วันพุธ, ตุลาคม 18, 2566

ศาลอุทธรณ์สั่งระงับเผยแพร่เพลง ‘ปฏิรูป’ เพื่อ “ปิดกั้นพายุประชาธิปไตยด้วยฝ่ามือของตน”

องค์คณะ ๓ ผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ สุพจน์ อินทิวร, อาคม ศรียาภัย และ สมพงษ์ ฐิติสุริยารักษ์ ตัดสินยืนตามศาลชั้นต้น #สั่งระงับเผยแพร่เพลง ปฏิรูปของวง R.A.D. หรือ แร้ปต่อต้านเผด็จการ อีกครั้ง เช่นกัน ฮ็อกกี้เดชาธร บำรุงเมือง ประกาศสู้คดีถึงที่สุดชั้นฎีกา

เขาเผยว่า “ไม่เห็นพ้องด้วยกับเนื้อความในคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ เช่นที่วินิจฉัยว่า เนื้อเพลงท่อน “tututu เลียตีนให้ตาย” หมายถึงกษัตริย์ ศาลว่า “ถึงเนื้อร้องไม่ได้เจาะจงถึงพระมหากษัตริย์ก็ตาม” แต่พิจารณาโดยรวมแล้วตีความได้

เนื้อท่อนนั้นหมายถึงผู้ที่มี “สถานะที่สูงกว่านายกรัฐมนตรี ซึ่งหมายถึงพระมหากษัตริย์ แสดงให้เห็นเจตนาในการปลุกปั่นให้คนที่มีความคิดเกลียดชังประเทศชาติ ออกมาแสดงความเห็นโดยไม่เคารพกฎหมายบ้านเมือง”

จุดนี้นี่เองทำให้ศาลชุดนี้พยายามหาคำอธิบายมาใช้พิพากษาตามเจตนาและ ธง ต่อการตัดสินคดีเช่นนี้ หากวิเคราะห์ตามข้อเท็จจริงประกอบหลักการ สิทธิเท่าเทียมทางประชาธิปไตย หรือประหนึ่งเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น

ศาลต้องการ ปิดกั้นพายุประชาธิปไตยด้วยฝ่ามือของตน เห็นได้จากคำพิพากษาชั้นต้นของคดีนี้อ้างถึงความคิดเห็นใต้คลิปเพลง” ซึ่งผู้ร้องยื่นต่อศาล ๑๐ ข้อความ ว่า “ไม่เหมาะสม” เพราะ “แม้ไม่ใช่ข้อความดูหมิ่นหรืออาฆาตมาดร้ายรัชกาลที่ ๑๐

แต่ก็เป็นข้อความที่สื่อความหมายและเข้าใจได้ว่าหมายถึงรัชกาลที่ ๑๐” ประโยคท้ายนี้แหละที่ในทางภาษาศาสตร์เรียกว่า ‘cliché’ หรือข้อความซ้ำซากไร้แก่นสาร ผู้ใช้ปั้นน้ำเป็นตัวเพื่อจะเอาผิดต่อผู้ถูกกล่าวหาให้ได้ โดยไม่ตรงต่อข้อเท็จจริง

ส่วนที่อ้างว่าเนื้อเพลง “เต็มไปด้วยถ้อยคำหยาบคายทุกวรรคตอน” ก็เพลงแร้ปมันสไตล์นี้ จะให้เขาใช้คำอ่อนช้อยเป็นเพลงละครชาตรี ต้องไปเปิดฟังกันเมื่อร้อยปีที่แล้วละนาย คำพิพากษาคดีนี้ตั้งแต่ศาลชั้นต้นมาถึงอุทธรณ์ จึงเป็นส่วนหนึ่งของการเหนี่ยวรั้งอนาคต

รัฐไทยพยายามทำอย่างนี้มาตลอด ๗๐-๘๐ ปีที่ผ่านมาเป็นอย่างน้อย และทำสำเร็จในภาพรวม สามารถพายเรือถอยหลังได้เป็นส่วนใหญ่ แต่กระแสเชี่ยวกรากของกระแส ก้าวหน้า ยังไหลแรงอยู่ใต้ผิว หากไม่ถูกผันให้เป็นพลังสร้างเสริมละก็

ไม่นานเกินรอได้เห็นมันโพล่งขึ้นมาอีกครั้ง

(https://tlhr2014.com/archives/60634 และ https://tlhr2014.com/archives/45744)