ประเทศไทยเปลี่ยนแปลงการปกครองมา 84 ปี อยู่ในรัชสมัยในหลวง ร.9 ถึง 70 ปี พูดได้ว่า "ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข" ในทางปฏิบัติมีพระมหากษัตริย์องค์เดียวเท่านั้นที่ครองราชย์มายาวนานในระบอบนี้ เพราะ ร.7 อยู่สั้นๆ 2 ปี ก็สละราชสมบัติ ร.8 ครองราชย์เมื่ออายุ 8 พรรษา ต้องมีผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน
แต่ถ้านับกันจริงๆ "ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข" ที่แผ่พระบารมี ก็ต้องนับจาก 14 ตุลา 2516 เพราะก่อนหน้านั้นอยู่ในรัฐบาลทหาร หลังรัฐประหาร 2490 (ในหลวงเสด็จกลับมาทำพิธีราชาภิเษก 2493) คือยุคจอมพล ป. ที่ยังชูเชื่อผู้นำชาติพ้นภัย ยุคสฤษดิ์แม้เทิดทูนยกย่อง แต่ก็ปกครองด้วยประกาศคณะปฏิวัติ ซึ่งประกาศเองใช้เอง ไม่ต้องทูลเกล้าฯ เพื่อลงพระปรมาภิไธย (แบบ ม.44) "ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข" จึงไม่ใช่เพียงแค่มีในหลวงแต่ต้องมีรัฐธรรมนูญและทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญ นี่คือสิ่งที่เป็นมา 43 ปี และทำให้พระบารมีแผ่ไพศาล
ในขณะที่พวกคลั่งอุดมการณ์ราชาชาตินิยมปฏิเสธประชาธิปไตย จริงๆ แล้ว "ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข" ต่างหากที่เสริมพระเกียรติ พระบารมี ทั้งเหตุการณ์ 14 ตุลา และพฤษภา 35 (ซึ่งโด่งดังไปทั่ว ทำให้ในหลวงได้รับการยกย่องจากชาวโลก) แต่ที่เกิดปัญหาเพราะพวกคลั่งนี่ละ ดันเรียกร้อง ม.7 นายกพระราชทานเมื่อปี 49 ไม่เข้าใจว่าพระบารมีต้องเป็นพระบรมราชวินิจฉัย ที่ใช้เมื่อบ้านเมืองวิกฤติ ถึงทางตัน กลไกทุกอย่างล่มสลาย ไม่ใช่คนแตกเป็น 2 ขั้วแล้วให้สถาบันตัดสิน
รัฐธรรมนูญฉบับใหม่เลยกลัว ม.7 ซะจนเขียนอำนาจแก้วิกฤติใหม่ เป็น ม.5 ให้ประธานศาล รธน.เรียกประชุมประธานศาล อง์กรอิสระ + ฝ่ายการเมืองไม้ประดับ แล้วตัดสินวิกฤติแทน ม.7 (อันนี้ไม่ได้เขียนลงไปหรอกนะ แต่เหน็บไว้ให้คนอ่านคิด เวลาเกิดวิกฤติน่ะในหลวงท่านแก้ได้เพราะท่านมีบารมี ประชาชนเคารพนับถือ ไม่ได้อยู่ที่มาตราไหนหรอก แต่ถ้าพูดในทางรัฐธรรมนูญท่านก็ทรงเป็นประมุข คำถามคือพวกประธานศาลเป็นใคร ประชาชนต้องเคารพเชื่อฟังไหม)
สลิ่มคลั่งไม่เข้าใจว่า พระบารมีในหลวงแผ่ไพศาลมาในระบอบประชาธิปไตย ย้อนกลับไปด่าคณะราษฎร ทำนองว่ารักในหลวงต้องรักสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ทั้งที่จริง พวกนี้ต้องขอบคุณคณะราษฎร เพราะเปลี่ยนระบอบให้พระมหากษัตริย์ไม่ต้องใช้อำนาจตัดสินใจทางบริหาร ทางนิติบัญญัติ เพราะอำนาจมาคู่กับความรับผิด มาคู่กับการทำให้คนพอใจไม่พอใจ ทำให้คนได้ประโยชน์เสียประโยชน์ แบบ ร.7 เป็นหัวหน้ารัฐบาล ต้องขึ้นภาษี ต้องตัดงบ ต้องปลดข้าราชการ แต่ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข มีรัฐบาลเป็นผู้ตัดสินใจ พระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธย แต่นายกฯ หรือรัฐมนตรี เป็นผู้รับผิดชอบผลที่จะเกิดคนพอใจไม่พอใจ พระมหากษัตริย์ไม่ใช่ผู้ตัดสินใจขึ้นภาษี หรือออกกฎหมายลงโทษคน หรือตัดสินประหารชีวิตคน หรือแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการ (ซึ่งย่อมมีคนสมหวังผิดหวัง) แต่พระมหากษัตริย์มีอำนาจอภัยโทษ รับฎีการ้องเรียน ทรงงานการกุศล หรือพระราชกรณียกิจ จึงมีแต่ "พระคุณ"
นั่นละคือระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขที่ยืนยาวมา 43 ปี
Atukkit Sawangsuk
ในหลวงกับประชาธิปไตย : คอลัมน์ ใบตองแห้ง