วันพฤหัสบดี, ตุลาคม 05, 2566

คำเตือนจากผู้ว่าแบ๊งค์ชาติ ที่นายกฯ เซลแมนไม่ยอมฟัง “การกู้เงินมาแจกหรือการพักหนี้เกษตรกร” เป็นยาแรงที่มีผลข้างเคียง

เปลี่ยนใหม่ละนะ ฉายานายกฯ เศรษฐา ไม่ได้ส้มหล่น ไม่ใช่ซีอีโอ แต่ขอเป็น เซลแมนของบรรษัทประเทศ “ได้รับมอบหมายจากพวกท่านให้มานำพาประเทศไทย ไปสู่จุดที่เราสามารถไปถึงได้” อุ๊ย คำคมว่าภารกิจยิ่งใหญ่

แต่ “ไม่ง่าย รัฐบาลทำคนเดียวไม่ได้ เอกชนต้องร่วมด้วยช่วยกัน” พูดเหมือนไม่เชื่อมั่น ไม่ค่อยวางใจภาครัฐ เลยหันเข้าหาภาคเอกชน หรือว่าพูดนำร่องแผนที่มีเสียงนินทาว่า โครงการที่ดันๆ อยู่ มีหมู่เหล่ากลุ่มธุรกิจกันเองรอลุยข้างหลัง

วันก่อนมีคนซุบซิบว่า ผู้ว่าแบ๊งค์ชาติเข้าพบ เสนอแนะความเห็นบางอย่างขอให้ระมัดระวัง ยั้งๆ มือไว้บ้างกับเมกะโปรเจ็คที่ยังไม่รู้ตัวเงินแท้ๆ ที่จะใช้ลงทุนมาจากไหน หรืออยู่ตรงไหน กำกวมวกวนเหมือนเล่นงูกินหาง ทำดั่ง ประชาชนกินหญ้า

แต่ประชาชนก็ยังได้รับฟังรายงานสถานภาพของชาติ จากผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ เมื่อวันก่อนเช่นกันว่าการลงทุนของเอกชนในประเทศ ยังไม่ดี โตแค่เปอร์เซ็นต์เดียว เทียบไม่ติดกับกับประเทศเพื่อนบ้าน

เรื่องนี้เป็นอันหนึ่งที่ นายกฯ เซลแมน เรียกร้องให้เอกชนช่วยๆ กันหน่อย “ต้องไปขายความเชื่อมั่นที่นักลงทุนจะให้กับประเทศไทย” ทว่าความมั่นใจที่ว่าจะมาจากการเติบโตของเศรษฐกิจที่เข้มแข็ง แน่นหนากว่านี้ โดยเฉพาะที่ผู้ว่าฯ แนะเกี่ยวกับศักยภาพ

“ปัญหาเศรษฐกิจไทยที่น่าห่วงสุด คือ ปัญหาเชิงโครงสร้าง ซึ่งมีประเด็นน่าห่วงในหลายมิติทั้งเรื่อง แรงงาน นวตกรรม เป็นต้น” ดร.เศรษฐพุฒิ ว่าเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ “มีบางจุดที่ต้องเฝ้าระวัง เช่น หนี้ครัวเรือน และ ภาคการคลัง”

เขาเปรียบเทียบสถานภาพเศรษฐกิจเวลานี้ว่า เหมือนคนไข้ที่ออกจากโรงพยาบาลแล้ว “แต่การฟื้นตัวยังต้องใช้เวลา เปรียบได้กับคนที่ยังเป็นโรคเรื้องรัง จึงยังไม่ควรทำอะไรที่หักโหมเกินไป” นั่นละเป็นคำเตือนที่นายกฯ ไม่ยอมฟัง

“แบงค์ชาติเห็นว่าไม่ใช่เวลาที่ต้องใช้ยาแรง อย่างการกู้เงินมาแจกหรือการพักหนี้เกษตรกร เหมือนตอนช่วงโควิด” @SleeplessBKK ตีความคำปราศรัยพร้อมชี้แนะ “เพราะการใช้ยาแรงแบบนี้มันล้วนมีผลข้างเคียงในทางที่เลวร้าย”

(https://twitter.com/ktnewsonline/status/1709801952018936067