![](https://blogger.googleusercontent.com/img/b/R29vZ2xl/AVvXsEilqQ5cUmpPfpig9WXh-CBlzomaG-4vFg1aDpoblyTicYcOjstp7CgnCf9_jAgYaAlOepvuT9b1OT9Bd7J3JciAcouBAI61WtNqZ8qJddBfBjFOstrMKUy_da3e5lzJubAKVFx_LhkWzTOrjepYyZ0_fuNZT6idAs6h9R3jYkMoYJoRG2SYMmyMTw/w400-h500/476915481_1029789918991478_3207552989322791945_n.jpg)
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน
Yesterday
·
สถานการณ์ผู้ต้องขังทางการเมือง ม.ค. 2568: ถูกขังเพิ่ม 5 ราย ก่อนได้ปล่อย 2 ราย ยังมีคำถามเรื่องมาตรฐานสิทธิประกันตัว
.
.
ปัจจุบัน (7 ก.พ. 2568) ยังมีผู้ต้องขังคดีทางการเมืองทั่วประเทศ อย่างน้อย 42 คน (เป็นคดีมาตรา 112 จำนวน 28 คน) โดยมีประชาชนถูกคุมขัง ตามมาตรา 112 เพิ่ม จำนวน 2 ราย ในเดือนที่ผ่านมา
.
ก่อนหน้านี้ ในปี 2567 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน พบว่ามีผู้ต้องขังในคดีทางการเมือง รวมอย่างน้อย 33 ราย โดยแบ่งเป็นผู้ต้องขังที่ถูกขังระหว่างยังต่อสู้คดี 22 ราย เยาวชนที่ถูกคุมขังในสถานพินิจฯ 1 ราย และผู้ถูกคุมขังในฐานะนักโทษเด็ดขาด เนื่องจากคดีสิ้นสุดแล้ว 10 ราย
.
แต่ในปี 2568 ศูนย์ทนายฯ ได้ปรับปรุงการนับสถิติผู้ต้องขังในคดีทางการเมือง โดยมีการนับจำนวนเพิ่มเติม ในคดีที่ทราบว่ามีผู้ถูกคุมขังจากเหตุเกี่ยวข้องกับสถานการณ์ทางการเมืองในช่วงก่อนการชุมนุมปี 2563 ซึ่งพบว่ายังมีตกค้างอยู่อีกจำนวนหนึ่ง ได้แก่ เหตุเกี่ยวกับการชุมนุมของคนเสื้อแดงปี 2553 และเหตุเกี่ยวกับสถานการณ์ทางการเมืองในช่วงก่อนและหลังการรัฐประหาร 2557 รวมแล้วพบว่ามีจำนวนเพิ่มเติมอีก 4 คน นอกจากนี้ ยังมีผู้ถูกคุมขังจากเหตุการณ์นับตั้งแต่ปี 2563 ที่ยังไม่ได้ถูกนับรวมในยอดผู้ต้องขังปี 2567 อีก 2 คน
.
ขณะเดียวกันยังเป็นการนับสถิติให้สอดคล้องกับโครงการ Freedom Bridge ซึ่งทำงานให้ความช่วยเหลือผู้ต้องขังทางการเมืองและครอบครัวในมิติต่าง ๆ และนับรวมผู้ต้องขังในสถานการณ์ทางการเมืองช่วงต่าง ๆ ทั้งหมดด้วย
.
![](https://static.xx.fbcdn.net/images/emoji.php/v9/t39/1/16/2b55.png)
.
ในรอบเดือนมกราคมที่ผ่านมา มีผู้ถูกคุมขังเพิ่มเติม 5 ราย ได้แก่ “พงษ์” (นามสมมติ) หนึ่งในจำเลยคดีทีมการ์ด Wevo ถูกจับที่เมเจอร์รัชโยธิน , จักรี (สงวนนามสกุล) กรณีศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้จำคุก 1 ปี ในข้อหามีระเบิดไว้ในครอบครอง ขณะร่วมม็อบทะลุแก๊ส เมื่อวันที่ 16 ก.ย. 2564, สถาพร (สงวนนามสกุล) กรณีศาลอุทธรณ์พิพากษาจำคุก 1 ปี 6 เดือน ในคดี ม.112 จากการแสดงออกต่อขบวนเสด็จเมื่อวันที่ 2 พ.ค.2565, “จินนี่” จิรัชยา สกุลทอง กรณีศาลอุทธรณ์พิพากษาจำคุก 2 ปี จากการไลฟ์สดบนเฟซบุ๊กส่วนตัว ใน #ม็อบ25กรกฏาแห่เทียนไล่นายกฯ หน้าทำเนียบรัฐบาล เมื่อปี 2565 และ “พอร์ท” ปริญญา ชีวินกุลปฐม กรณีถูกศาลอุทธรณ์พิพากษายืนจำคุก 6 ปี ในคดี ม.112 จากการโพสต์เฟซบุ๊ก 3 ข้อความ เมื่อปี 2559
.
อย่างไรก็ตาม มีเพียง 2 รายที่ถูกนำตัวไปคุมขังในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ และศาลอนุญาตให้ประกันตัว ได้แก่ พงษ์ ซึ่งถูกคุมขังจากกรณีที่ไม่สามารถเดินทางมาฟังคำพิพากษาเมื่อวันที่ 24 ธ.ค. 2567 แต่ศาลอาญาไม่อนุญาตให้เลื่อนและให้ออกหมายจับ ต่อมาในวันที่ 6 ม.ค. 2568 จำเลยเดินทางไปรายงานตัวที่ศาล และศาลมีคำสั่งไม่ให้ประกันตัว จนเมื่อวันที่ 14 ม.ค. 2568 หลังยื่นอุทธรณ์คำสั่ง ศาลอุทธรณ์ได้อนุญาตให้ประกันตัว โดยวางหลักประกัน 45,000 บาท พร้อมติดกำไล EM แต่คดีนี้ น่าสนใจว่าต่อมา ศาลอาญาได้มีคำพิพากษายกฟ้องข้อหาหลักในคดีนี้ กรณีพงษ์หากคดีสิ้นสุด นับว่าเขาถูกคุมขังไปโดยไม่มีความผิด
.
อีกกรณีคือกรณีพอร์ท ไฟเย็น ซึ่งถูกคุมขังในระหว่างรอคำสั่งประกันในระหว่างฎีกา ก่อนศาลฎีกามีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัว เขาถูกปล่อยตัวออกมาในวันที่ 26 ม.ค. 2568
.
![](https://static.xx.fbcdn.net/images/emoji.php/v9/t39/1/16/2b55.png)
.
เป็นเวลาเกือบ 1 ปี ที่ “ก้อง” อุกฤษฏ์ สันติประสิทธิ์กุล อายุ 24 ปี นักศึกษาคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ผู้คุมขังอยู่ในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ จากกรณีที่ถูกพิพากษาคดีมาตรา 112 ยังคงรอคอยโอกาสที่จะได้สอบให้จบการศึกษาระดับนิติศาสตร์บัณฑิต
.
ตั้งแต่วันที่ 13 ก.พ. 2567 ก้องถูกคุมขังเรื่อยมาโดยไม่ได้รับสิทธิประกันตัว เพราะศาลปฏิเสธคำร้องขอประกันโดยเฉพาะการขอประกันครั้งที่ 6 ที่แม้ขอวางหลักประกัน 4 แสนบาท ทั้งระบุความจำเป็นด้านการศึกษาและสอบซ่อมเพื่อทำเรื่องขอจบการศึกษาต่อไป แต่ศาลยังคงไม่อนุญาตให้ประกันตัว โดยระบุคำสั่งแบบเดิมว่า “ไม่มีเหตุให้เปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม”
.
ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 19 พ.ย. 2567 สภานักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหงได้ทำหนังสือถึงคณบดีคณะนิติศาสตร์เพื่อขอความอนุเคราะห์ให้ก้องสอบภายนอกมหาวิทยาลัย ใน 3 วิชาสุดท้าย และวันที่ 24 ธ.ค. 2567 ก้องต้องยื่นคำร้องด้วยตนเองขอสอบซ่อมภายในเรือนจำ แต่คณะกรรมการบริหารมหาวิทยาลัยรามคำแหง (ก.บ.ม.ร.) ปฏิเสธคำขอดังกล่าว โดยไม่มีการให้เหตุผลประกอบ
.
สถานการณ์ดังกล่าว ทำให้เกิดการรณรงค์ติดแฮชแท็ก #ก้องต้องได้สอบ ในสื่อโซเชียลมีเดีย โดยเฉพาะ X (ทวิตเตอร์) เพื่อเรียกร้องให้กรมราชทัณฑ์และมหาวิทยาลัยรามคำแหงจัดสอบให้กับก้อง
.
ต่อมา 5 ก.พ. 2568 กลุ่มนักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหง ได้เข้าร่วมประชุมกับคณะกรรมาธิการกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร เพื่อหารือกรณีก้อง ในวันดังกล่าว วุฒิศักดิ์ ลาภเจริญทรัพย์ รักษาราชการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง ไม่ได้เดินทางมาเข้าร่วมประชุม กมธ. ด้วย โดยมีเหตุผลว่าติดภารกิจพิธีซ้อมใหญ่งานพระราชทานปริญญาบัตร
.
อย่างไรก็ตาม ผลสรุปของการประชุมใน กมธ. ดังกล่าวได้มีข้อสรุปว่ากรมราชทัณฑ์ ยินดีที่จะสนับสนุนสิทธิทางการศึกษาของผู้ต้องขังในเรือนจำ โดยระบุว่าสามารถจัดสอบภายในเรือนจำทั่วประเทศได้ และที่ประชุมมีข้อเสนอว่าให้มหาวิทยาลัยรามคำแหงเข้าร่วมประชุมกับคณะกรรมธิการอีกครั้ง เพื่อชี้แจงและมาตรการในการส่งเสริมสิทธิทางการศึกษาของผู้ต้องขังให้ชัดเจน ยังต้องติดตามกันต่อไปว่ามหาวิทยาลัยรามคำแหงจะเข้าร่วมประชุมชี้แจ้งอย่างไรต่อไป
.
![](https://static.xx.fbcdn.net/images/emoji.php/v9/t39/1/16/2b55.png)
.
นอกจากนี้ ยังมีกรณีของ “แอมป์” ณวรรษ เลี้ยงวัฒนา นักกิจกรรมและบัณฑิตจากมหาวิทยาลัยศิลปากร ได้เปิดเผยถึงการถูกคุกคามทางเพศในเรือนจำ
.
กรณีของแอมป์ ซึ่งถูกศาลอุทธรณ์พิพากษายืนให้จำคุก 1 ปี 7 เดือน ทำให้เขาถูกคุมขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ มาตั้งแต่วันที่ 9 ธ.ค. 2567 แอมป์เปิดเผยว่าตัวเองป่วยด้วยโรค HIV และยังต้องปรับการกินยารักษาโรคประจำตัว ที่ต้องตรงเวลา
.
แอมป์ได้ส่งจดหมายเล่าเรื่องการคุกคามทางเพศที่ตัวเองประสบจากการใช้ชีวิตในแดน 6 โดยมีรายละเอียดระบุว่า ตัวเองโดนกลั่นแกล้งโดยการให้จับอวัยวะเพศของผู้ต้องขังคนอื่น และมีการเปิดโชว์อวัยวะเพศให้ดูบ้าง โดยเขากล่าวว่าเป็นปัญหาที่ค่อนข้างน่าอึดอัดใจและไม่รู้ว่าตัวเองจะแก้ปัญหานี้อย่างไร เนื่องจากเกรงว่าจะมีผลกระทบต่อความปลอดภัยของตัวเองในระหว่างที่ใช้ชีวิตในเรือนจำด้วย
.
ในวันที่ 10 ม.ค. ทนายความได้ยื่นหนังสือถึงผู้บัญชาการเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ โดยมีข้อเท็จจริงการถูกคุกคามทางเพศของแอมป์จากผู้ต้องขังรายอื่นในแดน 6 โดยขอให้ไอมีการย้ายแอมป์ไปอยู่แดนอื่น เพื่อความปลอดภัยของผู้ต้องขัง และป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์ในลักษณะดังกล่าวอีก
.
ต่อมา ผู้บัญชาการเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ได้ตอบรับหนังสือของทนายความ โดยทำการย้ายแอมป์เข้าไปควบคุมตัวในแดนอื่นแล้ว ตั้งแต่วันที่ 22 ม.ค. 2568
.
![](https://static.xx.fbcdn.net/images/emoji.php/v9/t39/1/16/2b55.png)
.
ในเดือนมกราคม 2568 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนพบว่า มีคำพิพากษาในคดีที่เกี่ยวเนื่องกับการแสดงออกทางการชุมนุมทางการเมือง โดยเฉพาะในคดีที่เกี่ยวเนื่องกับความผิดฐาน "หมิ่นประมาทกษัตริย์" ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 รวมทั้งสิ้น 6 คดี โดยแบ่งเป็นคำพิพากษาคดีในชั้นอุทธรณ์ 3 คดี และคำพิพากษาคดีในศาลชั้นต้นมีทั้งสิ้น 3 คดี โดยทุกคดีในศาลชั้นต้น และอุทธรณ์ไม่มีคดีไหนที่ศาลให้รอการลงโทษหรือยกฟ้องให้ไม่มีความผิด
.
มีข้อน่าสังเกตว่า แม้ทุกคดีที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์จะพิพากษาให้มีความผิด พบว่ามีทั้งจำเลยที่ไม่ได้รับการประกันตัว และจำเลยที่ได้รับการประกันตัว ยกตัวอย่างเช่น ในคดีของ “ประสงค์ โคตรสงคราม” ชาวจังหวัดลพบุรีวัย 29 ปี ที่ถูกฟ้องคดีที่ศาลอาญาตลิ่งชัน และศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษายืนให้จำคุก 2 ปี 12 เดือน ศาลชั้นต้นก็เป็นผู้สั่งอนุญาตให้ประกันตัวจำเลยระหว่างฎีกา โดยไม่ต้องส่งศาลฎีกาสั่งแต่อย่างใด
.
เมื่อเปรียบเทียบกับคดีของสถาพรที่ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุก 1 ปี 6 เดือน และไม่ได้รับการประกันตัวในความผิดเดียวกันนี้ ทั้งที่มีโทษจำคุกน้อยกว่า แต่ก็ไม่ได้รับอนุญาตให้ประกันตัว และศาลชั้นต้นก็ไม่ได้มีคำสั่งอนุญาตด้วยตัวเอง แต่ส่งให้ศาลสูงเป็นผู้พิจารณาคำสั่งแทน
.
หรือในกรณีของ “จินนี่” จิรัชยา อายุ 56 ปี ซึ่งศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาให้ลงโทษจำคุก 2 ปี ไม่รอลงอาญา โดยส่งคำร้องขอประกันตัวให้ศาลอุทธรณ์เป็นผู้พิจารณาคำสั่งประกัน ซึ่งต่อมาเธอไม่ได้รับอนุญาตให้ประกันตัว และถูกคุมขังอยู่ที่ทัณฑสถานหญิงกลางฯ เรื่อยมาเป็นระยะเวลากว่า 24 วันแล้ว
และยังมีกรณีของ “พอร์ท ไฟเย็น” ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนจำคุกถึง 6 ปี ไม่รอลงอาญา หลังถูกคุมขังรอผลการประกันตัว 4 วัน ศาลฎีกามีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัวในระหว่างฎีกา โดยให้วางหลักทรัพย์ 400,000 บาท พร้อมกำหนดเงื่อนไขห้ามเดินทางออกนอกประเทศ
.
หรือในคดีของ “บังเอิญ” คดีนี้ศาลอาญาก็พิพากษาว่ามีความผิดเช่นกัน ลงโทษจำคุก 3 ปี แต่ศาลอาญาอนุญาตให้ประกันตัวระหว่างอุทธรณ์ด้วยตนเอง รวมทั้งคดีของ “ใจ” ซึ่งถูกศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ให้จำคุก 2 ปี แต่ศาลอาญาอนุญาตให้ประกันตัวระหว่างฎีกาด้วยตนเอง ไม่ได้ส่งให้ศาลสูงสั่งเช่นกัน
.
จากตัวอย่างกรณีดังกล่าว สะท้อนให้เห็นว่ามาตรฐานสิทธิประกันตัวผู้ต้องขังทางการเมืองที่อยู่ในระหว่างต่อสู้คดียังคงเป็นปัญหา ทั้งการใช้ดุลยพินิจของศาลในเรื่องประกันตัวของกระบวนการยุติธรรมไทยที่มีความลักลั่นไม่แน่นอน ไม่ชัดเจนว่ามีมาตรฐานการพิจารณาเช่นใด ในกรณีต่าง ๆ ปัจจัยใดบ้างที่นำมาใช้พิจารณาจัดทำคำสั่งประกันตัว หรือปัจจัยใดบ้างที่นำมาใช้พิจารณาว่าจะส่งคำร้องให้ศาลสูงเป็นผู้สั่งเองหรือไม่
.
.
https://www.facebook.com/photo?fbid=1029789912324812&set=a.656922399611567