วันพฤหัสบดี, กุมภาพันธ์ 06, 2568

สุจิตต์ เห็นจีนส่งระดับผู้ช่วยรัฐมนตรีมาไทย หารือปราบแก๊งคอลฯ แล้วคิดถึงประวัติศาสตร์ "จิ้มก้อง" ที่อยุธยาต้องส่งบรรณาการให้จีน และส่งสืบมาจนสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น - จีน ‘ควบคุม’ และ ‘คุ้มครอง’ ประเทศที่ยอมอ่อนน้อม

ถกปราบแก๊งคอล - นายหลิว จงอี ผู้ช่วยรัฐมนตรีกระทรวงความมั่นคง และสาธารณะแห่งสาธาธารณรัฐประชาชนจีน พร้อมด้วยนายอู๋ จื้ออู่ อัครราชทูตจีนประจำประเทศไทย เข้าพบหารือนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาอาชญากรรมออนไลน์บริเวณแนวชายแดนไทย-เมียนมา ที่กระทรวงกลาโหม เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ (ภาพและคำบรรยายจาก มติชน ฉบับวันพุธที่ 5 กุมภาพันธ์ 2568 หน้า 1)

Matichon Online - มติชนออนไลน์
8 hours ago
·
สุจิตต์ เห็นจีนส่งระดับผู้ช่วยรัฐมนตรีมาไทย หารือปราบแก๊งคอลฯ แล้วคิดถึงประวัติศาสตร์ "จิ้มก้อง" ที่อยุธยาต้องส่งบรรณาการให้จีน และส่งสืบมาจนสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น สะท้อนบทบาทของจีนที่มีต่อบ้านเมืองในแถบทะเลจีนใต้ จนกระทั่งปัจจุบัน
.....


5 กุมภาพันธ์ 2568
มติชนออนไลน์

แก๊ง “คอลเซ็นเตอร์” บริเวณชายแดนไทย-พม่า ถ้าจีนไม่ส่งเจ้าหน้าที่ระดับสูงมาร่วมปรึกษาหารือกับไทย ย่อมไม่มีใครรู้ว่าความเดือดร้อนของประชาชนเกือบทั่วโลกจะมีต่อไปอีกนานเท่าไร?

ตรงนี้ทำให้คิดถึงประวัติศาสตร์ก่อนอยุธยาและสมัยอยุธยา เรื่องจีน “จัดตั้ง” รัฐบาลสมัยนั้น ทำให้อยุธยาต้อง “จิ้มก้อง” จีนสืบมาจนสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น แต่ประวัติศาสตร์ไทยพยายามอธิบายกลบเกลื่อนเป็นเรื่องอื่น
เหตุการณ์เดียวกัน แต่คิดไม่ตรงกัน โดยเฉพาะในประวัติศาสตร์ไทย-จีน เมื่อไทยคิดต่อจีนอย่างหนึ่ง แต่จีนคิดต่อไทยอีกอย่างหนึ่ง

จีนต้องการใช้กำลังแผ่อำนาจปราบปรามประเทศทางทะเลจีนใต้ บริเวณอุษาคเนย์โบราณ ซึ่งรวมทั้งประเทศสยาม
แต่ข้าราชการผู้ใหญ่ของจีนสมัยนั้นไม่เห็นด้วย เพราะสูญเสียไพร่พล และสิ้นเปลืองทรัพยากร จึงเสนอให้ใช้วิธีเกลี้ยกล่อมอยู่ในความคุ้มครองจะเหมาะกว่า

จักรพรรดิจีนสมัยนั้นเลยต้องเปลี่ยนแนวคิดจากใช้กำลังปราบปราม เป็นใช้วิธีเกลี้ยกล่อมให้ยอมจำนนในอำนาจจีน ดังข้อความในเอกสาร ดังนี้

“(จักรพรรดิ) ทรงปรึกษาข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ หารือเรื่องการจัดทัพไปปราบเสียน (สยาม) หลอหู (ละโว้) หม่าปาเอ๋อร์ (เปโป้ยยี้) จี้หลัน (กู้น้ำ) และซูมู่ตาลา (สุมาตรา)

แต่ขุนนางชื่อเจียหลู่น่าต๋าซือ กราบทูลว่า

‘อาณาจักรเหล่านั้นเป็นอาณาจักรเล็กที่ไม่มีความสำคัญอะไร แม้ว่า (จีน) จะได้ (อาณาจักรเหล่านั้น) มาเป็นเมืองขึ้น ก็หาประโยชน์มิได้ (นอกจากนั้น)

การที่จะจัดทัพไปปราบอาณาจักรเหล่านั้น ยังเป็นการทำลายชีวิตประชาชนโดยใช่เหตุ ควรส่งทูตไปชี้แจงบาปบุญคุณโทษ (และ) ชักชวน (ให้อ่อนน้อม) จะเหมาะสมกว่า

ถ้า (อาณาจักรเหล่านั้น) ไม่ยอมอ่อนน้อมก็ยังไม่สายเกินไปที่จะไปโจมตีได้’

จักรพรรดิทรงเห็นชอบด้วย และรับสั่งให้เอียลาเยหนูเตอมี่และคณะ จัดการส่งทูตตามข้อเสนอดังกล่าว (ปรากฏผลว่า) กว่า 20 อาณาจักรยอมนอบน้อม”

[จากหนังสือ ความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทย-จีน พ.ศ. 1825-2395 (แปลจากเอกสารทางราชการของจีน) โดยคณะกรรมการสืบค้นประวัติศาสตร์ไทย เกี่ยวกับจีนในเอกสารภาษาจีน สำนักนายกรัฐมนตรี พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2523]

จีนต้องการควบคุมและคุ้มครองบ้านเมืองแถบทะเลจีนใต้ โดยเฉพาะบริเวณคาบสมุทรมลายู

ก่อนสยามยึดอยุธยา พ.ศ. 1952 จีนส่งกองเรือจีนนำโดยแม่ทัพขันทีเจิ้งเหอ (หรือซำปอกง) ยกกองเรือท่องสมุทร (ครั้งที่ 3) ผ่านอ่าวไทย เท่ากับใช้กองเรือกดดัน ซึ่งเท่ากับมีส่วนสนับสนุนการยึดอยุธยาของสยามแห่งรัฐสุพรรณภูมิ

[หลักฐานและคำอธิบายมีในหนังสือ 2 เล่ม ของ สืบแสง พรหมบุญ (1.) ความสัมพันธ์ในระบบบรรณาการ ระหว่างจีนกับไทย มูลนิธิโครงการตำราฯ พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2525 และ (2.) เจิ้งเหอ ซำปอกง อุษาคเนย์ สำนักพิมพ์มติชน พิมพ์ครั้งแรก เมษายน พ.ศ. 2549]

การแผ่อำนาจของจีนมีเสมอ ในลักษณะกดดันและใช้กำลังทหารจากกองเรือข่มขู่คุกคามบ้านเมืองที่อ่อนแอกว่า เพื่อได้สิ่งที่ต้องการ รวมทั้งมีเหตุการณ์อย่างนี้ในอยุธยาด้วย

เรือน พ.ศ. 1900 มีในเอกสารจีนว่าเจิ้งเหอ ออกคำสั่งให้รื้อถอนพระสถูปในอยุธยาอย่างน้อย 1 องค์ว่า “เป็นพระสถูปที่ปราศจากยอดและอยู่ทางเบื้องทิศตะวันตก โดยกล่าวว่าพวกชนป่าเถื่อน (ชาวอยุธยา) เหล่านี้สร้างพระสถูปจนสำเร็จอยู่ก่อน เจิ้งเหอได้บัญชาให้ปราบพระสถูปนี้จนราบเรียบ จนแม้ต่อมาจะมีความพยายามที่จะสร้างสถูปขึ้นอีก ก็ไม่สำเร็จอีกเลย”

[ดูในบทความเรื่อง “เจิ้งเหอกับการทูตแบบสันถวไมตรีหรือเพื่อกดขี่บีฑา” ของ เจฟ เวด (ทรงยศ แววหงษ์ แปลจากบทความภาษาอังกฤษ พิมพ์เป็นเอกสารประกอบสัมมนาวิชาการ จัดโดยมูลนิธิโครงการตำราฯ ร่วมกับมูลนิธิโตโยต้า เมื่อวันศุกร์ที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2548)]

https://www.matichon.co.th/columnists/news_5035360

.....