The101.world
8 hours ago
·
● คดี ทรู ฟ้อง กสทช. ไม่ว่าใครแพ้ชนะ คนไทยเสียประโยชน์
เช้าวันพฤหัสบดีที่ 6 กุมภาพันธ์ 2568 ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง จะมีคำพิพากษาคดีที่บริษัท ทรู ดิจิทัลกรุ๊ป จำกัด เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.พิรงรอง รามสูต กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ในคดีปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ
ที่มาของคดีเกิดขึ้นหลังจากอนุกรรมการ กสทช. รับเรื่องร้องเรียนจากผู้ใช้บริการ เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2565 ว่าพบโฆษณาระหว่างกดเปลี่ยนช่อง ซึ่งอนุกรรมการ กสทช. ตรวจสอบข้อเท็จจริง และออกหนังสือแจ้งไปยังผู้ประกอบกิจการโทรทัศน์และวิทยุทุกราย ให้ตรวจสอบการแพร่เสียงและภาพผ่านการรับสัญญาณโทรทัศน์ผ่านระบบอินเทอร์เน็ต (Internet TV Box) และแอปพลิเคชัน TRUE ID และเรียกให้บริษัท ทรู ดิจิทัล กรุ๊ป จำกัด เข้าชี้แจง จากนั้น บริษัท ทรู ดิจิทัล กรุ๊ป จำกัด ก็เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร. พิรงรอง ในความผิดฐานเลือกปฏิบัติไม่เป็นธรรม ส่งผลให้ภาคเอกชนเกิดความเสียหาย เป็นคดีเลขที่ อท. 147/2566
ไม่ว่ารายละเอียดเรื่องนี้ใครจะถูกหรือผิด ผลแพ้หรือชนะจะเป็นอย่างไร แต่รูปธรรมที่ออกมาแล้วคือ การรับฟ้องคดีนี้เป็นตัวอย่างที่ทำให้เห็นว่า กลไกการกำกับดูแลขององค์กรอิสระเกิดขึ้นไม่ได้
เพราะทันทีที่ศาลรับฟ้องคดีนี้ในปี 2566 ก็เกิดข้อคำถามขึ้นมาว่า เมื่อมี กสทช. คนหนึ่งถูกวางตัวให้เป็นคู่ขัดแย้งกับบริษัทเอกชนแล้ว การพิจารณามติอื่นใดที่มีเอกชนรายนี้เกี่ยวข้อง ก็อาจจะตกที่นั่งเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย จึงควรงดเว้นการปฏิบัติหน้าที่ใดๆ ที่เอกชนรายนี้มีส่วนเกี่ยวข้อง ซึ่งทาง ทรู ดิจิทัล กรุ๊ป ก็ได้ยื่นคำร้องต่อศาลให้มีคำสั่งให้ ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.พิรงรอง ยุติการปฏิบัติหน้าที่ด้วยเช่นกัน
ดูเหมือนว่าจะมีสัญญาณที่ดี เพราะเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2567 ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ตัดสิน “ยกคำร้อง” โดยระบุว่า เรื่องนี้ยังไม่มีน้ำหนักและเหตุผลเพียงพอที่ศาลจะมีคำสั่งให้จำเลยหยุดปฏิบัติหน้าที่ ทำให้ ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.พิรงรอง สามารถทำหน้าที่ได้ต่อไป
แต่ถึงแม้ว่าศาลจะยกคำร้องให้ปฏิบัติหน้าที่ต่อได้ ช่วงเวลานับจากปี 2566 จนถึงกลางปี 2567 ก็กลายเป็นช่วงเวลาเสียโอกาสที่ทำให้ กสทช. ทำงานได้ไม่เต็มที่ ยังไม่นับว่านอกจากคดีนี้แล้ว ยังมีคดีอื่นๆ ที่ฟ้องกันภายในสำนักงานฯ อยู่ระหว่างพิจารณาอีก 4-5 คดี เช่น คดีที่นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รักษาการเลขาธิการ กสทช. ยื่นฟ้อง กสทช. จำนวน 4 คน ที่ตั้งเรื่องสอบสวนข้อเท็จจริงกรณีการสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการซื้อลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดรายการแข่งขันฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย โดยยื่นฟ้องคดีฐานความผิดเดียวกัน คือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ (มาตรา 83, 86 และ 157)
โดยทั่วไป การฟ้องคดีต่อผู้ตรวจสอบ จะสร้างภาวะชะงักงันหรือ chilling effect ให้กับการตรวจสอบได้ทันทีโดยไม่ต้องรอคำพิพากษาของศาล และเป็นการทำให้งานกำกับดูแลเกิดขึ้นได้อย่างกระท่อนกระแท่น หลายเสียงวิพากษ์ว่า การฟ้องคดีแบบนี้เข้าข่ายคดีประเภทที่เรียกว่าการฟ้องปิดปาก หรือ SLAPP (Strategic Lawsuit Against Public Participation) ซึ่งเป็นวิธีหนึ่งที่ใช้หยุดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ เช่นเดียวกับการฟ้องคดีหมิ่นประมาทที่เกิดขึ้นอย่างแพร่หลาย
ดังนั้นในสภาพเช่นนี้ จะคาดหวังให้องค์กรอิสระที่ควรต้องทำหน้าที่วางทิศทางงานสื่อสารโทรคมนาคมของประเทศทำหน้าที่ได้เต็มที่ก็คงจะลำบาก เพราะภาระงานในแต่ละวันเสียไปกับการวุ่นวายกับคดี จนต้องวิพากษ์เช่นกันว่า กสทช. ชุดนี้ไม่มีผลงานใดโดดเด่น เพราะก้าวสำคัญที่กระทบต่ออนาคตวงการสื่อสารมวลชน คือการเร่งเปิดเผยถึงแนวทางการจัดการคลื่นทีวีดิจิทัลที่เหลือเวลาน้อยเต็มที เพราะเวลานี้อุตสาหกรรมทีวีเริ่มอยู่กับความไม่มั่นใจเกี่ยวกับการประมูลคลื่นความถี่ว่าจะใช้มาตรการใด หากมีการประมูลจะเป็นต้นทุนราคาประมูลในระดับใด เมื่อเวลานี้อุตสาหกรรมสื่อไม่สามารถวางแผนอนาคตที่แน่นอนได้ จึงทำให้สื่อหลายสำนักใช้แผนที่ปลอดภัยกว่า ด้วยการเตรียมลดขนาดองค์กร ทยอยเลย์ออฟทีมงาน ซึ่งหากหน่วยงานที่ทำหน้าที่จัดสรรคลื่นความถี่ให้ความชัดเจนออกมาโดยเร็ว อาจจะช่วยทุเลาพิษให้อุตสาหกรรมทีวีดิจิทัลได้ดีกว่านี้
แม้ว่าการฟ้องคดีจะเป็นแนวทางที่บุคคลและเอกชนสามารถใช้เพื่อเรียกร้องหาความยุติธรรม แต่ในทางกลับกัน ก็กลายเป็นอาวุธหรือที่เรียกว่า Judicial Harassment ที่มากลั่นแกล้งกันได้ แล้วทำไมกฎหมายจึงเปิดช่องให้มีกลไกลักษณะนี้ขึ้นมา
ทั้งนี้ ปัญหา SLAPP เกิดขึ้นทั่วโลก จนบางประเทศออกกฎหมาย Anti-SLAPP ออกมาแล้ว เช่นที่เยอรมนี มีการให้อำนาจพนักงานอัยการในการใช้ดุลพินิจไม่รับฟ้องคดีที่มีลักษณะเป็นการฟ้องเพื่อข่มขู่ได้
ในประเทศไทยก็มีคดี SLAPP เกิดขึ้นจำนวนมาก จำเลยมีทั้งประชาชนและสื่อมวลชนทั่วไป ที่ผ่านมามีความพยายามผลักดันกฎหมาย Anti-SLAPP เช่นที่ผลักดันโดยสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ แต่ร่างกฎหมายดังกล่าวเน้นเฉพาะคดีทุจริตและการปฏิบัติหน้าที่ของรัฐเท่านั้น ยังไม่ครอบคลุมกรณีต่างๆ ที่เกิดขึ้น
อย่างไรก็ดี ในระหว่างที่ยังไม่มีกฎหมาย Anti-SLAPP แต่เมื่อมีคดีที่อาจดูเข้าข่ายเป็นการฟ้องเพื่อปิดปาก บุคลากรในกระบวนการยุติธรรม ไม่ว่าจะตำรวจ อัยการ และศาล ย่อมพิจารณาได้ด้วยใจที่เป็นธรรมว่า การฟ้องคดีนั้นเอื้อต่อประโยชน์สาธารณะหรือไม่ และกระบวนการพิจารณาคดี จะสร้างต้นทุนที่ไม่จำเป็น และกลายเป็นค่าเสียโอกาส ที่กลไกการตรวจสอบถ่วงดุลที่เป็นพื้นฐานสำคัญของการพัฒนาประเทศ จะทำงานได้เป็นปกติหรือไม่
เรื่อง: อรพิณ ยิ่งยงพัฒนา
ภาพ: จิราภรณ์ บุญเย็น
#ทรู #กสทช #พิรงรองรามสูต #The101world #วันโอวัน
https://www.facebook.com/photo/?fbid=1164529875041817&set=a.523964959098315