วันเสาร์, กุมภาพันธ์ 08, 2568

ชวนฟังเสียงสะท้อนจากคนชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง ในวันที่พรรคร่วมรัฐบาลไม่เพียงจะปฏิเสธการมีอยู่ของพวกเขา แต่เหยียบย้ำข้อเสนอแสนเรียบง่ายในการคืนสิทธิความเท่าเทียม และผลักคนชาติพันธุ์และชนเผ่าฯ กลับไปอยู่ในกรงขังที่ไร้ซึ่งสิทธิและเสรีภาพ


Decode.plus
Yesterday
·
เข้าป่าก็โดนห้าม ลงทะเลก็ถูกกีดกัน
‘กฎหมายชาติพันธุ์ ที่ไม่ได้เรียกร้องอภิสิทธิ์’ ที่มากไปกว่าประชาชนทั่วไป หากแต่เรียกร้องหา ‘ความเท่าเทียม’ ที่ถูกพรากไป และตัวตนของคนชาติพันธุ์ที่ไม่เคยปรากฎอยู่บนบทกฎหมาย
.
ชวนฟังเสียงสะท้อนจากคนชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง ในวันที่พรรคร่วมรัฐบาลไม่เพียงจะปฏิเสธการมีอยู่ของพวกเขา แต่เหยียบย้ำข้อเสนอแสนเรียบง่ายในการคืนสิทธิความเท่าเทียม และผลักคนชาติพันธุ์และชนเผ่าฯ กลับไปอยู่ในกรงขังที่ไร้ซึ่งสิทธิและเสรีภาพ
“นี่ก็สูญเสียกันมา 30 กว่าปีแล้ว แต่ก็ยังเหมือนเดิม ไม่ได้รับการแก้ไข” - ยุพิน งามยิ่ง กะเหรี่ยงภาคตะวันตก
“ตอนนี้เราเดินมาสุดทาง ชาวบ้านก็ถอยสุดทาง ถอยลงทะเลอีกไม่ได้แล้ว เพราะเราจะไม่มีที่ จะทำมาหากิน เข้าป่าก็หาไม่ได้” - ประทีป นาวารักษ์ ชาวมอแกลนบ้านลำปี
“มันไม่ใช่แค่พื้นที่อยู่อาศัยหรือทำกิน มันเป็นพื้นที่ทางจิตวิญญาณที่เป็นแหล่งรวมจิตใจของพวกเรา” - เดียว ทะเลลึก ชาวอูรักลาโว้ยเกาะลันตา
ภาพ/เนื้อหา : ธเนศ แสงทองศรีกมล
กราฟิก: ณิชกานต์ บุญไชย
#decode #crackandcraft #กฎหมายชาติพันธุ์ #ชนเผ่าพื้นเมือง #คืนสิทธิ #คนอยู่มาก่อน #คุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์


“สมัยก่อนพื้นที่ไม่มีของใคร เราก็สืบทอดมาจากบรรพบุรุษที่มีวิถีชีวิตทำไร่หมุนเวียน แม่น้ำและลำธารแต่ละสายล้วนมีประวัติศาสตร์ของชุมชนบ้านเรา แต่เมื่อกฎหมายป่าไม้ประกาศ ชุมชนกะเหรี่ยงของเราก็สูญเสียพื้นที่ตรงนั้นไป”

ยุพิน งามยิ่ง ผู้แทนเครือข่ายชาติพันธุ์กะเหรี่ยงเพื่อความเป็นธรรม เธอเป็นชาวกะเหรี่ยงตะวันตก อาศัยและทำกินอยู่ในบ้านป่าผาก อ.ด่านช้าง จ.สุพรรณบุรี ซึ่งเป็นพื้นที่ที่อยู่ในอุทยานแห่งชาติพุเตย แม้เธอจะยืนยันว่าบรรพบุรุษของเธอใช้ที่ดินดังกล่าว มาตหลายชั่วอายุคแล้ว

ยุพินอธิบายว่า พี่น้องกะเหรี่ยงของเธอประสบกับปัญหาที่ดินทำกินมาตั้งแต่ช่วงสัมปทานป่าไม้สุพรรณบุรี ซึ่งทับที่ดินทำกินของพวกเธอไปกว่า 4,000 ไร่ หลังจากนั้นก็มีสถานีวิจัยพืชและอาหารสัตว์เข้ามาตั้ง พอเข้าปี 2541 ก็มีการประกาศเขตอุทยานแห่งชาติพุเตยทับขึ้นไปอีกขั้น

จากเดิมที่ยุพินและพี่น้องกะเหรี่ยงสามารถใช้ที่ดินตามแนวเขตที่กำหนดไว้เพื่อทำเกษตรแบบไร่หมุนเวียน ตอนนี้ครอบครัวหนึ่งอาจครอบครองที่ดินได้เพียง 5 ไร่ ซึ่งไม่เพียงพอต่อการทำเกษตรแบบไร่หมุนเวียน ที่ต้องอาศัยที่ดินหลายแปลงในการหมุนเวียนและพักหน้าดิน

ยุพินยกตัวอย่างถึงความหลากหลายทางชีวภาพอย่างพันธุ์ข้าว ที่หายไปหลังการเข้ามาควบคุมป่าโดยรัฐบาล เธออธิบายว่า การทำไร่ของกะเหรี่ยงตะวันตกมีขั้นตอนถึง 18 ขั้นตอน ซึ่งทำให้แต่ละฤดูกาลนั้นมีอาหารและความหลากหลายในพื้นที่สูงมาก ทว่าด้วยกฎหมายที่เกี่ยวกับป่าไม้ตอนนนี้ ทำให้พันธุ์ข้าวที่เคยมีในเทือกเขาสุพรรณบุรีหายไปกว่าครึ่ง วัฒนธรรมหลายอย่างก็สูญหายจนไม่อาจหวนคืน

“เมื่อก่อนคนนี้มีกล้วย คนนี้มีข้าว ไปแลกกันได้ ไม่ต้องซื้อขายกัน แต่ตอนนี้ไม่ได้แล้ว เขาไม่เห็นคุณค่าตรงนี้ เราพยายามรักษาป่า เพราะถ้าไม่มีป่าเราก็อยู่ไม่ได้ แต่พอมันมีกฎเกณฑ์หลายอย่าง หมู่บ้านของเราก็เดือดร้อนมาก นี่ก็สูญเสียกันมา 30 กว่าปีแล้ว แต่ก็ยังเหมือนเดิม ไม่ได้รับการแก้ไข”

ยุพินยืนยันว่า ที่ดินสำหรับกลุ่มชาติพันธุ์คือชีวิต และไม่สามารถแยกขาดกันได้ มีผู้คนมากมายที่ทุกข์ทรมานจากพัฒนาของรัฐที่ไม่มีความเข้าใจในวิถีชีวิตของกลุ่มชาติพันธุ์ ซึ่งนั่นไม่ได้เสียหายเพียงแค่ระดับพื้นที่ แต่ลึกลงไปถึงหัวใจและจิตวิญญาณที่บรรพบุรุษสั่งสมมา

และการประท้วงของกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมืองในวันนี้ ไม่ได้มีขึ้นเพียงเรียกร้องหาสิทธิ์พิเศษไปมากกว่าคนกลุ่มใด แต่เป็นเพียงการถามหาความเท่าเทียม ที่กลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมืองควรจะมีเฉกเช่นคนอื่นในสังคม

“น้ำคือเลือด ดินกับป่าคือจิตวิญญาณ กะเหรี่ยงอย่างเราไม่ได้จะเอาเงินหรืออภิสิทธิ์อะไร เราต้องการแค่ให้พอกิน พอใช้ พอได้อิงกายหลับนอน ความเป็นธรรมและมั่นคงในที่ดินเท่านั้น”


“เมื่อก่อนมันเป็นพื้นที่ที่เต็มไปด้วยธรรมชาติ พี่น้องชาวเลทั้งโซนอันดามันสามารถหากินได้สะดวกสบาย แต่ปัจจุบันสิ่งเหล่านี้หายไป เมื่อกฎหมายของประเทศไทยมีระบุตั้งแต่ให้มีโฉนดที่ดิน ให้มีน.ส.2 หรือน.ส.3 ขึ้นมา ทำให้พี่น้องไม่มีที่อยู่อาศัย บางพื้นที่ที่ไม่ได้รับสิทธิ์ในที่ดินจนไม่มีที่อยู่อาศัยเลย”

เดียว ทะเลลึก ชาวอูรักลาโว้ยจากเกาะลันตา จังหวัดกระบี่ ค่อยๆ ฉากภายบริบทพื้นที่เกาะลันตาให้เราเห็น เขาบอกว่า เมื่อก่อนพี่น้องชาวอูรักลาโว้ยสามารถหากินได้ทุกพื้นที่ เป็นพื้นที่ทำกินดั้งเดิมที่กระจายตามเกาะต่างๆ ทว่าการเข้ามาของกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเขตอนุรักษ์ อุทยานฯ ทำให้ที่ทำกินของชาวอูรักลาโว้ยเหลือเพียงนิดเดียว

แรงกระแทกที่มากไปกว่าคลื่น คืนคนที่หากินกับทะเลทุกคนก็ต้องกระจุกตัวเข้าทำกินในพื้นที่ดังกล่าว ซึ่งส่งผลกระทบอย่างมากต่อวิถีชีวิตของชาวเล เช่น การบาฆัด หรือการหมุนเวียนหากินของพี่น้องชาวเล ซึ่งทำให้ทะเลอุดมสมบูรณ์ สัตว์ได้พักผ่อนและเติบโต หรือพิธลอยเรือ ที่สำหรับเดียวแล้วเป็นพิธีที่เป็นสัญลักษณ์ของการเป็นชาวเล ซึ่งหากพิธีดังกล่าวถูกทำให้หายไปอีกโดยนโยบายรัฐ พวกเขาก็ไม่ใช่ชาวเลอีกต่อไปแล้ว

“มันไม่ใช่แค่พื้นที่อยู่อาศัยหรือทำกิน มันเป็นพื้นที่ทางจิตวิญญาณที่เป็นแหล่งรวมจิตใจของพวกเรา ถ้าพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์เหล่านี้ทรุดโทรมลง เพราะพี่น้องไม่ได้เข้าไปดูแล ความอุดมสมบูรณ์มันก็จะหายไปด้วย เช่น สุสานของพวกเรา ปกติเราจะฝังร่างใต้ทะเล แต่พอมีแหล่งท่องเที่ยวเข้ามา ร่างพวกนั้นก็ถูกขุดถูกทำลายไปหมด เมื่อจิตวิญญาณถูกทำลาย ถูกห้ามไม่ให้ไปยังพื้นที่ดั้งเดิม การทำมาหากินเราก็ถูกทำลายไปด้วย”

เดียวเสริมว่า กฎหมายเกี่ยวกับที่ดินส่งผลกระทบต่อพี่น้องชาวเลมาก เพราะส่วนหนึ่งพี่น้องชาวเลเชื่อว่าที่ดินนั้นเป็นของทุกคน ใครก็สามารถใช้ได้ ทำให้ชาวเลหลายคนไม่มีหลักฐานหรือเอกสารสิทธิ์ในที่ดิน เช่น กลุ่มชาติพันธุ์ที่เคยอาศัยอยู่ในเกาะอาดังและย้ายไปยังเกาะหลีเป๊ะ ทว่าไม่ได้มีการจัดสรรที่ดิน มีเพียงการแบ่งปากเปล่าว่าที่ตรงนี้เป็นไร่ข้าว ที่ตรงนี้เป็นที่นา ทำให้เมื่อมีกฎหมายเข้ามากำกับ พวกเขาเหล่านั้นจึงกลายเป็น ‘ผู้บุกรุก’ ไปโดยปริยาย แม้พวกเขาจะเป็นผู้บุกเบิกที่ดินก็ตาม

ซึ่งสภาวะดังกล่าวส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อสถานะทางเศรษฐกิจของพี่น้องชาวเล เพราะเมื่อพื้นที่ถูกจำกัด พื้นที่ในการหาปลาและทรัพยากรทางน้ำที่เป็นแหล่งรายได้หลักของชาวเลก็หายไปด้วย ความอุดมสมบูรณ์จะทยอยลดลงจากการใช้พื้นที่ที่เหลืออยู่เพียงนิดเดียวซ้ำจนไม่มีเวลาฟื้นฟู

ซ้ำร้ายยังตกเป็นผู้ร้ายของสังคม หากคนใช้ป่าถูกกล่าวหาว่าตัดไม้ทำลายป่า คนชาวเลก็ถูกกล่าวหาว่าเป็นคนทำปะการังตายและสัตว์น้ำล้มหายตายจากลงไป ทั้งที่สำหรับเดียวแล้ว การอนุรักษ์ที่นำโดยการท่องเที่ยวนั้นส่งผลเสียมากกว่าซะอีก

เพราะงั้นพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตชาติพันธุ์จึงสำคัญอย่างมาก และนั่นไม่ได้หมายความว่าพี่น้องชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง จะครอบครองที่ดินดังกล่าวแต่เพียงผู้เดียว หากแต่หมายถึงการสร้างความมั่นคงในที่ดินให้กับพวกเขา ความมั่นคงในอาชีพการงาน ความมั่นคงในวิถีชีวิต แม้กระทั่งความมั่นคงทางจิตวิญญาณ เพื่อที่จะทำให้เขาและพี่น้องชาวเลสามารถปกป้องทรัพยากรธรรมชาติได้เหมือนอย่างที่เคยทำมา

“ผู้เฒ่าเคยบอกว่าไว้ ถ้ามึงกินปลา มึงต้องรักษาปลาไว้นะ เพราะงั้นที่ธรรมชาติยังอุดมสมบูรณ์ได้ ก็เพราะพี่น้องเรารักษามันมาตั้งแต่บรรพบุรุษ ถ้าวันไหนที่เราไม่คุ้มครองและทำลายจนหมด เราก็จะไม่มีกินจนชั่วลูกชั่วหลาน”


“เราได้รับฉายาว่าสิงบก เมื่อครั้งอดีตเรามีพื้นที่ข้าวไร่หมุนเวียน ฤดูกาลปลูกข้าวเราก็ไปปลูกข้าวไร่ แต่เราก็ออกทะเลได้ด้วย เป็นทะเลชายฝั่ง ซึ่งวิถีของเราก็จะหมุนเวียนกิจกรรมไปมา แต่ในช่วงที่เราหมุนเวียน กลับมีบุคคลภายนอกเข้ามาจับจองพื้นที่ และบอกว่าพื้นที่นี้เป็นของเขา”

ประทีป นาวารักษ์ ประธานเครือข่ายชาติพันธุ์มอแกลน เล่าอย่างภูมิใจว่า เมื่อก่อนนั้นมีข้าวกินทุกหลังคาเรือน เคียงกับกุ้งหอยปูปลาที่หาได้จากทะเล ทว่าปัจจุบันที่ดินทำกินเกือบทั้งหมดทุกครอบครองโดยกลุ่มทุนที่มีหน่วยงานรัฐเอื้อผลประโยชน์

บ้างก็ถูกริบเอาไปอย่างดื้อๆ โดยกลุ่มทุน บ้างก็ใช้เล่ห์เหลี่ยมโดยการให้ชาวบ้านในพื้นที่ยืมเงิน ซึ่งหากชาวบ้านไม่มีเงินคืน ก็จะยึดที่ดินทำกินของชาวบ้านแทน

ประทีปเล่าว่า ชาวบ้านหลายคนไม่สามารถรู้ทันเล่ห์เหลี่ยมของกฎหมายหรือนายทุนหัวหมอได้ ส่งผลให้ปัจจุบันชาวบ้านเหลือความแน่นอนเพียงอย่างเดียวคือที่อยู่อาศัย

ทว่ามีไม่ถึงสิบรายที่ได้หนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) ราวร้อยรายที่มีโฉนดเพื่อการเกษตร (ส.ป.ก.) ที่เหลือคือไม่มีเอกสารสิทธิ์ในที่ดิน ต่างกับบุคคลภายนอกที่เข้ามาในพื้นที่ ที่ไม่ว่าจะเป็นเขตพื้นที่อุทยาน ป่าชายเลน ป่าสงวน พวกเขาล้วนได้โฉนดที่ดินกันหมด

“ตอนนี้เราเดินมาสุดทาง ชาวบ้านก็ถอยสุดทาง ถอยลงทะเลอีกไม่ได้แล้ว เพราะเราจะไม่มีที่ จะทำมาหากิน เข้าป่าก็หาไม่ได้ ลงทะเลก็ถูกจำกัดสิทธิ์ว่าห้ามทำมาหากิน ห้ามทำประโยชน์”

ประทีปเสริมอีกว่า หลังจากกลุ่มทุนเข้ามาในพื้นที่ช่วงรอยต่อเหมืองแร่ที่ขาดสัมปทาน จากพื้นที่ที่เคยมีป่าและไร่หมุนเวียน ตอนนี้แปรสภาพเปลี่ยนเป็นเกษตรเชิงเดี่ยว เต็มไปด้วยต้นปาล์มน้ำมันและยางพารา ไม่มีเห็ด ไม่มีหน่อไม้ ไม่มีสมุนไร่เหมือนอย่างเคย แม้กระทั่งทะเลที่เคยเต็มไปด้วยความหลากหลายของกุ้งหอยปูปลา ก็สูญหายไปจากน้ำเสียที่ถูกปล่อยลงมาจากนากุ้งของกลุ่มทุน

เพราะงั้นการชุมนุมเรียกร้องในวันนี้จึงเป็นการยืนยันสิทธิในการทำมาหากินของประทีป และยืนยันว่าพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตชาติพันธุ์นั้นสำคัญอย่างยิ่ง เพราะสภาวะการณ์ที่เกิดขึ้นขณะนี้ เป็นหลักฐานเชิงประจักษ์ที่ชัดเจนว่ากลุ่มทุนและเจ้าหน้าที่รัฐเพียงอย่างเดียว ไม่สามารถดูแลความหลากหลายและปกป้องทรัพยากรในพื้นที่ได้

และการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติในแต่ละพื้นที่ จำเป็นต้องมีพี่น้องชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมืองรวมอยู่ในนั้น เพราะเขาเหล่านี้เป็นคนที่อยู่ใกล้ชิดกับทรัพยากรมากที่สุด รู้จักพื้นที่มากที่สุด และหากพวกเขาสามารถดูแลรักษาพื้นที่โดยไม่มีการแทรกแซงอย่างไม่จำเป็นโดยรัฐ ทรัพยากรของประเทศไทยจะฟื้นฟูได้ดีกว่านี้แน่นอน

“ทุกวันนี้ป่าเราหายไป ทะเลก็หากินไม่ได้ เพราะหน่วยงานกับนายทุนเข้ามาสร้างผลกระทบ ถ้าเราไม่มีพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ วิถีชีวิตและวัฒนธรรมที่มีมายาวนานหลายชั่วอายุคนยก็จะต้องล่มสลายไป”

https://www.facebook.com/DecodeThaiPBS/posts/938451585104635