![](https://blogger.googleusercontent.com/img/b/R29vZ2xl/AVvXsEicW_wAfrrPHDkckwdWCkwKhh15Ed28RY6e43j2VUv8djI2dKF8itY9pqwETP1SQvbgr8WrmWMQeK-eUdRIZEjgdghsvcMqJUsyjdvVK4c8HsS6eoxhkVap2kRidZKpVscmsc1TnjAcMsGSF7eaEXlQT4sTCObBmg0u55d4qw73JfqNhTvTglDp_w/w399-h239/nbtc-09-02-25-pic.jpg)
‘เครือข่ายภาคประชาชน’ ตั้ง 5 ประเด็น ‘คดีพิรงรอง’ ชี้สร้างแรงสะเทือนทุกวงการตั้งแต่ ‘กฎหมาย-กระบวนการยุติธรรม จับตา ‘กสทช.’ ส่อถูก ‘กลุ่มทุน’ แทรกแซง หลังแต่งตั้งคนนามสกุลเดียวกับ ‘ผู้บริหาร ทรู’ เป็น ‘ผู้อำนวยการส่วน’ ประธาน กสทช. ทำหน้าที่จัดประชุม กสทช.-ดูแลเอกสาร-ทำรายงานประชุม
‘ภาคปชช.’ชี้คดี‘พิรงรอง’สะเทือนกระบวนการ‘ยุติธรรม’-จับตา‘กสทช.’ส่อถูก‘กลุ่มทุน’แทรกแซง
9 กุมภาพันธ์ 2568
สำนักข่าวอิศรา
เมื่อวันที่ 9 ก.พ. เครือข่ายภาคประชาชน ซึ่งประกอบด้วย คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) สภาองค์กรของผู้บริโภค สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.) สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย เครือข่ายศิลปินเพื่อประชาธิปไตย สมาคมโทรทัศน์ระบบดิจิตอล (ประเทศไทย) นักกฎหมายสิทธิมนุษยชน และอดีตสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ได้ร่วมกันอภิปรายในเวทีสาธารณะ เรื่อง ‘ความเห็นภาคประชาชนต่อคดี ศ.ดร.พิรงรอง รามสูต กรรมการ กสทช.’
นายเมธา มาสขาว รักษาการเลขาธิการ ครป. และผู้ประสานงานเครือข่ายประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจ แถลงสรุปความเห็นและข้อเสนอภาคประชาชน ว่า ภาคประชาชนมีความเห็นและข้อเสนอต่อคดี ศ.ดร.พิรงรอง รามสูต กรรมการ กสทช. ใน 5 ประเด็น ได้แก่ ประเด็นที่ 1 พวกเราในฐานะเครือข่ายภาคประชาชน ขอเป็นกำลังใจให้ ศ.ดร.พิรงรอง ซึ่งทำหน้าที่ต่อสู้และคุ้มครองสิทธิผู้บริโภค และสิทธิประชาชน ในผลประโยชน์สาธารณะ ที่ กสทช. ควรทำหน้าที่
“ศ.ดร.พิรงรอง เป็น กสทช. (กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ) ด้านโทรทัศน์ ซึ่งต้องทำหน้าที่ปกป้องและคุ้มครองผลประโยชน์ให้กับประชาชน ดังนั้น เรื่องที่ ศ.ดร.พิรงรอง กระทำ และเป็นคดีอยู่นี้ ก็เป็นเรื่องบทบาทและการทำงานโดยสุจริต เราจึงขอให้กำลังใจ ศ.ดร.พิรงรอง และขอให้หน้าที่อย่างสุจริตและพิทักษ์ผลประโยชน์ของประชาชนต่อไป” นายเมธา กล่าว
ประเด็นที่ 2 คดีของ ศ.ดร.พิรงรอง เป็นคดีที่สะเทือนไปทุกวงการ สะเทือนทั้งเรื่องกฎหมาย นิเทศศาสตร์ และสื่อสารมวลชน รวมถึงเรื่องคุณธรรมและกระบวนการยุติธรรม ภาคประชาชนจึงร่วมกันแสดงพลัง และตั้งคำถามต่อเรื่องนี้โดยตรง โดยจะมีการเคลื่อนไหวใน 3 ส่วน คือ ส่วนแรก ในฐานะเครือข่ายภาคประชาชนจะมีเปิดเวทีของเครือข่ายต่างๆ เพื่อผลักดันและเป็นพลังให้องค์กรอิสระหรือแม้กระทั่งฝ่ายที่ทำหน้าที่ด้านกฎหมาย หรือตุลาการได้ตระหนักถึงปัญหานี้
ส่วนที่สอง นักกฎหมายและนักวิชาการต่างๆ จะมีการเปิดเวทีอภิปรายในเรื่องนี้ ว่า เหตุใดการทำหน้าที่เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของประชาชน จึงถูกฟ้องว่าละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ฯหรือกระทำการทุจริตตามมาตรา 157 และถูกตัดสินจำคุกถึง 2 ปีได้ โดยไม่รอลงอาญา และส่วนที่สาม ในภาพรวม จะต้องมีการปฏิรูป กสทช. ทั้งระบบ ทั้งเรื่องบทบาทหน้าที่ และการสรรหา กสทช. รวมถึงการสรรหาคนมาทำงาน
“14 ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะ กสทช. ชุดปัจจุบัน มีข้อครหามากมาย และมีผลประโยชน์เกี่ยวข้องด้วย ในฐานะที่ท่านมีอำนาจพิจารณาการควบรวมกิจการขนาดใหญ่ของเอกชน ในเรื่องโทรทัศน์ คลื่นความถี่ และโทรคมนาคม” นายเมธา กล่าว
ประเด็นที่ 3 จากคดีนี้ เราเห็นว่ามีความขัดแย้งกันจริงใน กสทช. ซึ่งนำไปสู่การฟ้องร้อง และทำให้กระบวนการยุติธรรมที่เกิดขึ้นมีข้อครหา โดยภาคประชาชนจะประชุมและเคลื่อนไหวในเรื่องต่อไป เนื่องจากเป็นเรื่องการละเมิดสิทธิของผู้บริโภคอย่างรุนแรง และปรากฏข้อเท็จจริงว่า หลายๆเรื่องไม่ได้ถูกหยิบยกขึ้นมาพิจารณาหรืออยู่ในการใช้ดุลพินิจของผู้พิพากษา ทั้งๆที่เป็นการกระทำโดยเจตนาบริสุทธิ์ หรือเป็นการกระทำตามอำนาจหน้าที่ของ กสทช.
“ข้อเท็จจริงในหลายๆเรื่องที่ อ.พิรงรอง ทำหน้าที่ แม้ว่าเรายังไม่เห็นคำพิพากษาฉบับเต็ม แต่ในหลายๆเรื่อง ไม่ได้ถูกนำมาพิจารณา หรืออยู่ในการใช้ดุลพินิจของผู้พิพากษาเลยหรือ ทั้งที่เป็นการกระทำโดยเจตนาบริสุทธิ์ หรือแม้กระทั่งตามอำนาจหน้าที่ แต่ไปเล่นในบางประเด็นที่น่ากังขา เรื่องนี้จะมีการตรวจสอบต่อไปว่า มีการแทรกแซงของกลุ่มทุนจริงหรือไม่” นายเมธา กล่าว
ประเด็นที่ 4 เรื่องนี้เป็นเรื่องการฟ้องปิดปากประชาชนใช่หรือไม่ โดยเฉพาะกลุ่มทุนที่มีผลประโยชน์กับอำนาจรัฐบางส่วน ที่พยายามใช้อิทธิพลและอำนาจเข้ามาแทรกแซงองค์กรภาครัฐ เช่น กสทช. อีกทั้งผลกระทบที่จะตามมา คือ อาจทำให้การทำหน้าที่ขององค์กรต่างๆในการคุ้มครองผู้บริโภคต้องสะดุด แม้กระทั่งคณะอนุกรรมการชุดอื่นๆ อาจไม่กล้าพิทักษ์ผลประโยชน์ของประชาชน ผลประโยชน์สาธารณะ เพราะกลัวถูกฟ้องปิดปาก หรือใช้กฎหมายเข้าคุกคาม
ประเด็นที่ 5 ตามที่มีการกล่าวหาใน 2 เรื่อง คือ เรื่องแรก กสทช. มีคำสั่งที่ 337/2567 ลงวันที่ 8 มี.ค.2567 แต่งตั้งบุคคลที่มีนามสกุลเดียวกับผู้บริหารของบริษัท ทรู หรือกลุ่มทุนที่เป็นคู่กรณีในคดีนี้ มาเป็นผู้อำนวยการส่วนของประธาน กสทช. และมีอำนาจหน้าที่ดำเนินการประชุม ดูแลเอกสาร และจัดทำรายงานการประชุมต่างๆ จึงทำให้เกิดข้อกล่าวหาว่ามีผลประโยชน์ทับซ้อนระหว่างหน่วยงานหรือไม่ และ กสทช.จะแก้ไขอย่างไร
เรื่องที่สอง เรื่องคุณสมบัติของประธาน กสทช. ซึ่งเรื่องนี้เราเห็นว่า ประธาน กสทช. ขาดคุณสมบัติ ตามมติของ คณะกรรมาธิการการเทคโนโลยีสารสนเทศ การสื่อสาร และการโทรคมนาคม วุฒิสภา ไปแล้ว และไม่มีข้อโต้แย้ง แต่ปรากฎว่าประธานวุฒิสภากลับไม่ได้ดำเนินการ โดยการยื่นเรื่องให้นายกรัฐมนตรี เพื่อทูลเกล้าฯขึ้นไป ตามกฎหมาย ทำให้เรื่องนี้ยังค้างอยู่และกลายเป็นสูญญากาศ ทั้งๆที่ข้อเท็จจริงปรากฎแล้ว
“เรื่องนี้ ครป.เคยชี้ประเด็นว่า ผู้ที่มีอำนาจหน้าที่อาจผิดมาตรา 157 ได้ด้วยซ้ำ โดยเฉพาะนายกรัฐมนตรี ถ้าไม่ทำเรื่องนี้ให้กระจ่าง เพราะมันพัวพันไปถึงการสร้างผลประโยชน์ใน กสทช. โดยการสนับสนุนกลุ่มทุน เช่นดั่งที่เกิดกรณีของ อ.พิรงรอง” นายเมธา ระบุ
นายเมธา กล่าวด้วยว่า การแสดงความคิดเห็นของภาคประชาชนในครั้งนี้ ภาคประชาชนไม่ได้มีเจตนาไม่บริสุทธิ์ที่จะปฏิเสธคำสั่งศาลหรือเห็นแย้ง แต่เป็นข้อคิดเห็นของภาคประชาชนที่รู้สึกผิดหวังกับคำพิพากษา เราต้องการทำความจริงให้กระจ่าง และอยู่เคียงข้างความเป็นธรรมและความเป็นจริง ที่นักปกป้องสิทธิมนุษยชนหรือสิทธิประโยชน์สาธารณะควรต้องได้รับการปกป้อง
https://www.isranews.org/article/isranews-news/135545-Public-sector-discuss-board-NBTC-case-news.html
สด! ความเห็นประชาชนต่อคดี “อ.พิรงรอง” | ไลฟ์วันนี้ | 9 ก.พ.68
Thai PBS News
Streamed live 13 hours ago #SAVEพิรงรอง #พิรงรอง #พิรงรองรามสูตภาคประชาชนร่วมสะท้อน จัดเวทีความเห็นประชาชน ต่อคดี ศ.กิตติคุณ พิรงรอง รามสูต กรรมการ กสทช. กับ บทบาท กสทช. เพื่อประโยชน์สาธารณะ ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ปทุมวัน
https://www.youtube.com/live/Y_rslfWuWMI