![](https://blogger.googleusercontent.com/img/b/R29vZ2xl/AVvXsEigPlLUKG_ZjJlA9v5de0xsM3zNm6YsbLDdJuvX3JFFWc_4h0gbbuK-1SGAG84Kozp8ZrCSb_mrtWoqdFa8maiiwN8dkbwoGbVhra8m2Py8DUNHfTIcHF60C7ItkFkqQGNaH3u96VXZytdKdphXzhwlzoYizMZvNbM1srh9i2zXbvKqaZuWD4HxrQ/w398-h398/476621024_1029187455921540_235643351687857140_n.jpg)
iLaw
18 hours ago
·
ย้อนดูรัฐธรรมนูญ หมวด 1 บททั่วไป เนื้อหาเปลี่ยนแปลงตลอด
.
นับแต่คณะราษฎรเข้าเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นระบอบประชาธิปไตยเมื่อ 24 มิถุนายน 2475 จนถึงวันที่ราชวงศ์จักรีมีอายุครบ 235 ปีในวันที่ 6 เมษายน 2560 ประเทศไทยมีรัฐธรรมนูญอันเป็นกฎหมายสูงสุดที่กำหนดโครงสร้างการปกครองของประเทศถึงจำนวน 20 ฉบับ ในจำนวนดังกล่าว เก้าฉบับเป็นผลสืบเนื่องจากทำรัฐประหาร หนึ่งฉบับคือรัฐธรรมนูญชั่วคราวที่ใช้หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง อีก 10 ฉบับคือรัฐธรรมนูญถาวร ที่ร่างโดยองค์กรผู้จัดทำรัฐธรรมนูญที่มีรูปแบบ ที่มา แตกต่างกันไป
.
ตลอดระยะเวลานี้บทบัญญัติว่าด้วยการปกครองของรัฐ อำนาจอธิปไตย รวมถึงบทบัญญัติเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ ถูกจัดตำแหน่งแห่งที่ให้อยู่ในมาตราต้นๆ ของรัฐธรรมนูญ ดังจะเห็นได้จากพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช 2475 อันเป็นปฐมรัฐธรรมนูญ เขียนให้อำนาจสูงสุดเป็นของราษฎรไว้ในบทบัญญัติแรก ภายใต้หมวด 1 ข้อความทั่วไป สะท้อนให้เห็นถึงการออกแบบโครงสร้างของรัฐธรรมนูญที่นำเรื่อง “คุณค่าพื้นฐาน” มาจัดตำแหน่งแห่งที่ไว้ในตอนต้นของรัฐธรรมนูญ รัฐธรรมนูญฉบับต่อๆ มา ก็เดินรอยตามโดยให้หมวด 1 เป็นหมวด บททั่วไป มาอย่างต่อเนื่อง
.
แม้ในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวหลังการรัฐประหาร ที่มีไม่กี่มาตราและไม่ได้แบ่งหมวดหมู่ ก็ยังคงนำเรื่องที่เคยมีในหมวด 1 มาเขียนไว้ ได้แก่ บทบัญญัติเรื่องอำนาจธิปไตย หลักความเป็นรัฐเดี่ยวแบ่งแยกไม่ได้ รัฐธรรมนูญทั้ง 20 ฉบับล้วนแต่มีบทบัญญัติเรื่องอำนาจอธิปไตย และ 19 ฉบับ มีบทบัญญัติที่เขียนรูปแบบของรัฐว่าประเทศไทยเป็นราชอาณาจักรอันหนึ่งอันเดียว แบ่งแยกไม่ได้
.
หมวด 1 บททั่วไป ไม่ได้มีเพียงแต่มาตราที่เกี่ยวกับการกำหนดรูปแบบของรัฐ ระบอบการปกครอง อำนาจอธิปไตยและองค์กรผู้ใช้อำนาจเท่านั้น แต่ยังมีหลักการที่สัมพันธ์กับประชาชนในรัฐธรรมนูญอย่างหลักความเสมอภาคอีกด้วย
.
บทบัญญัติในหมวด 1 ถูกแก้ไขเปลี่ยนแปลงมาตลอดในรัฐธรรมนูญทั้ง 20 ฉบับ รวมทั้งการแก้ไขถ้อยคำเพียงเล็กน้อยแต่ก็ส่งผลต่อนัยการตีความที่แตกต่างกัน หรือแก้ไขเชิงเนื้อหาสาระสำคัญ เช่น รัฐธรรมนูญ 2540 ขยายความหลักความเสมอภาคให้กว้างขึ้น กำหนดรับรองความเสมอภาคทางเพศ และเพิ่มบทบัญญัติ คุ้มครองศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพ
.
นอกจากนี้หลักการที่เป็น “คุณค่าพื้นฐาน” ในรัฐธรรมนูญหมวด 1 แต่ละฉบับ ก็แตกต่างออกไป ขึ้นอยู่กับผู้ร่างและปัจจัยทางการเมืองในขณะนั้น รัฐธรรมนูญบางฉบับเขียนหลักการที่ไม่มีในฉบับอื่นๆ เช่น รัฐธรรมนูญ 2517 กำหนดห้ามนิรโทษกรรมผู้กระทำการล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์หรือรัฐธรรมนูญ บางฉบับก็ขยับบทบัญญัติในเคยอยู่ในหมวดอื่นๆ มาไว้ในหมวด 1 อาทิ หลักความเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญ จากที่เคยอยู่ในหมวดบทสุดท้ายเริ่มมาอยู่ในหมวด 1 ครั้งแรกในรัฐธรรมนูญ 2517
.
.
![](https://static.xx.fbcdn.net/images/emoji.php/v9/t2d/1/16/1f4cd.png)
https://www.facebook.com/photo/?fbid=1029625165877769&set=a.625664036273886
https://www.ilaw.or.th/articles/50366