วันจันทร์, กุมภาพันธ์ 03, 2568

ทำไมทุนใหญ่ญี่ปุ่น "ตกขบวนเทคโนโลยี" สะเทือนอำนาจโลก


Thai PBS News
8 hours ago
·
"ญี่ปุ่น" ในความทรงจำของทั่วโลก คือ การเป็นผู้นำและผู้บุกเบิก "อุตสาหกรรมเทคโนโลยีและอิเล็กทรอนิกส์" บรรดาเครื่องใช้ไฟฟ้า คอมพิวเตอร์ หรือกระทั่งเครื่องเล่นเกม เชื่อได้เลยว่า ในช่วงปี 1980 เป็นต้นมา หลาย ๆ บ้านต้องมี "แบรนด์ญี่ปุ่น" ของสินค้าเหล่านี้ไม่มากก็น้อย
กระนั้น เมื่อเข้าสู่ยุค "เซมิคอนดักเตอร์" และ "AI" บรรดา "ทุนญี่ปุ่น" ด้านเทคโนโลยีที่เราคุ้นหู กลับหายหน้าหายตาไปจากสารบบเสียอย่างนั้น กลายเป็นว่า บรรดาประเทศที่คาดไม่ถึง เช่น ไต้หวัน นำโดย TSMC เกาหลีใต้ นำโดย Samsung หรือ จีน ที่นำโดย SMIC กลับครองส่วนแบ่งทางการตลาดรวมกันไปมากกว่าร้อยละ 85 ที่เหลือเป็นประเทศโลกตะวันตกประปราย
เหตุที่ทุนใหญ่ญี่ปุ่น "ตกขบวน" ในวงการที่สร้างเม็ดเงินมหาศาลให้แก่ประเทศในระดับสูงสุดนี้ ศ.กิตติคุณ ดร.ไชยวัฒน์ ค้ำชู อดีตอาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ สาขาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า เป็นผลมาจาก การที่บรรดาทุนใหญ่ หรือในศัพท์ญี่ปุ่นเรียกว่า "เคเรตสึ (Keiretsu: 系列)" ไม่สามารถที่จะ "ชี้นำ" รัฐบาลในเชิง "นโยบาย" ได้อย่าง "เบ็ดเสร็จ" อีกต่อไป
ไม่เหมือนกับสมัยก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง เพราะตอนนี้ญี่ปุ่นใช้ระบอบการปกครอง "เสรีนิยมประชาธิปไตย (Liberal Democracy)" ที่รัฐบาลต้องฟังเสียงประชาชน เพื่อให้ชนะการเลือกตั้ง ทำอะไรประเจิดประเจ้อ เอื้อนายทุนแบบไม่ลืมหูลืมตาเหมือนตอนที่ปกครองแบบ "จักรพรรดิราช" ไม่ได้
อีกทั้ง ด้วยความที่ญี่ปุ่นก้าวหน้ากว่าใครในด้านนี้ ได้ดุลการค้ามหาศาล ส่งผลให้เกิด "เศรษฐกิจฟองสบู่" เมื่อทั้งระบบพังทลายลงมา ทำให้ประเทศเกิด "Lost Decade" หรือ "ทศวรรษที่สาบสูญ" เงินฝืด เศรษฐกิจไม่เติบโต กระตุ้นเท่าไรก็ไม่อาจกลับมาจุดเดิมได้
เมื่อเกิดเงินฝืด เท่ากับงบประมาณวิจัยและพัฒนา (R&D) ลดลง ความเจริญทางเทคโนโลยีย่อมลดลงตามไปด้วย รัฐบาลช่วยเหลืออะไรไม่ได้ เอกชนก็ไม่อาจแข่งขันได้ อีกทั้ง คู่แข่งใหม่ ๆ ในตลาดอิเล็กทรอนิกส์มีเพิ่มมากขึ้น เห็นได้จาก ไต้หวัน เกาหลีใต้ และจีน ทำให้ญี่ปุ่นตกรถไฟขบวนนี้ไปอย่างน่าเสียดาย
ในสมุดปกขาวของญี่ปุ่น จีนเป็นคู่แข่งที่น่ากลัวในทุกเรื่อง แต่ไม่อยากเผชิญหน้าโดยตรง เพราะญี่ปุ่นทราบดีว่า จะเป็นมหาอำนาจคนเดียวโดด ๆ ในสมัยนี้ แทบจะเป็นไปไม่ได้ ทางออกที่สำคัญ คือ ต้อง "ผนึกกำลัง" หลายฝ่าย เพื่อสร้างอำนาจต่อรองต่อสากลโลก รวมถึงจีนเอง และจะรักษาสถานะมหาอำนาจต่อไปได้
#ThaiPBS #ข่าวไทยพีบีเอส #ข่าวที่คุณวางใจ #ThaiPBSnews #ไชยวัฒน์ค้ำชู #ทุนญี่ปุ่น #AI #เทคโนโลยีญี่ปุ่น #บริษัทญี่ปุ่น #เศรษฐกิจญี่ปุ่น

https://www.facebook.com/photo/?fbid=1069062791916845&set=a.365200502303081

Thai PBS News
อ่านบทสัมภาษณ์ Exclusive ของ ศ.กิตติคุณ ดร.ไชยวัฒน์ ค้ำชู อดีตอาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ สาขาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ที่: https://www.thaipbs.or.th/news/content/348878