วันเสาร์, ตุลาคม 08, 2559

40 ปี 6 ตุลาฯ : “ส่งผ่านคบเพลิงของการต่อสู้”



40 ปี 6 ตุลาฯ : “ส่งผ่านคบเพลิงของการต่อสู้”

“สุรชาติ บำรุงสุข” ชี้ประวัติศาสตร์กำลังซ้ำรอยเดิม มีความแตกแยกหลังเหตุการณ์รุนแรง การใส่ร้ายป้ายสีไม่ต่างไปจากเมื่อ 40 ปีที่แล้ว ขณะที่ข้อคิดสำคัญสำหรับคนรุ่นใหม่คือการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยไม่เคยสิ้นสุด

วันนี้วันที่ 6 ตุลาคม เป็นวันครบ 40 ปีของเหตุการณ์ปราบปรามนักศึกษาและประชาชนที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่เรียกกันทั่วไปว่า เหตุการณ์ “หกตุลา” มีการจัดงานเสวนาเพื่อสรุปบทเรียนจากความรุนแรงหนนั้นว่าสังคมไทยควรจะได้ข้อคิดอะไรบ้างจากเรื่องดังกล่าวซึ่งส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตไม่น้อยกว่า 46 คน เช่นที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ก็มีการจัดงาน “40 ปี 6 ตุลาฯ” ในช่วงเช้า

ดร.สุรชาติ บำรุงสุข อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้สัมภาษณ์บีบีซีไทยว่างานนี้ไม่เพียงแต่เป็นหมุดหมายของการรำลึกถึงความสูญเสีย การส่งผ่านข้อมูลความรู้และหรือภาพเหตุการณ์ในครั้งนั้น แต่ยังมีนัยยะหมายถึง “การส่งผ่านคบเพลิงของการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย” ในสังคมไทย

ดร.สุรชาติ ชี้ว่าเหตุการณ์ 6 ตุลาคมจะเป็นคุณูปการแก่คนรุ่นใหม่ในแง่ของการเป็นบทเรียนว่าการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยไม่เคยสิ้นสุด ที่ผ่านมามีคนรุ่นใหม่ที่ลุกขึ้นมามีบทบาทในการต่อสู้กับระบอบการปกครองที่ไม่ปกติตลอดมา แต่การต่อสู้ในช่วงปัจจุบันนั้นต่างจากช่วงปี 2516-2519 อย่างมาก อย่างน้อยก็เห็นได้ว่าคนรุ่นก่อนไม่มีเครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์หรือโลกออนไลน์ซึ่งทำให้การเคลื่อนไหวมีข้อจำกัด แต่กระนั้นพวกเขาก็ยังสามารถดึงประชาชนให้เข้าร่วมได้ อย่างไรก็ตาม เมื่อเปรียบเทียบกับการต่อสู้หลังเหตุการณ์เมื่อเดือนพฤษภาคม 2535 จนถึงปัจจุบัน สิ่งที่ต่างอย่างสำคัญคือเงื่อนไขทางสังคม

“คนรุ่นผมที่ต่อสู้ เงื่อนไขส่วนใหญ่มาจากสงครามเย็น มีสถานการณ์สงครามในชนบทไทย หลังปี 2535 ไม่มีสงครามแบบเก่าหรือเงื่อนไขความต่างทางอุดมการณ์แบบเก่า แต่คนรุ่นใหม่ต่อสู้โดยมีอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เข้ามามีบทบาท เราเห็นความเคลื่อนไหวดังกล่าวในไคโรหรือแถบตะวันออกกลาง ผมคิดว่าสถานการณ์ทางการเมืองก็คงไม่ต่างกันไม่ว่าจะเป็นของไทยหรือของโลก” ดร.สุรชาติ กล่าว

ดร.สุรชาติระบุอีกว่า สถานการณ์ในวันนี้อาจจะคล้ายกันกับในปี 2519 คือมีการปลุกระดม การใส่ร้ายป้ายสี สร้างความแตกแยก ซึ่งผลพวงที่ได้นำมาสู่ปัญหาใหญ่ที่สุดคือการแตกแยกและการแบ่งฝักฝ่ายทางการเมืองทั้งในช่วงปี 2519 หรือหลังจากนั้น และได้เห็นความพยายามของรัฐในการยุติปัญหาความแตกแยกในสังคมไทย ซึ่งวันนี้ปัญหาความแตกแยกมีความท้าทายไม่แพ้กัน ดังนั้นความสูญเสียจากเหตุการณ์ “6 ตุลา” ก็น่าจะเป็นบทเรียนให้กับรัฐด้วยว่า การใช้ความรุนแรงไม่ใช่เครื่องมือที่ดีในการแก้ปัญหาเพราะ “สุดท้ายแล้วผลกระทบจะตกอยู่กับรัฐและสังคมนั้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้”

บีบีซีไทย - BBC Thai added a new video.