‘มรดกโลก’ กับ ‘มรดกเผด็จการ’ กำลังเผชิญหน้ากันอย่างขวัญแขวนที่ อโยธยา เมืองเก่าของเราเหล่าไทย เนื่องจากเส้นทางรถไฟความเร็วสูงกำลังจะแล่นผ่านบิเวณพื้นที่ ซึ่งอยู่ในระหว่างการขุดค้นศึกษาหลักฐานทางประวัติศาสตร์
โครงการรถไฟความเร็วสูงนี้ตกทอดมาจากการใช้อำนาจพิเศษ มาตรา ๔๔ ของคณะรัฐประหาร คสช.ที่นักโบราณคดีแสดงการคัดค้าน และวิงวอนให้เปลี่ยนเส้นทางอ้อมไปหน่อย เพื่อที่การก่อสร้างจะไม่ทำลายโบราณวัตถุซึ่งยังฝังดินอยู่
พอมาถึงรัฐบาล ‘เศรษฐา’ ซึ่งพรรคเพื่อไทยข้ามขั้วไปร่วมจัดตั้งกับหลายพรรคการเมือง ‘เชื้อสาย’ เผด็จการ เสียงเรียกร้องจึงยังเข้าหูซ้ายไหลลื่นไปออกหูขวา กลุ่ม ‘แมวมองเมือง’ จึงได้จัดเสวนาโดยนักวิชาการสำคัญ ๓ คนร่วม มี จอมขวัญ หลาวเพ็ชร์ ดำเนินรายการ
ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ ผศ.คณะรัฐศาสตร์ ม.รังสิตเล่าภูมิหลังโครงการว่าหลังจากพรรคเพื่อไทยสมัยนายกฯ ยิ่งลักษณ์ถุกศาลรัฐธรรมนูญฟันตกหาว่าจะเอาไปขนผัก แล้วรัฐบาล คสช.ต่อมาเก็บเอาไปทำเมื่อได้ดีลดีกับจีนใน ๒ เส้นทาง
“รถไฟความเร็วสูงต้องตอกสร้างเสาเข็มที่น่าจะลึกมากกว่า ๒๐ ม. ทุกๆ ระยะ ๓๐-๔๐ เมตร แบบยิงรูพรุนในเมืองเก่าอโยธยาบิดรมารดาอยุธยา ราบพนาสูญ” ซึ่งเส้นหนึ่งผ่านแนวมรดกโลกจังหวัดอยุธยานี้ ใช้วิธีการพิเศษด้วยอำนาจ ม.๔๔ ดำเนินการ
แบบเดียวกับเส้นทางกรุงเทพฯ-โคราช ซึ่งเดี๋ยวนี้เส้นทางนำร่องแค่ ๕ ก.ม.ก็ยังสร้างไม่เสร็จ วิธีการพิเศษดังกล่าว พรสันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย ผศ.นิติศาสตร์ จุฬาฯ ชี้ว่า “โครงการนี้ทำรายงาน EIA โดยไม่ตรงกับข้อเท็จจริง
ดำเนินโครงการแล้วค่อยมาถามย้อนหลัง” เรื่องผลกระทบสิ่งแวดล้อม แถมให้ “ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียได้แสดงความเห็นผ่านรายงานการประเมินผล” แต่ไม่พูดถึงผลกระทบต่อมรดกโลก
แม้กระทั่งพระ พริษฐ์ ชีวารักษ์ นักกิจกรรมที่บัดนี้เป็นผู้ช่ำชองด้านประวัติศาสตร์คนหนึ่ง ยังบอกว่า พื้นที่เส้นทางรถจะผ่านแม้ไม่ใช่กลางเกาะกรุงศรีอยุทธยา ก็เป็นที่ตั้งเมืองโบราณดั้งเดิม ที่พระเจ้าอู่ทองย้ายข้ามฝั่งไปที่ใหม่เกาะเมืองปัจจุบัน
พระเพ็นกวิ้นเล่าด้วยว่า เรื่องอย่างนี้เคยเกิดที่สุโขทัย มีการตัดถนนทับวัดในเขตเมืองโบราณ แล้วต่อมาต้องรื้อถนนเพื่อฟื้นฟูเมืองโบราณ “แต่ทางรถไฟมันรื้อทำใหม่ยากกว่าถนน” ฉะนั้นโครงการรถไฟทับเมืองอโยธยานี้จึงเป็นความดึงดัน
ยุกติ มุกดาวิจิตร รศ.สังคมวิทยาฯ มธ.เรียกว่าโครงการ ‘๓ รื้อ’ รื้อทั้งพรมแดนความรู้ รื้อพื้นที่อนุรักษ์ และรื้อพรมแดนอำนาจ (ด้วย ม.๔๔) ฝากถึงนายกฯ ผู้เป็นนักพัฒนาด้านอสังหาริมทรัพย์ ให้ความสนใจเรื่องนี้อย่างมีจิตจรดจ้องสักหน่อย
เขาว่า “การพัฒนาต้องมีหัวใจ” นะทั่นนายกฯ ซีอีโอ