วันจันทร์, กุมภาพันธ์ 10, 2568

พท. – ปชน. เห็นพ้องรัฐสภาต้องรับหลักการเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ 13-14 ก.พ. 68 นี้

09/02/2025
iLaw

9 กุมภาพันธ์ 2568 เวลา 13.00 – 16.00 น. ที่ห้องรัฐศาสตร์ 103 คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เครือข่ายรณรงค์รัฐธรรมนูญ (Constitution Advocacy Alliance : CALL) จัดเสวนาหัวข้อ “ผ่าน 256 เปิดประตูเลือกตั้ง สสร. เพื่อร่างรัฐธรรมนูญใหม่” เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ระหว่างสองตัวแทนพรรคการเมืองที่เสนอร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 เข้าสู่รัฐสภา พร้อมด้วยนักวิชาการและภาคประชาชนเข้าร่วมพูดคุยในประเด็นนี้ด้วย ก่อนที่รัฐสภาจะพิจารณาข้อเสนอตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญมาเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ ในวันที่ 13-14 กุมภาพันธ์ 2568

การเขียนรัฐธรรมนูญใหม่กลับมาเป็นประเด็นร้อนให้ถกเถียงกันอีกครั้งหลังพรรคประชาชนซึ่งนำโดยพริษฐ์ วัชรสินธุ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) พรรคประชาชนยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 เพื่อปูทางไปสู่การเขียนรัฐธรรมนูญใหม่โดยมีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) มาจากการเลือกตั้ง ซึ่งต่อมาพรรคเพื่อไทยก็ได้ยื่นร่างเข้าประกบ จึงทำให้ในการประชุมร่วมกันของรัฐสภา วันที่ 13-14 กุมภาพันธ์ 2568 รัฐสภาจะพิจารณาร่างทั้งสองฉบับในวาระหนึ่ง

ข้อเสนอพรรคประชาชนและพรรคเพื่อไทยระบุเหมือนกันให้ สสร. มาจากการเลือกตั้ง แต่มีข้อแตกต่างที่วิธีการเลือกตั้ง พรรคประชาชนใช้ระบบผสม แบ่ง สสร. 200 คน ออกเป็นสองประเภท ประเภทแรกมาจาการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตตามจังหวัด 100 คน และประเภทที่สองมาจากแบบบัญชีรายชื่อใช้ประเทศเป็นเขตเลือกตั้ง 100 คน ส่วนพรรคเพื่อไทยให้ สสร. ทั้ง 200 คน มาจากการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเท่านั้น นอกจากวิธีการเลือกตั้ง สสร. แล้วอำนาจหน้าที่ของ สสร. ก็ยังคงมีความแตกต่างกันโดยร่างฉบับเพื่อไทยระบุ สสร. มีอำนาจร่างรัฐธรรมนูญใหม่ได้แต่ห้ามแก้ไขเนื้อหาในหมวด 1 บททั่วไป และหมวด 2 พระมหากษัตริย์ ในขณะที่ร่างฉบับพรรคประชาชนไม่ได้มีข้อห้ามนี้

รัฐธรรมนูญ 60 มีปัญหาที่มา – เนื้อหา ต้องเขียนรัฐธรรมนูญใหม่
 


ชนินทร์ รุ่งธนเกียรติ สส. พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า จุดยืนของพรรคเพื่อไทยยืนยันมาโดยตลอดว่ารัฐธรรมนูญ 2560 มีปัญหาสองส่วนหลักคือเนื้อหาและที่มา ในอดีตพรรคเพื่อไทยเคยเสนอร่างแก้รัฐธรรมนูญทั้งแก้ไขทั้งรายมาตราและตั้ง สสร. มาเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ หากถามว่าเนื้อหารัฐธรรมนูญ 2560 มีข้อเสีย ปัญหานั้นพรรคเพื่อไทยเคยนำเสนอผ่านข้อเสนอแก้รัฐธรรมนูญอยู่แล้ว

แต่ปัญหาสำคัญของรัฐธรรมนูญ 2560 ที่เป็นเหตุผลว่าทำไมต้องเขียนรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทั้งฉบับ คือ ปัญหาเชิงที่มา แม้จะพูดกันว่า รัฐธรรมนูญ 2560 มาจากการทำประชามติ แต่กระบวนการก่อนประชามติขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน ประชาชนควรเป็นองค์ประกอบในการมีส่วนร่วมก่อนที่จะบังคับใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ พรรคเพื่อไทยคาดหวังให้ประชาชนได้มีการเลือกตั้ง สสร. เพื่อให้กระบวนการ สสร. นำไปสู่บรรยากาศสังคมประชาธิปไตยที่ทำให้ประชาชนมีส่วนร่วมกับหน้าตาของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เราต้องการหาฉันทามติใหม่ของสังคมไทย

ในเชิงเนื้อหา พรรคเพื่อไทยเห็นว่าประเด็นยุทธศาสตร์ชาติมีปัญหา ที่มาขององค์กรอิสระและอำนาจก็เป็นปัญหา อาจจะไม่ได้ชี้ถูกชี้ผิดว่าควรเป็นแบบไหน แต่ตนเห็นว่าสมควรที่จะต้องแก้ไข



พริษฐ์ วัชรสินธุ สส. พรรคประชาชน ระบุว่า ปัญหารัฐธรรมนูญ 2560 แบ่งออกได้เป็นที่มา และเนื้อหา ประเด็นเรื่องที่มาของรัฐธรรมนูญ 2560 นั้นถูกตั้งคำถามถึงความชอบธรรมทางประชาธิปไตยโดยที่ประชาชนไม่ได้มีส่วนร่วม และการทำประชามติในปี 2559 ก็ถูกตั้งข้อสังเกตว่าไม่ได้มีความเสรีและเป็นธรรม คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ส่งข้อดีของร่างรัฐธรรมนูญไปให้ถึงบ้านของประชาชน ส่วนผู้ที่รณรงค์เห็นค้านก็ถูกดำเนินคดี รัฐบาลที่มาจากรัฐประหารก็เป็นผู้ดูแลการจัดทำประชามติโดยเอาการเลือกตั้งเป็นตัวประกัน

ปัญหาใหญ่ในเชิงเนื้อหาของรัฐธรรมนูญ 2560 ทำให้ประชาชนอ่อนแอทั้งในด้านอำนาจและสิทธิเสรีภาพ ทำให้อำนาจที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนถูกบั่นทอนหรือครอบงำจากอำนาจที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง
  • ประการแรก วุฒิสภา ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง แต่มาจากการเลือกกันเอง ยังจำเป็นหรือไม่ หรือควรมีที่มาที่สอดคล้องกับอำนาจตามระบอบประชาธิปไตยอย่างไร โดย สว. มีอำนาจให้ความเห็นชอบผู้มาเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ กรรมการองค์กรอิสระ
  • ประการที่สอง ศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระที่ควรจะเป็นกลางและเป็นธรรมกับทุกฝ่าย ข้อถกเถียงในประเด็นขอบเขตอำนาจที่ขยายเพิ่มขึ้นมากเมื่อเทียบกับอดีตเช่นการยุบพรรคการเมือง ประเด็นวิธีการได้มาของตำแหน่งเหล่านี้ แม้ว่ากรรมการสรรหาจะมาจากการมีส่วนร่วมจากหลายฝ่ายแต่อำนาจชี้ขาดก็อยู่ที่วุฒิสภา ประเด็นที่ประชาชนขาดอำนาจในการตรวจสอบถ่วงดลด้วยตัวเอง
  • ประการที่สาม คือการกระจายอำนาจไปสู่ท้องถิ่นที่วางบทบัญญัติไม่ได้วางความคืบหน้าเพื่อกระจายอำนาจาเลย
  • ประการสุดท้าย คือยุทธศาสตร์ชาติไม่เคยมาสอบถามประชาชนแต่วางกรอบเวลาไว้ถึง 20 ปี
ด้านสิทธิเสรีภาพ แม้ว่าจะถูกเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญ แต่ไม่ได้รัดกุมหรือเพียงพอ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก กระบวนการยุติธรรม หรือสิทธิการอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี

พริษฐ์ระบุว่า บางคนยอมรับว่ารัฐธรรมนูญ 2560 เนื้อหามีปัญหาแต่ไม่อยากแก้ไขรายมาตรา ตนจึงอยากสื่อสารว่า “เหมือนเราอยู่ในบ้านนึงที่เราไม่ได้ออกแบบสร้างขึ้นมา จริงอยู่ที่จะบอกว่าแก้ทีละจุด แต่ประชาชนก็มีสิทธิที่จะบอกว่าทำบ้านหลังใหม่และมีส่วนร่วมออกแบบบ้านหลังใหม่ได้เช่นกัน การแก้ไขรายมาตราไม่เพียงพอ”



ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล เครือข่ายรณรงค์รัฐธรรมนูญ กล่าวในประเด็นนี้ว่า นอกเหนือจากเรื่องที่มา รัฐธรรมนูญฉบับนี้เคยถูกแก้ไขมาแล้ว เพราะเนื้อหาในฉบับก่อนทำประชามติและหลังทำประชามติเมื่อปี 2559 ไม่เหมือนกัน และเหตุการณ์นั้นเป็นเหตุการณ์สำคัญที่ทำให้เกิดช่องว่างระหว่างรัฐธรรมนูญประกาศใช้ ปัญหาของที่มาส่งผลต่ออำนาจของประชาชนต่อรัฐธรรมนูญด้วย การแก้ไขที่ดีทีสุดคือการเปิดโอกาสให้ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ได้ทั้งฉบับ



ปุรวิชญ์ วัฒนสุข อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระบุว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้ถูกร่างบนบรรยากาศแห่งความกลัว ประชาชนที่รณรงค์ไม่เห็นชอบรัฐธรรมนูฉบับนี้มีคดีความมาจนถึงทุกวันนี้แม้ว่าจะเปลี่ยนผ่านมาสู่รัฐบาลเลือกตั้งสองชุดแล้ว รัฐธรรมนูญควรเป็นเครื่องมือตรวจสอบและถ่วงดุลสถาบันทางการเมืองต่างๆ แต่ในความเป็นจริงแล้วรัฐธรรมนูญ 2560 ไม่สามารถตรวจสอบสถาบันทางการเมืองได้เลย

ประเด็นสิทธิเสรีภาพ มีข้อยกเว้นต้องไม่กระทบ “ความมั่นคง” ซึ่งข้อยกเว้นควรจะใช้อย่างจำกัด แต่ในรัฐธรรมนูญ 2560 ข้อยกเว้นแทบจะกลายเป็นบรรทัดฐาน

ปุรวิชญ์กล่าวต่อว่า รัฐธรรมนูญ 2560 ยังเป็นเครื่องมือในการทำให้สถาบันรัฐประหารเปลี่ยนสภาพมาอยู่ในระบอบประชาธิปไตย ในปัจจุบันไม่จำเป็นต้องมีการทำรัฐประหารแล้วเพราะกลไกตามรัฐธรรมนูญ 2560 สามารถควบคุมการเมืองได้โดยไร้ที่ติ ยกตัวอย่างเช่นประเด็นมาตรฐานจริยธรรมที่เอาอัตวิสัยมาตัดสินผ่านกฎหมาย ที่ทำให้นายกรัฐมนตรีต้องพ้นจากตำแหน่งมาแล้ว
 
ชัดเจนแล้วไม่ต้องทำประชามติก่อนยื่นแก้รัฐธรรมนูญ

สำหรับข้อถกเถียงว่าการทำประชามติต้องทำกี่ครั้งมาจากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 4/2564 ที่ระบุรัฐสภาจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ได้โดยทำประชามติเสียก่อนเพื่อสอบถามความเห็นประชาชนก่อน สรุปแล้วต้องทำประชามติสองครั้งหรือสามครั้ง

  • พริษฐ์เห็นว่าเป็นการทำประชามติแค่สองครั้ง แต่ก็มีบางคนมองว่าอาจจำเป็นต้องทำถึงสามครั้งโดยตีความว่าคำว่า “ก่อน” คือทำก่อนที่จะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 ตนพยายามค้นหาหลักฐานต่างๆ เพื่อสนับสนุนว่าประชามติเพื่อจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เป็นอำนาจหน้าที่ของรัฐสภา และทำประชามติเพียงสองครั้งก็เพียงพอ ตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ เช่น คำวินิจฉัยส่วนตนที่ตุลาการเสียงข้างมากห้าคนระบุว่าการทำประชามติสองครั้งเพียงพอ มีเพียงคนเดียวที่บอกว่าต้องทำสามครั้งเท่านั้น อีกสองคนระบุไว้คล้ายกับคำวินิจฉัยกลาง ส่วนอีกคนหนึ่งที่ระบุว่าทำรัฐธรรมนูญใหม่ไม่ได้เลย
  • ภาพอินโฟของสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญที่สรุปคำวินิจฉัยที่ 4/2564 ไม่ได้ระบุว่าต้องทำประชามติก่อนแก้รัฐธรรมนูญ มาตรา 256
  • ความเห็นของนักวิชาการต่างๆ ระบุว่าไม่จำเป็นต้องมีประชามติก่อนแก้ไขมาตรา 256 ที่สอดคล้องกับหลักนิติศาสตร์
  • ผลการหารือกับประธานศาลรัฐธรรมนูญและตุลาการศาลรัฐธรรมนูญท่านหนึ่ง ไม่มีข้อขัดแย้งใดเลยว่าต้องทำประชามติถึงสามครั้ง
ชนินทร์กล่าวเพิ่มเติมในประเด็นนี้ว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 ยังไม่ใช่การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ การแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรานี้เป็นอำนาจของ สส. และ สว. และคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในปี 2564 ออกมาระหว่างที่รัฐสภากำลังพิจาณราร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในวาระสาม ณ ขณะนั้นก็ไม่เคยคำสั่งห้ามพิจารณา จึงเป็นเครื่องยืนยันว่าการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เป็นอำนาจหน้าที่ของรัฐสภา

ชนินทร์ระบุว่า ในความเห็นของตนและพรรคเพื่อไทยเห็นว่าไม่จำเป็นต้องทำประชามติถึงสามครั้ง แต่อ้างอิงจาก ชูศักดิ์ ศิรินิล ในฐานะผู้ที่ผลักดันการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่มาโดยตลอด มีความกังวลว่าสมาชิกรัฐสภาจะไม่เข้าร่วมประชุม โดยมองว่าประเด็นนี้ขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญ จึงเห็นความจำเป็นว่าก็อาจจะต้องส่งศาลรัฐธรรมนูญ อย่างน้อยก็อาจจะดีกว่าให้กระบวนการนี้ถูกล้มไป

ส่วนพริษฐ์มองประเด็นการส่งศาลรัฐธรรมนูญว่า ไม่เห็นความจำเป็นของการยื่นศาลรัฐธรรมนูญตามหลักฐานต่างๆ ที่ได้กล่าวไปแล้ว และเห็นว่าสำหรับใครที่จะยื่น ก็มีคำถามว่ายื่นไปแล้วได้อะไร เพราะศาลรัฐธรรมนูญเคยไม่รับคำร้องมาแล้วในปี 2567 แต่ต่อให้ศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้อง จะได้คำตอบที่แตกต่างจากเดิมอย่างไร เพราะศาลรัฐธรรมนูญเคยมีคำวินิจฉัยไว้แล้วด้วยเช่นกัน

ปุรวิชญ์ แสดงความเห็นในประเด็นการส่งศาลรัฐธรรมนูญว่า ในเว็บไซต์ศาลรัฐธรรมนูญระบุคำวินิจฉัยกลางในประเด็นนี้ว่า ต้องทำประชามติก่อนและหลัง แต่กระบวนการในวันที่ 13-14 กุมภาพันธ์ 2568 นี้ยังไม่ใช่ขั้นตอนที่ต้องทำประชามติก่อน เป็นเพียงการปลดล็อกเพื่อนำไปสู่การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เท่านั้น ซึ่งตามกระบวนการก็จะต้องทำประชามติอยู่แล้วเมื่อข้อเสนอผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภา ตนไม่เห็นความจำเป็นใดนอกจากจะเป็นการถ่วงเวลาให้เส้นทางจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เกิดช้าขึ้นเท่านั้น

ข้อเสนอตั้ง สสร. ออกแบบรัฐธรรมนูญของพรรคเพื่อไทย-พรรคประชาชน
โมเดล ปชน. เพิ่มความหลากหลาย แบ่งเขตตามจังหวัด 100 คน – ใช้ประเทศเป็นเขต 100 คน


พริษฐ์ระบุว่า ข้อเสนอพรรคประชาชนมีข้อเสนอหลักและข้อเสนอรอง ในข้อเสนอหลักระบุให้มีการเลือกตั้ง สสร. มาร่างรัฐธรรมนูญ ส่วนข้อเสนอรองเป็นการแก้ไขวิธีแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ

ที่มาของ สสร. พรรคประชาชนเห็นว่าควรจะมาจากการเลือกตั้งทั้งหมด แต่ข้อแตกต่างกับข้อเสนอพรรคเพื่อไทย คือการใช้ระบบผสม ซึ่งใช้จังหวัดแต่ละจังหวัดเป็นเขตเลือกตั้ง 100 คน และใช้ประเทศเป็นเขตเลือกตั้งอีก 100 คน สาเหตุที่ใช้ระบบนี้เพราะรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องใหญ่ ตัวแทนของทุกกลุ่มควรจะมาจากการเลือกตั้ง 100% การใช้ระบบนี้จะทำให้ตัวแทนมีความหลากหลายซึ่งนอกจากทำให้มีตัวแทนทุกจังหวัดแล้วยังทำให้มีตัวแทนของกลุ่มประเด็นที่อยู่กว้างขวางกว่าพื้นที่จังหวัดเข้าไปเป็นตัวแทนของประชาชนด้วย

สสร. มีอำนาจจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้ทั้งฉบับมีแค่ล็อกไว้ว่าเปลี่ยนแปลงการปกครองและรูปแบบของรัฐไม่ได้ ที่ข้อเสนอของพรรคประชาชนไม่ได้ล็อกหมวด 1 หมวด 2 ไว้เพราะไม่เห็นว่ามีความจำเป็นต้องล็อก เพราะที่ผ่านมาเคยมีการปรับปรุงหมวด 1 หมวด 2 มาโดยตลอดและไม่เคยเปลี่ยนแปลงการปกครองและรูปแบบของรัฐ ซึ่งตนมองประเด็นนี้ว่าหากสมาชิกรัฐสภาเห็นความกังวลก็สามารถถูกแก้ไขให้ล็อกหมวด 1 หมวด 2 ได้

ส่วนข้อเสนอรองที่แก้ไขเนื้อหาในมาตรา 256 พรรคประชาชนเสนอให้เพิ่มขึ้นเงื่อนไขให้แก้ไขได้ยากขึ้นโดยระบุเพิ่มให้ต้องมีเสียง สส. สองในสามเห็นชอบกับการแก้ไขรายมายตรานั้นด้วยแทนการใช้เสียงของ สว. หนึ่งในสาม พริษฐ์ยืนยันว่าส่วนนี้ไม่ใช่การตัดอำนาจ สว. แต่เป็นการรักษาสมดุลอำนาจที่ล้นเกินของ สว. ที่มาจากระบบเลือกกันเอง

โมเดลเพื่อไทย สสร. แบ่งเขตตามจังหวัดล้วน 200 คน

ชนินทร์ อธิบายโมเดลพรรคเพื่อไทยว่า จุดยืนของพรรคเพื่อไทยคือการยืนยันให้ สสร. มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด ซึ่งข้อเสนอพรรคเพื่อไทยระบุให้มาจากระบบแบ่งเขตตามจังหวัด 200 คน สาเหตุที่ใช้ระบบนี้เพราะเห็นว่าไม่สามารถหาสัดส่วนได้ชัดเจนในการกำหนดจำนวนประเภท สสร. หลังพูดคุยกันแล้วพรรคเพื่อไทยและตนก็มองว่าไม่ว่าจะมาจากระบบเขตตามจังหวัดหรือมาจากแบบใดก็เป็นตัวแทนของคนไทยทั้งประเทศได้เช่นกัน

ในประเด็นห้าม สสร. แก้ไขหมวด 1 หมวด 2 ชนินทร์ระบุว่า เป็นจุดยืนและนโยบายของพรรคเพื่อไทยมาโดยตลอด พรรคเพื่อไทยมองทั้งในเชิงหลักการและเชิงสังคม บางประเด็นมีความอ่อนไหวเชิงรายละเอียด พรรคเพื่อไทยเห็นว่าการใช้หลักการเพียงอย่างเดียวทำให้กลไกในการขับเคลื่อนไม่สามารถทำได้จริง เอาเรื่องที่เห็นพ้องต้องกันในสังคมมาขับเคลื่อนจะนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงได้มากกว่า แต่ทั้งนี้ยืนยันว่าเป็นอำนาจของรัฐสภาในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่ว่าแก้ไขไม่ได้เลย แต่เห็นว่าหากจะแก้ไขจริงๆ ต้องทำประชามติก่อนที่จะมีการแก้ไขแล้วจึงค่อยแก้ไขอีกครั้งอาจจะดีกว่าเพื่อหาฉันทามติของสังคม

ภัสราวลีแสดงความเห็นในฐานะภาคประชาชนว่า แม้ว่าร่างทั้งสองฉบับจะกำหนดระบบเลือกตั้ง สสร. แตกต่างกัน อย่างไรก็ตาม รัฐสภาควรรับหลักการร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญทั้งสองฉบับ แต่ควรเปิดพื้นที่ให้ภาคประชาชนเข้าไปพูดคุยในวาระสองด้วย ภัสวราวลีทิ้งท้ายไปยังพรรคเพื่อไทยในคำถามแรกว่า “แม้ว่าการออกแบบร่างของพรรคเพื่อไทยจะเป็นการออกแบบโดยคำนึงถึงความเป็นไปได้จริงในสังคมแต่จะพูดได้อย่างไรว่าจะเป็นการร่างใหม่ในสังคมประชาธิปไตย เพราะมีการตีกรอบอำนาจของ สสร. ไว้ก่อนที่ประชาชนจะได้เลือกตั้ง”

และคำถามที่สองว่า “ในประเด็นสัดส่วนของ กรธ. ในการยกร่างของเพื่อไทย ซึ่ง สส. เสนอ 12 คน สว. เสนอ 5 คน และ ครม. เสนอได้อีก 6 คน หาก ครม. อยากมีส่วนร่วมทำไมจึงไม่มีการเสนอร่างของ ครม. และทำไมถึงต้องมีสัดส่วนของ ครม. ในการยกร่าง”

ชนินทร์ ตอบคำถามแรกของภัสราวลีว่า “การล็อกหมวด 1 หรือหมวด 2 จะทำให้บรรยากาศการแก้ไขจะเป็นรัฐธรรมนูญของประชาชนหรือไม่ พรรคเพื่อไทยเป็นว่าเราเป็นปฏิบัตินิยม เราพยายามขับเคลื่อนไปอย่างมั่นคง โดยหาความร่วมมือจากมุมมองที่เห็นตรงกัน ในมุมของพรรคเพื่อไทยเราอยากจะขับเคลื่อนในประเด็นที่เห็นพ้องต้องกันก่อน ส่วนประเด็นอื่นก็ควรจะต้องถกเถียงกันต่อไป”

ส่วนในคำถามที่สองชนินทร์ระบุว่า “ส่วนในประเด็นสัดส่วนของ กรธ. นั้นล้อมาจากการตั้งกรรมาธิการในสภา แต่ก็ไม่ได้แก้ไขไม่ได้ สามารถแก้ไขได้ในการพิจารณาของรัฐสภา อย่างไรก็ดี กรธ. เป็นเพียงผู้ยกร่าง สสร. สามารถแก้ไขได้อยู่ดี”

ปุรวิชญ์ แสดงความเป็นในประเด็นการแก้ไขได้ทั้งฉบับว่า “ในประวัติศาสตร์การร่างรัฐธรรมนูญไทย ผมยืนยันได้ว่า หมวด 1 หมวด 2 ไม่เคยเป็นประเด็นสำคัญในการยกร่าง เป็นหมวดที่ใช้เวลาในการอภิปรายแทบจะน้อยที่สุด และที่สำคัญในอดีตหมวด 1 หมวด 2 เคยมีการเปลี่ยนแปลงมาอย่างเป็นพลวัต แต่ถึงจะมีความเห็นต่างในประเด็นนี้อย่างไรก็เป็นเหตุผลที่จะควรตกร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในวันที่ 13 14 กุมภาพันธ์ 2568 นี้”

https://www.ilaw.or.th/articles/50439