วันจันทร์, กุมภาพันธ์ 03, 2568

โลกจะเป็นอย่างไรในยุคทรัมป์ 2.0


Sarawut Hengsawad
12 hours ago
·
ตื่นแต่เช้ามานั่งฟังคนเก่งสามคนเล่าสถานการณ์โลกภายใต้หัวข้อ 'Trump 2.0' ให้ฟังอย่างเร้าใจ เปิดสมอง และลึกซึ้งมาก เรียงตามภาพ ดร.อาร์ม ตั้งนิรันดร, ดร.สันติธาร เสถียรไทย, คุณมาร์ค-อิสริยะ ไพรีพ่ายฤทธิ์

ขอสรุปใจความสำคัญคร่าวๆ มาแบ่งกันอ่านดังต่อไปนี้

ประเด็นแรกคือเรื่อง 'ระเบียบ' คุณต้นสนชี้ว่าในสถานการณ์โลกที่เคยมีเจ้าพ่อคนเดียว (สหรัฐ) หลังสงครามเย็นและในยุคโลกาภิวัฒน์ ขณะนี้ 'ระเบียบ' นั้นเสื่อมลง พร้อมๆ กับเศรษฐกิจอเมริกาหลังวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ 2008 ในตอนศก.เติบโต มีประเทศที่ได้ประโยชน์และเสียประโยชน์ มีกลุ่มได้ประโยชน์-เสียประโยชน์ จึงเกิดเทรนด์ anti-globalization ขึ้นในกลุ่มผู้เสียประโยชน์

โลกรันไปด้วยระเบียบแบบเดิมมาระยะหนึ่ง เมื่อพบว่าระบบระเบียบต่างๆ ที่พาโลกมาถึงวันนี้นำมาซึ่งปัญหาหลายอย่าง (เหลื่อมล้ำ, สิ่งแวดล้อม, เศรษฐกิจแย่) คนจึงตั้งคำถามกับ establishment ทั้งหลาย คำถามนี้มีอยู่จริง และทรัมป์ก็เสนอตัวเข้ามาเป็น 'คำตอบ' ของคำถามนี้ ซึ่งอาจเป็น "คำตอบที่ผิดของคำถามที่ถูก"

หากสรุปมุมมองทรัมป์ที่ใช้หาเสียงอาจไล่เรียงได้ว่า โรงงานจีนมาแย่งรายได้, คนเม็กซิกันมาแย่งงาน, ผู้อพยพจะมาก่อความวุ่นวาย, ฉันจะทำให้อเมริกากลับมายิ่งใหญ่อีกครั้ง

อ.อาร์มตั้งประเด็นน่าสนใจอยู่ตลอดการเสวนา ประเด็นแรกตั้งว่า "นอกจากวิเคราะห์ว่าทรัมป์ชนะเพราะอะไร ต้องเข้าใจด้วยว่าทรัมป์เข้าใจว่าตัวเองชนะเพราะอะไร" ซึ่งในมุมมองอาจารย์มองว่า เขาคิดว่าเขาชนะมาด้วยประเด็นผู้อพยพ ฉะนั้นจึงดำเนินนโยบายโดยอ้างถึงประเด็นนี้ได้มาก

...

กำแพงภาษี (Tariff)

อ.อาร์มแตกประเด็นว่าเรื่องนี้ทรัมป์มองสามมิติ

(1) ใช้นโยบายภาษีจัดการจีน ซึ่งที่จริงไม่ใช่แค่จีน แต่คือใช้ต่อรองกับทุกประเทศ ตรงนี้เป็นประเด็นสำคัญ เพราะคนจะมองว่าคนที่โดนหนักคือจีน แต่ถ้ามองดีๆ จะเห็นว่างวดนี้ทรัมป์ไม่ได้โฟกัสแค่จีน เช่นตอนนี้ขึ้นภาษีฝั่งแคนาดาและเม็กซิโก 25% ขณะที่ขึ้นจีน 10% ฉะนั้นทรัมป์กำลังจะดำเนินนโยบายกับทุกประเทศเพื่อนำผลประโยชน์มาให้อเมริกา ไม่เฉพาะกับจีน

(2) ให้ย้ายโรงงานผลิตกลับมาที่สหรัฐ เพื่อสร้างงาน ซึ่งเถียงกันว่าจะเป็นไปได้จริงหรือ อ.อาร์มมองว่าเป็นไปได้ เพราะเดี๋ยวนี้โรงงานเป็นระบบ automation คือใช้หุ่นทำเยอะขึ้น ประเด็นคือมันอาจไม่เพิ่มการจ้างงานน่ะสิ แต่ถ้าทำได้ ทรัมป์ก็เคลมได้ว่าตัวเองทำสำเร็จ

(3) เรื่องความมั่นคง: เพราะสหรัฐเริ่มเสียประสิทธิภาพในการผลิตสิ่งต่างๆ ไป ต้องพึ่งพาจีนมากขึ้น เช่นไม่มีหน้ากากช่วงโควิด ส่วนประกอบของรถถังอาจต้องสั่งจากจีน จึงต้องการผลิตเองมากขึ้น

...

ทั้งอ.อาร์มและคุณต้นสนมองว่ากำแพงภาษีเป็นแค่ 'เครื่องมือ' ที่ทรัมป์ใช้ในการต่อรองกับประเทศต่างๆ (บางทีจึงแกล้งคำรามออกไปแรงๆ เพื่อหยั่งเชิง ดูว่าใครจะยื่นอะไรมาแลกบ้าง) โดยคุณต้นสนชวนคิดว่า "KPI ที่ทรัมป์ใช้วัดความสำเร็จคืออะไร" โดยให้ดูจากพื้นฐานของเขา

(1) Deal Maker: ทรัมป์เป็นนักต่อรอง ฉะนั้นเขาจะวัดว่าตัวเองชนะมั้ยโดยดูว่า เมื่อขยับหมากนี้แล้วเขาได้อะไร เช่น เขาต้องการเจรจาให้เกิดสันติภาพในยูเครน แล้วอาจได้ทั้งประโยชน์และภาพลักษณ์ ทรัมป์สนใจสิ่งที่ตัวเองจะได้รับและได้ประโยชน์ ซึ่งบางทีอาจใช้วิธีการที่ชวนสับสน หรือดูไม่สมเหตุสมผล​ หรือใช้ตรรกะจับไม่ได้ แต่นั่นคือวิธีต่อรองของเขา

(2) ความเป็นทุนนิยม: ฉะนั้นจะดำเนินนโยบายอะไรเขาแคร์ตลาดหุ้นอยู่ด้วยเสมอ บางการตัดสินใจอาจดูบุ่มบ่าม แต่ก็หันมองเรื่องนี้อยู่ตลอด

(3) ทรัมป์เป็นหัวหน้าพรรคทรัมป์: คือไม่ใช่ผู้นำรีพับลิกัน แต่เป็น 'พรรคทรัมป์' จะตัดสินใจอะไรก็ต้องดูว่าผู้สนับสนุนที่พาเขามาถึงตรงนี้ พรรคพวกเดียวกันใครได้ประโยชน์อะไรบ้าง คุณต้นสนสะกิดว่า เวลาดูผลประโยชน์ อย่าไปมองเป็นประเทศเท่านั้น ต้องดูผลประโยชน์ของคนแวดล้อมด้วย

...

ประเด็นไต้หวัน

อ.อาร์มวิเคราะห์ว่า โลกอาจไม่ได้แบ่งขั้วแบบเดิมอย่างที่เราเข้าใจว่า สหรัฐ-จีนจะไฝว้กันแบบสองขั้วโดยใช้ 'ตลาดโลก' เป็นสนามรบ แต่เป็นไปได้ว่า แต่ละคนอาจโฟกัสไปที่ภูมิภาคของตัวเอง เหมือนที่ตอนนี้ทรัมป์ขยับหมากในส่วนอเมริกาเหนือ (แคนาดา เม็กซิโก) โลกจะกลายเป็น 'Zone of Influence' แล้วเกิดภาพสามมหาอำนาจนั่งแบ่งเค้กกันบนโต๊ะอาหาร อันประกอบด้วยทรัมป์-สีจิ้นผิง-ปูติน ทำดีลยักษ์กัน ส่วนคำถามว่าแล้วประเทศอื่นไปอยู่ที่ไหน คำตอบคือ กลายเป็น 'เมนูอาหาร' บนโต๊ะให้สามมหาอำนาจหั่นแล่กัน ซึ่งถ้าเป็นแบบนี้ ก็มีคำถามต่อไปว่า อเมริกาจะมีท่าทียังไงกับไต้หวัน มีโอกาสไหมที่ไต้หวันจะต้องสังเวย 'ดีลยักษ์' ที่แบ่งผลประโยชน์เป็นภูมิภาคแบบนี้

...

สงครามการค้า

อ.อาร์มบอกว่าทรัมป์ 2.0 นั้นต่างจาก 1.0 เพราะตอนที่ทรัมป์ขึ้นมาครั้งแรก ศก.จีนกำลังรุ่ง แต่ในครั้งนี้จีนไม่ได้รุ่งแบบเดิมแล้ว สีจิ้นผิงอวยพรปีใหม่ว่าปีนี้เต็มไปด้วยขวากหนาม ฉะนั้น ถ้านโยบายทรัมป์มากระทบศก.จีน อาจตกเป็นประโยชน์กับรัฐบาลจีน เพราะสามารถผายมือไปที่อเมริกาได้ว่า เป็นตัวการให้ศก.จีนไม่โงหัว ซึ่งประชาชนจีนจะมองว่าอเมริกาเป็นตัวการมากกว่ารัฐบาลของตัวเอง

และทรัมป์งวดนี้ก็อาจไม่ได้ซัดโหดกับจีนแบบครั้งที่แล้ว จีนเองก็ไว้ท่าทีอยู่ อย่างสงครามในยูเครนที่จริงก็เป็นผลดีกับทั้งจีนและสหรัฐ คนที่เสียเปรียบคือยุโรปและรัสเซีย จีนเป็นตัวแปรสำคัญในการยุติสงคราม ทรัมป์จึงญาติดีกับจีนอยู่ โดยสร้างแรงจูงใจว่า ถ้าสงครามยุติจะต้องมีการก่อสร้างใหม่ในยูเครนมากมาย ซึ่งจีนสามารถเข้าไปทำเรื่องนี้ได้เต็มที่

แต่คนจีนอ่านสามก๊ก ก็รู้ดีว่า สองก๊กที่เล็กกว่าจะต้องจับมือกันให้แน่น (ซุนกวน+เล่าปี่) ก็เหมือนท่านสีกับท่านปูตินที่พยายามจับมือกันไว้เพื่อสู้กับโจโฉ เกมสามก๊กนี้จะต้องรอดูกันไป

ประเด็นคือ บริบทของสงครามการค้าอเมริกา-จีนรอบนี้ไม่เหมือนเดิม จึงมองแบบเดิมไม่ได้

...

จีนกระทบไทย

คุณต้นสนมองว่าภาพศก.จีนยังเหมือนเดิม คือเก่ง supply แต่อ่อน demand จึงมีสินค้าล้นตลาดเยอะ ฉะนั้นพอเจอกำแพงภาษีจากสหรัฐ ก็ต้องทะลักไปตลาดอื่น ซึ่งแน่นอนว่าคืออาเซียน ปีนี้น่าจะทะลักมากขึ้นอีก ผลรุนแรงขึ้นอีก กระทบตลาดไทยแน่นอน นี่คือผลกระทบทางอ้อมจากนโยบายกำแพงภาษีที่เราจะโดน จีนพยายามหาตลาดส่งออกใหม่ๆ โดยไทยเป็นเหมือนสนามซ้อมของเขา เช่นตลาดรถไฟฟ้า

...

ไทยจะเจออะไรบ้าง

อ.อาร์มบอกว่า ทรัมป์ 1.0 นั้นสกัดจีน โรงงานก็ย้ายไปประเทศอื่นๆ เช่น ไทย เวียดนาม เกาหลีใต้ อินเดีย ฯลฯ หรือสินค้าประเทศพวกนี้ขายดีขึ้น ไทยก็ได้ประโยชน์จากครั้งที่แล้ว (แค่อาจน้อยกว่าเวียดนาม) แต่ครั้งนี้ทรัมป์บอกว่า ถ้าจะขายในอเมริกาก็ต้องผลิตในอเมริกา ประโยชน์อาจไม่ตกกับประเทศที่เคยได้แบบเดิม

โลกจะเข้าสู่ยุคที่แปลกประหลาดคือ "Globalization ที่ excluding สหรัฐกับจีน" คือจีนก็จะใช้สินค้าที่ผลิตในจีน สหรัฐก็ใช้สินค้าที่ผลิตในสหรัฐ

เช่นนี้ไทยจะถูก 3 บีบ
1) เราจะส่งสินค้าไป US ไม่ได้แบบเดิม
2) ส่งไปจีนก็ไม่ได้ เพราะในจีนจะแข่งกันดุมาก
3) สินค้าจีนจะทะลักเข้ามาอีก เพราะส่งไป US ไม่ได้
แถมตลาดโลกก็จะแย่ลงอีก ด้วยการแข่งขันแบบนี้

อ.อาร์มบอกว่า "เราไม่ได้อยู่ในยุคทองอีกต่อไป" สิ่งที่เคยได้รับผลประโยชน์มาจากการเติบโตของเศรษฐกิจโลกมันไม่มีเหมือนเดิมแล้ว และตอนนี้ไม่มีปัจจัยอะไรที่ดีต่อไทยขนาดนั้น เราต้องปรับตัวและแอคชั่นมากขึ้น

...

คุณต้นสนบอกว่า ปีแรกของทรัมป์จะเป็นปีที่สะเทือนโลกที่สุด เพราะเขาต้องโยนนโยบายดุๆ ไปเรียกร้องว่าแต่ละประเทศจะมอบอะไรให้สหรัฐบ้าง นี่คือคาแรกเตอร์ที่เป็น Deal Maker ของเขา

ผลที่จะเกิดในไทย
1) ธุรกิจจีนจะมาชุบตัวในไทยเพื่อส่งไปขาย US
2) ธุรกิจจีนมาขายในตลาดไทย เช่น รถ EV คำถามคือเราได้ประโยชน์จากเขาบ้างไหม
3) ทุนทั่วโลกอาจอยากมาลงทุนในไทย ถ้าเรามีความเป็นกลาง และสามารถส่งสินค้าไปที่ US ได้--อันนี้เป็นโอกาส

คุณต้นสนเสนอสามเรื่อง
1) Negotiate: ต้องดำเนินการเจรจาโดยมีภาคเอกชนผสานไปกับภาครัฐ เพราะเวลาทรัมป์ดำเนินนโยบายและต่อรอง เขาต้องการรู้ว่าเราจะให้อะไรเขาได้บ้าง เรื่องนี้ซับซ้อนเกินกว่าแค่จะเป็นเรื่องของตัวแทนจากภาครัฐเท่านั้น
2) Leverage: หาวิธีดึง talent เก่งๆ เข้ามาทำงานในประเทศ เพื่อสร้างนวัตกรรมและการเรียนรู้ในประเทศในอุตสาหกรรมที่ตอบโจทย์ยุคสมัย
3) Make: เราทำอะไรได้บ้าง โรงงานต่างๆ ที่มาตั้งในไทย เราจะได้ประโยชน์หรือเพิ่มมูลค่าตัวเองได้ยังไงบ้าง สินค้าจีนที่ทะลักเข้ามาอาจทำให้ผู้บริโภคซื้อถูกลง แต่ทำลาย SME ในไทยรึเปล่า? ทุนสีเทาทั้งหลายเราทำอะไรได้บ้าง ซึ่งถ้าเราปราบปรามได้อาจทำให้เรามีบทบาทมากขึ้น ได้เครดิตเพิ่มขึ้นในเวทีอาเซียนและเวทีโลก

...

โดยสรุป วิทยากรทั้งสามท่านเห็นว่า
-โลกกำลังอยู่ในยุคที่ระเบียบเดิมถูกเขย่า ถูกตั้งคำถาม ทำให้เกิดความผันผวนและคาดเดายาก
-ขณะที่ทรัมป์เกาะกระแสความผันผวนนี้ขึ้นมาโดยเสนอนโยบายที่ชัดเจนต่อสิ่งที่มีผู้คนจำนวนหนึ่ง 'รู้สึก' นั่นคือเรื่องของผู้คนทั้งหลายที่มาทำลายระเบียบเดิมที่สหรัฐอเมริกาเคยควบคุมอยู่
-ด้วยบุคลิกการเป็นนักต่อรอง ให้มองไปที่เป้าหมายและตัวชี้วัด เพราะนโยบายแรงๆ ทั้งหลายอาจเป็นแค่เครื่องมือเพื่อไปสู่เป้าหมายนั้น
-โลกอาจไม่ใช่ตลาดที่หลายๆ ประเทศมาแบ่งเค้กกันด้วยการสร้างเค้กให้ใหญ่ขึ้นแบบเดิม แต่กลายเป็นว่ามหาอำนาจพยายามคุมส่วนแบ่งของตัวเองไม่ให้ใครมาเฉือนไป ซึ่งกระทบประเทศเล็กๆ แน่นอน

สุดท้าย, ในกระแสที่ตั้งคำถามกับ establishment เดิมทั้งหลาย ในต่างบริบทก็จะต่างกันออกไป เช่นในอเมริกาคือกระแสด้านกลับที่ตีกลับกลุ่ม woke หรือฝั่ง liberal ส่วนในไทยอาจเป็นกระแสที่ตีกลับกลุ่ม conservative เพราะเมื่อเศรษฐกิจไม่ดี ความเป็นอยู่ไม่ดี กลุ่มที่เคยเสียงดังเคยครองอำนาจก็จะถูกตั้งคำถาม หากจะจับกระแสก็ต้องมองทีละสังคม

ส่วนหมวกที่ใส่เป็นแค่พร็อพสนุกๆ นะคร้าบ

#นิ้วกลมบันทึก

---
ขอบคุณวิทยากรทั้งสามท่านอย่างยิ่งครับ เป็นยามเช้าที่ประเทืองปัญญามาก ประทับใจมุมมองที่แหลมคมของอ.อาร์ม คุณต้นสน และเกร็ดคมๆ จากคุณมาร์คมากๆ

ขอบคุณ IMETMAX อุทยานแห่งปัญญาที่จัดกิจกรรมดีๆ แบบนี้ด้วยครับ ขอบคุณ OC ทุกท่านที่อยู่เบื้องหลัง พี่วู้ดดี้และพี่เจี๊ยบที่ให้เกียรติมาร่วมงานและตั้งคำถามชวนคิดด้วยครับผม

ขอบคุณ LINE MAN Wongnai ที่เอื้อเฟื้อสถานที่ และทีม Skooldio ที่มาช่วยรันวงการด้วยครับ

https://www.facebook.com/photo/?fbid=10162935673434579&set=a.391558859578