วันศุกร์, ตุลาคม 06, 2566

ก้าวไกลชงร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ย้อนหลังตั้งแต่ชุมนุม “พันธมิตรฯ” ปี 49 แต่ตั้งเงื่อนไขไม่นิรโทษกรรมให้บรรดาเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์สลายการชุมนุม


หัวหน้าพรรคก้าวไกลยื่นร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมคดีการเมือง ต่อประธานรัฐสภา 5 ต.ค. โดยระบุว่าตั้งใจยื่นก่อนถึงวันครบรอบเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519

ก้าวไกลชงร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ย้อนหลังตั้งแต่ชุมนุม “พันธมิตรฯ” ปี 49

5 ตุลาคม 2023
บีบีซีไทย

พรรคก้าวไกลถือฤกษ์ก่อน 6 ตุลา หนึ่งวัน ยื่นร่างกฎหมายนิรโทษกรรมคดีการเมืองเข้าสภา ย้อนหลังตั้งแต่ชุมนุมกลุ่มพันธมิตรฯ ปี 2549 ถึงปัจจุบัน แต่ตั้งเงื่อนไขไม่นิรโทษกรรมให้บรรดาเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์สลายการชุมนุม

นายชัยธวัช ตุลาธน สส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคก้าวไกล (ก.ก.) นำทีม สส. ของพรรค เสนอร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) นิรโทษกรรมแก่บุคคลซึ่งได้กระทำความผิดอันเนื่องมาจากการเหตุการณ์ขัดแย้งทางการเมือง พ.ศ.... ต่อนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร

ประธานสภาระบุว่า จะมอบหมายให้ฝ่ายเลขาธิการตรวจสอบความถูกต้องของลายมือชื่อผู้เสนอร่าง สารัตถะกฎหมาย ก่อนแจ้งให้เจ้าของร่างทราบภายใน 7 วัน

ในการชงร่างกฎหมายนิรโทษกรรมเข้าสู่การพิจารณาของสภา โดยพรรค ก.ก. ซึ่งมี สส. มากที่สุด 151 คน ได้อ้างถึงความขัดแย้งทางการเมืองในรอบเกือบ 2 ทศวรรษที่ผ่านมา ตั้งแต่การชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) ครั้งแรกเมื่อ 11 ก.พ. 2549 ซึ่งลุกลามบานปลายจนเกิดรัฐประหาร 19 ก.ย. 2549 โดยคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.)

และเกิดรัฐประหารซ้ำเมื่อ 22 พ.ค. 2557 โดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีประชาชนจำนวนมากเข้าไปมีส่วนร่วมในการชุมนุมและการแสดงออกในรูปแบบต่าง ๆ ทำให้หลายพันคนถูกดำเนินคดีตั้งแต่คดีเล็ก ๆ น้อย ๆ ไปถึงคดีที่มีข้อกล่าวหาร้ายแรง หรือคดีความมั่นคง และเป็นการยากที่สังคมไทยจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติสุข เกิดความสามัคคีกัน

“พรรคก้าวไกลเห็นว่า เพื่อให้สังคมกลับมาเริ่มต้นกันใหม่ เราจำเป็นต้องยุตินิติสงครามต่อประชาชน ให้ประชาชนที่เคยแสดงออกทางการเมืองโดยมีมูลเหตุความขัดแย้งทางการเมืองในช่วงเวลาดังกล่าวได้หลุดพ้นจากการดำเนินคดี การนิรโทษเป็นหนทางที่จะถอดฟืนออกจากกองไฟ ยุตินิติสงคราม เพื่อเป็นก้าวแรกในการสร้างความยุติธรรมและปรองดองอย่างยั่งยืนในสังคมต่อไป” นายชัยธวัช แถลง

พรรค ก.ก. คาดหวังว่า กฎหมายฉบับนี้จะเป็น “หมุดหมายในการคืนชีวิตใหม่ให้แก่ประชาชน” และมีการเปิดเผยเผยสาระสำคัญของร่างกฎหมายด้วย

บีบีซีไทยขอสรุปให้เข้าใจง่าย ๆ ดังนี้

ใครได้อานิสงส์บ้าง


ร่างกฎหมายนิรโทษกรรมฉบับก้าวไกลกำหนดให้บรรดาการกระทำใด ๆ ของบุคคลที่ร่วมเดินขบวนและชุมนุมประท้วงทางการเมือง ตลอดจนการกระทำทางกายภาพ หรือแสดงความคิดเห็นที่เป็นความผิดทางกฎหมาย ในช่วงเวลาตั้งแต่ 11 ก.พ. 2549 ถึงวันที่ พ.ร.บ. นี้ได้มีผลบังคับใช้ หากการกระทำดังกล่าวมีมูลเหตุจูงใจทางการเมือง ให้ผู้กระทำพ้นจากความผิดโดยสิ้นเชิง ทั้งนี้เท่าที่ไม่ขัดต่อพันธกรณีตามกฎหมายระหว่างประเทศ


ถ้าดูตามห้วงเวลาที่พรรค ก.ก. กำหนดไว้ นั่นหมายความว่า บุคคลที่เข้าข่ายได้รับอานิสงส์จากกฎหมายนี้คือ แกนนำและแนวร่วมชุมนุมทางการเมืองกลุ่มสำคัญ ๆ อาทิ
  • กลุ่ม พธม. (ชุมนุมปี 2549)
  • กลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ หรือ นปช. (ชุมนุมปี 2552-2553)
  • กลุ่มกลุ่มคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือ กปปส. (ชุมนุมปี 2556-2557)
  • ขบวนการนักศึกษาและประชาชนฝ่ายต่อต้าน คสช. (ชุมนุมปี 2557-2562)
  • กลุ่มคณะราษฎร/ราษฎร (ชุมนุมปี 2563-2564)
  • ฯลฯ


แกนนำ "คณะราษฎร" ระหว่างชุมนุมเมื่อ 14 ต.ค. 2563 เพื่อเรียกร้องให้มีประชาธิปไตยและปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์

ใครไม่เข้าเกณฑ์นิรโทษ


ร่างกฎหมายนิรโทษกรรมฉบับก้าวไกลระบุว่า การนิรโทษกรรมจะไม่ครอบคลุมการกระทำของคน 3 กลุ่ม
  • บรรดาเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์สลายการชุมนุม หากเป็นการกระทำเกินสมควรแก่เหตุ
  • การกระทำผิดต่อชีวิตตามประมวลกฎหมายอาญา
  • การกระทำผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 113 (คดีกบฏล้มล้างหรือเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญ, คดีล้มล้างอำนาจฝ่ายนิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ, คดีแบ่งแยกการปกครอง)
นายชัยธวัชเน้นย้ำว่า “ไม่ควรสนับสนุนวัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิดของการใช้อำนาจรัฐต่อประชาชน”

หากดูตามเงื่อนไขที่พรรค ก.ก. วางไว้ บีบีซีไทยเข้าใจว่ากลุ่มบุคคลที่ส่อว่าจะไม่เข้าเกณฑ์ตามกฎหมายนี้ก็คือเจ้าหน้าที่รัฐโดยเฉพาะทหาร ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการสลายการชุมนุมคนเสื้อแดงเมื่อปี 2553 และมีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 92 ศพ แต่ไม่มีเจ้าหน้าที่รัฐถูกดำเนินคดีใด ๆ จนนักวิชาการเรียกขานว่า “อภิสิทธิ์ปลอดพ้นความผิด" หรือ “วัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิด”


ฝ่ายความมั่นคงเปิดปฏิบัติการ "ขอคืนพื้นที่" จากคนเสื้อแดง บริเวณสี่แยกคอกวัว เมื่อ 10 เม.ย. 2553

ใครคือผู้ชี้ขาด


กลไกในการนิรโทษกรรม ร่างกฎหมายนิรโทษกรรมฉบับก้าวไกล กำหนดให้มีคณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดการกระทำความผิดเพื่อการนิรโทษกรรม 9 คน ซึ่งประธานรัฐสภาเป็นผู้แต่งตั้ง

ประกอบด้วย ประธานสภาผู้แทนราษฎร, ผู้นำฝ่ายค้านในสภา, บุคคลที่ได้รับเลือกจาก ครม., บุคคลที่ได้รับเลือกจากสภา 2 คน, ผู้พิพากษา/อดีตผู้พิพากษาในศาลยุติธรรมเสนอโดยที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา, ตุลาการ/อดีตตุลาการศาลปกครอง, พนักงาน/อดีตพนักงานอัยการ และเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร

ยกเหตุ 6 ตุลา เคยนิรโทษคดี 112 มาแล้ว


ส่วนการนิรโทษกรรมจะครอบคลุมผู้ต้องหา/จำเลยคดีมาตรา 112 หรือไม่นั้น นายชัยธวัชตอบว่าขึ้นอยู่กับอยู่ในวินิจฉัยของคณะกรรมการ

อย่างไรก็ตาม เขาย้ำเตือนว่า ภายหลังเหตุการณ์ 6 ต.ค. 2519 รัฐบาลได้ทำให้เป็นเงื่อนไขสำคัญที่นำไปสู่การคลี่คลายความขัดแย้ง ด้วยการออกคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 66/23 เพื่อนิรโทษกรรมให้กับคนที่ใช้อาวุธลุกขึ้นสู้กับเจ้าหน้าที่รัฐ และมีส่วนทำให้เจ้าหน้าที่รัฐเสียชีวิตจำนวนมาก

"เรายังสามารถเปิดให้กับคนที่กระทำผิดร้ายแรงเข้าสู่สังคม พูดคุย และร่วมใช้ชีวิตปกติในสังคมอีกครั้ง" นายชัยธวัช กล่าว

“ตอนที่นิรโทษกรรมให้กับเหตุการณ์ 6 ตุลา ก็เป็นเรื่องความผิดมาตรา 112 เป็นหลัก และยังมีคดีกบฏล้มล้างการปกครอง เปิดให้คนที่เข้าร่วมต่อสู้ด้วยอาวุธ เราสามารถที่จะอภัยเพื่อทำให้การเมืองไทยเดินหน้าไปได้ จึงคิดว่าหากไม่มีอคติจนเกินไป ทุกฝ่ายควรจะร่วมกัน”

หัวหน้าพรรค ก.ก. บอกด้วยว่า ที่เสนอร่างกฎหมายฉบับนี้ในวันนี้ เพราะพรุ่งนี้เป็นวันที่ 6 ต.ค. จึงหวังว่าพรรคการเมืองจะให้ความสนใจและเห็นประโยชน์ร่วมกัน


หน้าหนึ่งหนังสือพิมพ์หลังเหตุสังหารหมู่ 6 ตุลา 2519

ร่างฉบับพรรคพลังธรรมใหม่ไม่รวมคดีทุจริต- ม.112


แม้กฎหมายนิรโทษกรรมเป็น “ของแสลงการเมืองไทย” ถึงขั้นทำให้เกิดการชุมนุมขับไล่รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เมื่อปี 2556 หลังรัฐบาลเสนอร่างกฎหมายที่ถูกเรียกว่า “นิรโทษกรรมฉบับเหมาเข่ง” เข้าสภา และพิจารณาอย่างเร่งรีบ ท่ามกลางข้อสังเกตเรื่องการเอื้อประโยชน์ให้แก่นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ที่เวลานั้นหลบหนีคดีทุจริตอยู่ในต่างแดน

จากประสบการณ์ส่วนตัวของนายชัยธวัช เขาคิดว่าทั้ง สส. สว. และประชาชนที่เคยสังกัดกลุ่มการเมืองต่าง ๆ ที่มีส่วนร่วมและเคยแสดงออกทางการเมือง “น่าจะยินดีที่ได้เริ่มต้นกันใหม่ คิดว่าแนวโน้มเป็นไปในทางบวกมากกว่า”

อย่างไรก็ตาม พรรคต่าง ๆ ที่อาจมีร่างของตัวเองก็สามารถเสนอเข้ามาประกบร่างของก้าวไกล และพิจารณาร่วมกันในสภาได้

ก่อนหน้านี้เมื่อ 25 ก.ย. นพ.ระวี มาศฉมาดล หัวหน้าพรรคพลังธรรมใหม่ ได้ยื่นร่าง พ.ร.บ.สร้างเสริมสังคมสันติสุข ต่อนายอดิศร เพียงเกษ ประธานกรรมประสานงานสภาผู้แทนราษฎร (วิปรัฐบาล) เพื่อขอให้เสนอเข้าสู่การพิจารณาของสภาชุดที่ 26 หลังเคยยื่นร่างกฎหมายนี้มาแล้วสมัยสภาชุดก่อน แต่ยังไม่ได้รับการพิจารณา และถูกตีตกไปภายหลังการยุบสภาและจัดเลือกตั้งใหม่

ทั้งนี้ รัฐธรรมนูญกำหนดให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่ตั้งใหม่ภายหลังการเลือกตั้งยืนยันร่างกฎหมายที่ค้างสภาภายใน 60 วันนับตั้งแต่วันเรียกประชุมรัฐสภาครั้งแรกหลังการเลือกตั้ง ซึ่งครบกำหนดไปเมื่อ 31 ส.ค. แต่ขณะนั้นกระบวนการจัดตั้งรัฐบาลยังไม่แล้วเสร็จ

สำหรับเนื้อหาของร่างกฎหมายนิรโทษกรรมฉบับพรรคพลังธรรมใหม่ กำหนดให้การกระทำการที่มีมูลเหตุเกี่ยวข้องหรือเกี่ยวเนื่องกับความขัดแย้งทางการเมือง ตั้งแต่ 19 ก.ย. 2549-30 พ.ย. 2565 ไม่เป็นความผิดทั้งทางอาญาและทางแพ่ง อย่างไรก็ตาม ไม่รวมถึงความผิดคดีทุจริต และคดีมาตรา 112 ของประมวลกฎหมายอาญา