่อกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights-ICCPR) ซึ่งไทยเป็นรัฐภาคี คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ซึ่งทำหน้าที่ดูแลการปฏิบัติตามกติกา ICCPR ได้แสดงข้อกังวลเกี่ยวกับกฎหมายหมิ่นประมาทซึ่งกำหนดความผิดทางอาญาหรือถูกใช้เพื่อลงโทษบุคคลที่ใช้สิทธิที่จะมีเสรีภาพในการแสดงออก คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนฯ ระบุว่าคำว่าประโยชน์สาธารณะสำหรับบางกรณีอาจถือเป็นข้อต่อสู้ในกระบวนการยุติธรรมเพื่อคุ้มครองสิทธิในการแสดงออก “กรณีที่เป็นความเห็นเกี่ยวกับบุคคลสาธารณะเป็นอย่างน้อย และควรพิจารณาหลีกเลี่ยงการลงโทษหรือการตัดสินว่าไม่ชอบด้วยกฎหมาย กรณีที่เป็นการตีพิมพ์เผยแพร่ข้อความที่ผิดพลาดโดยปราศจากเจตนาร้าย” คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนฯ ยังย้ำด้วยว่า “โทษจำคุกไม่อาจถือได้ว่าเป็นบทลงโทษที่เหมาะสมเลย” สำหรับคดีหมิ่นประมาท
เนื้อหาที่เสนอให้แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา14 (2) ของพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ จะยิ่งขยายเนื้อหาเพื่อกำหนดโทษจำคุกเป็นเวลาไม่เกินห้าปีสำหรับบุคคลที่พบว่ามีความผิดฐานนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ “ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อความมั่นคงของประเทศ ความปลอดภัยของสาธารณะ เสถียรภาพทางเศรษฐกิจ บริการสาธารณะ […] หรือก่อให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชน” ความกว้างขวางและความกำกวมของถ้อยคำเหล่านี้ ทำให้มีแนวโน้มว่าทางการอาจมีการนำข้อบัญญัตินี้ไปใช้โดยมิชอบ ทั้งนี้เพื่อปราบปรามรูปแบบการแสดงออกซึ่งได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายระหว่างประเทศ
2) ความรับผิดของผู้ให้บริการ
เนื้อหาที่เสนอให้แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา15ของ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ยังคงกำหนดความรับผิดทางอาญาให้กับ “ผู้ให้บริการ” บุคคลซึ่งถือได้ว่าเป็นผู้ให้บริการอาจได้รับโทษจำคุกไม่เกินห้าปีกรณีที่ “ร่วมมือ ให้ความยินยอมหรือรู้เห็นเป็นใจ” ในการกระทำความผิดตามมาตรา 14 เนื่องจากมีการนิยามคำว่า “ผู้ให้บริการ” ค่อนข้างกว้างตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯโดยหมายรวมถึงผู้ให้บริการเครือข่ายผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต ผู้จัดทำเว็บไซต์ ผู้จัดทำเนื้อหา และแพลตฟอร์มทางอินเทอร์เน็ต เรียกว่าธุรกิจโทรคมนาคมและอินเทอร์เน็ตแทบทุกด้านในไทยล้วนเสี่ยงจะได้รับโทษอาญาตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ตราบใดที่มีการกำหนดนิยามหรือบังคับใช้ความผิดตามมาตรา 14 ในลักษณะที่กว้างขวางหรือกำกวมอย่างไม่สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ ความรับผิดของผู้ให้บริการอันเนื่องมาจากพฤติการณ์ดังกล่าวย่อมไม่สอดคล้องกับมาตรฐานสิทธิมนุษยชนด้วย
3) สิทธิความเป็นส่วนตัวถูกละเมิด
เนื้อหาที่เสนอให้แก้ไขเพิ่มเติมใน พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯไม่กำหนดให้มีการคุ้มครองป้องกันการล่วงล้ำโดยพลการต่อความเป็นส่วนตัวระหว่างการสอบสวนตามข้อกล่าวหาว่าเป็นความผิดทางคอมพิวเตอร์ ข้อ17ของ ICCPR กำหนดว่า “บุคคลจะถูกแทรกแซงความเป็นส่วนตัว ครอบครัว เคหสถาน หรือการติดต่อสื่อสารโดยพลการหรือไม่ชอบด้วยกฎหมายมิได้ และจะถูกลบหลู่เกียรติและชื่อเสียงโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายมิได้”
พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ อนุญาตให้เจ้าหน้าที่ทางการเก็บพยานหลักฐานเกี่ยวกับการละเมิดกฎหมายที่อาจเกิดขึ้น โดยให้สามารถใช้วิธีการที่แตกต่างกันมากมาย ซึ่งบางกรณีจำเป็นต้องได้รับหมายจากศาล อย่างไรก็ตามมาตรา18 และ19 ของพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ยังคงให้อำนาจเจ้าพนักงานสอบสวนในการเรียกตัวบุคคลหรือบังคับให้ผู้ให้บริการต้องยอมส่งมอบข้อมูลจราจรทางอินเทอร์เน็ตหรือข้อมูลเกี่ยวกับผู้ใช้งานคอมพิวเตอร์แต่ละคน โดยไม่จำเป็นต้องมีหมายศาล ส่งผลให้ทางการสามารถเข้าถึงข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมทางอินเทอร์เน็ตของผู้ใช้งาน โดยไม่จำเป็นต้องขออำนาจจากศาล จนถึงปัจจุบัน เนื้อหาที่เสนอให้แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา18 และ19 ยังไม่ได้รับการแก้ไขเพื่อตัดข้อบกพร่องเหล่านี้ ซึ่งย่อมส่งเสริมให้มีการใช้อำนาจตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ โดยพลการและโดยจงใจ เพื่อปราบปรามนักกิจกรรม ผู้สื่อข่าว ผู้วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลและบุคคลอื่นๆ ต่อไป
ผู้รายงานพิเศษแห่งสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิที่จะมีเสรีภาพในการแสดงออกกล่าวไว้ในรายงานปี 2559 เกี่ยวกับภาคเอกชนและเสรีภาพในการแสดงออกในยุคดิจิทัล โดยเน้นย้ำว่า “การเรียกร้อง การร้องขอ หรือมาตรการอื่นใดเพื่อกำจัดเนื้อหาทางดิจิทัล หรือการเข้าถึงเนื้อหาทางอินเทอร์เน็ต หรือการเข้าถึงข้อมูลของลูกค้า ต้องเป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติไว้โดยชอบ ต้องผ่านการตรวจสอบดูแลจากหน่วยงานภายนอกที่เป็นอิสระ และต้องสะท้อนถึงช่องทางที่จำเป็นและได้สัดส่วนเพื่อบรรลุเป้าหมายดังกล่าวหรืออื่นๆ โดยเป็นไปตามข้อ 19 (3) ของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง”
4) การเซ็นเซอร์ทำได้สะดวกขึ้น
พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯจำกัดสิทธิที่จะมีเสรีภาพในการแสดงออกอย่างไม่ชอบธรรม โดยการอำนวยความสะดวกให้เจ้าพนักงานสามารถเซ็นเซอร์เนื้อหาทางอินเทอร์เน็ตได้
ตามเนื้อหาที่เสนอให้แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ มาตรา20 ทางการจะสามารถปกปิดหรือถอดเนื้อหาทางคอมพิวเตอร์ที่ขัดต่อพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ละเมิดกฎหมายอาญา หรือเป็นการคุกคาม “ความมั่นคงภายในประเทศ” แม้ว่าการดำเนินการตามมาตรา 20 จำเป็นจะต้องได้รับหมายศาล แต่เนื่องจากเนื้อหาที่กว้างขวางและคลุมเครือของพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯทำให้เจ้าหน้าที่มีอำนาจอย่างกว้างขวางในการปราบปรามเนื้อหาบนอินเทอร์เน็ต ประเด็นนี้นับเป็นข้อกังวลที่สำคัญเมื่อพิจารณาว่าที่ผ่านมาทางการไทยได้ลงโทษบุคคลเนื่องจากการใช้สิทธิที่จะมีเสรีภาพในการแสดงออก เสรีภาพในการสมาคมและการชุมนุมอย่างสงบ รวมทั้งสิทธิอื่นๆ นอกจากนี้ มาตรา 20 ยังไม่ได้กำหนดให้ความเห็นชอบจากศาลต้องสิ้นสุดลงหลังจากผ่านไประยะเวลาหนึ่งด้วย
โทษอาญาที่รุนแรงตามที่กำหนดในพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ยังสนับสนุนให้มีการเซ็นเซอร์ตัวเองอย่างกว้างขวาง ซึ่งยิ่งเป็นการคุกคามต่อสิทธิที่จะมีเสรีภาพในการแสดงออกมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การขยายความรับผิดทางอาญาของผู้ให้บริการทางอินเทอร์เน็ต สิ่งที่เกิดขึ้นอาจเป็นเหตุให้เกิดการเซ็นเซอร์เนื้อหาทางอินเทอร์เน็ตอย่างกว้างขวางมากขึ้นตามไปด้วย ซึ่งจะเป็นการจำกัดการแสดงออกของผู้ใช้งานคอมพิวเตอร์ในประเทศไทยมากขึ้นไปอีกขั้น
เราจึงขอเรียกร้องให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ส่งเสริมให้ประเทศไทยปฏิบัติตามพันธกรณีที่มีต่อกฎหมายระหว่างประเทศ ด้วยการไม่ให้ความเห็นชอบต่อเนื้อหาที่เสนอให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ เหล่านี้ และให้มีการทบทวนแก้ไขเนื้อหา พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ในลักษณะที่สอดคล้องกับกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ โดยให้มีการปรึกษาหารือกับภาคประชาสังคม และผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง
ลงนาม:
แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล (Amnesty International)
อินเตอร์เนชั่นแนล เฟเดอเรชั่น ฟอร์ ฮิวแมนไรท์ (International Federation for Human Rights)
องค์กรฟอร์ติฟาย ไรท์ (Fortify Rights)
คณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากล (International Commission of Jurists)
ลอว์เยอร์ ไรท์ วอทช์ แคนาดา (Lawyers Rights Watch Canada)