บีบีซีไทย - BBC Thai
12 hours ago
·
"ถามว่าทำไมจึงแบบนั้น ก็เพราะว่ามีคนที่อยู่ใน comfort zone ของการแก้ปัญหาในลักษณะนี้ไปเรื่อย ๆ และมันก็มีงบประมาณมาให้ต่อยอดวิธีทำงานเฉพาะหน้าเช่นนี้อยู่ตลอด" รศ.ดร.คนึงนิจ ศรีบัวเอี่ยม กล่าวกับบีบีซีไทย "มันจึงวนอยู่แบบนี้ เหมือนเอาเครื่องมือเล็ก ๆ ไปจัดการกับเรื่องสลับซับซ้อนเป็นภูเขาน้ำแข็ง"
.
บีบีซีไทยพูดคุยกับ 3 ผู้เชี่ยวชาญว่า เหตุใดปัญหาฝุ่น PM2.5 ถึงเป็นปัญหาเรื้อรังของประเทศ และฉากทัศน์ที่เลวร้ายที่สุดในอนาคตอันใกล้ที่พวกเขาเห็นนั้นเป็นเช่นไรบ้าง อ่านต่อได้ที่ https://bbc.in/3Efp0Qz
...
จิราภรณ์ ศรีแจ่ม
ผู้สื่อข่าวบีบีซีไทย
3 กุมภาพันธ์ 2025
นับตั้งแต่ปลายปีที่แล้วจนถึงตอนนี้ รัฐบาลได้ออกมาตรการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 หลากหลายนโยบายด้วยกันในฐานะที่ปัญหานี้เป็นวาระแห่งชาติ แต่ยังไม่สามารถทำให้ปัญหาดังกล่าวดีขึ้นจนผู้คนรู้สึกได้ ขณะเดียวกันคนไทยต่างเผชิญปัญหานี้มานานกว่า 20 ปี ซึ่งพบว่าสถานการณ์รุนแรงมากขึ้นในช่วง 7-8 ปีที่ผ่านมา
ล่าสุด น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี บอกว่าในช่วงเดือน พ.ย. 2567 - ม.ค. 2568 ได้สั่งการให้กำหนดเขตรถบรรทุกเข้ากรณีค่าฝุ่นเกินมาตรฐาน รวมถึงกำหนดมาตรการป้องกันมลพิษทางอากาศที่มาจากการเผาในภาคการเกษตร ไอเสียจากรถยนต์ ฝุ่นควันจากภาคอุตสาหกรรม รวมถึงยุทธการฟ้าใสที่มุ่งเป้าไปที่การแก้ไขปัญหาหมอกควันข้ามแดน พร้อมกันนี้ได้กำชับให้หน่วยงานต่าง ๆ กวดขัน จับกุมผู้กระทำความผิดอย่างเข้มงวดด้วย
เมื่อวันที่ 8 พ.ย. ที่ผ่านมา ก็มีการแต่งตั้งคณะกรรมการ/คณะทำงานถึง 3 ชุด เพื่อบูรณาการทำงานแก้ไขปัญหาเรื่องนี้ ไม่ว่าจะเป็นคณะกรรมการอำนวยการเพื่อการจัดการปัญหามลพิษทางอากาศ ซึ่งมีหน้าที่พิจารณาการดำเนินมาตรการรับมือสถานการณ์ไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละออง ปี 2568 ให้ทันท่วงที ไปจนถึงคณะทำงานศูนย์ปฏิบัติการเฝ้าระวังควบคุมไฟป่าและหมอกควันในพื้นที่ 14 กลุ่มป่า หรือคณะทำงานศูนย์ปฏิบัติการ ป้องกัน และแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 ในกรุงเทพมหานคร
บีบีซีไทยพูดคุยกับ 3 ผู้เชี่ยวชาญว่า เหตุใดปัญหาฝุ่น PM2.5 ถึงเป็นปัญหาเรื้อรังของประเทศ และฉากทัศน์ที่เลวร้ายที่สุดในอนาคตอันใกล้ที่พวกเขาเห็นนั้นเป็นเช่นไรบ้าง
ปัญหาฝุ่นเป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง ไม่ใช่ภัยพิบัติประจำฤดูกาล
นายกัมพล ปั้นตะกั่ว นักวิจัยเรื่องฝุ่น PM2.5 จากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทยหรือทีดีอาร์ไอ (TDRI) บอกว่าจากที่เคยทำวิจัยเมื่อประมาณ 3-4 ปีก่อน พบว่าส่วนราชการมองว่าฝุ่นเป็นปัญหาภัยพิบัติเหมือนกับน้ำท่วมหรือภัยแล้ง ขณะที่โครงสร้างการจัดการภัยพิบัติของไทยก็เป็นงานเฉพาะหน้าที่แต่งตั้งกรรมการเฉพาะกิจขึ้นมาเป็นกรณี ๆ ไป
"เมื่อจบเหตุการณ์ก็จบคณะกรรมการชุดนั้น และพอมันเป็นมีความเป็นเฉพาะกิจ มันก็จะขาดความสืบเนื่องเรื่องความรู้ รวมถึงเรื่องงบประมาณ" เขาบอก "พอกรรมการถูกเคลียร์ออกไป การบูรณาการใด ๆ ที่เกิดขึ้นในช่วงนั้นก็จบลงพอมันเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างแบบนี้ มันเลยทำให้ปัญหาฝุ่นไม่ถูกแก้ไขอย่างยั่งยืน"
เขาเล่าต่อว่า ปัญหาเรื่องฝุ่น PM2.5 เริ่มเป็นประเด็นในประเทศไทยช่วง 7-8 ปีที่ผ่านมา จากนั้นมีความพยายามจำนวนหนึ่งจากรัฐบาลกลางที่ต้องการลดปัญหาฝุ่น โดยแต่ละกรมก็มีมาตรการออกมาเป็นของตัวเอง ทว่าการแก้ไขปัญหาเรื่องนี้ต้องทำความเข้าใจที่มาของฝุ่น (source) ก่อน ซึ่งแต่ละพื้นที่มีแหล่งกำเนิดไม่เหมือนกัน และนั่นหมายความแต่ละพื้นที่ย่อมต้องการวิธีการแก้ไขปัญหาเฉพาะตัวที่แตกต่างกันด้วย
"แหล่งกำเนิดของฝุ่นในกรุงเทพมหานคร หากดูค่าเฉลี่ยทั้งปีจะพบว่ามาจากฝุ่นที่มาจากท่อไอเสียรถยนต์และโรงงานอุตสาหกรรมที่อยู่รอบ ๆ แต่หากดูช่วงพีค (peak-ช่วงรุนแรง) เช่น ช่วง ม.ค. จะพบว่ามีฝุ่นที่มาจากการเผาชีวมวลมากขึ้นในช่วงนี้ โดยเป็นฝุ่นจากการเผาชีวมวลประมาณ 37% ฝุ่นจากท่อไอเสีย 24% และฝุ่นทุติยภูมิ (secondary particle) หรือฝุ่นละอองที่เกิดขึ้นจากปฏิกิริยาต่าง ๆ ในอากาศประมาณ 17% ขณะที่อื่น ๆ จะเป็นพวกฝุ่นดิน ฯลฯ"
เขามองว่ากรุงเทพมหานคร (กทม.) ยังพอมีอำนาจจัดการแหล่งกำเนิดฝุ่นที่มาจากท่อไอเสียได้ แต่เมื่อเป็นเรื่องโรงงานอุตสาหกรรมอำนาจก็ขึ้นอยู่กับกรมโรงงานอุตสาหกรรม ส่วนเรื่องการเผาก็ต้องพึ่งพาอำนาจผู้ว่าราชการจังหวัดของนั้น ๆ ซึ่งผู้ว่ากรุงเทพมหานครจะทำงานข้ามไปจังหวัดอื่นไม่ได้
นักวิจัยจาก TDRI ยังชี้ให้เห็นด้วยว่าโครงสร้างภาษีน้ำมันที่อุดหนุนน้ำมันดีเซล ยังทำให้ครัวเรือนต่าง ๆ ตัดสินใจซื้อรถกระบะหรือรถประเภทที่ใช้น้ำมันชนิดนี้มากขึ้น ทั้งที่การอุดหนุนดังกล่าวต้องการลดภาระต้นทุนทางขนส่งสินค้าและการคมนาคมในธุรกิจต่าง ๆ ซึ่งสวนทางกับนโยบายสนับสนุนรถยนต์ไฟฟ้าหรืออีวีและต้องการยกเลิกนโยบายสนับสนุนการใช้รถกระบะดีเซลของ กทม. ที่ต้องการลดแหล่งกำเนิดของฝุ่นจากท่อไอเสียรถยนต์
"เพราะฉะนั้น กทม. จะไปยกเลิกการสนับสนุนดีเซลพวกนี้ได้หรือเปล่า มันก็เป็นเรื่องของกระทรวงพลังงาน เป็นเรื่องของรัฐบาลกลาง รัฐบาลท้องถิ่นทำไม่ได้ ดังนั้นการแก้ไขปัญหาเรื่องฝุ่นมันจึงต้องรื้อกันทั้งระบบ" นายกัมพลกล่าว
นักวิจัยจาก TDRI กล่าวต่อว่า เมื่อราว 3 ปีที่แล้วเคยมีงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ศึกษาว่าการเผาซ้ำซากที่เกิดขึ้นจากชีวมวลนั้นเกิดขึ้นในพื้นที่ไหนบ้างและมีสาเหตุมาจากอะไร ก็พบว่าประมาณ 60% มาจากการเผาป่า ไม่ใช่การเผาเพื่อการเกษตร ส่วนอีก 22% เป็นการเผาในนาข้าว ส่วนการเผาในไร่ข้าวโพดอยู่ที่ประมาณ 6% ขณะที่การเผาอ้อยนั้นอยู่ที่ราว 2%
"ข้าวโพดกับอ้อยดูเหมือนเป็นตัวร้าย แต่จริง ๆ แล้วมันอยู่ที่ประมาณ 2-6% ของการเผาทั้งหมด สาเหตุการเผาป่ามีการพูดคุยกันหลายครั้งและหลายคนเชื่อว่ามันเกิดจากนโยบายการเปลี่ยนพื้นที่ป่าเสื่อมโทรมเป็น สปก. มันมีกระบวนการบางอย่างที่ต้องการทำให้ป่าเสื่อมโทรมมากขึ้นเพื่อขยายเขต สปก. ออกไป เพื่อให้มีการจัดสรรที่ดินก้อนนั้นออกเป็นเอกสารสิทธิ์ มันเลยทำให้กระบวนการการเผาป่าจึงรุนแรงขึ้น" นักวิจัยจาก TDRI ระบุ
การเผาป่าคือสัดส่วนการเผาชีวมวลที่มากที่สุด นักวิจัยจาก TDRI ระบุ
ด้าน รศ.ดร.วิษณุ อรรถวานิช นักวิชาการด้านนโยบายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เกษตร พลังงาน สิ่งแวดล้อม ความมั่นคงด้านอาหาร และการพัฒนา จากคณะเศรษฐศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ บอกว่า ภาครัฐของไทยมักแก้ไขปัญหาที่ปลายเหตุ จึงทำให้ประเทศจึงวนเวียนอยู่กับปัญหานี้ซ้ำ ๆ
"สิ่งที่เราเห็นตอนนี้เป็นแค่ยอดภูเขาน้ำแข็ง ขณะที่ข้างล่างใต้ภูเขาน้ำแข็งมันคือปัญหาเชิงโครงสร้าง" เขาบอกและอธิบายว่าปัญหาเชิงโครงสร้างอย่างแรก คือ อำนาจเบ็ดเสร็จในการจัดการปัญหา ซึ่งที่ผ่านมารัฐมักให้กรมควบคุมมลพิษเข้ามาเป็นหน่วยงานที่ดูแลเรื่องนี้ แต่ปัญหาคือกรมมลพิษเองไม่ได้มีอำนาจเบ็ดเสร็จเหมือนกับที่ในต่างประเทศ เช่น สหราชอาณาจักร ซึ่งมีหน่วยงานที่สามารถสั่งข้ามกระทรวงได้
"ลักษณะของบ้านเราคือกรมควบคุมมลพิษอยู่ภายใต้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) พอสาเหตุของฝุ่นเกิดขึ้นจากรถยนต์ ยานยนต์ รถบรรทุก อยู่[กับ]กระทรวงคมนาคม หรือโรงงานเป็นคนปล่อยควันพิษ มันก็อยู่ในกรมโรงงานอุตสาหกรรม ทีนี้กฎหมายบ้านเรามันกระทรวงใครกระทรวงมัน เป็นแท่ง ๆ ไม่สามารถสั่งข้ามกระทรวงกันได้ เมื่อผู้ดูแลหลักไม่มีอำนาจเด็ดขาด ก็ทำได้แค่ขอความร่วมมือ หากกระทรวงเกษตรฯ ไม่หัน เกษตรกรก็ยังคงเผากันอยู่ เพราะฉะนั้นปัญหาฝุ่นของไทยจึงเป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง" รศ.ดร.วิษณุ บอก
รศ.ดร.คนึงนิจ ศรีบัวเอี่ยม อาจารย์คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้ร่วมก่อตั้งเครือข่ายอากาศสะอาดประเทศไทย และรองประธานกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ. บริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด พ.ศ…. ก็มีความเห็นที่สอดคล้องกับผู้เชี่ยวชาญสองคนก่อนหน้านี้ โดยเธอให้ความเห็นกับบีบีซีไทยว่า การที่รัฐส่งสารไปยังประชาชนว่าฝุ่น PM2.5 เกิดขึ้นเป็นฤดูเพียงชั่วคราว เดี๋ยวก็ผ่านไป ซึ่งเกิดขึ้นโดยตั้งใจหรือไม่ก็ตาม มันได้ลดทอนความรุนแรงของปัญหาลงอย่างมาก และทำให้องคาอพยพที่เกี่ยวข้องทั้งหมดมุ่งแก้ไขปัญหาแบบเฉพาะหน้ามากกว่ามุ่งเป้าไปที่สาเหตุของปัญหาที่แท้จริง
เธอยังพบว่าองค์ความรู้เกี่ยวกับการจัดการฝุ่น PM2.5 อยู่ในกลุ่มคนหน้าเดิม ๆ เพียงไม่กี่คน และการถกเถียงเรื่องนี้ในที่สาธารณะก็เกิดขึ้นได้ยากหรือแทบจะไม่มีพื้นที่เปิดให้เกิดการถกเถียงอย่างสร้างสรรค์ ทั้งที่มีนักวิชาการคนใหม่ ๆ หรือมีผู้มีความรู้หน้าใหม่พร้อมจะนำเสนอไอเดียให้ภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปปรับใช้ก็ตาม เรื่องนี้สะท้อนให้เห็นว่าโครงสร้างที่มีอยู่ในปัจจุบันกำลังแก้ไขปัญหาด้วยความรู้แบบเดิม ๆ ซึ่งพิสูจน์มาแล้วว่ามันไม่ได้ผล
เมื่อรวมสองปัจจัยด้านต้นเข้าด้วยกัน ทำให้รัฐไทยแก้ปัญหาโดยอิงจากสถานการณ์เฉพาะหน้าเป็นหลัก (Event based) มากกว่าจะแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 ในเชิงโครงสร้าง
"ถามว่าทำไมจึงแบบนั้น ก็เพราะว่ามีคนที่อยู่ใน comfort zone [พื้นที่คุ้นชิน คุ้นเคย] ของการแก้ปัญหาในลักษณะนี้ไปเรื่อย ๆ และมันก็มีงบประมาณมาให้ต่อยอดวิธีทำงานเฉพาะหน้าเช่นนี้อยู่ตลอด" รศ.ดร.คนึงนิจ กล่าว "มันจึงวนอยู่แบบนี้ เหมือนเอาเครื่องมือเล็ก ๆ ไปจัดการกับเรื่องสลับซับซ้อนเป็นภูเขาน้ำแข็ง"
เธอบอกว่าฐานคิดแบบเดิมที่รัฐใช้มาตลอดจนถึงตอนนี้ คือการแต่งตั้งคณะกรรมการเฉพาะขึ้นมาชุดหนึ่ง จากนั้นเพื่อจัดการปัญหาเฉพาะหน้า และ "เมื่อครบเทอมก็ไล่บี้ผลงานอย่างที่เราเห็น" ซึ่งอาจารย์จากคณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ ผู้นี้มองว่าฐานคิดแบบเก่าเช่นนี้ไม่ได้สืบค้นดูเลยว่าเครื่องไม้เครื่องมือและระบบบริหารราชการแผ่นดินของไทยนั้นไม่ได้ "มีความจำเพาะที่จะมาแก้ไขปัญหาฝุ่นได้" เนื่องจากระบบกระทรวง ทบวง กรม ฯลฯ ที่แบ่งแยกกันแบบไซโลหนักมาก ทำให้หน่วยงานรัฐทำงานแบบบูรณาการแทบไม่ได้ ทว่าปัญหาฝุ่น PM2.5 กลับเป็นประเด็นที่ต้องอาศัยการขับเคลื่อนจากทุกฝ่ายร่วมกันอย่างสูง
"การบูรณาการมันคือขั้นกว่าของการประสานงานนะคะ เพราะฉะนั้นคิดว่าแพลตฟอร์ม (platform) เก่าของโครงสร้างกฎหมาย ระบบนโยบายรัฐ และวิธีคิดแบบเดิม ๆ มันจึงเป็นสิ่งผิวเผิน ไม่ได้ขุดลึกไปยังต้นตอที่แท้จริง เราทำวิจัยมาแล้ว เรารู้ทุกอย่าง แต่เราไม่เคยทำได้อย่างที่พวกเราวิจัย งั้นก็แปลว่ามันเกิดอุปสรรคในฮาวทู (How to - วิธีการลงมือ) และไม่ใช่ไม่มีองค์ความรู้ มันมี แต่ฮาวทูไม่เกิด"
ระบบสังคมที่เอกชนเป็นใหญ่ ทำให้ประเทศ "เหมือนเป็นบริษัท"
รศ.คนึงนิจ ผู้ผลักดันร่างกฎหมายอากาศสะอาด กล่าวต่อว่าในประเด็นที่หยิบยกมาข้างต้นนั้นอยู่ภายใต้ผ้าคลุมผืนใหญ่ที่เรียกว่าระบบนิเวศ (ecosystem) ของสังคมไทยที่เปราะบางอย่างยิ่ง เนื่องจากภาคประชาชนและภาคประชาสังคมยังมีความอ่อนแออย่างมาก มีพลังต่อรองค่อนข้างต่ำ ขณะเดียวกันภาครัฐก็ไม่มีประสิทธิภาพ ส่วนภาคการเมืองก็มีความเกรงใจภาคเอกชนอย่างมาก แม้มีหลักฐานจำนวนมากที่ชี้ให้เห็นว่านี่เป็นภาคส่วนที่ปล่อยต้นตอมลพิษและฝุ่น PM 2.5 ในสัดส่วนมากที่สุด
"เขาเป็น free rider (หมายถึงผู้ที่ได้ประโยชน์โดยไม่ยอมเสียอะไรเลย)" รศ.ดร.คนึงนิจ "หากจะพูดให้ชัดก็คือบริษัทเอกชนที่มีอำนาจเหนือตลาด คนทั้งหลายที่มีหน้าที่ต้องปฏิบัติก็ไม่กล้ากับเขา นักการเมืองก็เกรงใจ ประเทศนี้มันจึงไม่เหมือนประเทศ มันเหมือนเป็นบริษัท ซึ่งมันน่าเศร้านะคะที่เรามาถึงจุดนี้ได้"
สิ่งที่ รศ.ดร.คนึงนิจ กังวลอย่างยิ่งคือความพยายามฟอกเขียวของบริษัทเอกชนผ่านนโยบายสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ ซึ่งในภาพรวมไม่ได้ทำให้สิ่งแวดล้อมดีขึ้น และทำให้ผู้ปล่อยมลพิษลอยนวลเหนือความรับผิดชอบต่อสังคม
รัฐเน้นสั่งห้ามมากกว่าสร้างทางเลือกให้กับเกษตรกร
รศ.ดร. วิษณุ นักวิชาการจาก ม.เกษตรศาสตร์ มองว่าภาครัฐมักเน้นนโยบายเชิงบังคับให้ประชาชนปฏิบัติตาม เช่น การห้ามเผาในพื้นที่เกษตรกรหรือพื้นที่ป่า ซึ่งเขามองว่า "การสั่งห้ามนั้นง่าย แต่ว่าไม่ได้สร้างทางเลือกให้กับเกษตรกร" ผู้มีฐานะไม่ดีนัก
"สั่งห้ามเผา แต่ก็ไม่มีตลาดให้กับเศษวัสดุทางการเกษตร คือต่อให้เกษตรกรเขาไม่อยากเผานะ เขาก็ขายเศษวัสดุไม่ได้อยู่ดี สุดท้ายมันก็ต้องจบลงที่การเผา เพราะจะให้เขาเอาฟางข้าวเอาซังข้าวโพดไปไว้ที่ไหน ตรงส่วนนี้จึงทำให้เห็นว่าภาครัฐจัดการตลาดไม่ดีพอ นอกจากนี้แรงงานก็ขาดแคลนและมีราคาแพง สุดท้ายพวกเขาก็ต้องจบที่การเผาเพราะมันมีต้นทุนน้อยที่สุด ท่ามกลางสภาวะที่ไม่มีตัวเลือกและเกษตรกรก็จนปัญญา"
เขาจึงเห็นว่าภาครัฐต้องสร้างทางเลือกเพื่อโน้มน้าวเกษตรกรให้มากกว่านี้ ปัจจุบันการทำแปลงต้นแบบรับซื้อใบอ้อย ฟางข้าว หรือซังข้าวโพดที่รัฐกำลังทำอยู่นั้น มีการซื้อขายคิดเป็นราว 5% ของเศษวัสดุการเกษตรจากทั้งประเทศซึ่งเป็นสัดส่วนที่น้อยเกินกว่าจะสร้างผลกระทบอะไรได้
"เรามีพื้นที่เกษตรที่เป็นนาข้าว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ อ้อย รวมกันเกินครึ่งราว 70 ล้านไร่ ดังนั้นเรากำลังพูดถึงปริมาณเศษวัสดุที่มีปริมาณมหาศาลมาก แต่พื้นที่ที่รัฐทำกลับเป็นโครงการเล็ก ๆ เช่น โครงการรถอัดก้อนฟางในพื้นที่ไม่กี่พันไร่ หรือการไถกลบตอซังซึ่งของบประมาณมาทำครั้งละ 20,000 ไร่ ทั้งที่เรามีพื้นที่การเกษตรมากกว่า 70 ล้านไร่"
เขาเสนอว่าแทนที่ภาครัฐจะออกนโยบายเน้นบังคับสั่งห้าม รัฐควรส่งเสริมตลาดเช่าบริการเครื่องจักรกลทางการเกษตร โดยจัดแพ็คเกจลดภาษีการนำเข้าเครื่องจักหรือลดภาษีเงินได้นิติบุคคลให้กับบริษัทที่จะเข้าไปลงทุนให้บริการเช่าเครื่องจักรในพื้นที่ที่เกษตรเข้าไม่ถึงเครื่องจักรเหล่านี้
"เมื่อมีตลาดเข้าไป ก็จะมีคนให้บริการ ถ้าให้บริการหลายเจ้าพร้อมกันในที่เดียว มันก็จะเกิดการแข่งขันทำให้ค่าเช่าถูกลงรวมถึงแข่งกันด้านคุณภาพการให้บริการ ถ้าภาครัฐส่งเสริมให้เกิดการแข่งขันและทำให้เกิดตลาดขึ้นในทุกที่ เกษตรกรก็มีทางเลือก เขาก็ไม่เผาอยู่แล้ว"
ทว่า การส่งเสริมให้เกษตรกรเข้าถึงเครื่องจักรกลสำหรับจัดการเศษวัสดุนั้นยังไม่เพียงพอ รัฐต้องมีงบประมาณเข้ามาช่วยค่าขนส่งจากพื้นที่เกษตรกรไปยังยังโรงงานที่รับซื้อเศษวัสดุด้วย เพื่อให้เกิดความสะดวกสบายกับทุกฝ่ายและไม่ผลักภาระต้นทุนไปยังเกษตรกรกับโรงงาน ที่สุดท้ายแล้วหากพวกเขาพบว่าทำไปก็ไม่คุ้มทุน มันก็จะจบลงที่การเผาเช่นเดิม
"ถ้าให้ระบบตลาดมันทำงานเองแบบนี้ ภาครัฐไม่จำเป็นต้องไปตรวจจับว่าใครคือคนเผาเลยนะครับ" รศ.ดร.วิษณุ กล่าว "สุดท้ายคนก็จะหันมาทำเพราะเห็นแล้วว่ามันเกิดรายได้ ปัญหาปากท้องก็จะหมดไป และยั่งยืนมากกว่า แต่ภาครัฐกลับนำวิธีการนี้มาใช้น้อยมาก ซึ่งผมคิดว่าสุดท้ายแล้วต้องทำให้ได้"
ฉากทัศน์ที่เลวร้ายที่สุดหากไทยยังแก้ปัญหาแบบเดิม
นักเศรษฐศาสตร์จาก ม.เกษตรศาสตร์ มองว่า หากสุดท้ายรัฐไทยยังแก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 ด้วยแนวคิดเดิม ๆ ประเทศก็จะมีผู้ป่วยจากสภาพอากาศเป็นพิษมากขึ้น ซึ่งหมายถึงแทนที่รัฐจะนำงบประมาณไปลงทุนสร้างโครงสร้างพื้นฐานดี ๆ ส่งเสริมด้านการศึกษา แต่ต้องนำเงินมาเทใส่ในระบบดูแลรักษาสุขภาพของประชาชนแทน
"มันไม่ใช่แค่เป็นปัญหาเรื่องการเจ็บป่วย แต่มันเป็นปัญหาเรื่องการใช้จ่าย ถ้าหากเป็นโรคมะเร็งก็ต้องมีค่ารักษาตัวหลักล้านบาท ถ้าเกิดคนมีฐานะไม่ดี เขาก็ต้องเอาเงินที่ไปจับจ่ายใช้สอย ซื้อบ้าน ซื้อรถ มาใช้จ่ายค่ารักษาพยาบาล แถมยังเป็นหนี้อีก ต้องเอาเงินไปซื้อเครื่องฟอกอากาศ ซื้อหน้ากากอนามัย สภาพเศรษฐกิจของไทยก็จะแย่ลงเรื่อย ๆ ซึ่งนั่นหมายถึงความสุขที่ลดลง" รศ.ดร. วิษณุ กล่าว
เขาขยายภาพให้เห็นต่อว่าการที่มีผู้ป่วยสักหนึ่งคนในบ้าน ยังทำให้สมาชิกที่เหลือต้องจัดสรรเวลามาดูแลผู้ป่วยด้วย ทำให้ออกไปทำงานไม่ได้เต็มที่หรือเต็มศักยภาพ ด้วยเหตุนี้การที่คนหนึ่งล้มลงจึงส่งผลกระทบต่อสถานะทางเศรษฐกิจของครัวเรือนทั้งหมด ซึ่งเป็นผลมาจาก "ทุนด้านมนุษย์" ที่อ่อนแอลง
ด้าน รศ.ดร.คนึงนิจ ฉายภาพให้เห็นในลักษณะสอดคล้องกันว่าไม่ใช่แค่ประเทศต้องแบกรับภาระด้านงบประมาณที่นำมาใช้จ่ายเพื่อดูแลสุขภาพประชาชนมากขึ้นเท่านั้น แต่วิกฤตด้านปัญหาสุขภาพระยะยาวกำลังทำให้ประเทศไทย "สูญเสียศักยภาพทั้งระบบซึ่งฟื้นตัวได้ยาก"
"กลุ่มเปราะบางเช่น หญิงตั้งครรภ์ ผู้สูงอายุ เด็ก คนมีโรคประจำตัวที่ต้องทำงานกลางแจ้ง จะล้มตายมากขึ้นซึ่งไม่ได้มีสาเหตุจากโรคมะเร็งเท่านั้น แต่ยังรวมถึงโรคหลอดเลือดในสมอง เด็กที่เลือดกำเดาไหลเพราะ PM2.5 ในวันนี้ ก็จะมีพัฒนาการทางสมองช้า ไอคิวจะลด ทำให้คุณภาพประชากรของเราตกต่ำตามไปด้วย"
นักวิชาการจากจุฬาฯ มองว่าสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 ของไทยจะเลวร้ายกว่าในจีนและอินเดีย
เธอยังกล่าวด้วยว่าการท่องเที่ยวซึ่งเป็นเครื่องยนต์ด้านเศรษฐกิจของประเทศก็จะได้รับผลกระทบไปด้วย เพราะหากไทยไม่สามารถแก้ไขปัญหามลพิษและฝุ่น PM2.5 ได้ ก็อาจได้รับการประกาศให้เป็นพื้นที่อันตรายต่อสุขภาพ ส่งผลให้ไม่มีนักท่องเที่ยวเดินทางมาไทยเช่นเดิม ขณะที่คนทำงานและฐานการผลิตของบริษัทข้ามชาติต่าง ๆ ก็จะย้ายการผลิตไปยังประเทศที่มีคุณภาพอากาศดีกว่าเพื่อสุขภาพของลูกจ้าง ส่วนแรงงานชาวไทยก็ไม่สามารถทำงานได้เต็มที่เนื่องจากเสียเวลาส่วนหนึ่งไปกับการรักษาตัวจากสุขภาพร่างกายอ่อนแอที่เป็นผลพวงมาจากคุณภาพอากาศ
"ความขัดแย้งในสังคมก็จะสูงขึ้นแน่นอน เพราะเรื่องนี้เป็นปัญหาความเหลื่อมล้ำมาตั้งแต่แรก บ้านที่ใช้ป้ายหาเสียงมาปะต่อกันเป็นผนัง ไม่มีเครื่องฟอกอากาศหรือเครื่องมือป้องกันตัวเองซึ่งเป็นสินค้าราคาแพง มีแต่ชนชั้นกลางขึ้นไปเท่านั้นที่ซื้อหาได้" เธอกล่าว "การประท้วงหรือการโต้แย้งทางการเมืองจะสูงขึ้น เพราะสิ่งเหล่านี้ทำให้สังคมขัดแย้งมากขึ้น เนื่องจากประชาชนขาดความเชื่อมั่นในรัฐบาลมากขึ้นเรื่อย ๆ"
นักวิชาการจากจุฬาฯ ยังมองว่าประเทศไทยจะต้องเผชิญกับความมั่นคงด้านอาหารอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะปัญหาฝุ่น PM2.5 สะสมในดิน น้ำ และระบบนิเวศด้วย และเมื่อเผชิญกับวิกฤตด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ (Climate Change) ก็จะทำให้คุณภาพอาหารของไทยตกต่ำลงหรือไม่ได้มาตรฐานเลย
ทุนมนุษย์ที่แย่ลงคือผลกระทบจากปัญหาคุณภาพอากาศที่ไทยกำลังเผชิญในอนาคตอันใกล้ ผู้เชี่ยวชาญระบุ
ด้าน รศ.ดร.วิษณุ เสริมว่า หากสินค้าเกษตรของไทยซึ่งเป็นจุดเด่นของเรามาโดยตลอดยังเป็นการทำเกษตรกรรมที่พึ่งพาการเผาเพื่อกำจัดเศษวัสดุไปเรื่อย ๆ ต่อไป ก็จะเผชิญกับปัญหาสินค้าถูกปฏิเสธจากต่างประเทศที่มีความเข้มงวดเรื่องการทำเกษตรกรรมแบบรักษาสิ่งแวดล้อมซึ่งเป็นเทรนด์ใหม่ของโลกที่ได้รับตอบรับจากประเทศต่าง ๆ มากขึ้น
"หากเราไม่แก้ไข ประเทศไทยจะยิ่งแย่ลง ๆ" เขากล่าวและบอกด้วยว่าฉากทัศน์นี้กำลังจะเกิดขึ้นในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า และบางวิกฤตก็เริ่มปะทุขึ้นแล้ว
ส่วน รศ.ดร. คนึงนิจ จากจุฬาฯ เห็นว่า "ประเทศไทยจะมีสภาพเลวร้ายกว่าเหตุการณ์วิกฤตฝุ่น PM2.5 ที่เกิดขึ้นที่จีน กรุงนิวเดลีของอินเดีย หรือที่เคยเกิดขึ้นในอังกฤษเมื่อร้อยกว่าปีก่อนแล้วซึ่งเขาหาทางออกได้ แต่เรากลับไม่มีทางออกเลย ปัญหาฝุ่นของไทยในตอนนี้ต้องการการแก้ไขปัญหาแบบผ่าตัดครั้งใหญ่ คุณจะมาแก้ไขแบบปะผุไม่ได้"
ใช่ว่าฝุ่นไม่ลดลงเลย
ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญรายอื่น ๆ มองว่าประเทศไทยกำลังเดินไปถึงจุดถึงวิกฤตที่ไม่สามารถย้อนกลับผลลัพธ์ของปัญหานี้ได้ แต่นักวิจัยจาก TDRI ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่าจากการติดตามค่าฝุ่นทั้งปีพบว่าปี 2016-2024 กรุงเทพมหานครสามารถลดฝุ่นลงได้ราว 4%
"นโยบายที่ออกมาแบบกะปริบกะปรอย เช่น ส่งเสริมรถอีวี มันไม่ใช่ถึงกับไม่ช่วย มันช่วยได้บ้าง กระบวนการการลดลงของฝุ่นนั้นเป็นไปอย่างช้า ๆ คือราว 3-4%" แต่ข้อมูลนี้เป็นค่าเฉลี่ยของแต่ละปีที่ยังไม่นับรวมฝุ่นจากการเผาชีวมวลในพื้นที่อื่นซึ่งกรุงเทพฯ ได้รับอิทธิพลจากลมเป็นหลัก
อีกพื้นที่หนึ่งที่ตัวเขาติดตามแนวโน้มการเพิ่มขึ้น-ลดลงของฝุ่น PM2.5 คือ จ.เชียงใหม่ ซึ่งหลัก ๆ มีแหล่งกำเนิดจากการเผาชีวมวลภายในพื้นที่ นายกัมพลพบว่าฝุ่นลดลงราว 1% เท่านั้น แต่รูปแบบการเผาในพื้นที่กลับเปลี่ยนไป จากเดิมที่เคยเริ่มเผาในช่วงฤดูหนาวและเพิ่มมากขึ้นในช่วงหน้าแล้ง เขาพบว่าการเผาในช่วงฤดูหนาวลดลง และชะลอออกไปจนกว่าจะเข้าฤดูร้อนของปี
"เราพบว่าส่วนหนึ่งเป็นเพราะทางข้างบนเขาเริ่มทำธุรกิจท่องเที่ยวซึ่งมันมีความอ่อนไหวกับฝุ่น ชาวบ้านจึงเกิดการกดดันกันเองในสังคมระดับหนึ่ง ทำให้ pattern (รูปแบบ) การเผามันเปลี่ยนไป โดยเลื่อนออกไปจากช่วงหน้า high season (ฤดูท่องเที่ยว)"
นักวิจัย TDRI ยังบอกด้วยว่าเมื่อมองการจัดการปัญหาฝุ่นในประเทศไทย เราจะพบนโยบายที่เป็นข่าวและไม่เป็นข่าว ส่วนที่เป็นข่าวคือนโยบายที่รัฐบาลหรือฝ่ายการเมืองประกาศออกมาเพื่อพยายามทำให้เห็นว่ากำลังแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนเฉพาะหน้าให้กับประชาชนอยู่ แต่ขณะเดียวกันในส่วนของข้าราชการก็มีบางส่วนที่พยายามทำงานเชิงนโยบายระยะยาวอยู่ "เพียงแต่ว่าเป็นคนตัวเล็กตัวน้อย จึงไม่ค่อยมีสิทธิมีเสียง" และทำให้นโยบายเหล่านี้ไม่ได้ปรากฏในพื้นที่ข่าวมากนัก
เขายกตัวอย่างนโยบายระยะยาวที่ดำเนินมาต่อเนื่อง เช่น นโยบายเกษตรแปลงใหญ่ การสนับสนุนให้เกษตรกรใช้เครื่องมือการเกษตรขนาดใหญ่ร่วมกันเพื่อลดต้นทุนการผลิต สนับสนุนให้เกษตรกรหันมาทำกิจกรรมการเกษตรมูลค่าสูงโดยใช้มาตรฐานการส่งออกไปต่างประเทศมากขึ้น ซึ่งส่วนใหญ่กำหนดว่าต้องเป็นสินค้าเกษตรที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม เป็นต้น
"สิ่งเหล่านี้ก็จะทำให้พวกเขาขายสินค้าเกษตรได้ราคาดี และบังคับตัวเองให้ต้องทำงานแบบรักษาสิ่งแวดล้อมด้วย"
นายกัมพลมองว่าในเมื่อส่วนราชการต่าง ๆ เริ่มมีตัวชี้วัดการทำงาน (KPI) ว่าต้องทำนโยบายในเชิงระยะยาวแล้ว ภาคการเมืองก็ควรเข้ามาสนับสนุนด้วย โดยจัดสรรงบประมาณนโยบายระยะยาวให้มากขึ้นและต่อเนื่อง เหมือนกับที่สนับสนุนงบประมาณที่จัดสรรให้กับนโยบายเฉพาะหน้า ซึ่งเขามองว่า "พรรคการเมืองต่าง ๆ ยังไม่ค่อยสนับสนุนเต็มที่เท่าไรนัก"
https://www.bbc.com/thai/articles/c5y7jv0j2y2o