BrandThink
1d·
ART&CULTURE: ความหมายของ ‘ยิ้มสยาม’ ที่ยังเป็นปริศนามาจนถึงทุกวันนี้
.
วันที่ 6 ตุลาคม ถูกกำหนดให้เป็น ‘วันยิ้มโลก’ ตั้งแต่ปี 1999 เป็นต้นมา ทั้งยังเป็นวันรำลึกถึงศิลปินชาวอเมริกัน ‘ฮาร์วีย์ บอล’ (Harvey Ball) ผู้ออกแบบสัญลักษณ์ ‘หน้ายิ้ม’ ในวงกลมสีเหลือง (Smiley Face) ที่ได้รับความนิยมไปทั่วโลกสมัยทศวรรษ 1960 อีกด้วย และหลังจากที่เขาเสียชีวิตไปเมื่อปี 2001 การฉลองวันยิ้มโลกก็มีเป้าหมายเพียงอย่างเดียว คือ ‘การทำสิ่งดีๆ เพื่อสร้างรอยยิ้มให้กับผู้อื่น’
.
ขณะที่ไทยเองก็ถูกเรียกขานว่าเป็น ‘ดินแดนแห่งรอยยิ้ม’ หรือ Land of Smiles มาเนิ่นนาน และมีบันทึกทางประวัติศาสตร์ซึ่งบ่งชี้ว่าไทยได้รับฉายานี้ตั้งแต่ยังใช้ชื่อว่า ‘สยาม’ ด้วยซ้ำไป อ้างอิงจากบทบันทึกความทรงจำของ ‘วิลเลียม อัลเฟรด เร วูด’ (William Alfred Rae Wood หรือ W.A.R. Wood) นักการทูตชาวอังกฤษที่เคยปฏิบัติหน้าที่อยู่ในไทยนานหลายสิบปีในยุค ‘เปลี่ยนผ่านการปกครอง’
.
โดยบทบันทึกเกี่ยวกับ ‘สยาม’ ของวูดใช้ชื่อว่า ‘Land of Smiles’ ได้รับการตีพิมพ์เป็นหนังสือในปี 1935 หลังการปฏิวัติสยามเกิดขึ้นได้ไม่นาน และอีกไม่กี่ปีต่อจากนั้น ‘สยาม’ ก็ถูกเปลี่ยนชื่อมาเป็น ‘ประเทศไทย’ อย่างเป็นทางการ แต่ในขณะนั้น ฉายา ‘ดินแดนแห่งรอยยิ้ม’ ก็เป็นที่รู้จักกันแพร่หลายในโลกตะวันตกแล้ว
.
ก่อนหน้านี้ เฟซบุ๊กเพจ Museum Siam เคยพูดถึงหนังสือเล่มนี้ของวูดว่า นอกจากจะพูดถึงความเป็นอยู่และวิถีชีวิตของชาวสยามในยุคนั้นแล้ว ยังมีการตั้งคำถามถึงความหมายของสิ่งที่เรียกว่า ‘ยิ้มสยาม’ ด้วยเช่นกัน เพราะชาวต่างชาติอย่างวูดรู้สึกว่า ‘รอยยิ้ม’ ของชาวสยามนั้นอาจไม่ใช่การแสดงความรู้สึกว่า ‘ดีใจ’ หรือ ‘พอใจ’ เสมอไป ซึ่งประเด็นนี้ผูกโยงกับสำนวนไทยหลายอย่างที่เกี่ยวข้องกับรอยยิ้ม และถูกใช้เป็นคำอธิบายรอยยิ้มหลากหลายแบบในบ้านเรา ไม่ว่าจะเป็น ยิ้มทักทาย ยิ้มสู้ หรือยิ้มเยาะ
.
ส่วนเว็บไซต์การท่องเที่ยว Culture Trip ก็เคยพูดถึงฉายา ‘ดินแดนแห่งรอยยิ้ม’ ของไทยเช่นกัน โดยย้ำว่าฉายานี้ไม่ใช่เรื่องเกินจริง เพราะคนไทยส่วนใหญ่มักมีรอยยิ้มทักทายที่ดูอบอุ่นแก่ชาวต่างชาติ ซึ่งเป็นเรื่องแตกต่างจากท่าทีที่คนส่วนใหญ่เคยเจอในสังคมตะวันตกและอีกหลายๆ ประเทศทั่วโลก
.
อย่างไรก็ดี บทความของ Culture Trip ยังระบุด้วยว่า รอยยิ้มที่ปรากฏในสื่อโฆษณาการท่องเที่ยวไทยช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมาถูกผูกโยงกับภาระหน้าที่ของ ‘เจ้าบ้าน’ ที่จะต้องต้อนรับขับสู้นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเป็นอย่างดี เพื่อส่งเสริมธุรกิจและอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวซึ่งเป็นแหล่งรายได้สำคัญของประเทศ ทำให้เบื้องหลังรอยยิ้มมีการคำนวณด้านธุรกิจการค้าและผลประโยชน์ซ่อนอยู่ด้วยเช่นกัน
.
ความหมายของ ‘ยิ้มสยาม’ ในดินแดนแห่งรอยยิ้ม จึงไม่อาจตีความได้ง่ายๆ ว่าหมายถึงอะไรกันแน่ และบางฉากบางตอนของประวัติศาสตร์ไทยก็จะพบว่า รอยยิ้มของคนจำนวนหนึ่งเกิดขึ้นพร้อมโศกนาฏกรรมของผู้อื่นในสังคมก็ได้เช่นกัน
.
#ARTandCULTURE #BrandThink
#CreateaBetterTomorrow